ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายใน พระอุโบสถหลังใหม่ วัดกะพังสุรินทร์ (พระอารามหลวง)
วัดกะพังสุรินทร์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันมีพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) (เจ้าคณะใหญ่หนใต้) เป็นเจ้าอาวาส
วัดกะพังสุรินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยมีเจ้าเส เป็นผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2480 และผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ ภายในวัดมีพระอุโบสถ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เสาไม้ฝาก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วต่างๆ ระดับสองชั้น ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที 17 มีนาคม พ.ศ. 2542 วัดกะพังสุรินทร์เป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสหประชาสรรค์ และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระครูวิเชียร ปัจจุบันมีพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เป็นเจ้าอาวาสและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ พระราชวรากร (สงบ วรเสรี) เป็นรองเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดตรัง
ภายในวัดมีพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เสาไม้ฝาก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วต่างๆ ระดับสองชั้น กว้าง 9.50 เมตร ยาว 15.40 เมตร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2480 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 24 เมตร ยาว 36 เมตร อุโบสถถูกสร้างขึ้นในสมัยพระอธิการแย้มเป็นเจ้าอาวาส และสร้างเรื่อยมาจนถึงพระอธิการเพื่อม ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน (ปีนี้เป็นอธิกมาส) โครงสร้างเสาไม้ ฝาผนังหล่อปูน หลังคา 2 ชั้น มุงกระเบื้องปูนชนิด 4 เหลี่ยม ต่อมาชำรุดไปตามกาลเวลา ซึ่งในปี พ.ศ. 2525 จัดการบูรณะเสียใหม่ในส่วนหลังคาในสมัยพระพรหมจริยาจารย์ (ครั้งดำรงสมณศกดิ์ที่พระปิฎกคุณาภรณ์) เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.2525 รูปทรงยังคงรูปเดิมไว้ กระเบื้องหลังคาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนเล็กใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพราะความเก่าแก่มานาน กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542[2] มีพื้นที่ 1 งาน 94 ตารางวา