ประเทศไทยเหมาะสมกับโทษประหารชีวิตจริงหรือ?
โทษประหารชีวิตยังควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่?
มันเหมาะสมกับประเทศไทยหรือเปล่า?
จากคดีสะเทือนขวัญคนทั้งประเทศที่วัยรุ่น 4 คนร่วมกันฆ่าข่มขืนเหยื่อ และดคีของน้องแก้มที่เพิ่งจะผ่านไปไม่ถึง 2 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง Facebook ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระจายข่าวอันทรงประสิทธิภาพก็ร้อนระอุขึ้นมาได้ทันที
ผู้คนต่างเข้ามารุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์อันสะเทือนใจนี้อย่างไม่ขาดสาย และส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือก็ “เอามันไปประหาร” “ฆ่าแ*งให้ตาย” “เ*นมนุษย์แบบนี้ต้องกระทืบให้ตายอย่างเดียว”
นั่นล่ะครับ.. ผู้คนนับแสนนับล้านสาปส่งฆาตรกรใจทรามผ่าน Facebook กันไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว
แต่คำถามก็คือ โทษประหารชีวิตนั้นควรจะมีอยู่จริงๆหรือ?
ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้นมา 2 คดี คุณอาจจะสวนมาทันควันว่า “ควรสิ”
แต่ถ้าผมถามด้วยคำถามเดียวกันนี้ในยามที่บ้านเมืองเราสงบ คุณอาจจะนั่งคิดสักพักและคำตอบมันก็อาจจะเป็น “ควร” หรือ “ไม่ควร” ก็ได้
การตัดสินใจบางครั้งมันก็มีความไม่แน่นอนแฝงอยู่ครับ และบางครั้งสภาพแวดล้อม ณ เวลานั้นๆก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้พิพากษา
ขณะกำลังประหารผู้บริสุทธิ์
จุดอ่อนอันร้ายแรงของโทษประหารชีวิตก็คือ ประหารผิดคน!?
ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลยนะครับ การที่ไปโยนโทษประหารให้กับผู้บริสุทธิ์น่ะ โดนใส่ร้าย สังคมลงโทษ และยังโดนประหาร ทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ศาลเพิ่งมาบอกว่าบริสุทธิ์หลังจากที่โดนประหารไป 3 ปีแล้ว มันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่าล่ะ เขาคงไม่ฟื้นขึ้นมาดีใจอยู่แล้ว
สิ่งนี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่ใช้การประหารชีวิตเป็นโทษสูงสุด ไม่เว้นแม้แต่ลูกพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา
สภาพแวดล้อม หลักฐาน อำนาจเงิน พยาน สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความไม่แน่นอนในการตัดสินใจของผู้พิพากษาด้วยกันทั้งนั้น
12 ANGRY MEN
ภาพชาย 12 คนที่คุณเห็นก่อนจะเข้ามาอ่านบทความนี้นั้นมากจากหนังเรื่อง 12 Angry Men ครับ
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเก่า (มาก) ตั้งแต่ปี 1957 ว่าด้วยเรื่องของคณะลูกขุนที่ต้องมาลงมติให้กับคดี “ลูกฆ่าพ่อ” ที่มีหลักฐานและพยานชัดเจนอยู่แล้ว
มองเผินๆคดีนี้ก็แทบจะไม่ต้องคิดอะไรมาก มีทั้งหลักฐานและพยานชี้ตัว นั่นหมายความว่าเด็กคนนี้เป็นคนร้ายแน่นอน
ลูกขุนทั้ง 11 คนเห็นว่าเด็กคนนี้ผิดจริงและโหวตให้โดนประหาร แต่การลงมติจะจบลงได้ต่อเมื่อทั้ง 12 คนลงความเห็นเหมือนกันทั้งหมดเท่านั้น เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงขาดอีกหนึ่งเสียงเท่านั้นก่อนการประชุมนี้จะจบลง
ลูกขุนเพียงคนเดียวที่โหวตให้เด็กไม่ผิดก็เริ่มโดนคนที่เหลือใช้คำพูดเหน็บแนม จิกกัด แต่แล้วเขาก็เริ่มวิเคราะห์พยานและหลักฐานโดยละเอียดอีกครั้ง ทุกครั้งที่เขาหยิบยกประเด็นที่ยังมีข้อกังขาขึ้นมาพูด ก็มีคนคล้อยตามเขาไปทีละคนสองคน จนในที่สุดลูกขุนทั้ง 11 คนที่เหลือก็ไม่สามารถยกเหตุผลมาล้มล้างเขาได้ จึงทำให้เด็กคนนั้นรอดจากการโดนประหารไปได้
เพชฌฆาต (THE LAST EXECUTIONER)
ขอยกตัวอย่างจากหนังไทยอีกเรื่องหนึ่งนั่นก็คือ เพชฌฆาต ครับ
เพชฌฆาต สร้างจากชีวิตจริงของมือประหารคนสุดท้ายของประเทศไทยที่ดับลมหายใจของนักโทษด้วยการยิงเป้านามว่า เชาวเรศน์ จารุบุณย์
ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดมาก แต่จะขอพูดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั่นก็คือในหนังจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ เชาวเรศน์ จะต้องยิงเป้านักโทษหญิงนามว่า นางกิ่งแก้ว ลอสูงเนิน
นางกิ่งแก้ว ลอสูงเนิน ต้องโทษจากคดีลักพาตัวและฆ่าเด็กชายวัย 6 ขวบ
คดีนี้ถูกปิดอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังปฏิรูปการปกครอง ดังนั้นเรื่องการสอบหลักฐานและพยานจึงไม่ต้องพูดถึงเลยครับ นั่นคือแทบจะไม่มีเวลามาพิสูจน์ความจริงกันเลย
และอีกคดีดังที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์นั่นก็คือ “คดีเชอรี่แอน” ที่ทุกคนคงจะพอรู้เรื่องราวกันมาอยู่แล้ว
จากตัวอย่างที่ผมยกมา พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ ว่าความไม่แน่นอนนี้มันก่อให้เกิดอะไรตามมาบ้าง และผลกระทบมันร้ายแรงขนาดไหน
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย อย่างน้อยก็บ่อยกว่าการที่มีลูกขุนมานั่งวิเคราะห์รายละเอียดหลักฐานจนเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่ายได้ และด้วยความไม่แน่นอนนี้ก็นำไปสู่การประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย
โทษประหารชีวิตช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมได้จริงหรือ?
เหตุผลที่กฎหมายให้มีโทษประหารชีวิตขึ้นมาอาจเป็นเพราะต้องการแสดงให้ประชาชนได้รู้ว่า “คุณจะไม่ถูกละเว้นถ้าหากคุณลงมือกระทำผิดขั้นร้ายแรง”
มีใครไม่รู้บ้างครับว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งไม่ดี?
ผมคิดว่าคงไม่มีหรอกครับ แค่ตบหัวเพื่อนแรงๆก็โกรธกันจะแย่แล้ว เพราะฉะนั้นการเชือดไก่ให้ลิงดูในลักษณะนี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะทุกคนต่างรู้ถึงผลลัพธ์กันอยู่แล้ว
ผลการศึกษาของสถาบัน Brennan Center for Justice พบว่าโทษประหารนั้นไม่ได้ช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมเลย (deathpenaltyinfo.org)
และมีคำกล่าวที่น่าสนใจคือ
การวิจัยในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการก่ออาชญากรรมนั้นเกิดจากอารมณ์อันรุนแรง ณ ขณะนั้น ซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้ก่อเหตุจะไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา หรือโทษที่จะได้รับเลย
นั่นหมายความว่าถ้าเราอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่รุนแรง เราอาจจะทำอะไรโดยไม่ยั้งคิดได้นั่นเองครับ
ยังมีผลการศึกษาอีกมากมายครับที่บ่งบอกว่ายังไม่มีหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าการประหารชีวิตนั้นไม่มีผลต่อการลดระดับอาชญากรรม (denverpost, huffingtonpost, abc)
ผมไม่ได้บอกว่าการเอาโทษประหารชีวิตออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าการเอาไว้นั้นดีกว่าเช่นกัน การประหารชีวิตนักโทษที่ทำผิดจริงคงเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว แต่ถ้าหากเป็นคดีที่ยังคลุมเครือล่ะ ถ้าหลักฐานแน่นหนาแต่ยังมีบางจุดที่น่าสงสัยล่ะ แล้วถ้าเกิดคนๆนั้นบริสุทธิ์จริงแต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ล่ะ
ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถให้ความชัดเจนตรงส่วนนี้ได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้กำลังสาปแช่งคนบริสุทธิ์กันอยู่
เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้บทลงโทษนี้จริงๆ ต้องมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมีประสิทธิภาพมากพอเท่านั้น.. แต่เราก็รู้กันอยู่ นี่มัน “ประมวลกฎหมายไทย” เลยนะครับ