ดิจิทัลเขย่าโลก !!! โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงได้เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ Mobile Application, การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การทำธุรกรรมอิเล็คทรอนิกส์ เพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เรา คุ้นเคยกับการเดินไปจ่ายเงินค่าสินค้า เดินไปกดเงินที่ ATM จนมาวันนี้ การที่ตู้ ATM โดน Hack อย่างง่ายดาย ทำให้คิดว่าการนำเงินไปใส่ในตู้ ATM เพื่อให้คนกดเงินออกมาใช้ น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดใช่หรือไม่ หรือการพกเงินเยอะๆ เพื่อไปใช้จ่าย จะโดนปล้นหรือไม่
และหากเราจ่ายเงินผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น จ่ายค่าแท็กซี่ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะดีกว่าปลอดภัยกว่าหรือไม่? ซึ่งในปัจจุบันเริ่มเกิดขึ้นแล้วในสังคมเมือง อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็อาจจะไม่ปลอดภัยในความคิดของคนทั่วไป ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีวิธีคิดและตรวจสอบความถูกต้อง โดยอาศัยเทคโนโลยีในหลายๆมิติ เช่น ในอนาคตอาจจะใช้เสียงพูดในการตรวจสอบตัวตน โดยการวิเคราะห์คลื่นเสียงออกมาเป็น password หรือ การสแกนนิ้วแทน password เป็นต้น ทำให้อัตลักษณ์บุคคลอย่างเช่น ลายนิ้วมือ เสียง หรือ DNA เริ่มเข้ามีบทบาท ในการตรวจสอบตัวตนมากขึ้น มีความฉลาดขึ้น และราคาถูกลง
วิวัฒนาการโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ โทรศัพท์ต้องมีปุ่มกด เปลี่ยนเป็นหน้าจอสัมผัส การเล่นเกมกด ในอดีตเป็นเครื่องเล่นเกมกดที่ต้องเล่นคนเดียว ในปัจจุบันกลายเป็นเกมออนไลน์บนมือถือ ที่สามารถเล่นกับใครในโลกก็ได้ มีการวิเคราะห์จากบริษัทวิเคราะห์ชั้นนำของโลกมากมายว่าแนวโน้มในอนาคต โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัว ในขณะเดียวกันถือเป็นภัยคุกคาม และโอกาสใหม่สำหรับผู้ที่เห็นช่องทาง แต่ก็อาจจะทำลายสิ่งที่เป็นโลกเก่าที่อยู่ในวันนี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีอยู่ต่อไปในวันพรุ่งนี้ เช่น เราอาจจะเห็นได้ว่าอาชีพบางอาชีพได้จะหายไป ในขณะเดียวกันก็มีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมา
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูล ที่มีความรวดเร็วกว่าเมื่อ 5-6 ปี ที่แล้วถึงร้อยเท่า เช่น ในอดีตเคยส่งหนังสือ 1 เล่มผ่านระบบอินเตอร์เน็ตใช้เวลา 5 นาที กลายเป็น ในปัจจุบันสามารถส่งหนังสือ 100 เล่ม ภายในเวลา 5 นาที ซึ่งการทำงานที่เร็วขึ้นพันเท่า เนื่องมาจากการส่งข้อมูลที่เร็วขึ้นร้อยเท่านั่นเอง
ในทางทฤษฎีการดาวน์โหลดข้อมูลในยุค 2G ทำได้ได้สูงสุด 364 Kbps จนมาในยุค 3G ได้ความเร็วสูงสุด 100 Mbps แต่มาในยุค 4G ในตอนนี้เร็วสูงสุด 800 Mbps และกำลังจะก้าวไปสู่ 1 Gbps ในปี 2020 และประเทศไทยมี 4G LTE ที่พร้อมจะก้าวไปสู่ 5G ในปี 2020
