เกือบ 80% ของประชาชนรอบเหมืองทองคำพิจิตรยังต้องการเหมือง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม
และประชาชนอย่างยั่งยืน
10 ถ.นนทรี 5 ยานนาวา กทม.10120
30 พฤษภาคม 2559
เรื่อง ขอให้เหมืองทองคำชาตรีได้ดำเนินการต่อไปเพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการและไม่มีมลพิษ
กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ตามที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้สั่งให้ปิดเหมืองทองคำโดยอ้างเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงทำหนังสือนี้มาของ ฯพณฯ โปรดทบทวนคำสั่ง และขอให้เหมืองทองคำชาตรีได้ดำเนินการต่อไปเพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการและไม่มีมลพิษ
จากผลการศึกษาของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับคณะนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ พบว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป แม้ไม่นับรวมผู้ที่ทำงานกับเหมืองหรือที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีผู้อยากให้เหมืองดำรงอยู่สูงถึง 75% อาจกล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแทบทุกหมู่บ้านต่างเห็นด้วยกับการให้มีเหมืองทองคำต่อไป มีเพียง 2 หมู่บ้านคือที่มีสัดส่วนผู้ที่ไม่ต้องการเหมือง หรือเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากการทำเหมือง
ยิ่งกว่านั้น แทบทุกหมู่บ้านไม่มีรายงานว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมามีประชาชนในชุมชนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ ประชาชนผู้ให้สัมภาษณ์หลายรายระบุว่า หลายคนเสียชีวิตเพราะโรคชรา แต่ถูกนำมาอ้างว่าเสียชีวิตเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ กรณีการเสียชีวิตที่ผ่านมาก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะมลพิษ และในพื้นที่ก็ยังพบสารเคมีปนเปื้อนอยู่มากมายก่อนการทำเหมืองเสียอีก
เครือข่ายฯ เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขที่ควรจัดหาที่อยู่ใหม่ใหักับประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองทองคำ ทั้งนี้ไม่พึงเกรงว่าจะทำให้เป็นการทำลายรากเหง้าชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะกรณีคนไทย จีนหรืออินเดียย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ตามไปด้วย ไม่ได้สูญหาย และควรดำเนินการสำรวจเป็นระยะ ๆ และเผยแพร่ให้ประชาชนในท้องถิ่นอื่น เช่น ในเขตกรุงเทพมหานครได้ทราบ จะได้เข้าใจการมีเหมืองและไม่ต่อต้าน ยิ่งกว่านั้นในการทำเหมือง รัฐบาลควรกำหนดเขตให้แน่ชัดแล้วทำการเวนคืนให้เรียบร้อย จะได้ไม่มีปัญหากับประชาชนบางส่วน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป นี่คือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามแม้ข้าราชการในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการเหมือง แต่สัดส่วนที่ต่ำกว่าคือ 66% กรณีเช่นนี้คงเป็นเพราะข้าราชการไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำเหมือง แม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเหมือง ก็มีจำนวนถึง 75% ก็ยังต้องการให้เหมืองดำเนินการต่อไป สำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในชุมชนไม่เกิน 10 ปี แม้มีสัดส่วนความต้องการเหมืองถึงสองในสาม (65%) แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป
อาจกล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแทบทุกหมู่บ้านต่างเห็นด้วยกับการให้มีเหมืองทองคำต่อไป มีเพียง 2 หมู่บ้านคือ บ้านหมู่ 8 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัด ที่มีผู้เห็นด้วยกับการคงเหมืองทองคำ 59% และที่บ้านหมู่ 5 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวดเพชรบูรณ์ ที่เห็นด้วยกับการคงเหมืองทองคำ 52% แต่ก็ยังถือได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้ยังเห็นด้วยกับการมีเหมืองทองคำ และหากไม่นับรวมสองหมู่บ้านนี้ สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยกับเหมืองทองคำ จะสูงถึง 83%
คณะนักวิจัยสัมภาษณ์ประชาชนว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาในชุมชนของท่านมีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำกี่คน พบว่าในแต่ละหมู่บ้านแทบไม่มีการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตและป่วยที่คาดว่าจะมาจากมลพิษของการทำเหมืองทองคำในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเลย ประชาชนผู้ให้สัมภาษณ์หลายรายระบุว่า หลายคนเสียชีวิตเพราะโรคชรา ก็ถูกนำมาอ้างว่าเสียชีวิตเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ
