หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

โศกนาฏกรรมมิวนิก

โพสท์โดย มารคัส

6 กุมภาพันธ์สำหรับใครหลายๆคนก็เป็นแค่ 1 ใน 365 วันอันสุดแสนจะธรรมดาของปี

แต่สำหรับบ่ายวันพฤหัสที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 วันที่แสนจะธรรมดากลับทำให้ผู้คนในอีก 57 ปีให้หลังที่แมนเชสเตอร์และทั่วโลกที่เฝ้าติดตามพวกเขาไม่เคยลืมเลือน

มันเหมือนเกิดขึ้นเมื่อนานแสนนานมาแล้ว แต่สำหรับ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ แฮร์รี่ เกร็ก มันเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้

นาฬิกาเก่าๆเรือนหนึ่งทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของโอลด์ แทรฟฟอร์ด บอกเวลาไว้ที่ 15.03 และเหมือนกับว่ามันไม่เคยเดินอีกเลยนับจากนั้น

คนรุ่นใหม่เฝ้ามองมันอย่างสงสัยว่านาฬิกาเก่าๆเรือนนี้มันมีไว้ทำอะไร

แต่มันก็เหมือนทั้ง 23 ชีวิตที่มิวนิค ที่ลมหายใจของพวกเขาจบสิ้นลงเหมือนดั่งเข็มนาฬิกาที่หยุดนิ่ง

เมื่อคุณอ่านตรงนี้จบลงจนถึงบรรทัดสุดท้ายคุณก็จะพบคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไม

ทำไมนาฬิกาเรือนนี้จึงรู้สึกเหมือนกับไม่เคยเดินไปข้างหน้า?

ทำไม 6 กุมภาพันธ์ 1958 จึงเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดที่สุดของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด?

ในเรื่องราวของโศกนาฏกรรมแห่งมิวนิค 1958

วันที่ประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงเรื่องราวอันน่าเศร้า

The Busby Babes

ทศวรรษที่ 1950 มันเป็นช่วงเวลาหลังจากความบอบช้ำในสงครามโลกของอังกฤษ ยุคสมัยอันรุ่งเรืองไร้คู่ต่อกรของอาร์เซน่อลในช่วงก่อนหน้าสงครามจะเริ่ม ได้จบลงไปพร้อมกับสงครามแล้ว

มันถึงเวลาที่เหล่าทีมต่างๆจะมาช่วงชิงกันเพื่อตำแหน่งอันดับหนึ่ง มีหลายทีมที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างน่ากลัว หนึ่งในนั้นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

และผู้ที่คุมทัพในตอนนั้นคือ อเล็กซานเดอร์ แม็ทธิว บัสบี้ หรือในชื่อที่เราคุ้นกันดีว่า แม็ตต์ บัสบี้




บัสบี้มีอายุเพียงแค่ 34 ปีเท่านั้นตอนที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้มาคุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในปี 1945 ดูจากโปรไฟล์ของเขาแล้วก็น่าสงสัยว่าบอร์ดยูไนเต็ดคิดอะไรอยู่ ในเมื่อบัสบี้เคยเป็นนักเตะของสองคู่อริตัวเอ้ของทีมทั้งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (1928-1936) และ ลิเวอร์พูล (1936-1941)

แต่ในเวลานั้นเส้นแบ่งความเป็นอริระหว่างยูไนเต็ดและทั้งสองทีมนั้นยังไม่เด่นชัดเท่ากับในยุคปัจจุบัน ซึ่งอดีตนักเตะของซิตี้และลิเวอร์พูลคนนี้นี่แหล่ะที่จะแบ่งเส้นนั้นให้เราได้เห็นในปัจจุบันเองด้วยขุมกำลังอันเกรียงไกรของเขา ภายใต้ชื่อ “บัสบี้ เบ็บส์”

ทันทีที่แม็ตต์ บัสบี้เข้ามาคุมทีม แมนฯยูไนเต็ดก็กลายเป็นทีมที่มีลุ้นในการเป็นนัมเบอร์วันแห่งอังกฤษทันที ในช่วง 5 ปีแรกของการคุมทีม บัสบี้พาทีมเป็นรองแชมป์ได้ถึง 4 ครั้ง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้แชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1951-52 แถมด้วยแชมป์เอฟเอ คัพในปี 1948

แต่ปีถัดมาบัสบี้กลับทำในสิ่งที่ผู้คนทั้งในสมัยนั้นและในสมัยนี้ต้องเกาหัว เมื่อเขาเลือกจะทำการถ่ายเลือด โละนักเตะเก่าๆทิ้ง และดันเด็กเยาวชนมารับหน้าที่แทน พูดง่ายๆคือ แกกะจะปั้นเด็กให้ดูเป็นขวัญตา  และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยนักเตะอายุน้อยๆ

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบัสบี้ เบ็บส์และจุดกำเนิดของแนวทางของสโมสรที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสันในวันที่ยังไม่ได้ยศอัศวินจะนำมาใช้ต่อในอีกสามทศวรรษให้หลัง



สำหรับคนที่อยู่เบื้องหลังความประสบความสำเร็จในการปั้นเด็กครั้งประวัติศาสตร์ในวงการฟุตบอลนี้มีอยู่สองคนคือ โจ อาร์มสตรอง หัวหน้าทีมแมวมอง และ จิมมี่ เมอร์ฟี่ ผู้ช่วยของบัสบี้เอง


เวลายิงต้องยิงให้ตรงกรอบนะเด็กๆ และถ้าผู้รักษาประตูรับไม่ได้มันจะเป็นประตูนะครัชแหม่



เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้กัน โจ อาร์มสตรองนี่แหละที่เป็นคนดึงนักเตะเยาวชนฝีเท้าดีจำนวนมากมาสู่สโมสร หนึ่งในนั้นคือการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ เขาเป็นคนดึงตัวเด็กหนุ่มวัย 15 ปีจากแอชชิงตันที่มีชื่อว่า บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ที่ต่อมาจะกลายเป็นนักเตะผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก

และอีกคนหนึ่งที่น่าจะเคียงข้างชาร์ลตันได้ไม่ยาก หากว่าเขาไม่เจอกับเรื่องอันน่าเศร้าเสียก่อน เขาคือ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ปีกอัจฉริยะวัยแค่ 17 ปี

ซึ่งหลายคนที่บัสบี้ดันขึ้นสู่ชุดใหญ่มีอายุแค่ 17-18 ปีเท่านั้น อย่างเช่นตำแหน่งแบ็กขวา บิล โฟกส์ (18) ในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ มาร์ค โจนส์ (17) และ แจ็คกี้ บล้านซ์ฟลาวเวอร์ ((18) ปีกอย่าง เดวิด เพ็กก์ (17) และศูนย์หน้าอย่าง เลียม วีแลน (17) เรียกได้ว่าแกนหลักเป็นเด็กวัยรุ่นทั้งนั้น นี่ยังไม่นับ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ที่ตามขึ้นมาในปีต่อมาด้วยวัย 17 ปี


ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ในวันที่ก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่



ที่เหลือคือเหล่าดาวรุ่งที่เมอร์ฟี่เป็นคนดูแลจัดการ ซึ่งในปี 1953 เอฟเอได้จัดการแข่งขันเอฟเอ ยูธ คัพ ขึ้นเป็นครั้งแรกและหนุ่มๆของบัสบี้เหล่านี้ก็จัดการระเบิดฟอร์มอันร้อนแรงคว้าแชมป์ได้ 5 สมัยซ้อนแถมเป็นการยิงคู่แข่งกระจุยกระจายทุกปี

สามปีแรกหลังการลองของด้วยเด็กดาวรุ่ง จบลงที่อันดับ 8 4 และ 5 ตามลำดับซึ่งก็ถือว่าไม่เลวนัก และในฤดูกาล 1955-56 บัสบี้ เบ็บส์ก็ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด ทีมโชว์ฟอร์มได้อย่างเหนือชั้นด้วยเหล่าดาวรุ่งที่สั่งสมประสบการณ์จนได้ที่แล้ว ด้วยผลงานที่ไม่แพ้ในบ้านทั้ง 21 นัด ยูไนเต็ดกลับมาเป็นแชมป์ลีกอีกด้วยผลงานของทีมที่อายุเฉลี่ยแค่ 21-22 ปีเท่านั้น


