สะดือจุ่น ทำให้ผู้ชายขาดความมั่นใจในการถอดเสื้อ
สะดือจะพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตในมดลูกของแม่และได้รับสารอาหารจากแม่ทางสายรก หลังคลอดเมื่อสายรกแห้งหลุดออกไปจะเหลือแต่สะดือให้เห็นกัน ในคนเรานั้นเมื่อหลังคลอดแพทย์จะจัดการผูกและตัดสายรกหรือสายสะดือให้กับทารกแรกเกิด
หัวข้อบทความนี้คือ ทำไมต้องสะดือจุ่น แล้วทำไมล่ะ ท่านเคยสงสัยหรือไม่คะ เหตุใดคนเราถึงมีสะดือหลายรูปแบบ มีทั้งสะดือโบ๋ และสะดือจุ่น เกิดจากกรรมพันธุ์ที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษ
เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ หรือเกิดจากธรรมชาติของตัวเด็กเอง เคยมีคนกล่าวไว้ว่าการผูกสายสะดือถ้าไม่พิถีพิถันอาจทำให้สะดือจุ่นได้ สมัยก่อนไม่มีแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลการคลอด มีแต่หมอตำแยทำให้คนโบราณมีสะดือจุ่นกันมากกว่าในปัจจุบัน บางคนก็บอกว่าสะดือจุ่นเกิดจากคุณหมอตัดสายสะดือยาว สะดือโบ๋เกิดจากคุณหมอตัดสายสะดือสั้น โดยทั่ว ๆไป แล้ว คนเราจะไม่มีสะดือยื่นออกมา หรือมีสะดือจุ่น แต่จะมีลักษณะบุ๋มเข้าไปข้างใน เป็นสะดือโบ๋เหมือนสะดือของคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายค่ะ ทั้งนี้เพราะมีกล้ามเนื้อหน้าท้องขนานทั้งสองข้างของสะดือ ในบางกรณีกล้ามเนื้อหน้าท้องดังกล่าวไม่แข็งแรงสะดือก็จะยื่นออกมาที่เราเรียกกันว่า สะดือจุ่น นั่นเอง
ไม่น่าเชื่อว่าสะดือ จุดเล็ก ๆ ในร่างกายมนุษย์จะเป็นปัญหาให้กับเจ้าของสะดือ นั่นคือทำให้ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชาย ในบางรายไม่กล้าที่จะถอดเสื้อเพราะอายสะดือจุ่นของตน
ส่วนในผู้หญิงปัจจุบันนิยมแต่งตัว ใส่เสื้อผ้าโชว์สะดือกันมากขึ้น การผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขสะดือผิดปกติหรือสะดือจุ่น จึงได้รับความนิยม การผ่าตัดสะดือเป็นการซ่อมแซมช่องรอยแยกของผนังหน้าท้อง เพื่อให้สะดือปิดเหมือนปกติ
การแก้ไขสะดือจุ่นทำได้โดยการจัดแต่งบริเวณผิวหนังส่วนที่ยื่นเกินออกมา และจัดรูปร่างของสะดือใหม่ให้ได้รูปทรงสวยงามตามต้องการ ขั้นตอนการผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยากใช้เวลาน้อย และไม่ต้องใช้ยาสลบ เริ่มจากการฉีดยาชารอบสะดือที่จะทำการผ่าตัด ทำการผ่าตัด และเย็บปิดแผล ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดสะดือสามารถกลับบ้านได้และพักฟื้นอีกสองวัน จึงกลับไปทำงานได้ตามปกติ ที่กล่าวมานั้นคือสะดือจุ่นแบบถาวร ซึ่งก็คือต้องผ่าตัดเท่านั้นลักษณะสะดือจุ่นจึงจะหายไป แต่ยังมีสะดือจุ่นแบบชั่วคราวอีก นั่นคือเกิดชั่วขณะแล้วก็จะหายไป ตัวอย่างเช่นสะดือจุ่นที่พบในหญิงที่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากแล้ว ซึ่งเมื่อคลอดทารกแล้วอาการก็จะหายไป และสะดือจุ่นในเด็กทารกที่ร้องไห้เก่งมาก ทารกที่ชอบบิดตัวแรง ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น อาการแบบนี้จะหายไปเองเมื่อเด็กอายุได้ ๑ ปี
วันนี้ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้ฟังจะได้รับความรู้เกี่ยวกับสะดือจุ่นบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ จะเห็นได้ว่าสะดือจุ่นไม่ใช่เป็นโรคที่ร้ายแรง เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่อาจสร้างความไม่มั่นใจให้กับเจ้าของสะดือ ซึ่งก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้หากต้องการ แล้วท่านผู้ฟังล่ะคะ มีสะดือแบบไหน ?
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=5224
ภาพจาก เฟสบุ้ค / กูเกิ้ล