สำหรับแนวทางการแก้ไขก็คือ ควรจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองทองคำ ทั้งนี้ไม่พึงเกรงว่าจะทำให้เป็นการทำลายรากเหง้าชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะกรณีคนไทย จีนหรืออินเดียย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ตามไปด้วย ไม่ได้สูญหาย และควรดำเนินการสำรวจเป็นระยะ ๆ และเผยแพร่ให้ประชาชนในท้องถิ่นอื่น เช่น ในเขตกรุงเทพมหานครได้ทราบ จะได้เข้าใจการมีเหมืองและไม่ต่อต้าน ยิ่งกว่านั้นในการทำเหมือง รัฐบาลควรกำหนดเขตให้แน่ชัดแล้วทำการเวนคืนให้เรียบร้อย จะได้ไม่มีปัญหากับประชาชนบางส่วน
ตามที่มีข่าวนายกรัฐมนตรีสั่งปิดการทำเหมืองทองคำทั่วประเทศ {1} และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นการฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่ และมีความเหมาะสมเพียงใด ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของทางรัฐบาลในการมีมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ว่าด้วยการสำรวจ
ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 ดร.โสภณ พรโชคชัย ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัยได้ร่วมกับคณะนักศึกษาและคณาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ โดยได้รับความเมตตาจาก นายวิชัย ชวนรักษาสัตย์ ผู้อำนวยการวิทยาเขต และนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวนรวม 18 คน ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมุ่งเน้นในพื้นที่รอบเหมืองทองคำโดยเฉพาะในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และในเขตตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนี้ จะเป็นเครื่องชี้ถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณรอบเหมืองทองคำโดยตรง อันถือเป็นการประมวลความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจนั้น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากน้อยเพียงใด รัฐบาลจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการวางนโยบายและแผน รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมอันถือเป็นการฟังความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง และในการสำรวจนี้ ได้จำนวนผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 596 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่โดยรอบเหมืองทองคำชาตรีของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส
ประชาชนถึงสี่ในห้าต้องการเหมืองทองคำ
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อกรณีเห็นควรให้ปิดเหมือง หรือไม่ควรปิดโดยให้ดำเนินการต่อไป เป็นดังนี้:
ตารางที่ 1: ความเห็นของประชาชนต่อการปิดเหมืองทองคำ | ||
ให้ปิดเหมือง | 133 | 22% |
ไม่ควรปิด | 463 | 78% |
รวม | 596 | 100% |
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
อาจกล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 78% หรือราวสี่ในห้า ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป มีเพียงส่วนน้อยราว 22% ที่เห็นควรให้ปิดเหมืองตามคำสั่งของทางราชการ การนี้จึงแสดงให้เห็นว่าความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่คือความต้องการเหมือง ส่วนที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านนั้น ในแง่หนึ่งเป็นคนส่วนน้อย (ซึ่งก็พึงรับฟัง) และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นกลุ่มบุคคลภายนอกที่ไมได้รับรู้ข้อมูลโดยตรงจากการอยู่อาศัยในพื้นที่
เหตุผลความเห็นชอบต่อการทำเหมืองต่อไป
สำหรับเหตุผลต่อความเห็นชอบของประชาชนต่อการทำเหมืองต่อไปนี้ ส่วนมากเป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจและการไม่เห็นว่ามีมลพิษจริงตามที่มีการกล่าวอ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้:
1. กลัวคนในชุมชนตกงาน
2. กำลังพัฒนาดี
3. เกิดการกระจายรายได้/ค้าขายดีขึ้น
4. ขาดเงินสนับสนุนชุมชน/หมู่บ้าน
5. ขาดลูกค้า/รายได้
6. ชุมชนต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดหากเหมืองทองคำปิด
7. ทางบริษัทมีการช่วยเหลือชุมชนในชมชนเสมอ
8. ทำให้เศรษฐกิจชุมชนแย่ลง-ถ้าปิดจะเอาอะไรกิน
9. เพราะเหมืองไม่ได้ส่งผลอะไรมาก/ไม่มีผลกระทบ
10. โรงเรียนจะไม่ได้รับทุนสนับสนุน
11. เหมืองจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนมาก
ทั้งนี้สอดคล้องกับความเห็นของหอการค้าจังหวัดพิจิตรและคู่ค้าอัคราฯ ที่ยื่นหนังสือถึงทางราชการโดยระบุว่าการปิดเหมืองทอง จะทำให้เศรษฐกิจ 4,000 ล้านบาทต่อปี "มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งจังหวัดในปี 2541 ที่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2556 . . . เฉพาะรายได้ค่าภาคหลวงแร่ในช่วงปี 2541 ถึงปี 2556 ยังคิดเป็น 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ทั้งหมดของจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์อีกด้วย . . . พิจิตรมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นอันดับ 4 ของภาคเหนือ และอยู่ในลำดับที่ 29 ของทั้งประเทศในปี 2556 ที่ผ่านมา" {2}
เหตุผลที่ควรหยุดการหยุดการทำเหมือง
ในทางตรงกันข้าม เหตุผลของการหยุดการทำเหมือง มีดังนี้
1. กลัวตนเองลูกหลานได้รับสารพิษ/สารเคมี
2. กลัวเป็นโรค
3. คนที่ทำงานแล้วได้รับผลกระทบ ไม่มีการช่วยเหลือใดใดทั้งสิ้น
4. คนในชุมชนเดือดร้อน-ป่วย-เสียชีวิต
5. คนในพื้นที่ไม่ค่อยได้รับผลประโยชน์
6. จะได้ไม่มีเสียง (ดัง) มารบกวนอีก
7. ต้องทำตามกฎหมาย (ตามที่รัฐบาลสั่ง)
8. ทำลายสิ่งแวดล้อม
9. ผักและน้ำกินไม่ได้เพราะมีสารพิษ ไม่สะอาด
10. ฝุ่นละออง
11. มีผลเสียมากกว่าผลดี
12. ไม่เคยช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน
13. ไม่ปรับปรุงแก้ไขเรื่องสารพิษ
14. ไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
15. อากาศเสีย
อาชีพกับการปิดเหมือง
แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเห็นด้วยกับการให้เหมืองคงอยู่ต่อไป แต่หากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า อาชีพที่แตกต่างกันก็มีสัดส่วนของความเห็นด้วยหรือไม่ที่แตกต่างไปบ้างเช่นกัน
ตารางที่ 2: อาชีพกับความเห็นต่อการปิดเหมือง | ||||
อาชีพ | ให้ปิดเหมือง | ไม่ควรปิด | รวม | %ที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง |
ข้าราชการ | 10 | 19 | 29 | 66% |
ค้าขาย/อิสระ | 50 | 155 | 205 | 76% |
พนง.เหมือง/เกี่ยวข้อง | 5 | 79 | 84 | 94% |
พนง.เอกชนอื่น | 10 | 31 | 41 | 76% |
เกษตรกร | 46 | 124 | 170 | 73% |
อื่นๆ | 12 | 55 | 67 | 82% |
รวมทั้งหมด | 133 | 463 | 596 | 78% |
รวมแต่ไม่เอาข้าราชการ | 123 | 444 | 567 | 78% |
รวมที่ไม่รวม พนง.เหมือง | 128 | 384 | 512 | 75% |
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
อาจกล่าวได้ว่าแม้ส่วนใหญ่ถึงเกือบ 80% จะต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป แต่จะพบว่าข้าราชการ มีความต้องการเช่นนี้ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าคือ 66% หรือราวสองในสาม ในขณะที่ประชาชนทั่วไปสี่ในห้าต้องการเหมือง กรณีเช่นนี้คงเป็นเพราะข้าราชการไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำเหมือง และคงวิตกไปตามการกล่าวอ้างถึงเรื่องมลพิษ แต่หากตัดกลุ่มข้าราชการออกไป ก็ยังพบว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการมีเหมืองต่อไป ในทางตรงกันข้ามกลุ่มคนที่ทำงานในเหมืองหรือเป็นบริษัทรับจ้างต่อมีสัดส่วนถึง 94% ที่ต้องการให้เหมืองดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามหากตัดกลุ่มนี้ทิ้งไป ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้มีอาชีพที่เกี่ยวกับการทำเหมืองส่วนใหญ่ถึง 75% ก็ยังต้องการให้เหมืองดำเนินการต่อไป
อายุและระยะเวลาการอยู่อาศัย
หากพิจารณาถึงช่วงอายุ และระยะเวลาการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน มีความเห็นต่อการปิดเหมืองอย่างไรบ้าง ก็ได้พบดังนี้:
ตารางที่ 3: อายุของประชาชนกับความเห็นต่อการปิดเหมือง | ||||
อายุ | ให้ปิดเหมือง | ไม่ควรปิด | รวม | %ที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง |
ไม่เกิน 30 ปี | 28 | 75 | 103 | 73% |
31-45 ปี | 25 | 76 | 101 | 75% |
46-60 ปี | 36 | 144 | 180 | 80% |
มากกว่า 60 ปี | 44 | 168 | 212 | 79% |
133 | 463 | 596 | 78% | |
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
อาจกล่าวได้ว่าประชาชนในชุมชนที่มีอายุที่แตกต่างกันตั้งแต่อายุไม่เกิน 30 ปีที่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ จนถึงกลุ่มผู้สูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) ก็ไม่ได้มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการเหมืองทองคำ
ตารางที่ 4: ระยะเวลาในการอยู่อาศัยในชุมชนกับความเห็นต่อการปิดเหมือง | ||||
อายุ | ให้ปิดเหมือง | ไม่ควรปิด | รวม | %ที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง |
ไม่เกิน 10 ปี | 21 | 39 | 60 | 65% |
11-20 ปี | 22 | 61 | 83 | 73% |