นักเตะยูไนเต็ดกับแชมป์ดิวิชั่น 1



มีไม่กี่คนที่บัสบี้ดึงมา ไม่ได้อยู่กับทีมมาตั้งแต่เยาวชน อย่าง เรย์ วู้ด ที่มีอายุ 18 ปีตอนซื้อมาจากดาร์ลิงตันในปี 1949 ทอมมี่ เทย์เลอร์ คนนี้ย้ายมาด้วยค่าตัวมหาศาลจากบาร์นสลี่ย์ในเวลานั้นถึง 30,000 ปอนด์ สุดท้ายคือ จอห์นนี่ เบอร์รี่ ที่ดึงมาจากเบอร์มิงแฮมตอนอายุได้ 25 ปีในปี 1951

ทอมมี่ เทย์เลอร์ กับ เดนนิส ไวโอเล็ต อีกหนึ่งเด็กสร้างของสโมสร ช่วยกันยิงไม่ยั้งคนละ 25 และ 20 ลูกตามลำดับ เป็นหนึ่งในแนวรุกที่น่าเกรงขามที่สุดในประเทศในปีที่ได้แชมป์



ทุกสายตาทั่วอังกฤษต่างจับจ้องมายังแมนเชสเตอร์ พวกเขาต่างตื่นเต้นที่จะเฝ้าดูและรอคอยที่จะได้เห็นบัสบี้ เบ็บส์ คนต่อไป

และเด็กๆของบัสบี้จะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้

1956-57 Year of Glory


ฤดูกาล 1955-56 เป็นครั้งแรกที่มีการก่อตั้งรายการฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปขึ้นโดยได้รับการรับรองจากยูฟ่า แนวคิดคือการนำทีมแชมป์ลีกจากแต่ละประเทศเข้าร่วมในการชิงแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ เพื่อหาสโมสรที่ดีที่สุดในยุโรปในปีนั้น

อังกฤษซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องความอนุรักษ์นิยมและทระนงตัวว่าข้าแน่ที่สุดในใต้หล้า ปฏิเสธการเข้าร่วมรายการนี้เหตุผลคือ มองไม่เห็นประโยชน์อันใดที่ทีมจากอังกฤษจะต้องไปแข่งขันด้วย ในเมื่อพวกเขาดีที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้น เชลซี แชมป์ในฤดูกาล 1954-55 จึงถูกทาง อลัน ฮาร์เด็คเกอร์ เลขานุการของเอฟเอในเวลานั้นบล็อกไม่ให้ไปแข่ง

แต่สำหรับแม็ตต์ บัสบี้และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พวกเขาไม่คิดเช่นนั้น ถือเป็นโอกาสดีที่จะพิสูจน์ให้ชาวยุโรปได้เห็นว่าพวกเขายอดเยี่ยมเพียงใด บัสบี้จึงลองของกับทางเอฟเอด้วยการส่งทีมเข้าร่วมในฤดูกาล 1956-57 กลายเป็นสโมสรแรกจากอังกฤษที่ได้เล่นในรายการนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับทางเอฟเอเป็นอันมากจึงไม่ยอมเลื่อนโปรแกรมการแข่งขันให้โดยบอกว่า ก็คุณอยาก (เสนอหน้า) ไปแข่งเองนิหว่า มาไม่ทันปรับแพ้สถานเดียวนะ(โว้ย)

จึงเป็นครั้งแรกที่ทีมจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆในการลงเตะกลางสัปดาห์สลับกับสุดสัปดาห์

แค่เกมในบ้านนัดแรกในฟุตบอลยุโรป ยูไนเต็ดก็จัดการบันทึกสถิติลงในหน้าสโมสรที่ยังไม่เคยถูกทำลายมาจนถึงปัจจุบัน

ชัยชนะสูงสุดตลอดกาลของสโมสรที่มีเหนือคู่แข่ง

นัดแรกยูไนเต็ดบุกไปเอาชนะอันเดอเลทช์มาสบายๆ 2-0 ก่อนจะเปิดบ้านลงเล่นเกมยุโรปเป็นครั้งแรก


ทีมแชมป์จากเบลเยี่ยมหาใช่คู่มือของเหล่าบัสบี้ เบ็บส์ไม่ ว่าแล้วก็โดนสอยซะพรุนไปด้วยสกอร์ 10-0 เดนนิส ไวโอเล็ต เหมายิงคนเดียวสี่ลูก ทอมมี่ เทย์เลอร์ กระหน่ำแฮตทริก เลียม วีแลน อีกสอง และจอหน์นี่ เบอร์รี่ อีกหนึ่งลูกในชัยชนะครั้งมโหฬารที่สุด ไม่มีการเปิดตัวครั้งไหนจะยอดเยี่ยมไปกว่านี้อีกแล้ว

แม้จะมีภารกิจในถ้วยยุโรป แต่ในลีกพวกเขาก็ไม่ได้ทิ้ง และบัสบี้ยังคงดันเด็กหนุ่มจากทีมเยาวชนขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย คราวนี้ถึงทีของ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ที่โดนดันขึ้นชุดใหญ่เป็นครั้งแรก

ทีมเดินหน้าเก็บชัยชนะได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่คู่แข่งรายสำคัญอย่าง วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ ฟอร์มไม่ได้เรื่องได้ราว ทีมที่พอมีลุ้นด้วยมีเพียงท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ส เปรสตัน นอร์ธเอนด์ และแบล็คพูล ทีมรองแชมป์เก่าเท่านั้น ที่เหลือหาใช่คู่ต่อสู้ที่ทำให้เหล่าบัสบี้ เบ็บส์ต้องหวั่นเกรงไม่



เข้าสู่เดือนตุลาคม ฟุตบอลยุโรปกลับมาอีกครั้ง ในรอบแรก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะพบกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมแชมป์จากเยอรมันตะวันตก นัดแรกจะมีขึ้นที่แมนเชสเตอร์

และนัดนี้เองที่ทำสถิติผู้ชมมากที่สุดของฤดูกาล กว่า 75,568 คนที่เข้ามาเป็นสักขีพยานในชัยชนะ 3-2 เหนือผู้มาเยือนจากเยอรมัน ในแบบที่นำไปก่อนตั้งแต่ 35 นาทีแรกถึง 3-0 ด้วยซ้ำ และพวกเขารักษาความได้เปรียบนี้เอาไว้ได้ด้วยการบุกไปยันเสมอ 0-0 ที่ดอร์ทมุนด์ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เข้ารอบรองชนะเลิศไปพบกับ แอธเลติก บิลเบา จากสเปนต่อไป

และเป็นครั้งแรกที่เหล่าบัสบี้ เบ็บส์โชว์แคแร็กเตอร์ที่จะกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของทีมในอีกกว่า 40 ปีให้หลัง นัดแรกที่สเปนพวกเขาบุกไปแพ้ 5-3 ถ้านัดที่สองในบ้านชนะไม่ถึงสองลูกก็เลิกพูดเรื่องฟุตบอลยุโรปกันได้

และพวกเขาก็ทำสำเร็จในการพลิกนรกกลับมาไล่อัดบิลเบาไป 3-0 ต้องขอบคุณประตู 3-0 ก่อนหมดเวลาแค่ 5 นาทีของจอห์นนี่ เบอร์รี่

สำหรับคู่ต่อสู้ที่รออยู่คือ เรอัล มาดริด ทีมจากสเปนอีกทีมที่มาป้องกันแชมป์ของพวกเขา

นัดแรกที่สเปนพวกเขาแพ้อีกตามเคยด้วยสกอร์ 3-1 มันเหมือนกับรอบก่อนหน้านี้ไม่มีผิด แต่คราวนี้ยูไนเต็ดต้องพบกับความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวดว่าเรอัล มาดริดในเวลานั้นแข็งแกร่งเกินกว่าที่พวกเขาจะสู้ไหว

นัดที่สองที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ไม่มีปาฏิหาริย์ เรอัล มาดริดบุกมานำ 2-0 ตั้งแต่ 33 นาทีแรก สกอร์รวมเป็น 5-1

แต่สำหรับเหล่าบัสบี้ เบ็บส์ แล้ว พวกเขายังไม่ยอมแพ้ ไม่มีคำว่าถอดใจ ทอมมี่ เทย์เลอร์ กับ บ็อบบี้ ชาร์ลตันช่วยกันซัดคนละลูกให้ทีมกลับมาตีเสมอสำเร็จเป็น 2-2 ในช่วงครึ่งเวลาหลัง น่าเสียดายที่กว่าจะตีเสมอได้ก็ปาเข้าไปในนาที่ 85 หาไม่แล้วอะไรจะเกิดขึ้นบ้างเราก็ไม่มีทางจะรู้




ถึงจะแพ้ ถึงจะตกรอบ แต่จิตวิญญาณนักสู้ของทีมสร้างความประทับใจให้กับ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ประธานสโมสรของเรอัล มาดริดเป็นอย่างมาก เขาถึงขั้นเสนองานคุมทัพ เรอัล มาดริด ให้กับบัสบี้เลยทีเดียว ซึ่งบัสบี้ปฏิเสธทันทีโดยบอกว่า “แมนเชสเตอร์ คือ สวรรค์ของผม”

แม้จะไปไกลสุดถึงแค่รอบรองชนะเลิศ แต่ในลีก บัสบี้พาทีมป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ และโบนัสคือการเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ 1957 ที่ไปแพ้แอสตัน วิลล่า 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศที่เวมบลีย์



บัสบี้และนักเตะของเขาพากันฉลองหลังจากรู้ว่าได้แชมป์ลีกแน่นอนแล้วในฤดูกาล 1956-57

 

Before the Crash


ฤดูกาล 1957-58 เปิดฉากขึ้นโดยที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดของแม็ตต์ บัสบี้ยังคงเป็นตัวเต็งที่จะคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน บัสบี้จัดการเสริมทัพด้วยการคว้า แฮร์รี่ เกร็ก มาจาก ดอนคาสเตอร์ โรเวอร์ส ด้วยค่าตัวที่เป็นสถิติสำหรับผู้รักษาประตูในเวลานั้น 23,500 ปอนด์ และลดบทบาทของ เรย์ วู้ด อดีตมือหนึ่งของทีมลงเป็นแบ็กอัพเท่านั้น


ลีลาการป้องกันของแฮร์รี่ เกร็ก ที่โดนใจบัสบี้จนต้องทุบคลังไปถอยมาเฝ้าเสา


แต่คราวนี้พวกเขาก็ต้องเจอกับปัญหาเมื่อคู่แข่งรายสำคัญอย่างวูล์ฟแฮมป์ตัน กลับมาเข้าฟอร์มพอดี นั่นรวมไปถึงชัยชนะ 3-1 เหนือยูไนเต็ดที่โมลินิวซ์ กราวนด์ และทีมฟอร์มยังไม่ดีนัก เกมในบ้านที่เคยเป็นจุดเด่น มาคราวนี้จนถึงสิ้นปี พวกเขาแพ้ในบ้านไปแล้วถึง 4 นัด แต่หลังจากแพ้เชลซี 0-1 ในบ้านเมื่อกลางเดือนธันวาคม หลายๆอย่างเริ่มจะเข้าที่ขึ้น โอเคว่าอาจจะไม่ชนะรวด แต่ก็ไม่แพ้ใครอีก ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ปี 1958

เดือนมกราคม พวกเขาเสมอกับลีดส์ 1-1 ก่อนจะกลับมาไล่ต้อนทวงแค้นโบลตันที่เคยแพ้เมื่อต้นซีซั่นไป 7-2 และปิดท้ายด้วยการบุกไปชนะอาร์เซน่อล 5-4 ในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์

มีแต่สวรรค์เท่านั้นที่จะรู้ว่ามันจะเป็นนัดสุดท้ายที่เราจะได้เห็นบัสบี้ เบ็บส์ บนแผ่นดินอังกฤษ

สำหรับภารกิจในถ้วยยูโรเปี้ยน คัพที่รออยู่ รอบควอเตอร์ ไฟนั่ล ยูไนเต็ดจะพบกับ เร้ด สตาร์ เบลแกรด ทีมแชมป์จากเซอร์เบีย

ในรอบคัดเลือกและรอบแรกพวกเขาผ่านด่านมาแบบไม่มีปัญหา ทั้ง แชมร็อก โรเวอร์ส (ไอร์แลนด์) และ ดุ๊คล่า ปราก (เชโกสโลวะเกีย)  อาจจะดูแย่หน่อยตรงที่บุกไปแพ้ที่ปราก 0-1 แต่สกอร์รวมยังขาดลอยอยู่ดีที่ 3-1

14 มกราคม 1958 บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ เอ็ดดี้ โคลแมน ช่วยกันยิงคนละลูกในครึ่งเวลาหลังทำให้ทีมพลิกกลับมาเอาชนะไปได้ 2-1 กุมความได้เปรียบไว้เล็กน้อย ขอแค่ไม่แพ้เท่านั้นก็เข้ารอบต่อไปทันที

ทุกวันนี้การเดินทางด้วยเครื่องบินถือว่ามีความปลอดภัยที่สุด จากอุปกรณ์นำทางและอุปกรณ์ช่วยเหลืออันทันสมัย แต่ในเกือบหกสิบปีก่อนมันมีความเสี่ยงเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางในฤดูหนาวที่สภาพอากาศและทัศนวิสัยย่ำแย่

แต่ยูไนเต็ดก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมเสี่ยงด้วยการเดินทางจากเครื่องบิน เพราะพวกเขายังมีเกมลีกรออยู่ในสุดสัปดาห์ เนื่องจากทางเอฟเอไม่ยอมเลื่อนตารางการแข่งขันให้

สัญญาณเตือนถึงหายนะครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่รอบก่อนหน้าที่พบกับดุ๊คล่า ปราก ในเดือนธันวาคมปีก่อน เมื่อหมอกเข้าปกคลุมเกาะอังกฤษจนไม่สามารถนำเครื่องบินลงได้ พวกเขาจึงต้องนั่งไปลงที่อัมสเตอร์ดัมแทน ก่อนจะต่อเรือกลับมายังอังกฤษและนั่งรถไฟกลับแมนเชสเตอร์
ด้วยการเดินทางอันหฤโหดจนแทบไม่มีเวลาพักและซ้อมนี้ทำให้ทีมทำได้แค่เสมอกับเบอร์มิงแฮมในบ้าน 3-3 เท่านั้น

3 กุมภาพันธ์ 1958 หลังจากได้พักแค่วันเดียว นักเตะและสตาฟฟ์โค้ชของแมนฯยูไนเต็ดเดินทางสู่เบลเกรดด้วยเครื่องบินของสายการบิน บริติช ยูโรเปี้ยน แอร์เวย์ส เครื่องบินรุ่นที่ใช้เดินทางนั้น เป็นรุ่น แอร์สปีด แอมบาสดอร์ 2 (Airspeed Ambassdor 2) ซึ่งกรุงเบลเกรดนั้นอยู่นอกพิสัยทำการของเครื่องบินประเภทนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องหยุดพักเพื่อทำการเติมเชื้อเพลิงที่นครมิวนิคของเยอรมันเสียก่อน


นักเตะของยูไนเต็ดร่วมกันถ่ายภาพก่อนขึ้นเครื่อง



มันมีความเสี่ยงทันที เสี่ยงยังไง? ก็ตรงที่หากทัศนวิสัยไม่ดี สภาพอากาศไม่เป็นใจ การบินรวดเดียวมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะอุบัติเหตุทางเครื่องบินส่วนใหญ่นั้นจะเกิดตอนนำเครื่องเทคออฟขึ้นและนำเครื่องแลนดิ้งลง ยิ่งบ่อยครั้งเท่าไหร่ก็เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

แต่ยูไนเต็ดไม่มีทางเลือกอื่นอีกนั่นแหล่ะ

เครื่องบินประสบปัญหาตอนนำเครื่องลง จากเมฆที่ลอยต่ำ ทัศนวิสัยย่ำแย่ มีหิมะตก แต่อย่างไรก็ตามนักบินก็สามารถนำเครื่องลงที่เบลเกรดได้หลังจากบินวนอยู่นาน

5 กุมภาพันธ์ 1958 เกมรอบควอเตอร์ ไฟนั่ลนัดที่สองของยูโรเปี้ยน คัพ ระหว่างเร้ดสตาร์ เบลเกรด เจ้าบ้านกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มขึ้น



เป็นยูไนเต็ดทีมเยือนที่ทำได้ดีกว่ามาก เดนนิส ไวโอเล็ต ยิงนำตั้งแต่นาทีที่ 2 ก่อนที่ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน จะยิงสองประตูในสองนาทีให้ทีมนำ 3-0 ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก ที่เหลือก็ง่ายแล้ว

เร้ด สตาร์ เจ้าบ้านยังมีฮึดตามตีเสมอได้ตั้งแต่ต้นครึ่งหลังจากสองประตูของ โบร่า คอสติช และจุดโทษของ ลาซาร์ ทาซิซ คนยิงประตูในเกมแรก แต่ก็ทำได้เท่านั้น จบเกมเสมอกัน 3-3 สกอร์รวมเป็นแมนฯยูไนเต็ดชนะไป 5-4 ได้เข้ารอบรองชนะเลิศเป็นปีที่สองติดต่อกัน

