ใครพากย์เซเลอร์มูน ใครเลือกการ์ตูนมาฉายให้เราดูตอนเด็ก ผู้ Run วงการ์ตูนญี่ปุ่นบนทีวีไทย?
คำถามว่าเด็กที่ดูการ์ตูนในสมัยนั้นจะเป็นคนยังไง คำตอบก็คือเป็นคนที่มาช่วยชีวิตผม - น้าต๋อย เซมเบ้ #TEDxBangkok
จากคำพูดของน้าต๋อยในงาน TEDxBangkok ทำให้มีหลายคนพูดว่า น้าต๋อยเป็นคนที่ทำให้วงการการ์ตูน (ฝั่งอนิเมชั่น) ในไทยมาไกลขนาดนี้ The MATTER เห็นด้วยกับข้อความนี้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะในวงการใดก็ย่อมจะต้องมีบุคลากรหลากหลายเข้ามาสนับสนุนสมทบอยู่มาก วันนี้เราจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวในมุมอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายจัดการเนื้อหาการ์ตูนญี่ปุ่น ให้โลดแล่นบนหน้าจอสมัยเราเยาว์วัย
ช่องทางสู่ฟรีทีวี – ฝ่ายจัดหารายการของสถานีโทรทัศน์
ตำแหน่งแรกที่เราพูดถึง ถือเป็นตำแหน่งที่หลายคน หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์อาจไม่ทราบว่า ‘ฝ่ายจัดหารายการ’ เป็นคนคอยจัดการตารางชีวิตเหล่านี้ควบคู่กับแผนกอื่นๆ ในสถานี เพราะรายการที่ฉายตามทีวีไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ช่องสร้างสรรค์ขึ้นมาเองทุกชิ้น ดังนั้น การ์ตูนต่างๆ เป็นหน้าที่ของบุคลากรกลุ่มนี้จัดหามาลงในผังรายการของแต่ละช่องนั่นเอง
ฝ่ายจัดหารายการ จะคัดเลือกการ์ตูนผ่านช่องทางต่างๆ อย่างงานขายรายการ (อย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็จะมีพาร์ทงานที่บริษัทมาขายรายการต่างๆ) หรือติดต่อกับบริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์อนิเมชั่นต่างๆ ของไทยเพื่อนำรายการมาลงช่อง ดังนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีความรู้ที่ดี และต้องเสพรายการที่เล็งไว้มาพอสมควร ก่อนตัดสินใจเลือกมาฉาย
บุคลากรท่านหนึ่งที่ผู้เขียนพอจะมีโอกาสได้พบปะกันบ้างก็คือ คุณวิภาดา จตุยศพร หรือ น้าเปียก ซึ่งหลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยในฐานะผู้พากย์เสียงตัวละครดังอย่าง สึกิโนะ อุซางิ หรือ เซเลอร์มูน (ทั้งในฉบับดั้งเดิม และภาค Crystal ที่เพิ่งจัดทำใหม่ไม่นานนัก) ก็เคยดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการส่วน จัดหารายการของทางช่อง 9 มาก่อน ถึงปัจจุบันคุณวิภาดาจะเกษียนตนเองจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว แต่ในช่วงยุค 90s คุณวิภาดาเป็นคนที่พิเคราะห์การ์ตูนมาจัดฉายในช่อง 9 เกือบทุกเรื่อง
หากถามว่าคุณวิภาดาเข้าใจรายละเอียดการ์ตูนขนาดไหน ครั้งหนึ่ง เธอเคยให้ความเห็นติดตลกว่าการ์ตูนเรื่องสาวน้อยเวทมนตร์ มาโดกะ นั้น สนุกและน่าสนใจ แต่หากนำมาฉายผ่านทางช่อง โดยเฉพาะเนื้อเรื่องตอนที่ 3 อาจทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มออกมาโวยวายได้ (คุณวิภาดาพูดถึงฉากโดน ‘กัดหัว’ อันโด่งดังนั่นเอง)
น่าเสียดายที่คุณวิภาดา ติดภารกิจจึงไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ขนาดยาวกับทาง The MATTER แต่เธอก็ได้ความเห็นสั้นๆ เกี่ยวกับการเติบโตของวงการการ์ตูนในประเทศไทยไว้ว่า
