เหตุที่พระคุณเจ้ามีการสวดพระปาติโมกข์ทุก ๆ ๑๕ วัน คือ
ที่มาของการสวดพระปาติโมกข์
การสวดปาฏิโมกข์ เป็นการทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุ โดยจะมีการสวดทุก ๑๕ วัน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ในเดือนเต็ม หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้ทำอุโบสถเป็นพิเศษในคราวที่ภิกษุแตกความสามัคคี เมื่อภิกษุกลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง แม้จะยังไม่ถึงวันปาฏิโมกข์ ก็ให้สวดปาฏิโมกข์ได้ เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ การฟังปาฏิโมกข์เป็นกิจของสงฆ์ที่สำคัญ และเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น
ซึ่งในการเสด็จจำพรรษาที่พระเวฬุวันมหาวิหาร แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสารในครั้งพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่าสำนักอื่น ๆ มีการลงสวดอุโบสถกรรมกัน ขอให้พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้ลงสวด เพื่อความเลื่อมใสศรัทธาแห่งพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่ามีประโยชน์จึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถกรรมสวดพระปาฏิโมกข์ หรือ ศีล ๒๒๗ ข้อ ในวันอุโบสถ วันพระจันทร์เพ็ญ และวันพระจันทร์ดับ คือวันพระข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ และข้างแรม ๑๕ ค่ำ พระพุทธเจ้าได้ประทับเป็นประธานหมู่พระสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ขึ้นด้วยพระองค์เองทุก ๑๕ วัน แปลว่า ทรงทำอุโบสถร่วมด้วยภิกษุสงฆ์แล้วก็เรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ คือ เป็นอุโบสถที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็บริสุทธิ์
จนถึงมีเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมามีเล่าไว้ในบาลีวินัย (วิ.จุลฺล. ๗/๒๘๓/๔๔๗-๘; ขุ.อุ. ๒๕/๑๕๐/๑๑๖.)ว่า พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลงมา จึงถึงเวลา ๑ ยาม พระอานนท์ก็ไปกราบทูลเตือนว่า ยามหนึ่งแล้วพระมานั่งรออยู่นานแล้วขอให้พระองค์ท่านเสด็จลงทรงสวดพระปาติโมกข์เถิด พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๒ พระอานนท์ก็ไปกราบทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๓ พระอานนท์ก็ไปกราบทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง แต่ว่าในยามที่ ๓ นี้ได้มีพระพุทธดำรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ คือว่ามีพระทุศีลมาปนอยู่ด้วย พระโมคคัลลานะจึงได้เที่ยวตรวจดู เมื่อไปพบภิกษุที่ทุศีลก็บอกให้ออกไปจากที่ประชุม ผู้นั้นก็ไม่ยอมออกไป ต้องฉุดแขนออกไป แต่ก็สว่างเสียแล้ว พ้นเวลาที่จะทำอุโบสถ ก็เป็นอันว่าในอุโบสถนั้นไม่ได้ทำ พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเรื่องนี้ (วิ.จุลฺล.๗/๒๙๒/๔๖๖) ตรัสให้พระสงฆ์ยกเอาพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นไว้มาสวดเป็นปาติโมกข์แทน และให้พระสงฆ์สวดกันเอง พระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาทำอุโบสถร่วมด้วยอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น จึงมีการยกเอาวินัยขึ้นสวดเป็นปาติโมกข์ทุก ๆ ๑๕ วัน สืบต่อมาจนบัดนี้ ปาติโมกข์ที่ยกเอาพระวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์ ซึ่งก็คือ คัมภีร์รวมวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ซึ่งต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์หรือการลงอุโบสถทุกกึ่งเดือนในวันพระ
แหล่งที่มา: http://www.watphrakaew-chiangrai.com/webboard2.php?id=58
ภาพจากเพจ วัดพิชโสภาราม
https://www.facebook.com/WatPhichSophaRam/photos/pcb.950916661695167/950901635030003/?type=3&theater