หลังจบเกมมีงานเลี้ยงฉลองเล็กๆจากทางสถานทูตอังกฤษในกรุงเบลเกรดให้กับทางสโมสรเพื่อแสดงความยินดีในการผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้


ตั๋วเข้าชมเกมนัดนี้จัดเป็นแรร์ไอเท็มชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

นี่ก็แรร์ไอเท็มในตำนานอีกเหมือนกัน ลายเซ็นของนักเตะของแมตต์ บัสบี้ที่เซ็นลงเมนูให้กับโรงแรมที่พัก



6 กุมภาพันธ์ 1958 นักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมงานสตาฟฟ์โค้ช นักข่าว ช่างภาพหนังสือพิมพ์ นักบินและผู้ช่วย พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไกด์ท่องเที่ยวชาวเซอร์เบียและภรรยารวมไปถึงผู้โดยสารชาวเซอร์เบียและลูกของเธอร่วมเดินทางมาด้วย รวมทั้งหมดบนเครื่องบิน 38 ชีวิตที่เดินทางมุ่งหน้าสู่แมนเชสเตอร์

แต่การเดินทางดีเลย์ไปร่วมชั่วโมงหลังจากจอห์นนี่ เบอร์รี่ ลืมพาสปอร์ตของเขาไว้ที่โรงแรมทำให้ต้องเสียเวลากลับไปเอากันพักใหญ่



13.15 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช เครื่องบินเดินทางมาถึงยังนครมิวนิค,เยอรมันตะวันตก เพื่อทำการเติมเชื้อเพลิง สภาพอากาศช่างเลวร้าย ท้องฟ้ามีเมฆลอยต่ำ มีฝนและหิมะ จนนักบินต้องเปิดใช้อุปกรณ์ป้องกันน้ำแข็งบนปีกเครื่องบิน

ระหว่างการเติมเชื้อเพลิง นักเตะของยูไนเต็ดไปผ่อนคลายอิริยาบถในอาคารผู้โดยสาร เพื่อไปหาอะไรอุ่นๆดื่ม บางส่วนปั้นหิมะปาเล่นกันอย่างสนุกสนาน

บางทีอาจจะมีแค่ใครบางคนจากบนฟ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะได้มีโอกาสได้ทำแบบนี้เป็นครั้งสุดท้าย

The Crash


หลังจากเสร็จสิ้นการเติมเชื้อเพลิง เครื่องก็พร้อมจะออกบินอีกครั้ง ผู้โดยสารทุกคนกลับเข้าประจำที่

14.20 ตามเวลาอังกฤษ หอควบคุมการบินของสนามบินมิวนิคแจ้งเครื่องบินว่าสามารถทำการขึ้นบินได้หลังจากเคลียร์รันเวย์เรียบร้อยแล้ว

กัปตัน เจมส์ เธน อดีตนักบินของกองทัพอากาศอังกฤษผู้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วสั่งให้ทำการบู้ตเครื่อง แล้วเขาก็พบกับเรื่องผิดปกติ เสียงเครื่องยนต์ฟังดูแปลกๆ เกจวัดอุณหภูมิของเครื่องก็ผันผวนขณะที่เร่งเครื่องเต็มที่ เขาจึงทำการล้มเลิกการขึ้นบินในครั้งแรก

สามนาทีต่อมา มีการพยายามจะนำเครื่องขึ้นอีกครั้ง แต่แล้วก็เจอกับปัญหาเดิม มันคือสิ่งที่เรียกว่า Over rich mixture หรือ การที่มีอัตราส่วนของน้ำมันมากกว่าอากาศ ซึ่งนั่นแปลว่าเครื่องยนต์จะร้อนจนพังได้และเผาผลาญเชื้อเพลิงไปมากจนเกินเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเครื่องยนต์ของเครื่องบินรุ่นนี้อยู่แล้ว

สองครั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จ กัปตันเลยตัดสินใจยกเลิกการบินก่อนเพื่อทำการตรวจเช็คเครื่อง ผู้โดยสารทยอยกลับไปยังอาคารรับรองของสนามบิน ระหว่างนั้นหิมะได้ตกลงมาอย่างหนัก จน ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ส่งโทรเลขกลับไปยังแมนเชสเตอร์ว่า “ทุกเที่ยวบินยกเลิก, จะกลับวันพรุ่งนี้ ดันแคน”

วิศวกรให้คำแนะนำว่าควรจะยกเลิกเที่ยวบินก่อนเพราะเครื่องยนต์มีปัญหา แต่กัปตันเธนเกรงว่าจะกระทบต่อตารางเวลาจึงได้ตัดสินจะเสี่ยงเดิมพันครั้งสำคัญ

และมันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตของเขาที่ทำให้ชีวิตคนเครื่อง 23 ชีวิตต้องจบลง

15 นาทีหลังจากลงจากเครื่อง ผู้โดยสารถูกตามตัวให้มาขึ้นเครื่อง หลายคนมีสีหน้าไม่อยากจะเชื่อว่าจะต้องออกบินในสภาพอากาศแบบนี้ เลียม วีแลน หลุดปากออกมาว่า “ไม่น่าจะรอดนะ แต่ยังไปก็ไปกันเถอะ” นั่นคือสิ่งที่อยู่ในหัวของคนอื่นๆอย่าง ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์,เอ็ดดี้ โคลแมน หรือ ทอมมี่ เทย์เลอร์ พวกเขาไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่นักแต่ก็กลับขึ้นเครื่องแต่โดยดี

14.56 น. ตามเวลาอังกฤษ เครื่องบินเริ่มเคลื่อนที่ พวกเขากำลังจะออกบินภายในสิบนาทีนี้

15.03 น. ตามเวลาอังกฤษ นักบินและนักบินร่วม บอกกับหอบังคับการบินว่าพวกเขากำลังเตรียมจะแท็กซี่ (คือการวิ่งบนรันเวย์เพื่อเพิ่มอัตราเร่ง) เพื่อเตรียมขึ้นบิน

และนั่นคือเสียงสุดท้ายของ เคนเน็ธ เรย์เมนท์ นักบินคนที่สองที่โลกได้ยิน

เครื่องที่เร่งมาด้วยความเร็วกว่า 194 กม/ชม. เกิดลื่นไถลตรงปลายสุดของรันเวย์และชนเข้ากับรั้วของสนามบิน ก่อนจะหลุดข้ามถนนออกไป โชคร้ายที่อีกฟากหนึ่งนั้นมีบ้านหลังหนึ่งอยู่พอดี ปีกซ้ายของเครื่องบินหมุนฟาดเข้ากับตัวบ้านอย่างแรงจนพังยับ ส่วนหางของเครื่องถูกฉีกออกไปก่อนที่ด้านซ้ายของเครื่องบินจะฟาดเข้ากับต้นไม้ ด้านขวาของเครื่องเข้าไปกระแทกอย่างแรงกับห้องเก็บของซึ่งมียางรถยนต์และน้ำมันอยู่เต็มจนเกิดการลุกไหม้ เกิดไฟลุกท่วมบ้านที่มีสมาชิกหกราย โชคยังดีที่ผู้เป็นแม่กับลูกๆอีกสามรายหนีตายออกมาได้ทัน ส่วนพ่อและลูกสาวคนโตออกไปข้างนอกพอดีเลยรอดตาย

แต่อีก 23 ชีวิตบนเครื่องไม่โชคดีขนาดนั้น






สภาพอันยับเยินของเครื่อง



มันเกิดขึ้นในชั่วพริบตา สำหรับแฮร์รี่ เกร็ก แล้วมันนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด เขาหมดสติไปในระหว่างการปะทะ ก่อนจะค่อยๆรู้สึกตัวและพบว่าเขายังมีชีวิตอยู่

“ผมนึกว่าผมตายแล้วเสียอีก เลือดไหลเต็มหน้าผม ผมไม่กล้าจะเอามือไปจับดูบนศีรษะเพราะกลัวว่ามันจะหลุดออกเหมือนเวลาปอกไข่ต้ม” แฮร์รี่ เกร็ก บอกหลังจากรอดตายอย่างปาฏิหาริย์