“อย่าง Cartoon Club, Gang Cartoon, DEX, Rose, TIGA ทุกคนมีส่วนนำการ์ตูนเข้ามา คนๆ เดียว ไม่สามารถทำ(พัฒนาวงการการ์ตูน)ได้ขนาดนี้ ก็ต้องบอกว่านักพากย์ก็มีส่วน นักพากย์ที่เข้ามาพากย์เยอะแยะ เสียงมากมายหลากหลายที่มาพากย์ให้นั่นก็ส่วนนึง คนแปลเองก็เช่นกันที่ช่วยพัฒนา ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง”
ผู้สาดกระสุนความสนุก – บริษัทตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์อนิเมชั่น
จากคำพูดข้างบนที่คุณวิภาดาได้พูดไว้ เราได้เห็นชื่อของ DEX, Rose, TIGA สามบริษัทที่คนติดตามการ์ตูนต่างคุ้นเคย บริษัทเหล่านี้ก็คือบริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์ในประเทศไทย อย่างงาน Anime Festival Asia 2016 ที่ผ่านมา DEX ก็เป็นค่ายตัวแทนที่นำเอา One Piece Film Gold มาฉาย หรือ TIGA ก็กำลังนำนักสืบจิ๋ว โคนัน ยอดนักสืบ มาฉายในโรงภาพยนตร์เร็วๆ นี้
หลายคนอาจมองว่ากลุ่มบริษัทเหล่านี้คงทำแค่แผ่น VCD หรือ DVD เพื่อวางขายตามร้านค้าต่างๆ หรือนำเข้าภาพยนตร์อนิเมชั่นจากญี่ปุ่นมาขายตามช่องโทรทัศน์เพียงเท่านั้น ในเป็นความเป็นจริงกลุ่มบริษัทเหล่านี้ยังทำธุรกิจบันเทิงในแง่มุมอื่นด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะในยุคหลังการขายแผ่นก็ไม่ได้ทำยอดขายดีนัก ด้วยความที่ผู้บริโภคปรับตัวหาชมอนิเมชั่นญี่ปุ่นตามช่องทางต่างๆ (ทั้งถูกและผิดกฏหมาย) ได้ง่ายขึ้น
บริษัทต่างๆ จึงต้องมองหาช่องทางอื่นในการสร้างรายได้ ตัวอย่างเช่น ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เพิ่งเข้าร่วมวงการนี้ไม่นาน ก็นำเอาการ์ตูนเรื่อง Pokemon หลายภาคมาฉาย รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ บ่อยครั้ง และการปล่อยให้ชมการ์ตูน Pokemon ฟรีๆ ทาง Youtube
ปัจจุบัน DEX จัดงานกิจกรรมนอกสถานที่บ่อยครั้ง ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันก็เช่น โชว์ของอุลตร้าแมน หรือมาสค์ไรเดอร์ ที่ออกทัวร์หลายจังหวัด และนำสินค้าจากการ์ตูนที่กำลังดังในญี่ปุ่นมาจำหน่ายเร็วขึ้นเพื่อเอาใจแฟนพันธุ์แท้
หรืออย่าง Rose Media Entertainment หรือที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น REC ก็ทำส่วนของอนิเมชั่นเป็นแค่ส่วนเสริมต่อยอดจากเดิมที่พวกเขาเคยทำธุรกิจภาพยนตร์ ซีรีส์ จำหน่ายแผ่นเพลง หรือ แผ่นการบันทึกการแสดงลิเก และอีกส่วนที่ REC มีความเกี่ยวข้องก็คือการจัดทำสถานีโทรทัศน์ทีวีดาวเทียม
หัวหอกสำคัญในช่วงกลางยุค 2000 – สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่เน้นฉายการ์ตูน
