พระนางศุภยาลัต นางพญาผู้เรืองอำนาจก่อนที่พม่าจะเสียเมือง ที่หลายๆคนบอกว่าเรื่องราวช่างคล้ายกับ "เพลิงพระนาง"
พระนางศุภยาลัต ราชินีในพระเจ้าธีบอหรือพระเจ้าสีป่อกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า
พระนาง "ศุภยาลัต" ประสูติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2402 สิ้นพระชนม์ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เป็นพระราชินีองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า ประสูติแด่พระเจ้ามินดง กับพระนางชินพยูมาชิน (Hsin byu mashin / พระนางช้างเผือก) หรือที่รู้จักกันในนามพระนาง "อเลนันดอ"
ด้วยความทะเยอทะยานของพระนางศุภยาลัต พระองค์จึงได้เป็นพระราชินีในพระเจ้าธีบอกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า
พระ นางศุภยลัต เป็นราชบุตรีของพระเจ้ามินดง กับมเหสีรองคือพระนางอเลนันดอ พระนางศุภยาลัตมีพระเชษฐภคินี(พี่สาว) คือ พระนางศุภยาคยี และมีพระขนิษฐา(น้องสาว)คือเจ้าหญิงศุภยากเล อุปนิสัยของพระนางศุภยลัตมี ลักษณะเหมือนพระราชมารดา คือ มีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง อาจเป็นเพราะเชื้อสายดั้งเดิมเนื่องจากยายของพระนางเป็นแม่ค้าขายของในตลาด มาก่อน ซึ่งมีนิสัยที่มิใช่กุลสตรีในวังหลวง
พระเจ้ามินดง พระราชบิดาของพระนางนางศุภยลัต มีพระชายา 45 พระองค์ พระราชโอรส 53 พระองค์ พระราชธิดา 81 พระองค์ ในจำนวนนี้มีเจ้าฟ้า "นยองยาน" กับเจ้าฟ้า "นยองโอ๊ก" ที่มีความสามารถโดดเด่น เหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์ เพราะทั้งสองพระองค์เรียนจบโรงเรียนฝรั่ง มีความฉลาดและเข้มแข็ง แต่พระนางอเลนันดอและขุนนางเห็นว่าจะคุมได้ยาก จึงเลือกเจ้าฟ้าสีป่อที่อ่อนแอกว่า ซึ่งทรงผนวชเป็นพระมาตลอด มีอุปนิสัยเชื่องช้า หัวอ่อน และพระเจ้ามินดงเองก็เกรงพระทัยมเหสีรอง จึงไม่ได้ตั้งเจ้าฟ้าพระองค์ใดเป็นรัชทายาทโดยเด็ดขาด
การยึดอำนาจ
เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรหนัก พระนางอเลนันดอจึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าสีป่อเป็นรัชทายาท ไล่จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าและขุนนางฝ่ายตรงข้ามไปจองจำมากมาย แม้นในคราวที่พระเจ้ามินดงเรียกหาบรรดาเจ้าฟ้าองค์อื่นๆให้เข้าเฝ้า ก็จะปล่อยตัวมาให้เข้าเฝ้า แต่พอกลับออกจากห้องบรรทม ก็จับไปจองจำเช่นเดิม
เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ได้ตั้งเจ้าฟ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า และพระมเหสีและพระมารดากับกลุ่มขุนนางก็จัดการสังหารบรรดาเจ้าฟ้าพี่น้องของตนเอง และบริวารรวมกันถึงราว 500 กว่าคน หากเจ้าชายองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระญาติและบรรดาลูกๆ รวมทั้งเจ้าน้ององค์หญิงเจ้าชายองค์นั้น ซึ่งมีทั้งผู้เฒ่าชราและแม้แต่เด็กจนถึงทารกไร้เดียงสาก็ถูกสังหารจนสิ้น ด้วย สารพัดวิธีอันหฤโหด ขุนนางที่เคยรับใช้หรือญาติทางฝ่ายจอมมารดาก็จับฆ่าเสียสิ้นเหมือนกัน ด้วยพิธีที่พิสดาร และตามแต่เพชฌฆาตจะเห็นควร ซึ่งเจ้าฟ้าที่มียศศักดิ์สูงจะได้รับความเจ็บปวดน้อยกว่าคนอื่นๆ
การสังหารหมู่ดังกล่าวใช้เวลาอยู่สามวันจึงสังหารได้หมด เพราะต้องฆ่าที่วังแต่เวลากลางคืน เพื่อไม่ให้พวกชาวเมืองรู้