ห้องโดยสารแตกออกเป็นช่อง มีแสงสว่างลอดเข้ามา มันกว้างพอที่เขาจะปีนออกไปได้ เกร็กจึงค่อยๆปีนออกมาและพยายามดึงตัวเด็กทารกชาวเซอร์เบียที่รอดตายออกมาด้วยก่อนจะรับตัวแม่ของเด็กออกมา เขาเปรียบเสมือนฮีโร่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ไม่ยอมหนีไปไหนพยายามจะช่วยคนอื่นๆออกมาอย่างไม่คิดถึงตัวเอง

บิล โฟกส์ แบ็คขวาของทีมก็เป็นอีกคนที่รอด เขาช่วยกันกับแฮร์รี่ เกร็กในการนำร่างผู้รอดชีวิตออกมาจากซากเครื่อง

แม็ตต์ บัสบี้ นายใหญ่ของทีมก็รอดตายด้วยแต่เขาได้รับบาดเจ็บหนักจนต้องนำส่งโรงพยาบาล อาการยัง 50-50 ว่าจะอยู่หรือรอด เช่นเดียวกับ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ปีกตัวเก่งของทีมที่มีอาการซี่โครงร้าว ขาหักหลายจุด และไตได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล



บัสบี้นอนซมในเต๊นท์ออกซิเจน อาการยังวิกฤตในตอนแรก



บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ดาวรุ่งของทีมในเวลานั้นก็รอดตายด้วยเขาได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก


บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ได้รับบาดเจ็บไม่มากนักแต่ก็ยังต้องนอนโรงพยาบาลอยู่ดี



แต่สำหรับเพื่อนนักเตะอีกเจ็ดคนของชาร์ลตันไม่โชคดีขนาดนั้น พวกเขาเสียชีวิตคาที่ ประกอบไปด้วย กัปตันทีม โรเจอร์ ไบรน์, เอ็ดดี้ โคลแมน ทอมมี่ เทย์เลอร์ และ เลียม วีแลน สามกองหน้าของทีม, เจฟฟ์ เบนท์ แบ็กตัวสำรอง มาร์ค โจนส์ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ และ เดวิด เพ็กก์ ปีกตัวเก่ง
นอกจากนี้ สามเจ้าหน้าที่ของทีมมี วอลเตอร์ คริกเมอร์ อดีตผู้จัดการทีมคนก่อนหน้าบัสบี้ที่นั่งตำแหน่งเลขานุการของสโมสร ทอม เคอร์รี่ และเบิร์ต วัลเล่ย์ สองโค้ชของทีม จบชีวิตลงเช่นกัน

นักข่าวและช่างภาพเสียชีวิตไปถึง 8 จาก 11 ราย และยังรวมเจ้าหน้าที่ของสายการบิน ไกด์ชาวเซอร์เบีย และเพื่อนของแม็ตต์ บัสบี้ที่ร่วมเดินทางมาด้วย ทั้งสามคนเสียชีวิตคาที่ ส่วนนักบินที่สองได้รับการกระทบกระเทือนที่สมองอย่างหนัก อาการยังร่อแร่

21 ชีวิตจบชีวิตลงทันที อีกสามรายอาการยังโคม่า น่าเศร้าที่ เคนเน็ธ เรย์เมนท์ นักบินที่สองทนพิษบาดแผลไม่ไหวสิ้นใจลงในอีกสามสัปดาห์ต่อมา ส่วนดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ยังฟื้นได้สติ เขาหันไปถามจิมมี่ เมอร์ฟี่ ผู้ช่วยผู้จัดการทีมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์หลังจากฟื้นว่า “นี่เราจะเตะกับวูล์ฟตอนกี่โมงเนี่ย จิมมี่? ผมไม่อยากจะพลาดแมตช์นี้นะ” โถ ยังอุตส่าห์อยากจะลงเล่นจนวินาทีสุดท้ายเลยทีเดียว

ห้าวันต่อมาอาการของเอ็ดเวิร์ดส์ทรุดหนักลง คณะแพทย์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะยื้อชีวิตของเขา แต่ก็ไม่สำเร็จ เวลาตีสองสิบห้านาทีของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1958 ร่างกายของ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ก็ทนรับสภาพไม่ไหวหลังจากยื้อมานานกว่า 15 วัน เขาสิ้นใจลงในโรงพยาบาลท่ามกลางความโศกเศร้าของแพนบอลและชาวโลก

ส่วน แม็ตต์ บัสบี้ เป็นคนเดียวที่รอดตายจากสามคน แต่ก็ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึงสองเดือน เขาเคยคิดจะเลิกคุมทีมเหมือนกันจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก แต่พอไปปรึกษากับเมียของเขาก็ได้รับคำตอบมาว่า “คุณก็รู้นี่ แมตต์ ว่านักเตะของคุณอยากให้คุณกลับไป” เท่านั้นเองที่ฉุดบัสบี้ออกมาจากโลกแห่งความเศร้า เขากลับไปยังแมนเชสเตอร์และปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในนัดชิงชนะเลิศของเอฟเอ คัพ ปี 1958 ที่ทีมของเขาได้เข้าชิงกับโบลตัน

แต่สำหรับ จอห์นนี่ เบอร์รี่ และ แจ๊คกี้ บล้านซ์ฟลาวเวอร์ สองนักเตะที่รอดตาย แต่อาการบาดเจ็บของพวกเขาหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะกลับมาลงเล่นฟุตบอลได้อีกจึงจำใจต้องเลิกเล่นไปโดยปริยาย

The Deeply Shocked


ในอังกฤษมีการเผยแพร่ข่าวที่ทำให้ตกตะลึงกันไปทั้งประเทศ

“เครื่องบินของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตกที่สนามบิน น่ากลัวว่าจะมีการสูญเสียอย่างหนัก ยังไม่มีรายงานถึงรายชื่อผู้เสียชีวิตหรือรอดชีวิต”


ข่าวนี้ไปถึงพระราชวังบัคกิ้งแฮมที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 ทรงประทับอยู่ พระองค์ทรงตกพระทัยกับข่าวนี้เป็นอันมากและได้รับสั่งให้ส่งข้อความแสดงความเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสียไปยังนายกเทศมนตรีของแมนเชสเตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และสำนักการบินพลเรือน





ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์สำหรับเหตุการณ์ที่มิวนิค



หนังสือพิมพ์ลงข่าวการตายของดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ หลังจากทีมแพทย์ยื้อชีวิตมาได้กว่าสองสัปดาห์


7 กุมภาพันธ์ 1958

ร่างของผู้เสียชีวิตทั้ง 20 รายถูกลำเลียงกลับมาถึงยังมาตุภูมิ ร่างอันไร้วิญญาณของนักเตะและเจ้าหน้าที่ของสโมสรถูกพักข้างคืนไว้ที่โรงยิมในโอลด์ แทรฟฟอร์ดก่อนจะให้ครอบครัวและญาติมารับไป แฟนบอลหลายพันคนออกมาแสดงความนับถือต่อฮีโร่ของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย ทั่วทั้งเมืองตกอยู่ภาวะเงียบสงัด คลื่นความช็อกและเสียใจเข้าปกคลุมตัวเมืองแมนเชสเตอร์




ทั่วทั้งประเทศมีการยืนไว้อาลัยเป็นเวลาสองนาทีในทุกๆสนาม มันคือวันแห่งความเศร้าของชาวอังกฤษโดยแท้จริง

ที่โรงพยาบาลในมิวนิค บัสบี้ได้สติขึ้นมา เขายังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครกล้าบอกเขา จนกระทั่ง ชอน บัสบี้ ภรรยาของเขามาเยี่ยม บัสบี้จึงพบกับความจริงอันน่าเจ็บปวด

“ผมถามเมียผมว่าเกิดอะไรขึ้น” บัสบี้เล่าในภายหลัง “แค่เธอไม่ยอมพูดอะไร ผมก็ไล่ชื่อทีละคน เธอไม่ยอมมองมาที่ผมด้วยซ้ำ เพียงแค่ส่ายหัวของเธอเป็นคำตอบ ตาย…..ตาย…...แล้วก็ตาย…..”