21-30 ปี | 18 | 92 | 110 | 84% |
31 ปีขึ้นไป | 72 | 271 | 343 | 79% |
133 | 463 | 596 | 78% | |
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในชุมชนไม่เกิน 10 ปี คือเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนไม่นานนักนั้น แม้มีสัดส่วนความต้องการเหมืองถึงสองในสาม (65%) แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป กลุ่มที่เข้ามาอยู่ใหม่นี้อาจจะมีความกังวลมามากกว่าผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเหมืองมาช้านานกว่า จากการวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยไม่เกิน 10 ปีที่ต้องการให้ปิดเหมืองนั้น กลุ่มใหญ่ที่สุดทำอาชีพค้าขาย-อาชีพอิสระ ไม่ใช่เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไป
ความเห็นในระดับหมู่บ้าน
คณะนักวิจัยยังแยกแยะให้เห็นว่าชาวบ้านในหมู่บ้านใดที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเปิดหรือปิดเหมือง โดยมีรายละเอียด ดังนี้:
ตารางที่ 5: การแยกแยะความเห็นรายหมู่บ้าน | |||||||
หมู่ | ตำบล | อำเภอ | จังหวัด | ให้ ปิดเหมือง |
ไม่ ควรปิด |
รวม | %ที่ไม่เห็นด้วย กับการปิดเหมือง |
1-ก.พ. | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 2 | 44 | 46 | 96% |
3 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 18 | 82 | 100 | 82% |
4 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 3 | 48 | 51 | 94% |
7 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 4 | 22 | 26 | 85% |
8 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 29 | 41 | 70 | 59% |
9 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 2 | 10 | 12 | 83% |
1 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 13 | 45 | 58 | 78% |
2-เม.ย. | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 1 | 12 | 13 | 92% |
5 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 21 | 23 | 44 | 52% |
7 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 1 | 20 | 21 | 95% |
8 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 7 | 11 | 18 | 61% |
9 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 14 | 55 | 69 | 80% |
10 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 4 | 13 | 17 | 76% |
12 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 9 | 15 | 24 | 63% |
อื่นๆ | วังหิน | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 5 | 22 | 27 | 81% |
โดยรวม | 133 | 463 | 596 | 78% | |||
โดยรวม (ไม่นับวังหิน) | 128 | 441 | 569 | 78% | |||
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
อาจกล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแทบทุกหมู่บ้านต่างเห็นด้วยกับการให้มีเหมืองทองคำต่อไป มีเพียงบ้านหมู่ 8 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัด ที่มีผู้เห็นด้วยกับการคงเหมืองทองคำ 59% และที่บ้านหมู่ 5 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวดเพชรบูรณ์ ที่เห็นด้วยกับการคงเหมืองทองคำ 52% แต่ก็ยังถือได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้ยังเห็นด้วยกับการมีเหมืองทองคำ และหากไม่นับรวมสองหมู่บ้านนี้ สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยกับเหมืองทองคำ จะสูงถึง 83%
ความเห็นต่อมลพิษและเหมือง
ประชาชนในส่วนที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองเห็นว่าระดับมลพิษของเหมืองมีสูงถึง 7.2 คะแนนจาก 10 คะแนนเต็ม ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นควรให้ปิดเหมือง กลับมีความเห็นในเชิงที่แทบจะไม่มีมลพิษเลย (คะแนน 1 คือไม่มีมลพิษ)
ตารางที่ 6: ความเห็นของประชาชนต่อระดับมลพิษและการทำประโยชน์ของเหมือง | |||
ความเห็น | ให้ปิดเหมือง | ไม่ควรปิด | เฉลี่ย |
ระดับมลพิษที่เกิดจากเหมือง | 7.2 | 1.7 | 2.9 |
การมีเหมืองส่งผลดีเพียงใด | 3.8 | 9.1 | 7.9 |
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
ในทางตรงกันข้าม ต่อความเห็นว่าการมีเหมืองทองคำ ส่งผลดีต่อชุมชนมากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่าโดยเฉลี่ยแล้วส่งผลดีมาก (7.9 คะแนนจาก 10 คะแนนเต็ม) โดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นด้วยกับการมีเหมืองให้คะนนถึง 9.1 ส่วนในกลุ่มที่ต้องการให้ปิดเหมือง ก็ยังเห็นคุณประโยชน์ของการมีเหมืองพอสมควร คือประมาณ 3.8 คะแนน แสดงว่าเหมืองก็ได้สร้างคุณูปการเป็นที่ประจักษ์พอสมควร
การป่วยและเสียชีวิตจากการทำเหมือง?
