หนุ่มทโมนเที่ยวทมิฬ บทที่1
“หนุ่มทโมนเที่ยวทมิฬ ฟินสุดๆกับอินเดียใต้”
เรื่อง/ภาพ โดย เดชา เวชชพิพัฒน์
บทที่ 1
เที่ยวครั้งนี้ผมเดินทางเป็นรูปวงกลมอยู่ตอนบนของทมิฬนาฑู มีออกนอกวงที่บังกลอร์และไมเซอร์ เที่ยวไป 17 วัน ได้มา 12 เมือง ... มมัลลปุรัม พอนดิเชอร์รี ติรุวัณณมไล ชินจี เวลโลว์ บังกาลอร์ ไมเซอร์ ศรีรังคปัฏนัม โสมนาถปุระ กาญจีปุรัม อุทิราเมรู และ เชนไน
วันแรกของการเดินทางท่องเที่ยว ผมตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่มหาสมุทรอินเดีย ณ บริเวณชายหาดแห่งเมือง “มมัลลปุรัม” (Mamallapuram) หนึ่งในเมืองชายหาดหลายๆเมืองแห่งรัฐนี้ ซึ่งผมขอเรียกว่า “หัวหินแห่งทมิฬนาฑู”
แต่ค่าที่พักตลอดจนของกินของใช้ที่นี่ไม่แพงเหมือนหัวหินนะครับ ห้องพักติดชายหาดคืนละเจ็ดร้อยรูปี หรือ 350 บาท ข้าวจานละแปดสิบรูปี หรือสี่สิบบาท ทุกอย่างหารสองเพราะหนึ่งบาทแลกได้เกือบสองรูปี มีงบประมาณแค่สองหมื่นบาท ก็กลายเป็นสามล้อถูกหวยเที่ยวหัวหิน (แห่งทมิฬนาฑู) ได้ไม่น้อยหน้าใคร
จะว่าไป พระอาทิตย์ที่นี่หน้าตาเหมือนกับที่อื่นๆทั่วโลกแหละครับ ลมก็เย็นเหมือนลมทะเลบ้านเรา แต่พอรู้ว่าตัวเองยืนอยู่ชายหาดริมมหาสมุทรแล้วอดรู้สึกไม่ได้ อืม พระอาทิตย์ดวงโตกว่านิดหน่อยนะเนี่ย ลมก็เย็นกว่าลบหนึ่งองศานะนั่น แต่ชายหาดและคลื่นในมหาสมุทรสิครับ เห็นแล้วร้องอ๋ออยู่ในใจ ทะเลบ้านเราดังไปทั่วโลกก็เพราะเหตุนี้
ทรายที่นี่มีสีและเม็ดโตเหมือนน้ำตาลทรายแบบธรรมชาติ เป็นทรายหยาบแบบที่ใช้ก่อสร้าง คลื่นก็แรงพอๆกับทะเลบ้านเราตอนมีมรสุม แบบว่าลงเล่นน้ำได้ ... ได้เคลมประกันชีวิต
พูดถึงทรายชายหาดที่ละเอียดเหมือนพริกไทยป่นแล้วละก็ ผมยกให้หาดบานชื่นแห่งตราดครับ ส่วนน้ำทะเลที่นิ่งและใสราวกระจกละก็ ต้องยกให้ที่เกาะห้องแห่งกระบี่
มิน่าล่ะ ตอนอยู่บนเครื่องบินหนุ่มสาวชาวเชนไนที่ผมคุยด้วยบอกว่าเพิ่งกลับจากฮันนีมูนที่กระบี่ เลือกไปกระบี่เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ไปแล้วก็ไม่ผิดหวัง ชมว่าทะเลสวยมากๆ หาดทรายขาวละเอียด น้ำทะเลใสราวกระจก คนไทยก็น่ารัก แต่พ่อค้าแม่ค้าขี้โกง ... อ้าว
พระอาทิตย์ขึ้นที่ชายหาดแห่งมมัลลปุรัม - Mamallapuram (หรือ มหาพลีปุรัม – Mahabalipuram) ดูดีๆจะเห็นว่าพระอาทิตย์ที่นี่ดวงโตกว่าที่อื่นนิดหน่อย อิอิ
นักท่องเที่ยว ชาวบ้าน และเรือชาวประมง