มันเป็นความจริงอันน่าสลด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกำลังสูญเสียกำลังสำคัญที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จในสองปีหลังไปแทบจะยกทีม นั่นรวมไปถึงคนที่ทำทีมให้มาไกลจนถึงขนาดนี้ยังนอนซมอยู่ในโรงพยาบาล

จิมมี่ เมอร์ฟี่ ผู้ช่วยของบัสบี้ได้รับการมอบหมายให้การทำคุมทีมลงเล่นในนัดที่เหลือของฤดูกาล เขาไม่ได้ไปที่เบลเกรดด้วยเพราะต้องคุมทีมชาติเวลส์ลงแข่งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับอิสราเอลพอดี แต่เขาจะทำอย่างไรในเมื่อนักเตะตัวหลักของทีมกว่าครึ่งจบชีวิตที่มิวนิค อีกหลายคนก็ได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัว ไม่มีอะไรจะรับรองได้ว่าพวกเขาจะกลับมาเล่นได้อีก

การแข่งขันกับวูล์ฟแฮมป์ตันถูกเลื่อนออกไปปลายเดือนเมษายน เพื่อให้ทีมมีเวลาเตรียมตัว เมอร์ฟี่จึงเลือกจะใช้นักเตะชุดสำรองและทีมเยาวชนในเกมที่จะพบกับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ในเอฟเอ คัพรอบห้า วันที่ 19 กุมภาพันธ์

ระหว่างนั้นมีธารน้ำใจหลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งจดหมายให้กำลังจากแฟนบอล เงินบริจาคที่แฟนบอลส่งมากับจดหมายหรือธนาณัติ นั่นรวมไปถึงน้ำใจจากเพื่อนร่วมวงการด้วยกัน อย่าง สแตน คูลลิส ผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่ของวูล์ฟแฮมป์ตัน คู่แข่งรายสำคัญเอ่ยปากว่า ถ้าอยากจะให้ช่วยอะไรก็ขอให้บอก หรือจะเป็นคู่อริรายสำคัญอย่างลิเวอร์พูลที่ขอพักรบชั่วคราวเพื่อยื่นข้อเสนอจะส่งนักเตะห้ารายมาให้ยืมหากยูไนเต็ดต้องการ เช่นเดียวกับน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ที่จะให้ยืมนักเตะเช่นเดียวกัน แต่เมอร์ฟี่ก็ขอรับไว้แค่น้ำใจเท่านั้น  

ด้วยการขาดกำลังหลักไปพร้อมกันทีเดียว ผลงานในลีกจึงย่ำแย่อย่างช่วยไม่ได้ หลังจากหายนะที่มิวนิค ทีมเก็บชัยชนะได้อีกเพียงครั้งเดียวในฤดูกาลที่เหลือเหนือซันเดอร์แลนด์ในเดือนเมษายน อันดับร่วงไปจบที่ 9 ส่วนในเอฟเอ คัพ ผลงานดีกว่า เกมที่พบกับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ นัดแรกหลังจากโศกนาฏกรรม ลงเอยด้วยชัยชนะ 3-0 ถ้วยใบนี้พวกเขาทำผลงานได้ดีจนได้เข้าชิงชนะเลิศกับโบลตัน


เกมนัดแรกหลังหายนะที่มิวนิค บิล โฟ้คส์ กัปตันทีมคนใหม่นำลูกทีมลงเตะกับเชฟฯเว้นส์


แต่น่าเสียดายที่ความฝันจะนำแชมป์มามอบให้กับดวงวิญญาณผู้จากไปต้องลงเอยกับความล้มเหลวหลังจากแพ้โบลตันไป 0-2 ในนัดชิงชนะเลิศ
ส่วนในเวทียุโรป รอบรองชนะเลิศมันก็แน่อยู่แล้วว่าพวกเขาจะสู้เอซี มิลาน ยักษ์ใหญ่จากอิตาลีไม่ได้ แม้จะทำได้ดีในนัดแรกที่โอลด์ แทรฟฟอร์ดกับชัยชนะ 2-1 แต่ก็ไปแพ้ที่ซาน ซิโร่ ขาดลอย 0-4

แต่สำหรับ ซานติอาโก้ เบอร์บาเบว ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ยังคงประทับใจผลงานของบัสบี้ เบ็บส์ไม่รู้ลืม เขาเสนอที่จะช่วยแมนฯยูไนเต็ดด้วยการให้ยืมนักเตะคนสำคัญของทีมอย่าง อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ เป็นเวลาหนึ่งปีโดยจ่ายค่าเหนื่อยแค่ครึ่งเดียวที่เหลือมาดริดจะจ่ายให้ แนวคิดนี้ถูกบล็อกโดยสมาคมฟุตบอลโดยให้เหตุผลว่าไม่อนุญาตให้นักเตะต่างชาติมาแย่งพื้นที่ของชาวสหราชอาณาจักรแถมยังเป็นนักเตะที่มาจากประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษซะด้วย

เบอร์นาเบวก็เลยหันไปช่วยทางอื่นแทน เขาเสนอให้นักเตะที่ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้สูญเสียไปพักฟื้นเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจยังสถานที่สุดหรู สิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมในกรุงมาดริดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจะจัดเกมนัดกระชับมิตรกับยูไนเต็ดขึ้นหลายนัดโดยรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับแมนฯยูไนเต็ด สุดท้ายคือการทำธงที่มีข้อความ “แชมป์แห่งเกียรติยศ” ออกจำหน่ายในสเปนเพื่อนำรายได้มอบให้กับสโมสรแมนฯยูไนเต็ดต่อไป

และทางยูฟ่ายังเห็นใจเตรียมจะมอบโควตาพิเศษให้กับแมนฯยูไนเต็ดเพื่อเข้าร่วมในศึกยูโรเปี้ยน คัพในฤดูกาลถัดไปเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษสวมบทผู้ร้ายใจโหดอีกครั้งด้วยการปฏิเสธโควตาดังกล่าวและให้วูล์ฟแฮมป์ตันแชมป์ลีกในปีนั้นเป็นทีมเดียวที่ได้ไป
The Painful Memories


มันมีสองทางเลือกสำหรับเรื่องราวแห่งหายนะ หนึ่งคือ ก้มหน้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือ สอง ลุกขึ้นสู้เพื่อให้โลกได้เห็นว่าพวกเขาจะผ่านความเศร้านี้ไปด้วยความเข้มแข็ง

สำหรับ ชายที่ชื่อ จิมมี่ เมอร์ฟี่ เขาเลือกที่จะทำอย่างหลัง

แต่จะทำอย่างไรในเมื่อห้องแต่งตัวที่เคยมีชีวิตชีวา วันนี้ไม่มีแม้แต่เงาของ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์, โรเจอร์ ไบรน์, มาร์ค โจนส์, เดวิด เพ็กก์, ทอมมี่ เทย์เลอร์ หรือ เอ็ดดี้ โคลแมน

มันจะเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่โลกรู้จักได้อย่างไรหากไม่มี “บัสบี้ เบ็บส์”

นั่นคือสิ่งที่อยู่ในหัวของบ็อบบี้ ชาร์ลตัน 1 ในผู้เล่นทีมชุดหลักที่รอดตายและยังปกติดีอยู่ เขาเอาแต่ตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงรอด ทำไมเขาถึงไม่ตาย และการเล่นให้ยูไนเต็ดจะมีความหมายอะไรในเมื่อมันไม่มีดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ และคนอื่นๆที่โตมาด้วยกัน

แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคือชีวิตสำหรับชาร์ลตันและเขาไม่มีวันที่จะทิ้งทีมไปไหนได้

จิมมี่ เมอร์ฟี่ และ แฮร์รี่ เกร็ก ก็คิดเช่นเดียวกัน สิ่งที่รอพวกเขาอยู่คือเอฟเอ คัพ รอบ 5 ที่จะพบกับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1958 เกือบสองสัปดาห์หลังจากหายนะที่มิวนิค โดยเมอร์ฟี่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเขาจะเป็นคนพาทีมมาแข่งให้ได้

และปัญหาสำหรับเขาคือ มีเพียง แฮร์รี่ เกร็ก ผู้รักษาประตู และ บิล โฟคส์ แบ็กขวาเพียงสองคนเท่านั้นที่พร้อมจะลงเล่น ส่วน บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ขอเวลาทำใจหลังจากได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนัก

เมอร์ฟี่วิ่งวุ่นตลอดสัปดาห์เขาพยายามติดต่อไปยังสโมสรต่างๆเพื่อหานักเตะมาให้ครบทั้ง 11 คน แต่ด้วยการเงินที่จำกัด เขาจึงได้เพียงสองนักเตะราย เออร์นี่ย์ เทย์เลอร์ จากแบล็คพูลและ สแตน ครอเธอร์ มาจากแอสตัน วิลล่า เท่านั้น และปฏิเสธน้ำใจจากลิเวอร์พูลและน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ที่ยื่นเสนอจะให้ยืมนักเตะ