วิธีการที่พระนางศุภยาลัตทรงใช้กลบเกลื่อนการสังหารคือให้จัดงานปอยหลวงตลอดสามวัน ให้ชาวเมืองเที่ยวงานให้สนุก พระเจ้าธีบอ(สีป่อ)ก็จัดให้ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามายเพื่อไม่ให้สนใจการสังหารครั้งนั้น เมื่อสังหารแล้วก็จับโยนใส่หลุมใหญ่ข้างวังรวมกัน แล้วเอาดินกลบ แต่พอพ้นสามวัน ศพเหล่านั้นเริ่มขึ้นอืดจนเนินหลุมที่ฝังพูนขึ้น ก็เอาช้างหลวงมาเหยียบย่ำให้ดินที่นูนขึ้นมานั้นแบนราบลง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปิดบังหลุมใหญ่นั้นได้ เพราะจำนวนศพมีมากจนดันเนินดินให้นูนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายก็ต้องให้ขุดศพใส่เกวียนไปฝังบ้าง ทิ้งน้ำบ้าง จนเป็นเรื่องที่มีการเล่าขานมากที่สุดคือการสำเร็จโทษเหล่าพระบรมวงศ์สานุวงศ์น้อยใหญ่ เป็นเวลา 3 คืน เล่ากันว่าคืนนั้นสุนัขเห่าหอนทั้งคืน จนชาวเมืองผวาไม่เป็นอันหลับอันนอน พระนางจัดให้เอาวงดนตรีปี่พาทย์ การแสดงต่างๆ มาบรรเลงในวังตลอดเวลาที่ทำการสำเร็จโทษพวกเจ้านาย เพื่อให้เสียงดนตรีปี่กลองกลบเสียงกรีดร้องขอชีวิต หากดังไม่พอ เสียงฮาจะช่วยได้มาก พระนางส่งสัญญาณให้คนร้องร้องดังขึ้น เล่นตลกให้ดังขึ้น และพระสรวลดังๆ
แต่บางครั้งมีเสียงหวีดมาแต่ไกล พระเจ้าสีป่อจึงหันไปทางต้นเสียง พระนางศุภยาลัตก็หันมาถลึงพระเนตร กับปี่พาทย์ ส่วนนางพนักงานก็รีบรินน้ำจัณฑ์ใส่ถ้วยทองถวายถึงพระหัตถ์พระเจ้าสีป่อ แต่มีบางความเห็นของนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าแผนการสังหารโอรสธิดานี้เป็นการจัดการของ "พระนางอเลนันดอ" ร่วมกับ "เกงหวุ่นเมงจี" (แตงดาวุ่นกี้) โดยพระนางศุภยาลัตไม่ได้เป็นผู้วางแผนหลัก
การสูญสิ้นอำนาจ
พระนางศุภยาลัต และแตงดาวุ่นกี้ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่าประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบ ตัดไม้เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี ฝ่ายอังกฤษก็ไม่พอใจจึงยื่นเรื่องประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่พอเกิดเรื่องเข้าจริงๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด ซึ่งพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมด ฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า (ขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญายันดาโบ ซึ่งทำขึ้นในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนๆของพม่า)
พระ นางศุภยาลัตประกาศรบอังกฤษด้วยความหยิ่งทนงว่าพม่านั้นเป็นชาติมหาอำนาจในเอเชียอาคเนย์ เคยชนะมาแล้วแม้แต่จีน หลงละเมอเพ้อพกอยู่กับอดีตอันยิ่งใหญ่ของพม่า โดยไม่เคยสนใจความก้าวหน้าของชาติมหาอำนาจตะวันตกเลย พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสีจึงสั่งให้เตรียมพลไปรบตามแบบโบราณ มีการแต่งทัพตามตำราพิชียสงคราม ฝ่ายอังกฤษให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งฝรั่งและอินเดียเคลื่อนทัพเรือเข้ามาจากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิรวดี ซึ่งฝ่ายทหารพม่านั้นก็ได้ต้านทานตามป้อมต่างๆ แต่สุดกำลังที่จะสู้กับอาวุธสมัยใหม่ได้ ทัพอังกฤษจึงเคลื่อนเข้าสู่กรุงมัณฑะเลย์อย่างง่ายดาย โดยใช้เวลาเพียง 14 วัน เมื่อมาถึงราชสำนักมัณฑะเลย์ก็ได้ยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี
การเสียเมืองของพม่านั้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ติดแล้ว เหตุผลสำคัญที่สุดคือราษฎรไม่มีใจคิดจะต่อสู้ เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมืองจึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก
ทหารอังกฤษยืนเข้าแถวหน้าตำหนักทองคำ พระราชวังมัณฑเล
เสด็จออกรับแม่ทัพอังกฤษ หน้าพระที่นั่งกลางสวนในพระราชวังมัณฑะเลย์
ถูกเชิญออกนอกประเทศ
หลังจากอังกฤษยึดพม่าได้ ก็ได้ส่งพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรีเมืองเล็กๆทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) แม้พระนางศุภยลัตถูกเนรเทศ อยู่ พระนางยังทำยศทำศักดิ์เป็นราชินีอยู่อีก ใครจะมาหาต้องคุกเข่าคลาน ประสูติพระราชธิดายังต้องมีถาดทองรองรับ เจ้ายศเจ้าอย่างจนพวกที่ตามไปด้วยจากพม่าทนไม่ไหวหนีกลับพม่าหมด ในที่สุดก็เกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอผู้เป็นแม่ จนพระนางอเลนันดอต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับคุมตัวไว้ที่ เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยลัตถูกเนรเทศอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอจึงสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง พระนางจึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ย่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้นฝังไว้ที่อินเดีย
ขบวนเสด็จออกจากพระราชวัง โดยประทับบนเกวียนอย่างไม่สมพระเกียรติ
เรือกลไฟที่พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตประทับไปยังอินเดีย
วังที่อินเดียที่อังกฤษจัดให้ประทับ
พระนางศุภาลัตเมื่ออยู่ที่อินเดียยังคงเจ้ายศเจ้าอย่าง มีการจัดงานตามวาระสำคัญเช่นวันพระราชสมภพ โดยในงานพิธีเหล่าคนรับใช้ต้องแต่งเครื่องแบบเต็มยศ
คืนสู่พม่า
ต่อมาพระนางได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง ขณะอยู่ที่เมืองย่างกุ้งก็ยังทำยศทำศักดิ์ ใครไปหาต้องหมอบกราบ ทรงเคียดแค้นขุนนางพม่าที่ไปเข้ากับอังกฤษ ตรัสบริภาษอยู่เป็นประจำ มีฝรั่งเขียนเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า เมื่อพระนางแก่ตัวเข้าและรู้สำนึกในชีวิตแล้ว ทรงสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร ทรงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน และเสียพระทันต์ทั้งหมด
พระนางอยู่ใน ตำหนักที่อังกฤษจัดถวายให้ในเมืองย่างกุ้ง 10 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระศพก็เป็นไปอย่างธรรมดา ไม่มีพิธีรีตอง ไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่เหลือเค้าโครงใดๆให้เห็นว่าครั้งหนึ่งนางเคยเป็นพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของพม่า
ปัจจุบันยังมีที่ฝังพระศพอยู่ในย่างกุ้ง โดยรัฐบาลอังกฤษจัดการให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระศพขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑปบรรจุพระอัฐิ อยู่ที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda Rd.) ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากองมาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในกรุงมัณฑะเลย์
กู่ทรงมณฑปบรรจุอัฐิพระนางศุภยาลัต อยู่ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของเจดีย์ชเวดากองประมาณ 200 เมตร