วิธีต่อเรือ
บ้านพักและร้านอาหารริมชายหาด
วิศวกรผิวเข้มบ่นเรื่องนี้ให้ผมฟังอย่างไม่หยุดจนผมอยากย้ายที่นั่ง เขาบ่นทั้งเรื่องราคาของกิน ราคากระเป๋าหนังจระเข้ และโน่น นี่ นั่น คงจะเจ็บใจอย่างสุดๆ แหม ทำราวกับพ่อค้าแม่ค้าอินเดียไม่โกงงั้นแหละ ผมน่ะโดนมานักต่อนัก เที่ยวอินเดียมาสามครั้ง เจอเยอะจนขี้เกียจจำ รู้แต่ว่าแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไปให้จนหมดตัวแล้ว ... เพราะมีอยู่ไม่เท่าไร
แต่เขาก็มีน้ำใจ เมื่อรู้ว่ามามาเที่ยวคนเดียวก็ให้ชื่อและเบอร์มือถือไว้ บอกว่าถ้าผมมีเรื่องฉุกเฉินขณะเดินทางท่องเที่ยวก็ติดต่อมา แถมยังสอนให้รู้ภาษาทมิฬอีกด้วย แม้สอนแค่สองคำแต่ก็เป็นสองคำที่เวิร์คมาก ใช้ทีไรได้รอยยิ้มและความช่วยเหลือจากชาวทมิฬทุกที
วะนะกำ = สวัสดี และ นันดรี = ขอบคุณ
ผมรีบจดใส่สมุดเพราะกลัวลืม คำสำคัญแบบนี้มีค่ายิ่งกว่าได้กินโรตีฟรี แบกเป้เที่ยวเองก็แบบนี้ วิธีไหนที่ใช้สร้างมิตรได้ก็ทำๆเข้าไปเถิด ยิ่งมาเที่ยวคนเดียวยิ่งต้องใช้ทักษะการเอาตัวรอดสูง พูดภาษาเขาได้แค่สองคำก็ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นเยอะนะครับ แต่ที่นี่ดูจะไม่ต้องใช้มากเท่าไร เพราะได้ข่าวว่าผู้คนแห่งทมิฬนาฑูมีน้ำใจและเป็นมิตรอย่างยิ่ง เมื่อคืนก็เพิ่งเจอมากับตัว
แม้ศึกษาหาข้อมูลจนรู้ว่าสามารถประหยัดเงินค่ารถจากสนามบิน Anna International Airport แห่งนครเชนไนเข้าตัวเมืองได้ด้วยการนั่งรถไฟ โดยเดินไปฝั่งตรงข้ามแล้วลงทางใต้ดินไปที่สถานีรถไฟ Tirusulam แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ การเดินแบกเป้สองใบ ทั้งเป้หลังที่ใส่เสื้อผ้ากับของกินและเป้หน้าที่ใส่กล้องตัวโตรวมน้ำหนักสิบกว่ากิโลกรัม แถมเดินอยู่หน้าสนามบินที่ใหญ่โต เวลาตอนนั้นก็สามทุ่มกว่า ซึ่งตรงกับสี่ทุ่มกว่าในไทยที่ปกติผมหลับไปถึงไหนๆแล้ว ทำให้ความเค็มแพ้ความอ่อนล้า อดไม่ได้ที่จะเข้าไปถามราคา Prepaid Taxi ปรากฏว่าเขาคิด 500 รูปี โหย ... จากสนามบินเข้าตัวเมืองระยะทางแค่ 16 กิโลเมตรเนี่ยนะ แพงไปป่ะ นั่งรถไฟดีกว่า