นั่นเพราะมีความช่วยเหลืออันคาดไม่ถึงมายังเขา สโมสร บิชอป ออคแลนด์ ทีมเล็กๆที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของฟุตบอลลีกด้วยซ้ำ แถมอยู่ห่างจากแมนเชสเตอร์ตั้งไกล ก็อยู่เกือบถึงซันเดอร์แลนด์หรือนิวคาสเซิ่ลโน่นแล้ว โดยทางบิชอปยกทีมพานักเตะมาให้แมนฯยูไนเต็ดคัดเลือกยืมไปได้เลยไม่ต้องเกรงใจ

เป็นผม ผมซึ้งมากเลยนะเนี่ย อุตส่าห์ยอมทำถึงขนาดนี้ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นทีมใหญ่อะไร นับถือน้ำใจและความจริงใจของทีมนี้เป็นที่สุด ซึ่งหลังจากทดสอบฝีเท้าแล้วเมอร์ฟี่ ตัดสินใจจะยืมตัวนักเตะสามรายคือ ดีเร็ค เลวิน, บ็อบ ฮาดิสตี้ และ วอร์เรน แบร๊ดลี่ย์ เข้ามาเล่นให้ยูไนเต็ดในฤดูกาลนั้น

ที่เหลือคือการดันเด็กเยาวชนที่อยู่ในการดูแลของเขามารับหน้าที่อันหนักอึ้งในทีมชุดใหญ่ทันที

19 กุมภาพันธ์ 1958 เกมนัดแรกหลังจากการสูญเสียครั้งใหญ่ที่มิวนิคของแมนฯยูไนเต็ดมีขึ้นกับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์



แฮร์รี่ เกร็ก และ บิล โฟคส์ เป็นเพียงสมาชิกสองคนที่หลงเหลืออยู่จากทีมชุดเดิมที่สามารถลงเล่นให้ทีมในวันนี้ได้ ที่เหลือคือนักเตะที่ผ่านการเล่นให้กับทีมแค่ไม่กี่นัดและนักเตะใหม่ทั้งสองราย เทย์เลอร์ และ ครอเธอร์ ถูกส่งลงทันที

ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะพิสูจน์ ทั้งพิสูจน์ตัวเองให้คนรู้ว่าเขาดีพอที่จะเล่นให้กับยูไนเต็ดและพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่าพวกเขาเข้มแข็งมากเพียงใดหลังผ่านเรื่องราวอันน่าเศร้าที่สุด ผลการแข่งขันในวันนั้นคือ ชัยชนะ 3-0 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คงไม่มีการกลับมาครั้งไหนจะยิ่งใหญ่เท่ากับชัยชนะในวันนี้อีกแล้วในหน้าประวัติศาสตร์สโมสร

แม้ในลีกผลงานทีมจะไม่ดีนัก แต่สำหรับเอฟเอ คัพแล้วพวกเขาทำในสิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่า มันได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนสโมสรมาจนถึงทุกวันนี้ถึงสิ่งที่เมอร์ฟี่และทีมของเขาทำ

3 พฤษภาคม 1958 สี่นักเตะผู้รอดตายจากทีมชุดหลักทั้ง แฮร์รี่ เกร็ก, บิล โฟคส์, เดนนิส ไวโอเล็ต และ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน กำลังพบตัวเองอยู่ที่เวมบลีย์ในนัดชิงชนะเลิศของเอฟเอ คัพ ประจำฤดูกาล 1957-58


บัสบี้เข้ามาดูการแข่งขันในเวมบลีย์ด้วย


แต่สำหรับวันนี้บทของพวกเขาไม่ได้ถูกเขียนให้เป็นผู้ชนะ

เน็ต ลอฟเฮ้าส์ ตำนานของทีมโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ในฐานะนักเตะที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรยิงสองประตูในชัยชนะเหนือแมนฯยูไนเต็ด 2-0

โบลตันอาจจะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของแฟนยูไนเต็ด แต่ถึงจะเสียดายแต่พวกเขาก็ไม่เสียใจเลยที่ก้าวมาถึงตรงนี้ได้ ไม่มีใครแม้แต่อยากจะคิดว่าจะได้มาเวมบลีย์หลังจาการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อเกือบสามเดือนก่อน

มันคือเรื่องราวอันน่าเศร้าที่ไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำของบ็อบบี้ ชาร์ลตัน

เขารู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ หน้าที่ที่จะส่งผ่านต่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของความยอดเยี่ยมของทีมชุดนี้ให้กับคนรุ่นหลังได้รับรู้ ไม่เพียงแค่ แกรี่ เนวิลล์ หรือ ไรอัน กิ๊กส์ เด็กปั้นของสโมสรที่เติบโตมากับเรื่องราวพวกนี้อยู่แล้ว แต่รวมไปถึงบรรดานักเตะต่างชาติที่มาใหม่อย่าง ปาทริค เอฟร่า หรือ เนมันย่า วิดิซ เพื่อให้ซึมซับเรื่องราวพวกนี้ด้วย โดยชาร์ลตันเคยขออนุญาตเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพื่อทำการบรรยายให้กับนักเตะของทีมฟังเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ ก่อนจะแจกแผ่นดีวีดีของน้องเนส เอ๊ย ของเหล่า บัสบี้ เบ็บส์ ไปให้นักเตะได้ดูกันคนละชุด

“ผมไม่ชอบใจเป็นอย่างมากเวลาที่ผู้คนตั้งคำถามว่าทำไมจะต้องจัดงานรำลึกครบรอบให้มันใหญ่โตด้วย” เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน กล่าว “ที่ต้องจัดอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรตินั่นก็เพราะเราเป็นทีมที่ดีที่สุดในประเทศ แต่บางครั้งผู้คนทำหน้าไม่เชื่อเวลาที่ผมบอกว่า ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์, ทอมมี่ เทย์เลอร์, เดวิด เพ็กก์, เอ็ดดี้ โคลแมน หรือ เลียม วีแลน ยอดเยี่ยมแค่ไหน นั่นคุณก็แค่มองดูภาพขาว-ดำเก่าๆ แล้วก็นั่งมโนเอาว่ามันจะช้าและดูน่าเบื่อ ผมก็ถึงได้มานั่งบอกคุณอยู่นี่ไง แล้วผมก็จะเกลียดมากเวลาที่ผู้คนลืมเรื่องราวเหล่านี้”

ขอบคุณมากครับปู่ที่พูดความในใจของผมซะเกลี้ยงเลย

เรื่องราวของเหล่าบัสบี้ เบ็บส์มันได้ส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่เคยสิ้นสุด

ปี 2014 ก่อนการแข่งขันรอบควอเตอร์ไฟนั่ลของยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีกที่แมนฯยูไนเต็ดจะบุกไปเยือนบาเยิร์น มิวนิค ทั้งทีมได้เข้าไปเยี่ยมคารวะยังสถานที่ที่อดีตนักเตะของทีมพบกับจุดจบอย่างน่าเศร้า ซึ่ง ปาทริค เอฟร่า รองกัปตันทีม บอกว่า “มันช่วยบิ้วต์อารมณ์ก่อนเกมได้ดีมากเลย เรามีความทรงจำกับสถานที่แห่งนี้ มันช่างน่าตื่นเต้นที่ได้มาเยือน ผมได้เฝ้าบอกกับนักเตะหนุ่มๆของทีมอย่าง อัดนาน ยานูไซจ์ ว่า คนเหล่านี้ก็เหมือนกับพวกเราที่อยู่บนเครื่องบินเพื่อที่จะมาแข่งฟุตบอล แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่ได้เจอหน้าครอบครัวของพวกเขาอีก และนั่นคือสาเหตุที่ผมระเบิดอารมณ์ในตอนตีเสมอบาเยิร์นได้ เพราะผมคิดอยู่เสมอว่าจะทำอะไรซักอย่างเพื่อเหล่า บัสบี้ เบ็บส์ ได้อย่างไร”


นักเตะยูไนเต็ดเข้าคารวะ จุดที่เครื่องบินตกก่อนหน้าเกมกับบาเยิร์น มิวนิคในปี 2014


และนั่นคือสิ่งที่ทีมให้เกียรติเซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ให้เป็นผู้รับถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก 2008 ซึ่งทีมได้แชมป์เป็นสมัยที่ 3 เพื่อมอบให้กับผู้สูญเสียทั้ง 23 ราย



มันคือสิ่งที่พวกเขาน่าจะได้รับมัน โดยไม่ต้องรอในอีก 10 ปีให้หลังในปี 1968 ที่ทีมคว้าแชมป์ยุโรปเป็นครั้งแรก


แชมป์ยุโรปครั้งแรกของสโมสรในปี 1968


พวกเขาไม่เป็นเพียงความภาคภูมิใจของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเท่านั้น แต่คือหน้าตาและเกียรติยศของประเทศในการส่งมอบมิตรภาพและความยอดเยี่ยมของฟุตบอลอังกฤษให้ชาวยุโรปได้รู้จัก

เวลาของนาฬิกาเรือนเก่าๆข้างสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด อาจจะหมุนเดินต่อไป แต่สำหรับ 15.03 ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 นาฬิกาเรือนนี้ก็เหมือนจะหยุดนิ่งเช่นเดียวกับลมหายใจของทั้ง 23 ชีวิต

แต่จิตวิญญาณของพวกเขาไม่ได้หายไปไหน พวกเขาจะยังมีชีวิตอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป

ตลอดกาล

ขอให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตไปสู่ความสงบสุขครั้งสุดท้าย




REST IN PEACE BUSBY BABES


The Great Team Died But We’ll Never Die.


