ตั้งสติรักษาทัน พิษงูเห่า ไม่ได้ตายเร็วเหมือนในละคร
ตัวละครในเรื่องกำไลมาศ 'พ่อแม่ของริ้วทอง"ถูกงูเห่ากัดแล้วตายในทันที
แต่ในชีวิตจริงถูกงูกัดจนกระทั่งหยุดหายใจอาจกินเวลาประมาณ 8-24 ชั่วโมงขึ้นกับปริมาณของพิษงูที่ได้รับ
งูเห่าพบมากในภาคกลาง บริเวณกรุงเทพ สมุทรปราการ อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี
มักอยู่ตามป่าและท้องนา ดังนั้นคนที่ถูกกัดบ่อยคือชาวนา ลักษณะที่สำคัญของมันคือเมื่อโกรธมันจะแผ่แม่เบี้ย ชูคอสูงและฉกกัดอย่างรวดเร็ว ยกเว้นเมื่อตกใจมันจะฉกกัดทันทีโดยไม่แผ่แม่เบี้ย ตำแหน่งที่ถูกกัดมักเป็นที่มือและเท้าพิษของงูเป็น Neurotoxin
พิษเฉพาะที่ [local poisoning]
มีอาการเสียวแปลบเกิดขึ้นทันทีตรงบริเวณที่ถูกงูเห่ากัด ต่อมาจะปวดเล็กน้อย อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้น มักจะมีรอยเขี้ยวพิษ 2 จุด มีเลือดออกซิบๆ ถ้ารอยเขี้ยวห่างกันมากแสดงว่างูที่กัดมีขนาดใหญ่
หลังจากนั้น 30 นาทีบริเวณรอยเขี้ยวจะบวมเล็กน้อย และบวมมากขึ้นช้าๆเฉพาะรอบๆแผลเท่านั้น
พิษโดยทั่วไป [Systemic poisoning ]
หลังจากงูกัด 30นาที-5 ชั่วโมงเริ่มเกิดอาการแรกคือ เวียนหัว แขนขาไม่มีแรง และง่วงนอนลืมตาไม่ขึ้น
ลืมตาไม่ขึ้นซึ่งตอนแรกอาจจะเกิดขึ้นทีละข้างก่อน ข้อนี้ถือเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย ถ้าเจอผู้ป่วยระยะนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ตามองไม่ชัด
ต่อมาอาการจะเพิ่มมากขึ้น แขนขาหมดแรง ตาหรี่มากขึ้น กระวนกระวาย ลิ้นแข็ง พูดอ้อแอ้น้ำลายมากเพราะกลืนลำบาก
เริ่มมีอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนอาหาร อ้าปากไม่ขึ้น
หายใจอึดอัด กระสับกระส่ายเพราะมีอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ
coma หยุดหายใจ และตาย
ตั้งแต่ถูกงูกัดจนกระทั่งหยุดหายใจอาจกินเวลาประมาณ 8-24 ชั่วโมงขึ้นกับปริมาณของพิษงูที่ได้รับ ถ้าได้รับพิษมากอาจเกิดอาการใน 1 ชั่วโมง หลังจากถูกงูกัด 1ชั่วโมงถ้ายังไม่เกิดอาการบวม และเมื่อถึง 2 ชั่วโมงก็ยังไม่มีอาการแต่อย่างใดย่อมแสดงว่าไม่มีพิษทั่วไป
ก่อนถึงมือแพทย์ เมื่อถูกงูพิษกัดการห้ามพิษไม่ให้แล่นเข้าสู่หัวใจ
1. ใช้เชือก ผ้า หรือสายยางรัดแขนหรือขา ระหว่างแผลงูกัดกับหัวใจ (เหนือรอยเขี้ยว 2-4 นิ้วฟุต) เพื่อป้องกันมิให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าร่างกายโดยเร็ว ให้รัดแน่นพอที่จะหยุดการไหลเวียนของเลือดดำ ควรคลายเชือกทุก ๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละ 30-60 วินาที จนกว่าจะถึงสถานพยาบาล
2. เคลื่อนไหวแขน หรือขาส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ควรจัดตำแหน่งของส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ระดับต่ำกว่าหัวใจ (เช่น ห้อยเท้า หรือมือส่วนที่ถูกงูกัดลงต่ำ) ระหว่างเดินทางไปสถานพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยเดิน ให้นั่งรถหรือแคร่หาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพิษงู
3. ควรดูให้รู้แน่ว่าเป็นงูอะไร แต่ถ้าไม่แน่ใจ ควรบอกให้คนอื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุช่วยตีงูให้ตาย และนำไปยังสถานพยาบาลด้วย (อย่าตีให้เละจนจำลักษณะไม่ได้)
4. อย่าให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาดองเหล้า หรือกินยากระตุ้นประสาท รวมทั้งชา กาแฟ
5. อย่าใช้ไฟ หรือเหล็กร้อนจี้ที่แผลงูกัด และอย่าใช้มีดกรีดแผลเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมาก
6. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ (จากงูที่มีพิษต่อประสาท) ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทาง จนกว่าจะถึงสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด
7. สำหรับบาดแผลให้ใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบาดแผล ถ้ารู้สึกปวดแผล ให้กินพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
การรักษา
การรักษาแผล ไม่จำเป็นต้องกรีดแผลหรือกว้านแผล ถ้าตุ่มใสขนาดเล็กไม่ต้องเจาะแต่ถ้าเป็นตุ่มขนาดใหญ่ให้เจาะดูดออกโดยใช้เข็มโดยวิธีปลอดเชื้อ ไม่ให้ถูกฐานของแผล ถ้าแผลสกปรกควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
การให้ยาปฏิชีวนะควรให้ทุกรายเนื่องจากมีเชื้อในปากงู ยาที่ควรให้ได้แก่ pen v 250 mg วันละ 4-8 เม็ด
การให้ serum แก้พิษงูควรให้ในรายที่มีอาการดังต่อไปนี้
พูดอ้อแอ้ พูดไม่ชัด ลิ้นคับปาก
กลืนไม่ค่อยลง
หายใจขัด
หายใจไม่ออก
หยุดหายใจ