ประเทศไทยมีประชากรที่บริโภคสื่อสังคมออนไลน์มากติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่น ประเทศไทยใช้ facebook ติดอันดับโลก ใช้ Line ติดอันดับโลก ส่งคลิปวิดีโอมากติดอันดับโลก ซึ่งทั้งรูปภาพและวิดีโอสั้นๆนี้ ในอดีตเมื่อ 5 ปีที่แล้วยังไม่มีการส่งกันแพร่หลายนัก ทำให้ช่องทางออนไลน์ถือว่าเป็นช่องทางใหม่ในการทำการตลาดที่มีราคาถูกที่สุด เร็วที่สุด และเป็นสื่อที่มีคนใช้งานจำนวนมากที่สุด เพราะฉะนั้น วิธีคิดของผู้บริหารระดับสูงที่ใช้วิธีเก่าๆ ลงทุนมากมหาศาล สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย แต่กลับแพ้คนรุ่นใหม่ ที่เข้าใจจิตวิทยามนุษย์ เพียงแค่ส่งคลิปวิดีโอที่กระแทกใจผ่านสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่กลับมีคนพูดถึงกันทั้งเมือง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเร็วของเทคโนโลยีในการสื่อสาร มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้อยู่ ประมาณ 120 ล้านเลขหมาย ต่อจำนวนประชากร 65 ล้านคน ซึ่งเลขหมายโทรศัพท์ส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ติดในรถยนต์, ตู้ ATM, ใส่ในกล้อง CCTV เป็นต้น และในปัจจุบัน พบว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของโลก เข้าใกล้จำนวนประชากรโลก ทำให้นักการตลาดต่างคิดถึงโอกาสที่จะเข้าถึงคนได้ร้อยล้าน พันล้านคนได้ภายในไม่กี่วินาที
นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ซอฟท์แวร์เดียวกัน หรือแอพพลิเคชั่นเดียวกัน จะสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ เช่น Line group ที่ตอนแรกรับสมาชิกได้สูงสุด 200 คน ตอนนี้เปิดเป็น 400 คน ในอนาคตอาจเปิดเพิ่มเป็นพันคน เพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่มีมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีการหาเสียงผ่านวิดีโอไลฟ์ ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็น interactive มากขึ้น
ปัจจุบันมีการจัดรายการวิทยุผ่าน facebook live โดยจัดรายการวิทยุไปด้วย ออกอากาศผ่าน facebook live ไปด้วย เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ที่คนฟังวิทยุสามารถดูดีเจจัดรายการไปด้วย เมื่อราวๆ 10 ปีที่แล้ว มีการพยากรณ์ว่า ในอนาคตคนจะมีสตูดิโอเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องลงทุน ในอนาคตคนจะมีสถานีโทรทัศน์ตัวเอง ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นจริงได้ในขณะนั้น แต่ขณะนี้มันเป็นไปแล้ว
ในสมัยก่อน การตั้งบริษัท จะต้องลงทุนซื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ PC หลายเครื่อง เพื่อต่อเป็นเครือข่าย และต้องติดตั้งเครื่อง server ราคาแพง แต่ปัจจุบันแค่ใช้ notebook หรือ tablet เชื่อมต่อกับ WiFi หรือใช้ smartphone 4G โดยไม่จำเป็นต้องมี infrastructure ของบริษัทมากมายเหมือนในอดีต อย่างเช่น คลาวด์ ก็สามารถเก็บและรับส่งข้อมูลข่าวสารถึงกันได้มหาศาล ทำให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้บริษัทเล็กๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องลงทุนใน infrastructure ใหญ่ๆ เหมือนบริษัทใหญ่ๆ เพราะโลกเราทุกวันนี้เชื่อมโยงถึงกันหมด หรือที่เรียกว่า fully connected จนกำลังจะกลายเป็น Hyperconnected ที่ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้หมดโดยไม่ต้องลงทุนสูง อุปกรณ์ต่างๆสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ เกิดเป็น Internet of Things (IoT) เช่น รถยนต์ไร้คนขับ โดยแนวคิดเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกิดวิธีคิดใหม่ๆในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น logistic หรือ การเงินการธนาคาร โดยอาศัย location based service ทำให้ติดตามเส้นทางการขนส่งได้ แม้แต่เส้นทางการเงิน
