เกย์มาจากพันธุกรรม ??
เกย์ หมายถึง ชายที่รักเพศเดียวกัน จัดอยู่ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือ Homosexuality
Homosexuality มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า Homos แปลว่าเหมือนกัน ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ เพศสภาพที่เหมือนกัน 2 เพศรักกัน โดยมีความต้องการทางร่างกาย (Sexual Drive) จิตใจ และความรัก เหมือนกับคู่หญิงชายที่สังคมทั่วไปยอมรับ
นักจิตวิทยา เช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์ สรุปว่า รสนิยมและพฤติกรรมความเป็นเกย์เกิดจากการติดแม่มากไป หรือการสูญเสียพ่อตั้งแต่ยังเด็ก โดยลูกไม่มีคนเป็นแบบอย่างในการซึมซับพฤติกรรม ในขณะที่อีกหลายสำนักกล่าวถึงหลากหลายทฤษฎีและแนวความคิด บ้างก็ว่า ระบบสมอง การหล่อหลอมจากสังคม การเลี้ยงดู แต่ยังไม่มีทฤษฎีใดที่ยืนยันได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ปัจจุบัน ความเป็นเกย์จึงคาดว่าเป็นได้จากหลากหลายองค์ประกอบ
พฤติกรรม = พันธุกรรม + สิ่งแวดล้อม + การเลี้ยงดู + ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดทางจิตเวชศาสตร์ปัจจุบัน ถือว่าหากมีพฤติกรรมสนใจเพศเดียวกัน โดยที่อายุผู้ที่มีพฤติกรรมนั้นยังไม่ถึง 18 ปี จัดเป็นภาวะผิดปกติทางจิตที่ควรได้รับการแก้ไข (Gender Identity Disorder) แต่ถ้าอายุเกิน 18 ปี ไม่จัดว่าเป็นภาวะผิดปกติทางเพศ แต่จัดเป็นกลุ่มบุคคลปกติ (Normal Variation) ที่มีความแตกต่างทางรสนิยม (ทางเพศ)
ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่างานวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมและพฤติกรรมรักเพศเดียวกันถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ยังมีหลักฐานน่าเชื่อถือว่า มีปัจจัยทางพันธุกรรมบางอย่างเป็นตัวกำหนดรสนิยมทางเพศ แม้จะยังไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดก็ตาม
ในปี พ.ศ. 2536 ดีน แฮมเมอร์ (Dean Hammer) แห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) รายงานในวารสาร Science ว่า พันธุกรรมอาจมีส่วนกำหนดรสนิยมทางเพศของเกย์ โดยค้นพบตำแหน่งยีนบนโครโมโซม X ที่เรียกว่าXq28 ที่เหมือนกันในพี่น้องที่เป็นเกย์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนปกติ
ที่มาของตำแหน่ง Xq28 X หมายถึงตำแหน่งของยีนบนโครโมโซม X ส่วน q หมายถึงตำแหน่งบนแขนที่ยาวกว่าของโครโมโซม (หากเป็นแขนสั้นใช้ p) และ 28 เป็นระยะห่างจากจุดเชื่อมต่อของแขนสั้น และแขนยาวของโครโมโซม |
ตำแหน่ง Xq28 เป็นที่อยู่ของยีนได้เป็นร้อยๆยีน แฮมเมอร์เชื่อว่า หากรสนิยมรักร่วมเพศของเกย์เป็นสิ่งที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด จะช่วยให้สังคมยอมรับคนเหล่านี้มากขึ้น
ภายหลังการนำเสนอผลงานวิจัยของแฮมเมอร์ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในสังคมอเมริกัน ว่าจะนำความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างไร? ผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง? ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น และทำงานวิจัยดังกล่าวขึ้นมาทำไม? (อ้าว!)
ผลจากงานวิจัยทำให้เกิดความหวาดเกรงว่าการค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของการเป็นเกย์ จะนำไปสู่การคิดค้นวิธีตรวจสอบทารกในครรภ์ว่าเป็นเกย์หรือไม่ ทารกที่เป็นเกย์อาจถือว่าเป็นผู้มีความบกพร่องทางพันธุกรรม และเป็นข้ออ้างว่าสมควรถูกกำจัดไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้พ่อแม่มีทางเลือกว่าจะทำแท้งทารกเหล่านั้นได้
ปัญหาที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมมีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วในสังคมจีน ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมมีลูกชาย เมื่อวิธีตรวจสอบเพศทารกในครรภ์หรืออัลตร้าซาวนด์เข้าถึงสังคมจีน จึงนำไปสู่การทำแท้งทารกที่เป็นเพศหญิง จนรัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์ของจีนให้การทำอัลตร้าซาวนด์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในปี พ.ศ. 2540 แซนดรา วิเทลสัน (Sandra Witelson) แห่งมหาวิทยาลัยแม็คมาส - เตอร์ (McMaster University) ประเทศแคนาดา พยายามชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะระบบสมองเชื่อมโยงกับรสนิยมรักร่วมเพศ โดยงานวิจัยของวิเทลสัน พบว่าขนาดของ isthmus ของ corpus callosum ซึ่งเป็นทางผ่านที่เชื่อมระหว่างสมองซีกซ้ายและขวานั้นมีความแตกต่างกัน
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 ไบรอัน มัสตันสกี (Brian Mustanski) จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา รายงานในวารสาร Human Genetics ว่าจากการศึกษาชายที่เป็นเกย์ 456 คน จาก 146 ครอบครัวที่มีพี่น้องเป็นเกย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เทียบกับคนที่ไม่ได้เป็นเกย์ พบว่าโครโมโซมที่ 7, 8 และ 10 มียีนบนตำแหน่งที่ 7q36, 8p12 และ 10q26 ที่เชื่อมโยงกับความเป็นเกย์
งานวิจัยเกี่ยวกับเพศรสและพันธุกรรมจะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องรอดูผลการวิจัยต่อไป
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเกย์จะเป็นผลจาก ธรรมชาติ (Nature) หรือ การเลี้ยงดู (Nuture) หากเขาเป็นคนดีของสังคม ความเป็นเกย์ ความเป็นหญิง หรือชาย คงไม่สำคัญ