ผาเสด็จ อาถรรพ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ผาเสด็จ ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดกล้าให้กรมรถไฟดำเนินการก่อสร้างรถไฟต่อจากอยุธยาไปจนถึงนครราชสีมาโดยเส้นทางก่อสร้างไปนครราชสีมานี้จะต้องผ่านจังหวัดสระบุรีด้วย และในบริเวณอำเภอแก่งคอยนี้เส้นทางรถไฟเริ่มจะตัดเข้าสู่พื้นที่ภูเขาทำให้การก่อสร้างเกิดความยากลำบากและความล่าช้าอันเนื่องจากมีภูเขาขวางกั้นและขึ้นทางลาดชัน
วันที่ 22 ธันวาคม ร.ศ.115 ตรงกับปี พ.ศ. 2439 เวลาประมาณบ่าย 3 โมง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จากที่พลับพลาที่ประทับแรมโดยทางรถไฟไปยังจุดสิ้นสุดของทางรถไฟในเวลานั้นที่ตำบลหินลับ และเมื่อถึงจุดนั้นเป็นเวลาบ่าย 5 โมงเย็นแล้ว แต่ทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากรถไฟและดำเนินต่อไปยังตามทางที่ยังไม่ได้สร้างเสร็จ ข้ามห้วยอีกสองแห่งจนไปถึงที่มีศิลาใหญ่ทรงจารึกอักษรย่อพระนาม จ.ป.ร และ ส.ผ. ซึ่งหมายถึงพระนามสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ลงเลข 115 อันเป็นปีที่เสด็จ และพระราชทานนามศิลานี้ว่า “ผาเสด็จพัก” พอใกล้ค่ำก็เสด็จกลับและเสด็จถึงพลับพลาที่ประทับแรมเวลาประมาณทุ่มเศษ ในเวลาต่อมาผู้คนก็พากันเรียกสถานที่นี้ว่า “ผาเสด็จ”
ในการก่อสร้างทางรถไฟสายอีสานในสมัยนั้น ระยะทางบริเวณจากแก่งคอยเข้าสู่มวกเหล็กพื้นที่ก่อสร้างจะมีสภาพเป็นภูเขา ในบริเวณที่แห่งนี้มีชะง่อนหินใหญ่ขวางทางอยู่ซึ่งจะตัดทางอ้อมเสียก็พอทำได้ แต่เส้นทางจะคดคี้ยวแลดูไม่สวยงาม จึงจำเป็นจะต้องระเบิดหินก้อนนี้ วิศวกรชาวฝรั่งเศสพยายามจะระเบิดหินก้อนนี้อยู่หลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ สร้างความหนักอกหนักใจแก่นายช่างเป็นอย่างมากจึงได้ปรึกษาหารือกัน ขณะนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้แนะนำไปทางไสยศาสตร์ “ว่าสถานที่นี้คงจะมีเจ้าป่าหรือเจ้าที่เจ้าทาง ควรทำเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงต่อเทพยาดาอารักษ์เจ้าป่าเจ้าเขาบอกกล่าวขออนุญาติ” แต่นายช่างสมัยนั้นซึ่งเป็นคนหัวสมัยใหม่ไม่เชื่อเรื่องราวอะไรเยี่ยงนี้ แต่ก็ไม่สามารถระเบิดหินผานี้ได้สำเร็จ และชาวบ้านถิ่นนั้นก็บอกว่าสถานที่นี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์จริง และเคยแสดงอิทธิฤทธิ์ปรากฎต่อชาวบ้านและพรานป่ามาแล้วหลายครั้ง ถ้ามีใครมาตัดไม้บริเวณนั้นหรือมาปัสสาวะใส่บริเวณโคนไม้ใหญ่ก็จะมีอันเป็นไป ล้มป่วย เจ็บไข้ บางรายถึงกับเป็นลมล้มชักน้ำลายฟูมปากก็มี ต้องทำกระทงมาเซ่นไหว้ แต่ถ้าใครไม่เชื่อก็จะล้มเจ็บถึงตายไปก็มี
เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟไม่มีความก้าวหน้าเสียที และมาหยุดชะงักที่ตรงนี้ไม่สามารถระเบิดหินก้อนนี้ได้ ความทราบถึงพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) พระองค์จึงโปรดเกล้าให้นำตราแผ่นดินไปประทับที่ตรงโคนต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้นเพื่อเป็นการเอาเคล็ดและเป็นขวัญกำลังใจต่อคนทำทางรถไฟ และมีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นว่า เมื่อตราแผ่นดินประทับลงที่ตรงต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้นั้นเกิดการแห้งเฉายืนต้นตาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรับสั่งให้นายช่างระเบิดหินทำทางต่อไป แต่คนงานและชาวบ้านก็ยังมีความกลัวอยู่ไม่กล้าเข้าไประเบิด อันเนื่องมาจากสาเหตุมีนายช่างและคนงานบางคนเป็นไข้ป่าจนกระทั่งเสียชีวิต (ในสมัยนั้นไข้ป่าชุกชุมมาก) พระองค์จึงโปรดให้ตั้งศาลเพียงตาขึ้นในบริเวณใกล้ผาหินใหญ่ก้อนนั้น การระเบิดหินตัดทางบริเวณนั้นจึงดำเนินต่อไปจนสำเร็จไร้อุปสรรคใดๆ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จมาที่ผาแห่งนี้ จารึกพระนามาภิไธยย่อไว้ และตั้งชื่อว่า “ผาเสด็จพัก”