"ติดดีแก้ยากกว่าติดชั่ว" เหตุใดหลวงปู่มั่นจึงกล่าวเช่นนั้น? เรามาดูคำตอบกัน
ติดดี แก้ยากกว่าติดชั่ว
ครั้งหนึ่ง หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เคยให้โอวาทที่ลึกซึ้งแก่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ว่า "ติดดี แก้ยากกว่าติดชั่ว" หรือเรียกว่ามานะทิษฐิ
คำพูดนี้ อาจดูจะฝืนความรู้สึกของหลาย ๆ คน
แต่หากมีประสบการณ์มากเข้า ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงคนเข้าวัดฝึกหัดอบรมตน เราก็จะได้เห็นตัวอย่างที่ช่วยยืนยันคำพูดของหลวงปู่มั่น ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
โอวาทของหลวงปู่มั่นข้างต้น จึงมีค่าอย่างเหลือล้น เพื่อใช้เป็นสิ่งเตือนจิตเตือนใจตัวเองไม่ให้หลงติดความดีที่ตัวเองบำเพ็ญ ไม่หลงว่าตัวเราดีแล้ว เก่งแล้ว บรรดาหมู่คณะ ไม่มีใครเคร่งเท่าเรา ไม่มีใครก้าวหน้าในการปฏิบัติเท่าเรา ฯลฯ
พอความ "หลงดี" หรือ "ติดดี" เกิดมากขึ้น ก็จะพาให้ลืมเป้าหมายการปฏิบัติว่าแท้จริงแล้ว เราทำไปก็เพื่อให้หมด "ตัวเรา" แล้วยังจะมี "เรา" ที่เก่งกว่า ดีกว่า อีกหรือ แล้วเจ้าตัวติดดีนี้ก็จะทำให้เราเป็นชาล้นถ้วย ใคร ๆ เตือนก็ไม่ฟัง
สำคัญว่าฉันเข้าวัดมาก่อน ฉันใกล้ชิดครูบาอาจารย์มากกว่า ฉันนั่งสมาธิเดินจงกรมมากกว่า ฉันรู้ข้อธรรมะมากกว่า ฯลฯ
เป็นเรื่องจริงว่าในระยะต้นของการปฏิบัติ เราอาจจะปวารณาตัวขอให้หมู่คณะแนะนำตักเตือนได้ แต่พอถึงเวลาที่กิเลสขึ้นขี่หัวแล้ว มันทำไม่ได้หรอก ใจมันไม่เปิดรับแล้ว... โอ๊ย แกเป็นใคร เพิ่งจะเข้าวัด จะมีปัญญาอะไรมาเตือนฉัน สอนฉัน ฉันรู้มากกว่าแกตั้งเยอะ ฉันเข้าวัดมากี่ปี แล้วแกเพิ่งจะข้าวัดมากี่ปีเอง ฉันอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์มาตั้งนาน ฉันนี่ศิษย์ก้นกุฎิตัวจริงเลยนะ ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นคนติดดีก็คือ ให้ยึดหลักที่พระพุทธองค์และหลวงปู่ที่ว่า "จงคอยเตือนตนด้วยตนเอง" อยู่เสมอ ๆ ว่าเราปฏิบัติเพื่อละโลภ โกรธ หลง การจะให้ใคร ๆ มายกย่องว่าเราเก่งเราดี อย่าให้มีในจิตใจ หากมันผุดขึ้นมา ก็ให้ละมันเสียด้วยการรู้เท่าทัน การมีการเป็น ไม่ใช่เป้าหมาย มุ่งละกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวมานะที่ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น จับผิดคนอื่น ออกจากจิตใจ บอกตัวเองว่าฉันจะ ปฏิบัติอย่างคนโง่ ไม่สำคัญตนว่าดีแล้ว รู้แล้ว ตามที่หลวงปู่แนะนำ
เช่นนี้แล้ว จึงจะพอมีทางให้ปฏิบัติไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผ่านพ้นภาวะติดดี เพราะ ถ้าติดดีขึ้นมาแล้ว มันแก้ยากกว่าติดชั่วเสียอีก
ธรรม..คำสอน..หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต