หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

เรือนไทย ๔ ภาค

โพสท์โดย ขนมปังขิง

 

เรือนไทย เรือนของบรรพบุรุษไทยแต่ครั้งโบราณกาล
สถาปัตยกรรมที่เน้นความเรียบง่าย ใช้วัสดุที่หาได้จากรอบข้าง
ปลูกสร้างอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
และแฝงไว้ด้วยคุณค่าเชิงศิลปะอันเป็นเสน่ห์อย่างไทยๆ...  

เรือนไทย เรือนที่ปลูกสร้างด้วยรายละเอียดที่อ่อนช้อย ตอบสนองทั้งประโยชน์ใช้สอย
และสร้างความสุขใจแก่ผู้อยู่อาศัย  เรือนไทยจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงเอกลักษณ์ศิลปะ วัฒนธรรม
วิถีความเป็นอยู่ ที่ทุกชีวิตล้วนเริ่มต้นและเติบโต จากภายใต้ร่มเงาชายคา “เรือนไทย”  
ทุกครัวเรือนไทย เป็นหน่วยเล็กๆ ที่มีความสำคัญสูงยิ่งบนผืนแผ่นดินไทยอันกว้างใหญ่ไพศาล.

หัวข้อนี้ เป็นเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเรือง “เรือนไทย ๔ ภาค” และคตินิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านเรือนในสมัยโบราณทั้ง ๔ ภาค  





บ้านเรือน ความหมายที่หลากหลาย


คำที่มีความหมายว่าที่พักอาศัยหรือบ้านแบ่งเป็นระดับตามสถานะของผู้อยู่อาศัย อาทิที่อยู่ของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย คือ


   ปราสาท - เรือนชั้น เรือนมียอดเฉพาะเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
   มณเฑียร - เรือนหลวง
   พระบรมมหาราชวัง วัง พระบรมราชวัง - ที่อยู่ของพระมหาอุปราช 
   ตำหนัก - เรือนของเจ้านาย
   เรือนยอด – เรือนที่มียอดต่อจากหลังคาขึ้นไป (เรือนยอดทรงมณฑปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท)
   กุฎาคาร
   เรือนต้น

ยังมีคำที่เกี่ยวกับเรือนอีกมาก อาทิ


   เรือนแก้ว - สิ่งที่ทำเป็นกรอบล้อมตามรูปนอกของพระพุทธรูป
   เรือนจำ - ที่ขังนักโทษ
   เรือนเบี้ย - ทาสที่เป็นลูกทาสน้ำเงินเรียกทาสเรือนเบี้ย
   เรือนไฟ - กระจกตะเกียงหรือโคม ขนาดของไฟในตะเกียงหรือโคม ครัวสำหรับหุงต้มอาหาร โรงพิธีสำหรับบูชาไฟ
   เรือนหอ - เรือนปลูกสำหรับคู่บ่าวสาวแต่งงานอยู่

ส่วนเรือนสาม น้ำสี่ ราศีสาม คนโบราณหมายถึง


   เรือนสาม คือ เรือนผม เรือนที่อยู่ เรือนใกล้เคียง ทั้งสามนี้ต้องจัดการให้ดีอยู่เสมอ
   น้ำสี่ คือ น้ำมันตะเกียง น้ำล้างหน้า น้ำใช้สอย น้ำใจ ทั้งสี่นี้อย่าให้บกพร่อง  
   ราศีสาม คือ ตื่นนอนให้ล้างหน้า กลางวันให้อาบน้ำ สามอย่างนี้จะทำให้มีราศี คือ ความสง่างาม



ส่วนประกอบของเรือนไทย

เรือนเครื่องสับ  ๑. อกไก่  ๒. พรหมหน้าจั่ว  ๓. ลูกฟักหน้าจั่ว  ๔. ปั้นลม  ๕. เหงาปั้นลม  ๖. แปลาน  ๗. หลังคาปีกนก  ๘. ไขราหน้าจั่ว  ๙. ไขราระเบียง  ๑๐. ไขราเชิงชาย  ๑๑. ไขราปีกนก  ๑๒. หลังคาตัวเรือน  ๑๓. หลังคาระเบียง  ๑๔. เดี่ยวใบดั้ง  ๑๕. เดี่ยวเสาดั้ง  ๑๖. ขื่อ  ๑๗. เสาตัวเรือน  ๑๘. เสาระเบียง  ๑๙. -   ๒๐. รูรอด  ๒๑. คอสอง  ๒๒. หัวเทียน  ๒๓. ใบดั้ง  ๒๔. ไหล่ดั้ง  ๒๕. ปากง้ามเสา  ๒๖. รูเต้า  ๒๗. เต้า  ๒๘. ปากง้ามด้าม  ๒๙. รูหัวเทียน  ๓๐. รางขื่อหัวแป  ๓๑. หย่อง  ๓๒. พรึง  ๓๓. รอด  ๓๔. อกเลา  ๓๕. ล่องตีนช้าง  ๓๖. พื้นชาน  ๓๗. ตงชาน  ๓๘. รอดชาน  ๓๙. ล่องแมวเรือน  ๔๐. บานหน้าต่าง  ๔๑. ล่องแมวชาน  ๔๒. อัฒจันทร์

ลักษณะเรือนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

ความเป็นอยู่อย่างไทยใต้ชายคาเรือนไทย ได้รับการบันทึกจากชาวต่างชาติที่เริ่มเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นกระจกสะท้อนถึง วิถีไทย และ ลักษณะเรือนไทย อย่างชัดเจน

จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ของ เดอ ลาลูแบร์   ราชทูตชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงบ้านเรือนกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ว่า "ชาวสยามคงมีความเป็นอยู่ที่ง่าย ๆไม่ว่าสิ่งไรหมด ถ้าชาวสยามแต่งเนื้อแต่งตัวอย่างเรียบๆ ง่ายๆ บ้านเรือนเครื่องเรือนและอาหารการกินของเขาก็เรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะพวกเขาเป็นคนนับถือสันโดษมีความมักน้อย ที่อยู่อาศัยของชาวสยามนั้น เป็นหลังย่อม ๆ แต่มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟากและเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก แล้วยังจักตอกขัดแตะเป็นฝาและใช้เป็นเครื่องบนหลังคาเสร็จไปด้วยในตัว  เสาตอม่อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วมก็ใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่กว่าขา  และสูงจากพื้นดินราว ๑๓ ฟุต เพราะบางครั้งน้ำก็ท่วมขึ้นมาสูงถึงเท่านั้น  ตอม่อแถวหนึ่งมีไม่มากกว่า ๔ หรือ ๖ ต้นแล้วก็เอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอดบันได ก็เป็นกระไดไม้ไผ่ ซึ่งทอดอยู่ข้างนอกตัวเรือนเหมือนกระไดโรงสีลม"

"เรือนสร้างแล้วเสร็จได้รวดเร็ว"  ในขณะที่เราอยู่ในพระนครนั้นเรือนได้ถูกไฟไหม้ถึง ๓๐๐ หลังคาเรือน แต่ก็กลับปลูกขึ้นใหม่แล้วเสร็จเพียงชั่วเวลา ๒ วันเท่านั้นเอง ครั้งหนึ่งเมื่อมีการยิงลูกแตกถวายให้แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทอดพระเนตร โดยพระองค์ประทับทอดพระเนตรอยู่ห่าง ๆ ณ สีหบัญชรในพระบรมมหาราชวัง จำเป็นต้องรื้อเรือนซึ่งตั้งบังอยู่เสีย ๓ หลัง เจ้าของเรือนก็จัดการรื้อถอน และโยกย้ายเครื่องเรือนไปได้ภายในไม่ถึงชั่วโมง"

เรือนของชาวสยามมีเพียงชั้นเดียว "เรือนชั้นเดียวเป็นที่พอความต้องการของชาวสยามแล้ว และข้าพเจ้าเชื่อว่า วิธีการสร้างเรือนของเขานี้น่าอยู่กว่าการสร้างตามแบบของเรามาก"

ส่วนจดหมายเหตุของ โยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดา เข้ามาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กล่าวว่า "บ้านของชาวสยามสร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ตามแบบอินเดีย หลังคาบ้านนั้นใช้จากหรือกระเบื้องมุง เขามักยกพื้นให้สูงกว่าพื้นดินราว ๓ หรือ ๔ ฟุต บ้านหลังหนึ่ง ๆ มีประตูหนึ่งบาน หน้าต่างหลายบาน เครื่องแต่งบ้านนั้นมีน้อย มีเท่าที่จำเป็นสำหรับการหลับนอน บริโภคอาหาร และการหุงต้มเท่านั้น คือ เสื่อ หมอน โตก ขัน และถ้วยชาม

ในจดหมายเหตุของ หมอแกมเฟอร์ ชาวเยอรมัน ซึ่งมากับเรือชาวฮอลันดา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๓ บรรยายลักษณะเรือนไทยในสมัยอยุธยาไว้ว่า "บ้านคนธรรมดานั้นเป็นบ้านกระท่อมเสียเป็นพื้น ปลูกด้วยไม้ไผ่ พื้นกระดาน หลังคามุงจากหยาบ ๆ พวกขุนนางหรือเสนาบดีและข้าราชบริพารในราชสำนัก มีวังหรือตำหนักอยู่ต่างหาก  ตึกทั่วๆไป สร้างด้วยหินและปูน  บ้านซึ่งปลูกตามริมฝั่งแม่น้ำ ปลูกบนเสาสูงเพื่อมิให้กระแสน้ำหน้าน้ำท่วมถึง "

หนังสือสาสน์สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า  "ในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระราชมณเฑียรแล้ว ยังอยู่เรือนไม้กันทั้งนั้น เช่น ตำหนักรักษาในพระราชวังหลวงก็ดี วังเจ้าและบ้านขุนนางก็ดี แม้กุฏิพระ เช่น วัดมหาธาตุและวัดพระเชตุพนฯ ก็ดี ล้วนเป็นเรือนไม้แบบเรือนไทยทั้งนั้น ได้ยินว่าตำหนักในวังหน้าทำเป็นตึกมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ แต่ก็ทำเป็นเรือนไทยแต่ก่อฝาอิฐเท่านั้น"

คำว่าเรือนนั้น เรามักจะหมายถึงที่อยู่อาศัยซึ่งสร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ที่พักอาศัยของคนไทยที่ปลูกสร้างด้วยไม้ ซึ่งเรียกว่าเรือนไทยนั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ "เรือนเครื่องสับ" "เรือนเครื่องผูก" เรียกตามวิธีการสร้างเรือนและวัสดุที่ใช้

เรือนเครื่องผูก  คือ เรือนที่ใช้ไม้จริงเป็นเสารองน้ำหนักส่วนโครงสร้างใช้ไม้ไผ่กับจากเป็นส่วนใหญ่ และเครื่องเรือนอื่น ๆ ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น จาก หญ้าคา แฝก ไม้ไผ่ เป็นต้น ประกอบด้วยการผูกมัดเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้วิธี ตอก-ผูก-ยึด-ตรึง จะพบเห็นเรือนเครื่องผูกตามชนบทในท้องถิ่นห่างไกล หรือตามพื้นที่เกษตรกรรม โดยทั่วไปไม่ใหญ่โตมากนัก ปลูกสร้างตามอัตภาพ เท่าที่ความจำเป็นจะพึงมี และเท่าที่ฐานะผู้อยู่อาศัยจะสามารถแสวงหาได้ เมื่อฐานะดีขึ้นจึงขยับขยายปลูกเรือนเครื่องสับ