มักมีการกล่าวอ้างกันว่า การป่วยและตายของประชาชนในพื้นที่นั้น เกิดขึ้นจากการทำเหมืองทองคำ คณะนักวิจัยจึงได้สัมภาษณ์ประชาชนว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาในชุมชนของท่านมีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำกี่คน ผลการศึกษาเป็นดังนี้:
ตารางที่ 7: การแยกแยะความเห็นรายหมู่บ้าน | |||||
หมู่ | ตำบล | อำเภอ | จังหวัด | ตาย | ป่วย |
1-ก.พ. | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 0 | 0 |
2 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 0 | 0 |
3 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 0 | 0 |
4 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 0 | 0 |
7 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 0 | 6 |
8 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 30 | 20 |
9 | เขาเจ็ดลูก | ทับคล้อ | พิจิตร | 0 | 0 |
1 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
2-เม.ย. | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
3 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
5 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 10 | 10 |
7 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 4 |
8 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
9 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
10 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
12 | ท้ายดง | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
4 | วังหิน | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
8 | วังหิน | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
9 | วังหิน | วังโป่ง | เพชรบูรณ์ | 0 | 0 |
รวม | 40 | 40 | |||
ที่มา: ผลการสำรวจภาคสนาม 20 พฤษภาคม 2559 |
ในการสำรวจ ในแต่ละหมู่บ้านแทบไม่มีการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตและป่วยที่คาดว่าจะมาจากมลพิษของการทำเหมืองทองคำในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเลย ต่างจากความเชื่อของประชาชนทั่วไปในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่หมู่ 8 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตสูงสุดถึง 30 ราย และป่วย 20 ราย ส่วนที่หมู่ 5 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัด เพชรบูรณ์ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในรอบ 3 ปี 10 ราย และป่วย 10 ราย อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการพิสูจน์ เป็นเพียงจำนวนสูงสุดที่ให้สัมภาษณ์
ประชาชนผู้ให้สัมภาษณ์หลายรายระบุว่า หลายคนเสียชีวิตเพราะโรคชรา ก็ถูกนำมาอ้างว่าเสียชีวิตเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ ที่สำคัญประชาชนในส่วนที่ทำงานกับเหมือง ก็ยังแข็งแรงดี หากเหมืองมีสารพิษจริง คนทำงานในโรงงานก็คงรู้และไม่กล้าเข้าไปทำงานด้วย
ประชาชนไม่ได้เสียชีวิตเพราะเหมือง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต เช่นกรณีนายสมคิด ธรรมพเวช ที่เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยภริยานายสมคิดระบุว่า "แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค" {3}
อีกกรณีหนึ่งก็คือนายเฉื่อย บุญส่ง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ ได้เสียชีวิตลงโดยจากการตรวจสอบพบสารแมงกานีสสูงเกินค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตามนายเฉื่อยก็มีโรคตับแข็งด้วย {4} ส่วนในกรณีพบสารเคมีนั้น จากการตรวจสอบของทางราชการกลับพบว่าในพื้นที่รอบเหมืองมีสารเคมี (เหล็ก แมงกานีส สารหนู) เกินค่ามาตรฐานก่อนการทำเหมืองแล้ว {5} ยิ่งกว่านั้นการที่คนไข้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้น โรคนี้คงไม่ได้เกิดจากการทำเหมืองเพราะแม้เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็เกิดขึ้นทั่วโลก จนถึงขนาดมีการรณรงค์ Ice Bucket Challenge ในช่วงที่ผ่านมา {6}
แนวทางการแก้ไข