เราพูดถึงสองแนวหน้าที่ทำ Run วงการ ในการนำเสนอการ์ตูนในมุมกว้างแล้ว อีกหัวหอกหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนอนิเมชั่นญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงผู้คนในประเทศไทยได้มากขึ้นจากการเริ่มต้นของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในช่วงปี 2000 ก่อนที่สถานีโทรทัศน์เหล่านี้จะได้รับความนิยมอย่างมากราวปี 2007-2008 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ทาง Rose Media (ชื่อในเวลานั้น) ได้เปิดตัวสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม Gang Cartoon ซึ่งในช่วงแรกก็เน้นฉายการ์ตูนที่ทาง Rose เป็นผู้ถือสิทธิ์ไว้ ก่อนที่ภายหลังจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้าหาคนดูทั้งกลุ่มเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น
หลังจากนั้นราวครึ่งปี ช่อง Cartoon Club Channel ก็เปิดตัวขึ้น หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ช่องนี้เป็นช่องที่ DEX กับ TIGA ร่วมทุนกันเพื่อเข้าแข่งขันในตลาดทีวีดาวเทียม แต่ความจริงสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ถูกก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท เอฟฟ์ จำกัด มือเก๋าในวงการการ์ตูนของไทย ที่เคยจัดทำรายการไฮไลท์การ์ตูนเก้า และทำเพลงการ์ตูนไทยหลายๆ เพลง ส่วนผู้บริหารของช่องนี้ ก็คือ ‘น้องนพ’ ธนพ ตันอนุชิตติกุล พิธีกร(เคย)เด็กจากรายการไฮไลท์การ์ตูนเก้านั่นเอง
เรามีโอกาสสัมภาษณ์พนักงานสายการตลาดท่านหนึ่งที่เคยคลุกคลีกับการทำงานในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมมาให้ความเห็นของทิศทางการทำงานของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งนี้
“เราหวังให้มัน(สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม)เป็นช่องทางในการเผยแพร่การ์ตูนญี่ปุ่น แล้วหลายๆ อย่างที่คนคิดหรือ Create ลงไปในนั้นจะกลายเป็น Icon ตัวหนึ่งของวงการการ์ตูนของไทย หรือการนำเสนอ Culture บางอย่างที่เคยเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ ได้เผยแพร่นำเสนอผ่านทางทีวีที่คนต่างจังหวัดได้รับทราบ และกระตุ้นลูกค้าที่รู้จัก Culture เหล่านี้อยู่แล้วให้มากขึ้นจากที่เคยเป็น”
“สิ่งที่เปลี่ยนไปจากยุค 90s ผมมองว่า คนดูไม่ได้ดูแค่แบบเดิม (มีช่องทางดูการ์ตูนเพียงแค่โทรทัศน์) อย่างยุค 90s แล้วล่ะ เดี๋ยวนี้การ์ตูนเริ่มเป็นเฉพาะทางมากขึ้น เด็กที่โตมาในยุคนี้ก็เป็นเด็กที่โหลดดูมากขึ้น ลักษณะตลาดก็เปลี่ยนไป มันจะเป็นการหาประโยชน์จากเรื่องที่ดังอยู่แล้ว เพราะคนดูหาดูกันเองหมดแล้ว เพราะการขายแผ่นไม่ใช่ส่วนสำคัญของวงการอีกแล้ว” พนักงานการตลาดท่านนี้กล่าวถึงทิศทางการตลาดของวงการในไว้อย่างน่าสนใจ
กลุ่มคนผู้มอบชีวิตให้กับตัวละคร – นักพากย์
เราริ่มต้นบทความนี้กันด้วยเรื่องราวของนักพากย์การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง น้าต๋อย เซมเบ้ และเราได้พูดคุยเล็กน้อย กับ พี่เปียก ผู้พากย์เซเลอร์มูน เพื่อให้เห็นถึงมุมมองเพิ่มเติม เราได้นัดพูดคุยกับนักพากย์หญิงท่านหนึ่ง วัยราวๆ 2X ผู้ขอสงวนนามไว้ …แต่เธอคือคนหนึ่งในนักพากย์ที่เรายกคลิปตัวอย่างมาให้ฟังกันนี่แหละ