เรือนเครื่องสับ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เรือนฝากระดาน บรรดาไม้จะต้อง เลื่อย-ถาก-สับ-ไส  เรือนเครื่องสับนี้เป็นเรือนไทยที่สร้างด้วยฝีมือ เรือนประเภทนี้ไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว วิธีก่อสร้างนั้นโครงสร้างส่วนใหญ่รวมทั้งฝาใช้วิธีเข้าปากไม้ เพื่อให้ไม้ตั้งแต่ ๒ ชิ้นขึ้นไปยึดติดกัน การเข้าปากไม้มีทั้งที่ใช้เดือยใส่ในรูเดือย และวิธีให้ปากไม้วางสับกัน หากต้องใช้ตะปูบ้าง จะใช้ตะปูจีนหรือสังขวานร หรือสลักยึดพรึงกับเสา การประกอบเครื่องเรือนทั้งหมดที่เป็นไม้จริงจะนิยมใช้ไม้สักเพราะมีความคงทนอายุการใช้งานยาวนาน ส่วนเสาเรือนนิยมใช้ไม้เต็ง ไม้รัง และไม้แดง


 
เรือนเครื่องผูก
๑. ต้านลม  ๒. จันทัน  ๓. เสาตอม่อ  ๔. ตง  ๕. พื้นฟาก  ๖. ลูกตั้งกรอบประตู
๗. ขนาบหัวแตะ  ๘. บันได  ๙. พรึง  ๑๐. ฝาขัดแตะ  ๑๑. ตับจากหรือแฝก  ๑๒. ครอบอกไก่

คติความเชื่อการสร้างเรือนอยู่อาศัย

คติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างเรือนมีอยู่ทุกท้องถิ่น แต่ละแห่งมีพิธีการ ความคิด ความเชื่อถือ มีทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ส่วนใหญ่มักเหมือนกัน อาจแตกต่างกันเพียงส่วนปลีกย่อย โดยยึดถือหลักจากตำราทางโหราศาสตร์  ไสยศาสตร์ และพราหมณ์มารวมกัน

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อต่อ พระเจ้า ผีสาง เทวดา ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แผ่นดิน สายน้ำ ทางลม ต้นไม้ป่าไม้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างแนบแน่น เมื่อจะกระทำสิ่งใดที่เห็นว่าสำคัญกับความสุขความเจริญ ก็ต้องหาอุบายมาปัดเป่าหรือป้องกัน การปลูกบ้านสร้างเรือนของคนไทยแต่โบราณ คำนึงถึงความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นสิริมงคล และมีโชคลาภแก่เจ้าของบ้าน ครอบครัวตลอดจนข้าทาสบริวาร อย่างยืนยาวต่อไป จึงต้องมีคติความเชื่อเหล่านั้น เจือปนเป็นพิธีอยู่ด้วยจนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา



การปลูกสร้างบ้านเรือน
ตามคติความเชื่อของภาคเหนือ
เรือนของแต่ละภาค อาจแตกต่างในรูปทรง
เรือนไม้บั่ว หรือ เรีอนเครื่องผูกของชาวเหนือ
ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ ด้วยภูมิปัญญาไทย ที่ดัดแปลงหยิบจับวัสดุหาง่ายจากธรรมชาติ
มาสร้างเรือนพักคุ้มกันแดดฝน ให้เกิดสุขอย่างพอเพียงตามอัตภาพ.

 

 
เรือนเครื่องผูก : เรือนเครื่องผูกในภาคเหนือ ชาวล้านนาเรียกว่า "เรือนไม้บั่ว"
หรือ "เรือนมัดขื่อมัดแป" ถือเป็นเรือนแบบดั้งเดิม โครงสร้างหลังคา เสา ตง พื้น ใช้ไม้ไผ่
หรือไม้เนื้อแข็ง สามารถก่อสร้างกันได้เองโดยไม่ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญงาน


ดูลักษณะที่ดิน ตามคติความเชื่อแล้วก่อนสร้างเรือนจะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกบ้านให้ตรงตามตำราดูลักษณะที่ดิน โดยดูถึงความสูงต่ำของระดับดินบริเวณปลูกสร้างรูปทรงที่ดิน ตลอดจนเนื้อที่ทั้งหมดรวมทั้งสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอีกด้วย
   
มื้อจั๋นวันดี สำหรับชาวเหนือก่อนจะปลูกเรือน ฤกษ์งามยามดีเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเชื่อกันว่า หากปลูกเรือนใน "มื้อจั๋น วันดี" คือฤกษ์ที่เหมาะสมแล้วผู้อยู่อาศัยย่อมมีความสุขความเจริญและอยู่เย็นเป็นสุขและยังครอบคลุมถึงการหาฤกษ์ยามดีในขั้นตอนการปลูกเรือนอื่น ๆ เช่น เข้าป่าหาไม้มาทำเสาเรือน ขุดหลุมฝังเสา ยกเสา เป็นต้น

การเข้าป่าตัดไม้ทำเสา ตามคติโบราณจะกำหนดช่วงเวลาที่เป็นมงคลเอาไว้ว่าควรจะตัดไม้ในเดือนใด เมื่อตัดไม้แล้ว หากไม้ล้มไปในทิศใดจะมีข้อความทำนายว่าควรนำเอามาทำเป็นเสาเรือนหรือไม่ และหากไม้ไปพาดกับต้นไม้อื่น ไม่ควรนำมาสร้างเรือน