ผมได้รับน้ำใจจากชาวทมิฬก็ตอนนี้แหละ เดินออกจากสนามบินไปตามที่ศึกษาหาข้อมูลมา เห็นชายสูงวัยคนหนึ่งเดินอยู่จึงเข้าไปถามทาง เขาบอกว่ากำลังจะไปขึ้นรถไฟเหมือนกัน บอกให้ตามมา ตอนนั้นดีใจสุดๆ เดินต่ออีกนิดเดียวก็ยิ่งดีใจเข้าไปใหญ่ เพราะเจอทางใต้ดินอย่างที่รู้มา ข้างใต้มีช่องขายตั๋วอีกด้วย วิ่งเข้าไปซื้อตั๋วมือไม้สั่นเพราะรู้ว่าได้ของถูก จากสถานี Tirusulam ไป Egmore ค่าตั๋วแค่ห้ารูปีเอง ดีใจจนกระโดดชนเพดานทางเดินใต้ดินไปหลายโป๊ก แต่พอเดินไปอีกหน่อยเท่านั้นแหละ ใจหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่มเลย
ทางขึ้นลงที่คิดว่ามีสองทางนั้น จริงๆแล้วมีทางที่สาม สองทางแรกมีไฟฟ้าส่องสว่างดูปลอดภัย แต่ทางที่สามนี่สิครับ ขนาดอยู่ตรงหน้ายังไม่รู้ว่ามีอยู่เพราะมองไม่เห็น เมื่อพี่ชายคนนั้นผายมือให้ผมเดินเข้าไปผมก็อึ้งสิ เพราะเป็นช่องมืดตื๋อเหมือนคอกม้าที่อยู่ใต้ดิน เจอแบบนี้ผมก็คิดหนักและคิดเยอะสิครับ
พี่เขาเป็นโจรขโมยไตหรือเปล่าละเนี่ย เดินเข้าไปปุ๊บโดนโปะยาสลบปั๊บ ฟื้นขึ้นมาก็นอนแช่น้ำแข็งอยู่ในอ่าง มีจดหมายขอบคุณที่บริจาคไตแบบไม่สมยอม ... อั๊ยย่ะ เอาไงดีล่ะงานนี้
นาทีนี้แล้วทำไงได้ ได้แต่เชื่อมั่นการดูคนของตัวเอง พี่ชายคนนี้ท่าทางบอกชัดว่าเป็นคนดี ไม่มีกลิ่นมิจฉาชีพแม้แต่นิดเดียว ผมจึงก้าวเดินเข้าไปในความมืดนั้น เดินได้ไม่กี่ก้าวก็ได้กลิ่นฉี่ พี่ชายชาวทมิฬเดินตามอย่างเงียบๆ ผมก็ก้าวเท้ายาวขึ้น เร็วขึ้น ไม่กี่ก้าวก็เห็นช่องเล็กๆทางขวามือและซ้ายมือที่มีแสงลอดลงมา บันไดนั่นเอง
ดีใจอีกแล้ว ดีใจที่รอดตาย รีบวิ่งไปขึ้นบันไดราวกับนักแสดงฮอลลีวู้ดวิ่งขึ้นไปรับรางวัลออสการ์ พอขึ้นไปถึงก็ได้กลิ่นอากาศบริสุทธิ์ เห็นท้องฟ้ายามราตรี เห็นรางรถไฟ และเห็นป้ายสถานี Tirusulam ... เย้ๆๆๆๆ
ระหว่างรอรถไฟก็คุยกับพี่เขา ได้ความว่าชื่อกฤษณะ ทำงานเป็นยามที่สนามบิน เลิกงานดึกแบบนี้ทุกวัน
รอได้ไม่ถึงสิบนาทีก็ได้ขึ้นรถไฟ นั่งไปสิบกว่าสถานีก็ลงที่สถานี Egmore ซึ่งเป็นย่านที่พักราคาถูก ได้ที่พักราคาห้าร้อยรูปี อยากจะเดินหาให้ได้ถูกกว่านี้แต่ก็เหนื่อยเกิน จึงยอมตัดใจ อาศัยอาบน้ำและนอนพอให้เช้า รุ่งขึ้นรีบเดินออกจากซอยที่พักเพื่อหาของกิน ข้าวราดแกง ข้าวราดผัดกะเพราอย่าได้หวัง มีแต่อาหารอินเดียแบบกินไม่อยู่ท้อง เจอร้านปากซอยขาย “อาบังโดนัท” จึงกินพอให้มีแรงกลับไปที่สถานีรถไฟ เพื่อนั่งรถไฟไปต่อรถประจำทาง เดินทางออกจากเชนไนไปมมัลลปุรัม
สถานีรถไฟ Tirusulam
บรรยากาศบนรถไฟ
ด้านในสุดของแต่ละตู้โดยสาร มีช่องเล็กๆให้เดินไปตู้อื่นได้
เช้าวันแรกกับบรรยากาศหน้าปากซอยที่พัก มีทั้งร้านขายของกิน ร้านหนังสือ และคิวรถสามล้อ