 
 
ผู้เสียชีวิต
 
ลูกเรือ
  • เคน เรย์เมนต์, ผู้ช่วยนักบิน (เสียชีวิตที่โรงพยาบาลใน 3 สัปดาห์หลังจากนั้น)
  • ทอม เคเบิล, สจ๊วร์ตเครื่องบิน
ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
  • เจฟฟ์ เบนต์
  • โรเจอร์ ไบร์น
  • เอ็ดดี โคลแมน
  • ดันแคน เอ็ดเวิร์ด (เสียชีวิตที่โรงพยาบาลใน 15 วันหลังจากนั้น)
  • มาร์ก โจนส์
  • เดวิด เพ็กก์
  • ทอมมี เทย์เลอร์
  • เลียม วีแลน
โค้ชของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
  • วอลเตอร์ คริกเมอร์, เลขานุการสโมสร
  • ทอม เคอร์รี, โค้ช
  • เบิร์ต วัลลี่ย์, หัวหน้าโค้ช
นักข่าว
  • อัลฟ์ คล้าร์ก, แมนเชสเตอร์อิฟนิงโครนิเคิล
  • ดอน เดวีส์, แมนเชสเตอร์การ์เดียน
  • จอร์จ ฟอลโลว์, เดลีเฮรัลล์
  • ทอม แจ็คสัน, แมนเชสเตอร์อิฟนิงนิวส์
  • อาร์ชี เล็ดบรูค, เดลีมิร์เรอร์
  • เฮนรี่ โรส, เดลีเอ็กซ์เพรสส์
  • แฟรงค์ สวิฟท์, นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ (ก่อนหน้านั้นเป็นผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษ และแมนเชสเตอร์ซิตี, เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล)
  • อีริค ธอมป์สัน, เดลีเมล์
ผู้โดยสารคนอื่น
  • เบลา มิคลาส, เอเยนต์บริษัททัวร์
  • วิลลี ซาตินอฟท์, แฟนบอลและเพื่อนของ แมตต์ บัสบี

ผู้รอดชีวิต

ลูกเรือ

  • มากาเร็ต เบลลิส, แอร์โฮสเตจ (เสียชีวิตในปี 1998)
  • โรสแมรี เชเวอร์ตัน, แอร์โฮสเตจ
  • จอร์จ รอดเจอร์ส, เจ้าหน้าที่สื่อสาร (เสียชีวิตในปี 1997)
  • เจมส์ เธนส์, กัปตันเครื่องบิน (เสียชีวิตในปี 1975)

ผู้โดยสาร[แก้]

ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
  • จอห์นนี เบอร์รี (เลิกเล่นฟุตบอลอย่างถาวร, เสียชีวิตในปี 1994)
  • แจ็คกี บลันช์ฟลาวเวอร์ (เลิกเล่นฟุตบอลอย่างถาวร, เสียชีวิตในปี 1998)
  • บ็อบบี ชาร์ลตัน
  • บิล โฟคส์ (เสียชีวิตในปี 2013)
  • แฮร์รี เกร็ก
  • เคนนี มอร์แกนส์
  • อัลเบิร์ต สแกนลัน (เสียชีวิตในปี 2009)
  • เดนนิส ไวโอเล็ต (เสียชีวิตในปี 1999)
  • เรย์ วูด (เสียชีวิตในปี 2002)
โค้ชของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
  • แมตต์ บัสบี, ผู้จัดการทีม (เสียชีวิตในปี 1994)
นักข่าวและช่างภาพ
  • เท็ด เอลยาร์ด, เดลีเมล์ ช่างภาพ (เสียชีวิตในปี 1964)
  • ปีเตอร์ ฮาเวิร์ด, เดลีเมล์ ช่างภาพ (เสียชีวิตในปี 1996)
  • แฟรงค์ เทย์เลอร์, นิวส์โครนิเคิล นักข่าว (เสียชีวิตในปี 2002)
ผู้โดยสารคนอื่น
  • เวรา ลูคิช และลูกสาว เวโรนา, ผู้โดยสารที่ แฮร์รี เกร็กก์ ช่วยเหลือ
  • นางมิคลอส, ภรรยาของ เบลา มิคลอส
  • เอ็น โทมาเซวิช, ผู้โดยสาร

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
มารคัส's profile


โพสท์โดย: มารคัส
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
20 VOTES (4/5 จาก 5 คน)
VOTED: Hellraiser, Optimus Prime, zerotype, แมวฮั่ว แมวขี้งอน
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เผยสาเหตุ โนโรไวรัส แอลกฮอล์ยับยั้งไม่อยู่แล้วนะเพจดัง โพสต์ เตือน ใครปล่อยเช่าบ้านให้นระวังกิจกรรมช่วงรถติดไฟแดง สับฟืนรอไปเลยจ้า เพราะคนไทยแปลว่า…อิสระ 🤣นกแคทโซแวรี่ใต้: สิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงระหว่างไดโนเสาร์และธรรมชาติในปัจจุบัน"ทุ่มสุดตัว! นักแสดงสาวติดกล้อง 20 ตัว ส่องชีวิตลูกแฝด แม้ในห้องน้ำก็ไม่เว้นเยอรมันส่งอาวุธให้ยูเครนใช้ เพิ่มขึ้นเท่าตัวน้องปายไม่ทน! ลุงขอยืมเงิน พ้อทำไมตอนหนูลำบากไม่เคยช่วยสุดช็อก"หนุ่มแต่งงานได้ 12 วัน เมียไม่ยอมมีอะไรด้วย สะกดรอยตามจนรู้ความจริง เข่าทรุดทันทีด่วน❗ เกิดเหตุกราดยิง ตๅย 2 ศw บาดเจ็บ 2 ราย ยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ เมื่อเหมียวหนีเที่ยวแต่ดันเจอหมาเจ้าถิ่น วิ่งขึ้นไปหลบบนต้นกล้วยก่อน โถว!! ยังไม่ทันได้เที่ยวเลย 😆สาวญี่ปุ่น วัย 38 ปี เคยป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะ 3 หนัก อีก 24 ปี ต่อมาสุขภาพแข็งแรง กินแค่ 3 อย่างนี้สาวฝรั่งวัย 60 ช้ำใจ! โดนมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นหนุ่มฝรั่งสุดหล่อหลอกให้รัก เสียเงินไปแล้ว 8 แสนกว่าบาท!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ตลาดนัดมือสองรอบกรุงเทพฯ : โลกใบใหม่แห่งการซื้อสินค้าที่รอคุณไปค้นหาหินแปลกๆจากชายหาด กลายเป็นขวานมือของมนุษย์ยุคหิน อายุกว่า40,000ปีเสนาหอย เตือนอย่าลืมจมูกคนอื่นหายใจ ใช้หนี้หลักหร้อยล้าน แสนทรมาน
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
วิตามินบำรุงข้อเข่า ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมได้จริงหรือ? คำตอบที่คุณควรรู้ตลาดนัดมือสองรอบกรุงเทพฯ : โลกใบใหม่แห่งการซื้อสินค้าที่รอคุณไปค้นหาทำไมน้ำแข็งชุบแกลบถึงละลายช้ากว่าปกติ?บ้านเดียวในโลกกำลังจะโดนปิด! ที่พัก Airbnb ชื่อดังที่มีฉลามทะลุจากหลังคาออกมาประณามการตัดสินใจของสภาเมือง
ตั้งกระทู้ใหม่