พิธีเสี่ยงทายในการตั้งบ้านใหม่ เพื่อหาบริเวณปลูกเรือนที่เป็นมงคล โดยวิธีเสี่ยงทาย ใช้ใบฝาแป้ง ๘ ใบห่อของ ๘ อย่าง จัดพานข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน นำไปยังที่ที่ต้องการจะปลูกบ้านตั้งเรือนเสี่ยงทายจับห่อสิ่งของ ๑ ห่อ เมื่อทำพิธีในบริเวณนั้นได้ห่อที่ไม่ดีก็ย้ายเสี่ยงทายในบริเวณอื่น สิ่งของเสี่ยงทายนั้นเป็นของที่มีสัญลักษณ์ทั้งสิ้น และมีความหมายถึงการดำเนินชีวิตภายหลังจากเข้าไปอยู่ในเรือนที่ปลูกในบริเวณที่เสี่ยงทายแล้ว  อาทิ ถ้าหากได้ห่อดิน กระทำสิ่งใดจะสัมฤทธิ์ผล  ได้ห่อข้าวเปลือก จักอยู่สุขสวัสดิ์  ได้ห่อลูกหิน จักอยู่ดีมีสุข  ได้ห่อดอกไม้ จักมีชื่อเสียงได้เกียรติยศ เป็นต้น

โฉลกเสาเรือน เมื่อหาเสาเรือนครบ ช่างไม้จะเป็นผู้ปรุงเครื่องเรือน โดยจะกำหนดความสูงและขนาดของเรือน ขณะตัดเสาก็กล่าวคำโฉลกให้ได้คำที่ดีเป็นสิริมงคล

พิธีขุดหลุมเสาเรือน ก่อนจะขุดหลุมเสาเรือนต้องทำพิธีขอที่ดินกับพญานาคเพราะมีความเชื่อกันว่าพญานาคเป็นสัตว์มีอิทธิฤทธิ์เป็นเจ้าแผ่นดิน อำนวยความสุขหรือภัยพิบัติให้มนุษย์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะทำการอันเป็นมงคลเกี่ยวกับการสร้างบ้านปลูกเรือน จะต้องบูชาเซ่นสรวงผู้ที่เป็นเจ้าที่ดินเสียก่อนแล้วจึงทำพิธีขุดหลุมเสาเรือนตามทิศที่เหมาะกับวัน

พิธีตัดเสาข่มนางไม้ การตัดไม้เสามาทำเป็น "เสามงคล" หรือ "เสานาง" นั้น เพื่อจะให้เสามงคลเป็นเสาที่มีอาถรรพ์ และศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลสำหรับตัวเรือนจริง ๆ และกันมิให้เสาตกมัน จึงมีการทำพิธีตัดและเกลาเสา การทำพิธีตัดเสานั้น ต้องหา "สล่า" หรือช่างไม้ที่มีความเข้าใจชำนาญในทางศาสตรเภท คือ การแก้เสนียดจัญไร อันจะเกิดจากไม้เสานั้น ต้องมีการตั้งขันคือการยกครูของภาคกลาง เมื่อตั้งขันแล้ว สล่าหรือปู่อาจารย์ก็ทำพิธีตัดเสาตามตำรา คือเสกขวานหรือมีดที่จะใช้ฟันและขณะฟันก็ว่าคาถากำกับด้วยเป็นการข่มนางไม้ เมื่อเสร็จพิธีก็เอาไม้นั้นมาทำเป็นเสามงคลหรือเสาเอก

พิธีปกเฮือน ครั้นได้ฤกษ์จะลงมือปลูกบ้านวันใด จึงทำพิธีปลูกบ้านหรือ "ปกเฮือน" การปลูกเรือนมักเริ่มทำกันแต่เช้าตรู่ ทำพิธียกเสามงคลและเสานางตลอดจนเสาอื่น ๆ ที่ได้เตรียมไว้ตรงปากหลุมแล้วช่างหรืออาจารย์ จะทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เพื่อให้การทำงานครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี

พิธีทำขวัญเสามงคล เมื่อทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เสร็จเรียบร้อยจึงทำ " พิธีทำขวัญเสามงคล" ตามตำราโบราณถือว่าเสามงคลเป็นพญาของเสาทั้งปวง เสามงคลเป็นเสาพ่อ เสานางเป็นเสาแม่อยู่คู่กัน จึงมีพิธีเรียกร้องขวัญไว้ คำเชิญขวัญนิยมเลือกหาผู้ที่จะว่าเชิญขวัญได้ไพเราะ เตรียมเครื่องเพื่อประพรมและผูกเสามงคลเมื่อถึงฤกษ์ยกเสามงคลเป็นเสาแรกและยกเสานางเป็นเสาที่สอง

พิธีฝังเสามงคลหรือเสานาง ให้คนที่มีชื่อ "แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น" มาเป็นผู้ช่วยหามเสาและยกเสาลงหลุม เพื่อจะได้ เป็นมงคลแก่เจ้าของบ้าน ก่อนที่จะฝังหาใบเต๊า ใบหนุน ใบดอกแก้ว ใบตัน มารองหลุมทุกหลุมเพื่อเป็นคติว่าจะได้ช่วยค้ำจุนให้บ้านเรือนหลังนั้น มีความเจริญรุ่งเรือง เสามงคลและเสานางนี้ คนโบราณถือมากในเรื่องการปรนนิบัติรักษา และเชื่อว่าจะต้องรักษาความสะอาดอยู่เสมอผู้ใดจะปัสสาวะรดหรือทำสกปรกไม่ได้ บางแห่งจะมีหิ้งติดไว้ทางหัวนอนและมีดอกไม้ธูปเทียนบูชาด้วย

เมื่อเสร็จพิธีปลูกเรือนแล้วจากนั้นสัก ๓ หรือ ๗ วัน จึงทำการมุงหลังคาและส่วนอื่น ๆ และดูฤกษ์ยามเพื่อขึ้นบ้านใหม่



