ยุโรปยุคกลาง ในช่วงศตวรรษที่ 15-17 ได้มีการล่าแม่มดกันอย่างหนักหน่วงยาวนาน อันมีผลมาจากการที่ปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ นักคิด รวมถึงบุคคลที่มีความรู้หลายคนต่างตั้งคำถามถึงอำนาจของศาสนจักรที่มากล้นจนบิดเบือนคำสอนและนำมาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตนอย่างไร้ความละอาย การกลับคืนสู่ศาสนาดั้งเดิม อันได้แก่การบูชาผีหรือลัทธิบูชาธรรมชาติก่อนการมาถึงของศาสนาคริสต์ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ผนวกกับพิธีกรรมต่างๆ จนกลายมาเป็นที่รู้จักในด้านการบูชาผีสาง ปีศาจ แม่มด หรือซาตาน จากสายตาของศาสนจักรที่กำลังถูกสั่นคลอนความเชื่อ
.
การโต้กลับของศาสนจักรภายใต้การปกครองของสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 8 (ค.ศ.1484-1492) ได้พยายามปราบปราม “พวกนอกรีต” เหล่านี้ ด้วยการยัดเยียดข้อหาพ่อมดแม่มดให้ โดยมอบหมายหน้าที่ให้อาร์คบิชอร์ปแห่งซัลบวร์กไปจัดการ ซึ่งอาร์คบิชอร์ปรายนี้ก็ “โยนงาน” ไปให้เฮนริค เครเมอร์ พระนักเทศน์รุ่นใหม่ไฟแรงแห่งคณะโดมินิคกันเป็นผู้จัดทำหนังสือ “คู่มือการลงทัณฑ์แม่มด” (Malleus Maleficarum) ขึ้น เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการใช้กำลังจับกุมเหล่าพวกนอกรีตที่เห็นต่างหรือตั้งคำถามต่อศาสนจักร ซึ่งในที่สุด การปราบปรามแม่มดนั้นง่ายต่อการนำไปใช้ในการใส่ร้ายบุคคลอื่น จนทำให้ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแม่มดหมอผีต้องเกิดความเดือดร้อนถึงแก่ชีวิตไปหลายต่อหลายราย
.
ความจริงที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งก็คือ หนังสือ “คู่มือการลงทัณฑ์แม่มด” ที่เฮนริค เครเมอร์รับหน้าที่มาเขียนขึ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องลวงโลก ประติดประต่อมาจากนิทานโบราณหรือจินตนาการของตนเองทั้งสิ้น เนื้อหาในหนังสือไม่ได้รับการยอมรับจากศาสนาจารย์ชาวแคทอลิกจากมหาวิทยาลัยโคโลจ์ญ แถมยังถูกวิพากย์วิจารณ์ว่ามั่วนิ่ม โมเม นั่งเทียน และก่อให้เกิดความเดือนร้อนอันไม่เป็นธรรมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งความไม่สมเหตุสมผลในการสืบสวนแม่มด วิธีการสอบปากคำ และวิธีการทรมานให้ผู้ต้องหาให้รับสารภาพ ที่นอกเหนือจะขัดแย้งกับหลักศาสนาก็ยังผิดหลักกฎหมายบ้านเมืองอย่างโจ่งแจ้ง
.
เมื่อเห็นว่าบรรดาพระผู้ใหญ่ที่มีความรู้ไม่เห็นดีเห็นงามกับเรื่องโกหกพกลมที่ตนแต่งขึ้น เฮนริค เครเมอร์จึงแก้เกมด้วยการดึงชื่อของบาทหลวงเจมส์ สปริงเกอร์ มาการันตีว่าเป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือเล่มนี้ด้วย ไม่รู้ว่าเพราะตกกระไดพลอยโจนหรืออยากมีส่วนร่วมอยากดังไปด้วยหรือเปล่า บาทหลวงสปริงเกอร์จึงปล่อยเลยตามเลยให้ชื่อของตนมาสร้างความน่าเชื่อถือต่อคู่มือการใช้อำนาจของศาสนจักรเล่มนี้ได้โดยง่าย
.
“คู่มือการลงทัณฑ์แม่มด” เล่มนี้ถูกใช้เป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานของศาลศาสนาในการพิจารณาคดีความแม่มดต่างๆ ซึ่งว่ากันว่าพวกคริสเตียนแท้ๆ กลับต้องถูกตำราที่เขียนขึ้นมั่วๆ เพื่อใช้ลงทัณฑ์พวกนอกรีตมาถูกใช้ปรักปรำพวกตน ด้วยวิธีการกล่าวหา ตรวจสอบข้อเท็จจริงแบบตามใจฉันของศาลศาสนาในช่วงปี 1505 ในหลากหลายท้องที่ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว คนที่ถูกกล่าวหายากที่จะพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตนได้โดยง่าย เพราะถูกซัดทอดข้อหาจากคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่ไม่ชอบขี้หน้าตน ถูกนำมาย่างสด เผาไฟ บีบเล็บ ตอกขมับ ดำน้ำพิสูจน์ตนเองจนทนไม่ไหวต้องยอมรับสารภาพผิดทั้งๆ ที่ไม่ได้ผิดอะไรแต่ต้น หรือไม่ก็ต้องยอมยกทรัพย์สมบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ตั้งตนเป็นผู้กล่าวหาเพื่อให้พ้นความผิดที่ตนถูกใส่ร้าย และเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นกว่าหมื่นๆ แสนๆ รายในการจับกุมแม่มดแห่งโลกยุคกลาง ซึ่งดูๆ ไปแล้วมักเป็นการกระทำเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจมากกว่าการรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งศาสนจักรตามความตั้งใจเบื้องต้น และยังทำให้ศานจักรมัวหมองอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งการการมาถึงของยุคเหตุผลนิยมที่ผู้คนตาสว่างจากการใช้ปัญญารวมไปถึงวิทยาการที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ก็ทำให้อำนาจของศาสนจักรถูกแย่งพื้นที่ จนต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับการเติบโตของโลกที่ทันสมัยขึ้นทุกวัน การตั้งข้อหาคนอื่นเป็นแม่มดนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือและล้าหลังไปมากเสียแล้วจากสติปัญญาที่มากขึ้นของผู้คนนั่นเอง