พระโอรสและพระธิดา
1. พระโอรสองค์โต สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วัยเยาว์
2. พระธิดาองค์รอง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วัยเยาว์
3. พระธิดาองค์ที่สาม สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วัยเยาว์
4. เจ้าหญิงเมียะพยาจี ประสูติ พ.ศ. 2423 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2490 เจ้าหญิงทรงอภิเษกสมรสกับนายทหารอินเดียที่พระราชวังธีบอในรัตนคีรี
5. เจ้าหญิงเมียะพยาลัต ประสูติ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2426 สิ้นพระชนม์ 4 เมษายน พ.ศ. 2499 เจ้าหญิงทรงอภิเษกสมรสกับข้าราชสำนักชาวพม่าที่พระราชวังธีบอในรัตนคีรี เจ้าหญิงมยะพะยาลัต ได้รับเลือกให้เป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์พม่า เมื่อพระเจ้าธีบอถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ และทรงได้เป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์และเป็นประมุขแห่งราชวงศ์พม่าเมื่อ พระราชบิดาสวรรคต พระองค์สื้นพระชนม์ที่เมืองกาลิมปง ประเทศอินเดีย
6. เจ้าหญิงเมียะพยา ประสูติ 7 มีนาคม พ.ศ. 2429 สิ้นพระชนม์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เจ้าหญิงทรงเสด็จกลับพม่าพร้อมพระราชมารดา และในปีพ.ศ. 2465 ทรงอภิเษกสมรสครั้งแรกกับโกเดา กยี เนียง พระนัดดาในเจ้าชายคะนอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอัยกาของเจ้าหญิง และเจ้าชายคะนองทรงเป็นพระเชษฐาในพระเจ้ามินดง และทรงหย่ากันในปี พ.ศ. 2472 เจ้าหญิงอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับอู มะยา อู นักกฎหมาย พระโอรสองค์ที่สองของเจ้าหญิงที่ประสูติแต่พระสวามีองค์แรก คือ เจ้าตอ พะยาทรงเป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์องค์ปัจจุบัน สืบต่อจากเจ้าหญิงเมียะพยาลัต
7. เจ้าหญิงเมียะพยากเล ประสูติ พ.ศ. 2430 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2478 เจ้าหญิงมีความชำนาญในภาษาอังกฤษอย่างมากและทรงดำรงเป็นโฆษกประจำพระราชวงศ์ พม่า เจ้าหญิงทรงอภิเษกสมรสกับนักกฎหมาย และทรงถูกรัฐบาลอาณานิคมส่งออกไปประทับที่เมาะลำเลิง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น
มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่าโอรสและธิดา 3 องค์ ที่ประสูตในช่วงที่พระนางยังคงพระยศเป็นราชินีแห่งพม่าอยู่นั้น มีพระพลานามัยไม่สู้ดีและสิ้นพระชนม์ตั้งแต่เยาว์วัย ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเวรกรรมที่พระนางได้กระทำกับบรรดาพี่น้องเชื้อพระวงศ์ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกเด็กเล็กแดงจำนวนมาก
ภาพ พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) พระราชินีศุภยาลัต (กลาง) และพระเชษฐภคินีของพระนางคือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย) ที่พระราชวังหลวง เมืองมัณฑะเลย์ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1885 ...
==== เพลิงพระนาง ====
เปรียบกายร้อนดั่งเพลิง เปรียบใจร้อนดั่งไฟ
สุขจึงสูญหมดไปทุกข์ใจสิ้นกาย
หมดสิ้นผืนแผ่นดิน ต้องพลาดพลั้งหมดทาง
เพราะเพลิงพระนาง ครองจิตใจ
ก็เพราะเพลิงพระนาง ครองแผ่นดิน
=================