(บนขวา) กาแล : กาแล เอกลักษณ์ล้านนา ส่วนปลายของยอดจั่วที่ไขว้กันบนหลังคา มีไม้ปั้นลม ที่ชาวเหนือเรียกส่วนนี้ว่า "กาแล"  ไม้กาแลพริ้วงามอ่อนช้อย หรือกาแล เป็นเรือนพักอาศัยของผู้มีอันจะกิน ผู้นำชุมชน หรือเรือนบุคคล  ใช้วัสดุก่อสร้างคุณภาพดีเยี่ยม การช่างฝีมือประณีต ภาษาถิ่นในปัจจุบันเรียกว่า "เฮือนบ่าเก่า" เรือนทรงโบราณ
(บนซ้าย) แม่เตาไฟ : กระบะมีกรอบไม้บรรจุดินและขี้เถ้าอัดแน่น วางเส้าหรือหิน ๓ ก้อน หรือเหล็กสามขา เป็นเตาไฟสำหรับหุงต้มอาหาร
(ล่างซ้าย) ยุ้งข้าว : เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หลองข้าว เป็นเรือนเก็บข้าวในภาคเหนือ ที่มีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่น




(กลาง) หลองข้าว : ตามคติการดำรงชีพของชาวล้านนา ถือว่า เมื่อมีหลองข้าวในบ้านจึงจะถือเป็นบ้านที่สมบูรณ์  หลองข้าวในเรือนไม้บั่ว จะมีทั้งชนิดอยู่ภายในและภายนอกตัวเรือน ลักษณะเป็นไม้ไผ่สานรูปกลมๆ ตั้งอยู่บนแคร่ยกลอย ใต้แคร่อาจเรียงฟืนไว้
๑. ฝาฟาก : คือฝาเรือนเครื่องผูกแบบหนึ่ง นิยมทำกันในภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าต่างๆ และชาวไทยใหญ่ เพราะภูมิอากาศทางภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ไผ่บง ซึ่งเป็นไผ่ลำโต ปล้องยาว เนื้อของไม้บาง อ่อนตัว สะดวกในการขัด เหมาะสำหรับนำมาทำฟาก  ไม้ไผ่บงสามารถทำฟากได้ตลอดทั้งต้น การทำฝานิยมขัดตามนอน ฝาเรือนที่ทำด้วยฟากชนิดนี้จะมีความมิดชิดเป็นส่วนตัว มากกว่าฝาขัดแตะชนิดอื่น
๒. เครื่องมุงหลังคา : นิยมใช้ใบตองตึง  ใบตองตึงเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งใบมีความหนา นำมาเย็บกับต้นไม้ด้วยตอกไม้ไผ่ เรียกว่า ตับพลวง ตับตึง ใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา เป็นที่นิยมมากในเรือนไม้บั่วของชาวเหนือ
๓. ฝาขี้ล่าย : ลักษณะฝาไม้ไผ่ขัดกับฝาไม้จริง เรียก ฝาขี้ล่าย  สมัยก่อนมีข้อห้ามไม่ให้สร้างด้วยไม้จริงหมดทั้งหลัง พื้นบางส่วนต้องปูฟากสลับฝาเรือนต้องมีไม้ไผ่ขัดแตะมีกรอบเป็นไม้กระดาน



๑. เติ๋น : เป็นเนื้อที่กึ่งเปิดโล่ง มีขนาดไม่เล็กกว่าห้องนอน เป็นเนื้อที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ เรือนที่มีห้องนอนเดียวจะใช้เติ๋นเป็นห้องนอนของลูกชาย ลูกสาวนอนกับพ่อแม่ ถ้าเป็นเรือนขนาดเล็กหรือเรือนไม้ มักจะตั้งร้านน้ำในบริเวณเติ๋นนี้ด้วย บางทีทำฝ้าตะแกรงไม้ไผ่สานโปร่งอยู่เหนือเติ๋นไว้เก็บของจิปาถะ
๒. กาแล : ปั้นลมอย่างภาคเหนือ ซึ่งชาวเหนือเรียกส่วนนี้ว่ากาแล  ไม้กาแลนิยมสลักลวดลายอย่างสวยงามอยู่บนยอดหลังคาจั่ว
๓. ควั่น : บริเวณเพดานของเติ๋น ห้อยโครงไม้ตารางยึดแขวนกับขื่อจากโครงหลังคา ใช้เก็บของเครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะคนโทน้ำ
๔. ตามน้ำและฮานน้ำ : ตามน้ำภาษาเหนือ แปลว่าให้ทานน้ำ หม้อน้ำ หรือคนโทน้ำ วางใกล้ประตูทางเข้าบ้านบ้าง บนโคนต้นไม้บ้าง บนหัวไม้ มีใบไม้หรือใบเฟิร์นห่อหุ้ม เพื่อให้น้ำเย็นอยู่เสมอ พร้อมกระบวยตักน้ำเพื่อให้คนได้ตักดื่ม

 
 
 

กาแล เอกลักษณ์ล้านนา

กาแล เอกลักษณ์ล้านนา : ส่วนปลายของยอดจังที่ไขว้กันบนหลังคา
มีไม้ปั้นลมที่ชาวเหนือเรียกสำนวนนี้ว่า "กาแล"  ไม้กาแลให้พริ้วงามอ่อนช้อย
หรือกาแล เป็นเรือนพักอาศัยของผู้มีอันจะกิน ผู้นำชุมชน หรือเรือนบุคคล
ใช้วัสดุก่อสร้างคุณภาพดีเยี่ยม การช่างฝีมือประณีต
ภาษาถิ่นในปัจจุบันเรียกว่า "เฮือนบ่าเก่า" เรือนทรงโบราณ


          