“สวัสดีค่ะ เป็นนักพากย์และนักแปลการ์ตูนฝรั่ง งานพากย์ปกติจะพากย์ทั้งฝั่งการ์ตูนฝรั่งและญี่ปุ่น ช่วงนี้จะพากย์ฝรั่งมากกว่าค่ะ (The MATTER : เพราะฝั่งการ์ตูนญี่ปุ่นต้องใช้เวลาและทักษะมากกว่าหรือเปล่า ?) ฝั่งญี่ปุ่นจะมีทีมที่เขาจะประจำอยู่แล้วค่ะ และมีไม่กี่ค่ายที่ทำ แต่ฝั่งฝรั่งจะมีเยอะกว่าค่ะ แต่ถ้ารุ่นใหญ่เรียกให้ไปสมทบก็ไปค่ะ” เธอแนะนำตัวอย่างสดใส
“อย่างงานพากย์ของหนูก็จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ค่ะ อีกส่วนที่สำคัญก็เป็นบท(ที่แปล) คือ…การ์ตูนมันไม่ได้สำคัญแค่เสียงพากย์ มันสำคัญเรื่องบทด้วย ถ้าหากนักแปลไม่สามารถ Execute มันออกมาให้ดีได้ มันก็สามารถ Shape ค่านิยมของเด็กได้เลย รวมถึงการใช้คำเราก็ต้องระวังเหมือนกันนะ ยิ่งช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงแล้วคือเด็กเข้าไปดูการ์ตูนเองได้ในอินเทอร์เน็ต บางทีก็อาจจะทำให้ความห่วงใยของผู้ใหญ่ถูกมองว่าเป็นการห่วงที่ไร้สาระก็ได้ พวกนี้ก็เลยอาจจะเจอมองอะไรที่แย่ไป แบบการเซ็นเซอร์หัวนม มันก็จะเป็นการ Clash กันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ไป” นักพากย์ที่ถือเป็นคลื่นลูกใหม่พูดถึงมุมมองของงานทั้งการพากย์และการแปล
เมื่อเราถามว่าตอนนี้บริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์ทำแผ่นกันน้อยลงไม่เหมือนก่อน อนาคตของสายอาชีพที่เธอรักและก้าวเข้ามาอาจจะไม่เหมือนเดิม เธอก็ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่า
“อือ… การพากย์ไทยอาจจะยังไม่ได้หายไปในสิบปี ยี่สิบปี เพราะว่า… การพากย์เราก็ยังไม่ได้แย่ แล้วก็ยังมีคนที่มีความสามารถยังเข้ามาอยู่เรื่อยๆ อย่างรุ่นหนูที่เข้ามาก็ใหม่แล้วนะ แต่มีเด็กกว่าหนูที่เข้ามาอีกอย่างมีเด็กอายุ 15-16 ที่เก่งมาก แล้วก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เขาก็จะเป็นคลื่นลูกใหม่เพราะว่ารุ่นใหญ่เขาก็จะต้องเริ่มหายไปทีละคน เพราะไม่มีใครอยู่ยั้งยืน หนูก็เลยรู้สึกว่าพากย์ไทยก็ยังอยู่ เพราะมีความสามารถเพียงพอ และคนไทยก็ยังมีคนที่ขี้เกียจอ่านซับแล้วก็นั่งฟังเสียงแทน แต่ว่า…ต่อไปในอนาคตคงจะเป็นเรื่องทำยังให้คนซื้อของแท้มากกว่า เพื่อให้พากย์ไทยอยู่ได้ เพราะคนไทยชอบดูของฟรี เพราะการจะให้ซื้อแผ่นอาจจะเป็นความวุ่นวายสำหรับเขา…นะ เขาอาจจะอยากดูง่ายๆ บน Youtube หรือโหลดเอา …เนี่ย มันเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ว่าจะทำยังไงให้การ์ตูนลิขสิทธิ์สามารถอยู่ได้กับคนสมัยใหม่ที่เข้าถึงสื่อเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่งั้นสุดท้ายพากย์ไทยในการ์ตูนญี่ปุ่นมันจะหายไปเอง…”
เฟืองตัวเล็กที่มีความสำคัญสูง – คนแปล
กระบวนการหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับการทำงานของวงการการ์ตูนก็คือ การแปล นั่นเอง ไม่ว่าผู้ชมจะหาดูด้วยช่องทางได้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็ต้องติดตามการ์ตูนที่มีการแปลในระดับหนึ่ง The MATTER ดึงตัวนักแปลหญิงมืออาชีพผู้คร่ำหวอดในการแปลการ์ตูนอนิเมชั่นญี่ปุ่นมาพูดคุยแน่นอนว่า…นักแปลท่านนี้ขอสงวนนามไว้เพื่อความเป็นส่วนตัว