รถสามล้อแห่งทมิฬนาฑู
อาหารอินเดียมื้อแรก ขอเรียกว่า “อาบังโดนัท”
ด้านหน้าสถานีรถไฟ Egmore
ด้านในสถานีรถไฟ Egmore
สถานีรถประจำทางในเชนไนมีหลายสถานี เหมือนบ้านเราที่มีหมอชิต มีสายใต้ มีเอกมัย สถานีที่ผมไปใช้บริการอยู่ใกล้ๆ George Town ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังตอนกลับมาเที่ยวเชนไน แต่ขอบอกว่าสถานีรถประจำทางนี้คึกคักมาก มีทั้งของกินของใช้ พ่อค้าก็บ้าถ่ายรูป เห็นผมถือกล้องก็เรียกให้ถ่ายรูป ถ่ายเสร็จขอดูรูปแล้วบางคนชมตัวเองว่าเหมือนพระเอกอินเดียชื่อ ศาห์รุข ข่าน ... เอาเหอะ เอาที่พี่สบายใจละกัน
ศาห์รุข ข่าน หมายเลข 1
ศาห์รุข ข่าน หมายเลข 2
ศาห์รุข ข่าน หมายเลข 3
ศาห์รุข ข่าน หมายเลข 4
รถประจำทางแห่งทมิฬนาฑู
รถประจำทางของเขาแน่นทุกสายครับ ผมไม่ได้ที่นั่งจึงต้องยืนไปตลอดทาง ทั้งเบียดทั้งแน่นและหิวข้าวจนอยากจะลงไปพักไปหาของกินอยู่หลายครั้ง แต่อดทนยืนอยู่นานเกือบสองชั่วโมงจนถึงจุดต่อรถ จึงเดินหาข้าวหมกไก่กิน โชคดีเจอร้านหนึ่ง อร่อยด้วย จานเบ้อเริ่มก็กินหมด
ข้าวหมกไก่จานแรกของการเที่ยวครั้งนี้ ที่นี่เขาใช้ข้าว Basmati ทำข้าวหมกไก่ทุกร้าน เพราะเป็นกฎของสมาคมข้าวหมกไก่แห่งทมิฬนาฑูที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่ง Basmati เป็นข้าวที่ถูกปากผมมาก ไม่แข็งไปและไม่นุ่มไป ที่วังบูรพากับพาหุรัดก็มีขาย แต่ราคาแพงจนซื้อไม่ลง
เห็นหม้อใหญ่ๆแบบนี้ ขายหมดนะครับ
ร้านข้าวหมกไก่ ขอตั้งชื่อว่า “มอมแมมโภชนา”
กินข้าวหมกไก่แล้วเดินทางต่อ กว่าจะถึงเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องนั่งรถประจำทางออกไปปากทาง จากนั้นไปยืนตากแดดรออยู่ที่ทางหลักจึงได้ขึ้นรถ นั่งต่อไปอีกชั่วโมงกว่าก็ถึงสถานีรถแห่งมมัลลปุรัม ลงจากรถแล้วถามทางไปถนน Othavadai ที่ผมขอเรียกว่าถนนข้าวสารแห่งมมัลลปุรัม เดินเข้าไปจนสุดถนนจึงเจอชายหาด เลี้ยวซ้ายแล้วเห็นบ้านพักหน้าตาดี ถามราคาบอกว่าคืนละพันรูปีเลยเดินหนึ แต่ผู้จัดการโรงแรมเห็นหน้าตาท่าทางแล้วถามว่ามาจากประเทศอะไร พอบอกว่าเป็นคนไทยเท่านั้นแหละ พี่แกยิ้มกว้าง รีบพูด “สวัสดีครับ” อย่างชัดเจน จากนั้นก็เล่าเป็นภาษาอังกฤษว่าเคยไปทำงานที่ถนนสีลม แนะนำตัวว่าชื่อฮาลีม รักคนไทยเป็นอย่างยิ่ง แถมรีบลดราคาห้องให้เหลือคืนละแปดร้อย ด้วยความยินดีและเกรงใจผมจึงต่อเหลือเจ็ดร้อย...