          (บน) แม่เตาไฟ  กระบะมีกรอบไม้บรรจุดินและขี้เถ้าอัดแน่น
          วางเส้าหรือกิน ๓ ก้อน หรือเหล็กสามขา เป็นเตาไฟสำหรับหุงต้มอาหาร
          (ล่าง) ยุ้งข้าว เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หลองข้าว เป็นเรือนเก็บข้าวในภาคเหนือ
          ที่มีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่นๆ



(รูปเล็กมุมบน) อ่อมริน : เรือนสมัยกลาง เรือนครัวจะแยก
ออกไปอีกหลังหนึ่ง วางขนานกับเรือนใหญ่หรือเรือนนอน
ชายคาของเรือนนอนและเรือนครัวจะมาจรดกันบริเวณช่องทางเดิน
ใต้ชายคานี้ เรียกว่า อ่อมริน


๑. หำยนต์ : แผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นไม้แผ่นเดียวแกะสลัก
ลวดลายสวยงาม เป็นแผ่นไม้ที่เชื่อกันว่าจะป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้าสู่ประตูห้องนอน
ติดไว้เหนือวงกบด้านบน
๒. มุงดินขอ : กระเบื้องดินเผา หากเป็นหลังคามุงกระเบื้องไม้
ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า มุงเป็นเกล็ด
๓. ใต้ถุนสูง : ใช้สำหรับเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ บางครั้งตั้งหูกทอผ้า
หรือนั่งเล่น หรือเป็นที่รับแขก
๔. ลวดลายฉลุไม้ : เรือนไม้จริง บางทีภาษาล้านนาโบราณ
เรียกว่า เรือนสุปแป  สำหรับเรือนไม้จริงที่มีลวดลายฉลุไม้
บางทีคนล้านนาก็เรียกว่า เรือนทรงสะละไน]


การปลูกสร้างบ้านเรือน
ตามคติความเชื่อของภาคอีสาน

คนไทยเป็นเอกในเชิงช่าง ความช่างสังเกต ความสามารถในการคิดประดิดประดอย
ก่อเกิดภูมิปัญญาไทยในการรังสรรค์บ้านเรือนไทย ให้มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะต้ว...

โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเริ่มต้นปลูกสร้างบ้านเรือน มักเลือกถิ่นให้อยู่ใกล้ที่ทำมาหากิน
การสร้างบ้านเรือน มักทำอย่างเรียบง่าย ใช้วัสดุที่หาได้รอบข้าง ผูกมัดขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยกลางไร่นา...


คนอีสานนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ คือ ผีปู่ตา และผีฟ้า คือ แถน ควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนา ฉะนั้นในแต่ละหมู่บ้านทางภาคอีสาน จะต้องมี "ดอนปู่ตา" ซึ่งเป็นที่ดอนมีต้นไม้ใหญ่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก ตั้งศาลเรียกว่า "ตูบ"  ๔ เสาขึ้นเพื่อเป็นที่สถิตของบรรพบุรุษ  กลางหมู่บ้านก็จะตั้ง " หลักบ้าน" เป็นเสาไม้มงคลมีเสาเอก และเสาบริวารเป็นที่สิงสถิตของเทพารักษ์ เพื่ออารักขาให้หมู่บ้านอยู่ดีมีสุข และจะมีพิธีเซ่นสรวงในเดือน ๗ เรียก บุญซำฮะ

การถือฤกษ์ยามในการปลูกเรือน ในเดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า เดือนสิบสอง ถือเป็น
ฤกษ์ที่ดีในการปลูกเรือน โดยเฉพาะในเดือนหกและเดือนเก้า

ทำเลการปลูกเรือน ทำเลที่เหมาะในการปลูกเรือน เช่น รูปดวงจันทร์ รูปมะนาวตัด รูปเรือสำเภา และรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นความเชื่อสำหรับผู้ครองเรือนในทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้อยู่อาศัย ในภาคอีสานก็เช่นเดียวกัน จะมีคติความเชื่อในเรื่องทิศและชัยภูมิที่ดินเพิ่มเติมคือ หากเป็นแผ่นดินที่สูงทางใต้ ต่ำทางเหนือ เป็นที่ไชยะ  แผ่นดินที่สูงทางตะวันตก ต่ำทางตะวันออกเป็นที่ยะสะศรี แผ่นดินที่สูงทางพายัพ ต่ำทางทักษิณ เป็นที่ สะศรี ถือว่าเป็นทำเลที่ดี
เลือกเสาเรือน การเลือกไม้ทำเสาเรือนในภาคอีสานเป็นความสำคัญอันดับแรกเช่นเดียวกับภาคอื่นลักษณะของเสาเรือนที่ดีสำหรับคนอีสาน เชื่อว่าควรคัดเสาต้นตรง ๔ ประเภท คือต้นเสา กลางเสา และปลายเสา ขนาดเท่ากัน ต้นเสาใหญ่ ปลายเสาเล็ก เป็นเสาตัวเมียดี  ต้นเสาเล็ก ปลายเสาใหญ่กลางเสาเล็กไม่ดี เสาอมเปลือก เสาคด เสาเป็นตาเป็นรอยไม่ดี  

"เสาแฮก"  หรือเสาแรกซึ่งเป็นเสาสำคัญในการปลูกเรือน ให้เลือกไม้ซึ่งเกิดในที่ราบเรียบ ใบไม่ระเกะระกะกับต้นอื่น ลำต้นปลอด เกลี้ยง ใบดก มองดูคล้ายพระภิกษุยืนกางกลด กิ่งใบไม่เหี่ยวแห้งมีนกหนูและมดดำแดงอาศัยอยู่มาก ควรนำมาทำเสาแรกเจ้าของเรือนจะอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง

"เสาขวัญ" เสาสำคัญอันดับรอง ให้เลือกไม้ที่เกิดบนดินสูงแล้วลาดต่ำลงมา ซึ่งมีลำต้นสูงกว่าต้นอื่น ๆ  กิ่งใบไม่เหี่ยวแห้ง เวลาสงัดไม่มีลมจะมีใบหนึ่งไหวติงอยู่ไม่ขาดระยะ ไม้ต้นนี้เมื่อเลือกมาทำเป็นเสาขวัญ เจ้าของเรือนจะมั่งคั่งมั่งมี

วิธีคัดเลือกเสาวิธีหนึ่งคือ การดูตาเสาเช่นเดียวกับภาคกลาง เสาที่เป็นมงคลควรเป็นเสาปลอด คือมีตาเสาบางอย่างที่ให้คุณ เช่น ตาก้นหอย คือ เสาที่มีตาเป็นขอดเหมือนก้นหอย ตาดาวเรือง คือ เสาที่มีตาเล็ก ๆ เป็นนมหนูทั่วไปตามลำเสา ทั้งสองลักษณะนี้เป็นมงคลนัก

โสก - สัดส่วนที่เป็นมงคล การโสก หมายถึงการกระทำที่ถูกโฉลก คือ สัดส่วนความกว้างยาวสูงที่เป็นมงคล ถ้าดีเรียกว่า ถูกโสก องค์ประกอบของเครื่องเรือนที่นิยมโสก หาสัดส่วนที่เป็นมงคล ได้แก่ เสาเรือน กะทอดเรือน (พรึง) บันไดเรือน เป็นต้น ตัวอย่างเช่น วิธีโสกความยาวของเสาเรือน จะใช้เท้าเจ้าของเรือนทาบแล้วนับตามลำดับ

การฝังของมงคล ในบริเวณบ้านเรือนสมัยโบราณ มีการฝังของมงคลไว้ตามทิศต่าง ๆ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ของที่ควรฝัง อาทิ
     ทองคำ - ทิศบูรพา
     เงิน – ทิศอาคเนย์
     เหล็ก - ทิศทักษิณ ตะกั่ว - ทิศหรดี
     ทอง - ทิศปัจฉิม
     แก้ว - ทิศพายัพ เขา - ทิศอุดร
     งา - ทิศอีสาน

ปลูกต้นไม้มงคล ในภาคอีสานถือว่าต้นไม้เป็นมงคลอย่างหนึ่ง หากปลูกให้ถูกทิศทางจะเกิดความสุขความเจริญ คตินี้ปรากฏในภาคกลางเช่นเดียวกัน ต้นไม้มงคลตามทิศของภาคอีสาน มีดังนี้
     ทิศบูรพา - ปลูกกุ่ม ก่าม กระถิน มะพร้าว หมาก พลู
     ทิศอาคเนย์ - ปลูกต้นยอ
     ทิศทักษิณ – ปลูกมะม่วง มะเฟือง มะไฟ
     ทิศหรดี - ปลูกต้นคูณ สะเดา ขนุน
     ทิศปัจฉิม - ปลูกมะขาม มะยม
     ทิศพายัพ – ปลูกมะกรูด มะนาว
     ทิศอุดร - ปลูกต้นหมากตัน(พุทรา)
     ทิศอีสาน - ปลูกดอกรัก ต้นแพง  

              


               ๑. เล้าข้าว ของอีสานมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้ๆ บริเวณบ้าน เล้าข้าวขนาดธรรมดาทั่วไป ๒-๓ ช่วงเสา
               ๒. ไพหญ้า หลังคามักใช้วัสดุท้องถิ่นมุงหลังคา ที่กองเป็นตับแล้วเรียกว่า ไพหญ้า

ในสังคมชาวอีสาน แต่ละครัวเรือนจะปลูกเรือนขนาดพอเหมาะในลักษณะของครอบครัวเดียว เมื่อสมาชิกในครอบครัวแต่งงาน ถ้าจะขยับขยายไปปลูกเรือนอีกหลังหนึ่ง เรียกว่า เรือนเหย้า  ถ้าไม่สามารถปลูกเรือนเหย้าได้ก็จะไปปลูกในบริเวณที่นาเป็นเรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิดตูบ  ซึ่งเป็นที่พักไม้ยกพื้นบางส่วน ทรงหลังคาเป็นลักษณะเพิง โดยสร้างตูบเข้ากับเล้าข้าวของเรือนพ่อแม่  ส่วนเรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ตั้งต่อดิน"  และ "ดั้งตั้งขื่อ" เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสาน หมายถึง ตัวเสาดั้งจะตั้งฝังดินหรือแค่ขื่อ และใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่แต่ดูเป็นสัดส่วนกว่าตูบต่อเล้า


๑. เถียงนาหรือเถียงไฮ่ ที่พักชั่วคราวเวลาไปนา เพราะที่นาอยู่ห่างจากเรือน
มักไม่ทำฝาหากต้องอาศัยค้างแรมก็จะกั้นฝาด้วยแถบตอง หลังคามุงหญ้า
หรือเป็นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า
๒. ฝาแถบทอง ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบทอง โดยใช้ใบกุง (ใบพลวง)
หรือใบชาด มาประกบด้วยไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง
๓ ฝาอ้อมฟาก เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิดตั้งขื่อ ฝาเรือนใช้ไม้ไผ่
มาเฉาะปล้องออก แล้วสับให้แผ่ออกเป็นแผง มีไม้เคร่านอนเป็นตัวรัดยาวตลอดฝา