The MATTER ได้รับคำตอบจากนักพากย์ทั้งสองรุ่นแล้วว่า นักแปล นั้นมีความสำคัญต่องานพากย์อย่างมาก เราจึงสอบถามนักแปลหญิงท่านนี้ว่า ตัวของเธอเองคิดอย่างไร สิ่งที่เธอบอกเราก็คือ
“คิดว่าสำคัญพอสมควร เพราะเป็นการถ่ายทอดสารจากผู้แต่งไปถึงคนดู ซึ่งต้องให้ครบถ้วนและถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าทำได้ไม่ดีพอ การ์ตูนเรื่องนั้นๆ ก็จะเสียคุณค่าไป ในกรณีที่แปลอนิเม หากคนแปลเรียบเรียงประโยคให้อ่านง่ายและล็อกคำให้ *ลงปากพอดีนักพากย์จะทำงานได้ง่ายขึ้นมากๆ ตรงนี้จึงคิดว่าหน้าที่ที่เราทำ นับเป็นส่วนสำคัญทีเดียว
“ก่อนที่จะมาทำงานตรงจุดนี้ เคยมองว่าเป็นสิ่งน่าสนุก คนที่ได้ทำงานตรงนี้คงจะมีความสุขมาก ได้อยู่กับการ์ตูนที่ชอบทุกวัน แต่ก็เคยรู้สึกขัดใจว่าทำไมเรื่องนี้ไม่แปลแบบนี้ๆ ทำไม สำนักพิมพ์ถึงพิมพ์หรือให้ของแถมเหมือนญี่ปุ่นไม่ได้ พอเข้ามาทำงานเองแล้วจึงได้รู้ถึงข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น” นักแปลหญิงตอบเราเมื่อสอบถามไปว่าเคยคิดยังไงก่อนจะกระโดดมาเป็นฟันเฟืองส่วนนี้”
“แต่เมื่อถามถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เธอน่าจะเป็นคนที่ตอบแบบฟันธงขั้นสุดว่า “สำหหรับอนิเมชั่นลิขสิทธิ์ หลายๆ ค่ายพยายามปรับตัวอย่างที่สุดแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถต้านทานปัญหาเรื่องละเมิดได้เลย ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป อีกไม่นานค่ายจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แน่ๆ และจะไม่มีอนิเมชั่นหลายๆ เรื่องเข้ามาแบบถูกลิขสิทธิ์ให้ดูอีก คนที่ได้รับผลกระทบต่ออีกทอดนึงก็คือคนแปลกับนักพากย์ที่จะไม่เหลืองานให้ทำแบบแน่นอน”
“แต่สำหรับงานอีเวนท์ไม่แน่ใจ มันดูเฟื่องฟูสวนทางกันมาก มีงานอีเวนท์เกี่ยวกับการ์ตูนจัดแทบจะทุกเดือน แถมบางงานทางญี่ปุ่นยังเข้ามาร่วมด้วยอีก” ซึ่งเรื่องนี้ ตรงกับความเห็นของพนักงานการตลาดของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่คิดว่าทิศทางตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในทางนี้มากขึ้น
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบุคลากรในวงการการ์ตูนที่อาจตกสำรวจไปในหลายห้วงเวลา นอกจากนี้ยังมีบุคลากรอื่นๆ อีกมากอย่างพนักงานการตลาด พนักงานขาย พนักงานดูแลลูกค้า ฯลฯ ที่ขับเคลื่อนวงการนี้อย่างต่อเนื่อง จนอาจบอกได้ว่า การ์ตูนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเด็ก ไม่ใช่แค่ ณ ช่วงเวลานี้ แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คนที่ผลักดันวงการการ์ตูนก็มีผู้ใหญ่หลายคน ทั้งที่ดังจนทุกคนรู้จัก หรืออาจเป็นคนที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเลย
*ลงปาก ในกรณีนี้หมายถึงการแปลให้จำนวนคำภาษาไทยมีพยางค์และความหมายที่ไม่ผิดเพี้ยนจากตัวต้นฉบับ เนื่องจากในการแปลสำหรับพากย์ภาษาไทยเป็นต้องแปลโดยคำนึงถึงพยางค์ที่นักพากย์จะสามารถพูดได้ รวมถึงต้องทอนคำให้ใกล้เคียงกับการขยับปากของตัวละครการ์ตูนด้วย