จาก เรือเหาะ – รถถัง – จีที200 - โรงขยะ
จีที200
กลายเป็นคดีฉาวอีกครั้งสำหรับ “GT200” อุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด หรือที่ถูกเรียกว่า “ไม้ล้างป่าช้า” หลังเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ศาลเมืองโอลด์เบลีย์ แคว้นเคนท์ของอังกฤษ มีคำพิพากษาจำคุก นายแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล เป็นเวลา 7 ปี ในข้อหาฉ้อโกงจัดจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ให้แก่หลายประเทศ…
โดยสรรพคุณ GT200 ที่อวดอ้างว่าสามารถตรวจจับระเบิด ยาเสพติด งาช้าง ยาสูบ และธนบัตรได้ อีกทั้งมีขีดความสามารถตรวจจับลึกลงไปใต้ดิน 700 เมตร และขึ้นไปในอากาศถึง 4 กิโลเมตร ทั้งที่ไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ จากการสืบสวนของทางการอังกฤษ ชี้ว่าต้นทุนการผลิตมีราคาเพียง 5 ปอนด์ คิดเป็นไทยก็ประมาณ 250 บาท แต่นำมาขายราคาเครื่องละประมาณ 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 5 แสนบาทไทย โดยได้ขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดให้หลายประเทศ อาทิ เม็กซิโก ปากีสถาน อียิปต์ ตูนิเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมถึง ประเทศไทย
กรณีประเทศไทย GT200 กลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกองทัพ ที่เริ่มต้นเมื่อกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ได้จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 มาใช้งาน ในสมัย “บิ๊กต๋อย” พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ โดยมีคณะกรรมการตรวจคุณภาพของกองทัพอากาศเป็นผู้คัดเลือกอุปกรณ์ ก่อนดำเนินการจัดซื้อกับบริษัทผู้จำหน่ายโดยตรง
และสมัย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ทดลองใช้เครื่องตรวจ GT200 ซึ่งปรากฏว่าพบอาวุธในมัสยิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา จึงทำให้เชื่อว่าเครื่องนี้สามารถใช้การได้จริง ป้องกันอันตรายจากระเบิดของผู้ก่อการร้าย เพื่อรักษาชีวิตทั้งของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้
รถถัง
เรือเหาะ
นอกจาก GT200 แล้ว “กองทัพบก” ยังต้องเผชิญคำถามปม “เรือเหาะ” หรือ SKY DRAGON ที่ได้จัดซื้อสมัยที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม และมีน้องรัก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.
โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ทำสัญญาซื้อ “เรือเหาะ + ระบบตรวจการณ์” จากบริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ในราคา 340 ล้านบาท โดยเรือเหาะลำนี้ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น Aeros 40D S/N 21
โดยระบบตรวจการณ์ที่มากับเรือเหาะ จะมีกล้อง 5 ตัวติดอยู่บนเรือเหาะ ส่งสัญญาณภาพแบบเรียลไทม์มายังที่ศูนย์เฉพาะกิจทั้ง ฉก.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส (ตามเป้าหมาย) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ตอนแรก กองทัพบกมีความต้องการจัดซื้อเรือเหาะ 3 ลำด้วยซ้ำ เพื่อมาปฏิบัติภารกิจตรวจการณ์บนฟ้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้…
สำหรับข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ มีขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลียม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0-10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง
และมีเกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)
โดยปี 2552 “เรือเหาะ” ถูกนำไปบรรจุที่กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการจัดสร้างโรงเก็บ แต่ไม่เคยใช้ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายของการจัดซื้อ และยังมีข้อสังเกตจากบุคคลในแวดวงธุรกิจเรือเหาะว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไปกว่าความเป็นจริง
ที่ผ่านมาเรือเหาะได้ซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้งจากการรั่วซึม ซึ่งทางกองทัพบกได้ว่าจ้างบริษัทอื่นมาดูแลซ่อมแซมด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทผู้ขายเรือเหาะได้ปิดตัวลงไปแล้ว รวมถึงหมดสัญญาการซ่อมบำรุง
“ยุทโธปกรณ์กองทัพบกที่มีขนาดใหญ่ของเรามีหลายร้อยชิ้นและมีเทคโนโลยีสูง ถ้าไม่ดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์ดังกล่าวให้ใช้งานได้ ค่อยมาตำหนิ การที่เรือเหาะชำรุดก็ต้องมีการซ่อมแซม ไม่ใช่ต้องเสนอข่าวกันให้วุ่นวาย ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการจัดซื้อมีการใช้งานมีการบันทึกภาพไปดูได้ เรือเหาะมีการใช้งานขึ้นลงทำงานมาโดยตลอด เป็นธรรมดาที่ต้องมีอุบัติเหตุจนชำรุดก็ต้องทำการซ่อมแซม ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการซ่อมก็ต้องมีการตั้งงบประมาณตามระบบ ทำไมต้องมาตำหนิกันมากมาย ไม่เข้าใจ การจัดซื้อทุกอย่างโปร่งใส่ตรวจสอบได้หมดอย่างกังวล ตอนนี้รอเวลาซ่อมเสร็จรอการใช้งานต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในช่วงที่เกิดอุบัติเหตุเรือเหาะร่อนลงจอดฉุกเฉิน
จากกรณีอุบัติเหตุจากการร่อนลงจอดฉุกเฉินล่าสุดช่วงกลางปี 2556 ตามภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เรือเหาะตก” ทำให้ตัวเรือเกิดความเสียหายอย่างหนัก ล่าสุดมีรายงานข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติงบประมาณการซ่อมแซมอีก 50 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ “เรือเหาะ” ยังคงอยู่ต่อไป
cr http://thaipublica.org/2013/10/gt-200-and-sky-dragon/