หากเราสามารถใช้เงินที่ไม่ใช่ธนบัตร ใช้เงินที่จับต้องไม่ได้ ปลอมแปลงยาก หากจะปลอมต้องใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง เงินเหล่านี้สามารถติดตามเส้นทางการเงินได้ ว่าเงินนี้มาจากไหน จ่ายให้ใครบ้าง เมื่อจ่ายแล้วจะไม่ใช่เงินของเราอีกต่อไป ระหว่างที่ทำธุรกรรมจะมีการแจ้งไปยัง node ต่างๆ ว่าตอนนี้ ใครจ่ายเงินให้ใคร ซึ่งทุก node จะช่วยกันพิสูจน์ว่าเงินนี้มาจากไหน เป็นเงินที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจาก node ต่างๆ แล้วพบว่าถูกต้องก็จะบันทึกไว้ว่าธุรกรรมนั้นๆไว้กับทุกๆ node เพื่อเป็นหลักฐาน เกิดเป็นแนวคิดการจ่ายเงินของ Bitcoin ขึ้น โดยวิธีและกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า Blockchain ซึ่งสามารถนำ Blockchain มาใช้กับการ Vote Electronic เนื่องจากมีความโปร่งใสมาก และสามารถ Vote จากที่ใดก็ได้ในโลก ด้วยมือถือบนมือเรา
เรานำแนวคิดของ Bitcoin Blockchain มาใช้ทำให้เกิดความโปร่งใสมาก รู้ที่มาที่ไปของเงินที่ไม่ใช่เงินกระดาษ แต่ในบางอุตสาหกรรมยังไม่ยอมรับ แต่กลับกลายเป็นว่า เกิดความนิยมมากในสแกนดิเนเวีย สวีเดน นอร์เวย์ ในประเทศที่มีความโปร่งใสขั้นสูงของโลก นอร์เวย์ประกาศแล้วว่าจะไม่ใช้เงินที่เป็นธนบัตรภายในปีนี้
ซึ่งในบริษัท consulting firm อย่างเช่น PwC , Ernst & Young, KPMG ฯลฯ เริ่มหันมาจับมือร่วมกันทำ Blockchain ให้บริษัทลูกค้า ให้กลุ่มบริษัทหลายกลุ่มทั่วโลก โดยมีความโปร่งใสภายในองค์กร และขณะนี้บริษัทต่างๆยอมรับ Blockchain มากขึ้นเป็นลำดับ ขยายวงไปเรื่อยๆจนส่งผลกระทบไปทั่ววงการธุรกิจ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารและการเงินอย่างเช่น ธนาคารชาติในหลายประเทศยังไม่ยอมรับ แต่หน่วยธุรกิจและการใช้งานส่วนบุคคล ใช้ Bitcoin กันเอง เมื่อต่างฝ่ายต่างมีการใช้ Bitcoin ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับ Bitcoin โดยขณะนี้บริษัทเกี่ยวกับ Fintech เริ่มเอา Blockchain กับ Bitcoin มาใช้ในธุรกิจของตัวเอง โดยปัจจุบันสิงคโปร์มีการตั้งสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนา Fintech ขึ้นมา และประกาศว่าจะเป็นผู้นำ Fintech ของโลก ทำให้วิธีการคิดในการทำธุรกิจทั้งหมดต้องเปลี่ยนไป เช่น บริษัทประกันภัย เมื่อมีรถชนกัน ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เคลม ต่างฝ่ายต่างถ่ายรูปรถตัวเอง แล้วส่งให้บริษัทประกันภัยเพื่อทำการเคลมกันเอง หรือการนำ Internet of Things มาใช้ในธุรกิจประกันภัย โดยเริ่มนำเทคโนโลยี Telematic มาใช้เพื่อความสะดวกในการคิดค่าเบี้ยประกันภัยตามระยะทางการใช้งาน และติดตามพฤติกรรมการขับรถ เพื่อประเมินเบี้ยประกัน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่า ธุรกิจที่มีตัวกลางกำลังจะตายไปจากโลกนี้
ณ วันนี้ สงครามดิจิทัลเพิ่งเริ่มเปิดฉากเท่านั้น อีก 1-2 ปีต่อจากนี้ คือภาพที่แท้จริง!!!
--------------
โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ จากการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวสู่ยุค Internet of Things และ Cashless Society ด้วย 4G” ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559
สรุปโดย
น.ส.วาสนา แก้วผนึกรังษี