3 เหตุผลที่บริษัทบ้านปูควรลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%
เขียน โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การทำเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเชียของบริษัทในเครือบ้านปูได้สร้างรอยแผลเป็นที่บาดลึกและยากเกินจะเยียวยาแก่ภูมิประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก และกาลิมันตันตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า น้ำที่ปนเปื้อนเต็มไปด้วยสารพิษ รวมไปถึงผืนแผ่นดินที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี แต่บ้านปูสามารถเป็นผู้นำเพื่อการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยได้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและแบบอย่างการลงทุนพลังงานที่ยั่งยืนที่ไม่ทำร้ายคนและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กลุ่มบริษัทบ้านปูเป็นบริษัทถ่านหิน โดยร้อยละ 93 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทมาจากการทำเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีอินโดนีเซียเป็นฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่า บ้านปูเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย โดยธุรกิจของบ้านปูฯ ในประเทศอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้การดำ เนินกิจการของบริษัท พีที อินโด ทามบางรายา เมกา ทีบีเค (PT Indo Tambangraya Megah TbK) หรือ ไอทีเอ็ม “ITM” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ของประเทศอินโดนีเซีย บริษัท ไอทีเอ็ม ITM ควบคุมดูแลบริษัทอื่น ๆ ในเครือทั่ว กาลิมันตัน ในปี 2557 บริษัทไอทีเอ็ม ITM ผลิตถ่านหิน 29.1 ล้านตัน เพื่อขายในอินโดนีเซีย และเพื่อการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย แต่การทำเหมืองของบริษัทบ้านปูกำลังสร้างรอยแผลที่บาดลึกให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนกาลิมันตันตะวันออกและตะวันตก ซึ่งบ้านปูมีศักยภาพในการเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนพลังงานอย่างยั่งยืน และนี่คือ 3 เหตุผลที่บริษัทบ้านปูควรหันมาลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%
โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทบ้านปู
1. การทำเหมืองถ่านหินสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรมของชุมชน
ตัวอย่างที่น่าเศร้าซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้ามาของเหมืองถ่านหินในเครือบริษัทบ้านปู คือ กรณีของหมู่บ้านเคอทาบัวนาในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก แหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่ง เมื่อบริษัทเหมืองถ่านหิน พีทีคิทาดิน (PT Kitadin) เริ่มทำเหมืองถ่านหิน เกษตรกรพบว่า พืชผลของพวกเขาได้รับผลกระทบ และเกษตรกรจำนวนมากจึงตัดสินใจขายที่ดินของตนและย้ายไปสู่เมืองอื่น เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน
ผืนดินของหมู่บ้านเคอทาบัวนา ผืนแล้วผืนเล่าถูกกลืนกินโดยการทำเหมือง
ถ่านหิน ของบริษัทพีที คิทาดิน (PT Kitadin) บริษัทย่อยของไอทีเอ็ม (ITM) เริ่มดำเนินการทางตอนใต้ของหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนยอมแพ้และขายที่ดินของตนไป แต่นั่นไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้านเนามัน เขายังคงต่อต้านการทำเหมืองถ่านหินอยู่ จนเขาถูกจับ และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการยุยงให้เกิดการประท้วงต่อต้าน
“พวกเราไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างที่เคยทำมา จะปลูกอะไรก็ทำได้ยาก พวกเราปลูกข้าวได้ไม่พอสำหรับส่งขาย แค่จะปลูกให้ได้พออยู่พอกินไปจนจบฤดูเก็บเกี่ยวยังยากเลย ผมได้แต่ภาวนาให้หยุดการทำเหมืองถ่านหินซะที กลบหลุมเหมืองพวกนั้นไปซะ แล้วเอาแผ่นดินคืนให้ชาวบ้าน แต่คงจะไม่มีความหวังหลงเหลือแก่อนาคตของหมู่บ้านนี้อีกต่อไปแล้ว” ผู้ใหญ่บ้านเนามัน หมู่บ้านเคอทาบัวนา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกกล่าว
2. เหมืองถ่านหินสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ
“หลังจากเริ่มทำเหมืองถ่านหิน พวกชาวบ้านก็เริ่มประท้วงต่อต้าน เพราะไปทำเหมืองถ่านหินตรงที่เป็นแหล่งน้ำ สำหรับนาของพวกเรา” ผู้ใหญ่บ้านเนามัน หมู่บ้านเคอทาบัวนา กล่าว
ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ชาวบ้านในหมู่บ้านเคอทาบัวนาต่างร้องทุกข์เกี่ยวกับน้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่พืชผล เนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่เหมือง
ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกที่สุด น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจะไหลบ่าจากทะเลสาบเทียม (หลุมเหมืองที่มีน้ำขัง) ที่บริษัทเหมืองถ่านหินปล่อยทิ้งร้างไว้เข้าท่วมทุ่งนา เส้นทางระบายน้ำ ที่บริษัทพีทีคิทาดิน (PT Kitadin) สร้างไว้ ตัดเข้าสู่กลางหมู่บ้าน ดังนั้น เมื่อน้ำเอ่อล้นจากเส้นทางระบายน้ำ จึงไหลเข้าท่วมบ้านของชาวบ้าน บริษัทพีทีคิทาดิน (PT Kitadin) สร้างคลองและช่องทางระบายน้ำ ผ่านหมู่บ้านเคอทาบัวนา และทุ่งนา เมื่อฝนตกหนัก ของเสียจากการทำเหมืองถ่านหิน อาทิ น้ำมันเสีย และเชื้อเพลิงยานพาหนะต่าง ๆ จะไหลเอ่อเข้าสู่ทุ่งนา ปนเปื้อนสู่พืชผล หากฤดูฝนนอกจากภัยอันตรายจากน้ำท่วมแล้วนั้น ในฤดูแล้งชาวนาก็ยังไม่สามารถ เพาะปลูกข้าวได้เนื่องจากระบบชลประทานแห้งขอด น้ำที่จะควรจะนำมาหล่อเลี้ยงระบบ ชลประทานกลับถูกกักเก็บไว้ในเหมืองถ่านหินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ส่วนผืนนาของ ชาวนาก็ถูกปล่อยให้แห้งแล้งท่ามกลางแสงอาทิตย์
ก่อนที่จะมีการทำเหมืองถ่านหิน ชาวนาสามารถดำ นาได้ 2 ครั้งต่อปี และเก็บเกี่ยวข้าวได้ปริมาณมากถึง 10 ตัน ปัจจุบันพวกเขาสามารถดำนาได้เพียงปีละหน และเก็บเกี่ยวได้ปริมาณลดลงเหลือ 4 ตัน เมื่อระบบชลประทานดั้งเดิมถูกทำลายลงโดยหลุมเหมืองถ่านหิน ชาวนาบางคนเริ่มหันไปใช้น้ำที่ถูกกักไว้ในทะเลสาบเทียมเพื่อทำการเพาะปลูก ทว่า น้ำจากทะเลสาบเทียมนี้ไม่เหมาะสมสำหรับใช้เพาะปลูก ชาวนาจึงจำเป็นต้องใส่ปูนขาวลงในที่นาเพื่อปรับสมดุลของดิน พวกเขาจะต้องใช้ปูนขาวในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคุณภาพของดินเสื่อมโทรมลง ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝนหรือฤดูแล้ง ชาวนาก็ต้องทนทุกข์จากผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองถ่านหินที่ดึงน้ำไปกักเก็บไว้ในฤดูแล้ง และก่อให้เกิดน้ำท่วมในฤดูฝน ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนต้องซื้อหาน้ำสะอาดมาใช้ดื่มกิน
เหมืองถ่านหินสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรน้ำ ซึ่งหากบริษัทบ้านปูหันมาลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้
3. เหมืองถ่านหินสร้างผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของผืนดิน
อีกหนึ่งผลกระทบหนึ่งจากการทำเหมืองถ่านหินของบริษัทบ้านปู คือ การปล่อยทิ้งหลุมเหมืองบนแผ่นดินที่ถูกทิ้งร้าง เขตโจล่ง (Jorong) และทานาลอท (Tana Laut) ในจังหวัดกาลิมันตันใต้ มีภูมิประเทศปกคลุมไปด้วยหลุมเหมืองถ่านหินที่ถูกทิ้งร้างไว้นับร้อย ๆ แห่ง โดยบริษัทพีทีโจล่ง บารูทามา เกรสตัน (PT Jorong Barutama Greston) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูฯ ปล่อยทิ้งร้างหลุมเหมืองเหล่านี้ไว้หลังจากเสร็จสิ้น การทำเหมืองถ่านหิน ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของกาลิมันตันแห่งนี้ ปัจจุบันดูกันดารราวกับพื้นผิวของดวงจันทร์ หลุมเหมืองแห่งหนึ่งมีขนาดใหญ่มหึมา มีความกว้างถึง 2 กิโลเมตร จากการ สำรวจโดยกรีนพีซ ในปี 2557 เผยให้เห็นว่า น้ำในทะเลสาบแห่งนี้มีคุณสมบัติเป็นกรดสูงที่ pH 3.74 และมีส่วนประกอบของแร่แมงกานีสสูง กว่าค่ามาตรฐานมาก เรียกได้ว่าเป็นการทำลายภูมิประเทศและสร้างมลพิษอันตรายให้กับแหล่งน้ำในบริเวณนั้น
บ้านปูสามารถเป็นผู้นำเพื่อการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยภายในปี 2568 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียงร้อยละ 20 บริษัทบ้านปูและบริษัทในเครือเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มองโกเลียและออสเตรเลีย รวมถึงการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นบ้านปูจึงมีศักยภาพสูงในการหันมาลงทุนพลังงานที่ยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หากมุ่งมั่นดำเนินการอย่างแท้จริง
ผลักดันบ้านปูยุติยุคถ่านหิน ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ร่วมลงชื่อคลิกที่นี่
อ่านรายงาน ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการลงทุนถ่านหินของบริษัทไทยในอินโดนีเซีย ที่นี่
ที่มา: Greenpeace Thailand