เจอพวกได้คืบเอาศอกอย่างผมฮาลีมฮาไม่ออกเลยครับ แต่เขาก็ยังใจดีพยักหน้าบอกโอเค
บ้านหลังสีฟ้าตรงกลางนั่นแหละครับ ที่พักของผม ชอบที่นี่มากจนพักตั้งสี่คืน
หน้าที่พัก
สุดถนน Othavadai แต่เป็นจุดศูนย์กลางของชายหาด รถทุกคันต้องมาจอดที่นี่
บรรยากาศ Othavadai street หรือ ถนนข้าวสารแห่งมมัลลปุรัม
“ตุ๊กแกคาเฟ่” ชื่อร้านน่ากิ๊นน่ากิน
ทาสีร้านแบบกลัวคนมองไม่เห็น
ร้านขายเสื้อผ้าและของที่ระทึก เอ๊ย ระลึก (เธอเห็นงูเห่านั่นไหม)
ไหนๆก็มาถึงเมืองนี้แล้ว เรามาทำความรู้จักกับเขาหน่อย ... มมัลลปุรัมเป็นเมืองท่าของราชวงศ์ปัลลวะที่ปกครองอินเดียตอนใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนหน้านี้ มมัลลปุรัม มีชื่อเรียกว่า Mallai หรือ Kadalmallai เป็นที่เกิดของนักบุญชื่อดังและเป็นสถานที่แสวงบุญอีกด้วย
มีหลักฐานว่า มมัลลปุรัม เป็นศูนย์กลางการค้าตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งและสอง ชาติที่เป็นคู่ค้าคนสำคัญคือกรีก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า พระเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง ก็เคยมาที่เมืองนี้ตอนศตวรรษที่ 7
ขอแทรกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพระรูปนี้สักเล็กน้อยนะครับ ... พระเสวียนจั้งบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี ท่านตัดสินใจเดินทางไปแสวงธรรมในประเทศอินเดียช่วงสิ้นราชวงศ์สุยเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ถัง ท่านได้ศึกษาพระธรรมในอินเดียที่มหาวิทยาลัยนาลันทานานถึง 17 ปี จากนั้นจึงเดินทางกลับจีนพร้อมพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต รวมระยะเวลาไปกลับทั้งสิ้น 19 ปี เป็นระยะทางกว่า 5 หมื่นลี้
กลับมาต่อที่ประวัติของเมืองนี้กันครับ ... ในศตวรรษที่ 14 มมัลลปุรัมถูกกล่าวถึงในวรรณคดีของยุโรปว่า “ดินแดนแห่งปรางค์เจ็ดยอด” หรือ “ดินแดนแห่งวัดเจ็ดวัด” ผมมาถึงเมืองนี้ตอนบ่ายแก่ๆ มีเวลาเหลือนิดหน่อยก่อนค่ำ จึงขอพาคุณผู้อ่านไปเที่ยววัดที่อยู่ใจกลางเมือง นั่นคือวัดแห่งพระวิษณุ อยู่หลังสถานีรถประจำทางครับ
บริเวณสถานีรถประจำทาง
โคปุรัม หรือ ซุ้มทางเข้าวัดแห่งวิษณุเทพ
ฝีมือการแกะหินที่อยู่ด้านในทางเข้าวัด
วัดนี้มีรูปสลักพระศิวะบรรทมอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเทพองค์นี้ว่า Sthalasayanan แปลว่าผู้นอนอยู่บนพื้น ยังมีห้องเล็กๆ หลายห้องที่เป็นของเทพอื่นๆ ผมถูกลุงคนหนึ่งพาเข้าไปทำพิธีให้พร ด้วยการนำจานเล็กๆ จุดไปควันขโมงวนอยู่ตรงหน้าหลายรอบ ทำเสร็จลุงก็แบมือกล่าวว่า
“โดเนชั่น”
แปลว่าอะไรละนั่น สงสัยจะให้เงินเราแล้วถามว่าเอาเท่าไร ใจดีขนาดนั้นเชียว ทำพิธีให้พรแล้วยังจะให้เงินอีก ไม่กล้ารับหรอก เกรงใจ ว่าแต่จะให้เท่าไรล่ะ ถ้าไม่มากนักก็พอรับได้ เดี๋ยวจะเสียน้ำใจ
ลุงคงดูออกว่าภาษาอังกฤษของผมไม่แข็งแรง จึงกล่าวใหม่ว่า “มันนี่ๆ กิฟมีมันนี่”
ประโยคง่ายๆ แบบนี้ผมพอแปลออก แปลเสร็จก็ตกใจราวกับระเบิดหล่นลงตรงหน้า หา ขอเงินเหรอ แบบนี้เรียกมาหลอกขอเงินนี่หว่า เฮ้อ แต่ไม่เป็นไร เรื่องทำบุญน่ะยินดีอยู่แล้ว ถึงไหนถึงกัน จึงตัดใจให้ไปตั้งสิบรูปี ลุงแกรับเงินไปส่ายหน้าไป แถมกล่าวเป็นภาษาอินเดีย คงชมเชยที่ผมให้เงินเยอะ
ด้วยความกลัวเจอลุงคนอื่นๆเรียกไปทำพิธีอีก ผมจึงรีบเผ่นออกจากวัดนี้แล้วกลับที่พัก นอนเอาแรงไว้เที่ยววันรุ่งขึ้น
วะนะกำ นันดรี กู๊ดอีฟนิ่ง และลาก่อนครับคุณลุง