การแก้ไขปัญหาด้วยการปิดเหมืองทองคำนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศต่อการลงทุนของต่างชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะทางราชการอาจเพียงฟังเสียงของคนส่วนน้อย คณะนักวิจัยมีความเห็นที่ขอเสนอต่อทางราชการในการจัดการปัญหาดังกล่าวดังนี้:
1. สำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองทองคำ ทางราชการและ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ควรร่วมกันจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ ไกลออกจากพื้นที่เดิม แต่ต้องมีมูลค่าและผลิตภาพของที่ดินในด้านเกษตกรรมเช่นเดิมหรือดีกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อว่าประชาชนในส่วนดังกล่าวจะได้หมดความกังวล ทั้งนี้ไม่พึงเกรงว่าจะทำให้เป็นการทำลายรากเหง้าชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะกรณีคนไทย จีนหรืออินเดียย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ตามไปด้วย ไม่ได้สูญหาย และที่ผ่านมาก็มีการย้ายวัด หมู่บ้านเพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นต้น
2. ควรดำเนินการสำรวจเป็นระยะ ๆ และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ ในความเป็นจริง สำหรับประชาชนโดยรอบเหมือง ต่างเห็นด้วยกับการทำเหมือง เพราะเหมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าทำการตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ประชาชนในท้องถิ่นอื่น เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้รับทราบข้อมูล ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่แท้จริงเช่นที่ประชาชนในท้องถิ่นได้รับ จึงต่อต้านการมีเหมืองทองคำ ซึ่งการต่อต้านนี้ถือเป็นการทำร้ายประชาชนในพื้นที่โดยตรง
3. สำหรับในอนาคต การทำเหมืองทองคำหรือเหมืองอื่นใด ก็ตาม รัฐบาลไม่ควรเพียงให้ประทานบัตร แล้วให้ภาคเอกชนไปเจรจาซื้อ-ขายที่ดินกันเอง แต่รัฐบาลควรกำหนดเขตให้แน่ชัดแล้วทำการเวนคืน เช่น ที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์ ได้ย้ายตัวอำเภอ วัด โรงเรียนออกจากพื้นที่เดิมมาตั้งในพื้นที่ใหม่เพื่อนำพื้นที่เดิมไปทำเหมือง หรือที่ดำเนินการในกรณีการก่อสร้างเขื่อนและสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ต่าง ๆ เมื่อเวนคืนแล้ว รัฐบาลพึงจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบพื้นที่ให้กับภาคเอกชนต่อไป
หมายเหตุ
ดร.โสภณ พรโชคชัย หัวหน้าคณะนักวิจัยขอประกาศว่า การสำรวจวิจัยในครั้งนี้ ใช้ทุนของ ดร.โสภณ เอง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใด ๆ ไม่ได้มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ ดร.โสภณ เคยรับประเมินค่าทรัพย์สินเหมืองแห่งนี้เช่นเดียวกับบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินอื่นที่ดำเนินการให้กับบริษัทมหาชนทั้งหลายโดยเป็นบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กลต. การสำรวจครั้งนี้มุ่งสะท้อนความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ และโดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ จึงควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนคนเล็กคนน้อยส่วนใหญ่รอบเหมืองทองคำแห่งนี้ซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องจริง มากกว่าประชาชนในพื้นที่อื่นหรือกลุ่มเอ็นจีโอ
อ้างอิง
{1} "ปิดสัมปทานเหมืองทอง" !! บทพิสูจน์.."ประยุทธ์" คือนายกอยู่ข้างประชาชน 10 พฤษภาคม 2559 http://bit.ly/1NXkXYG
{2} โวยปิดเหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ศก.สูญ 4 พันล.-ภาคปชช.เคลื่อนไหวกดดันต่อเนื่อง 20 เมษายน 2559 www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/item/46381-ak20.html
{3} เมีย'ลุงสมคิด' โวย คนแอบอ้างการตายสามีไปต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ 4 พฤษภาคม 2559www.thairath.co.th/content/615118
{4} "ลุงเฉื่อย" ชาวบ้านรอบเหมืองทองพิจิตร เสียชีวิตแล้ว 12 มีนาคม 2559http://news.thaipbs.or.th/content/250869
{5} หนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลว. 12 พฤษภาคม 2559http://m.pantip.com/topic/35189537
{6} มารู้จัก`โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง`กันเถอะ 25 สิงหาคม 2557 สสส: http://bit.ly/1l7KZdd