เฮือนเกย, เฮือนแฝด, เฮือนโข่ง


เฮือนเกย, เฮือนแฝด, เฮือนโข่ง  เรือนเครื่องสับที่มีลักษณะเป็นเรือนถาวรของคนอีสาน  แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด เฮือนโข่ง  ตัวเรือนของทั้ง ๓ ประเภท ประกอบด้วย เฮือนใหญ่ ชานแดด เฮือนไฟ (เรือนครัว) ฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)  ชาวอีสานจะไม่สร้างเรือนขวางตะวัน แต่จะสร้างให้เรือนหันหน้าไปทางด้านทิศเหนือหรือทิศใต้  เรือนใหญ่จะต้องหันจั่วไปทางทิศตะวันออกและตก หรือเรียกว่า ปลูกส่องตะวัน

         


          ๑. เฮือนแฝด มีจั่วแฝด รูปทรงจั่ว ทำเลียนแบบเรือนใหญ่
          มีฮังริน (รางน้ำ)  เรือนใหญ่ระดับพื้นเสมอกัน ฝาก็ทำเลียนแบบเรือนใหญ่
          ๒. เกย ใช้เรียกส่วนชานบ้านที่มีหลังคาคลุม ใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์
          นั่งเล่น รับแขก รับประทานอาหาร พื้นเกยจะเป็นไม้กระดาน
          ๓. ฝาแอ้มแบ็น หากเจ้าของบ้านฐานะไม่ดี อาจใช้ไม้ไผ่สาน
          ๔. แป้นไม้ เรือนใหญ่หลังคาทรงจั่ว มุงแป้นกลัด หรือหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องไม้

...มนุษย์มีความจำเป็นที่จะเลือกถิ่นที่จะสร้างหลักปักฐาน ในทำเลอันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การดำรงชีพ
มีการสั่งสมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม คติความเชื่อ ถ่ายทอดสู่ลูกหลานให้สืบต่อไปอีกหลายชั่วคน...
บ้านเรือน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคต เป็นที่หลอมรวมความรักความอบอุ่นให้กับทุกสมาชิกในครัวเรือน

ในอดีต คนไทยนับช่วงเวลาที่ชีวิตใหม่สัมผัสกับพื้นฟากของเรือน เป็นเวลาถือกำเนิดของลูกหลาน ที่เราเรียกกันว่า “เวลาตกฟาก”



เรือนเดี่ยว : เป็นเรือนเริ่มต้นสำหรับครอบครัวเล็กๆ
อาจเป็นเรือนเครื่องผูกหรือเรือนเครื่องสับ แล้วแต่ฐานะของครอบครัวจะเอื้ออำนวย
องค์ประกอบหลักในเรือนเดี่ยวประกอบด้วย เรือนนอนและเรือนครัว

การปลูกสร้างบ้านเรือน
ตามคติความเชื่อของภาคกลาง


• ฤกษ์ปราบดิน คือการหาผู้รู้หรือโหรตรวจดูที่ดิน หาฤกษ์ปราบดิน สำรวจที่ดินว่าจะเป็นโขด เป็นเนินปลวก มีหลักตอ มีขอนท่อนไม้ หรืออะไรที่แกะกะจมฝังดินอยู่บ้างหรือไม่ ถ้ามีก็จัดการถอนทิ้งและปราบดินให้เรียบ

• วิธีชิมรสดินและดมดิน  ขุดหลุมลึกราวศอกเศษเอาใบตองปูไว้ใต้ก้นหลุม นำหญ้าคาสดและสะอาดทับไว้ข้างบนใบตองสักกองหนึ่ง ทิ้งไว้ค้างคืนจนไอดินเป็นเหื่อจับอยู่ที่หน้าใบตอง นำขึ้นมาแล้วชิมเหื่อที่จับบนใบตอง ถ้ามีรสหวานแสดงว่าที่นั้นมีคุณสมบัติปานกลาง พออยู่ได้  ถ้ามีรสจืดถือว่าดีเป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข หากมีรสเค็มและรสเปรี้ยวไม่เป็นการดี   ส่วนวิธีดมดิน ให้ขุดดินขึ้นมาดมดู ถ้ามีกลิ่นหอมดังดอกบัวหรือดอกสารภี แสดงว่าที่นั้นอุดมสมบูรณ์ดีนัก เรียกว่าที่พราหมณ์ ถ้ากลิ่นหอมดังดอกพิกุล เรียกว่าสัตภูมิดีเช่นกัน จะอยู่เย็นเป็นสุข  ถ้ากลิ่นหอมเย็นหรือหอมดังดอกไม้อย่างอื่น ก็ถือเป็นพื้นที่ที่ดีเหมือนกัน ถ้ากลิ่นเผ็ดหรือกลิ่นเหม็นกลิ่นเค็มถือว่าเป็นทำเลที่ไม่ดี

• เสาเรือนและโฉลกเสาเรือน การเลือกเสาเรือน ข้อสำคัญอยู่ที่รู้จักเลือกเสาที่ดี มีความคงทน ไม่มีตำหนิเป็นตาไม้ในที่สำคัญ หรือมีรูที่ทำให้มดปลวกตัวแมงเจาะชอนไชเข้าไปได้
ลักษณะของเสาและตาเสาที่ดีสำหรับเลือกใช้เป็นเสาเรือนนั้น ให้เลือกเสาที่มีโคนต้นและข้างปลายใหญ่เสมอกัน ซึ่งได้ชื่อว่า "อุดมพฤกษ์" จัดเป็นไม้ที่ดีมาก หรือจะเลือกเสาที่โคนต้นใหญ่ข้างปลายเล็กซึ่งได้ชื่อว่า "ไม้ตัวเมีย" ก็ได้ เพราะจัดเป็นไม้ที่ดีตามตำราปลูกเรือนในคติโหราศาสตร์  ส่วนเสาที่ไม่ควรเลือกมาทำเสาเรือน คือ เสาที่มีตาเข้าลักษณะ เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักรอด หมูสี หรือเสาคดอย่างน่องช้าง คือเป็นเสาที่มีตาอยู่ในตำแหน่งที่เป็ดมาไซ้ ไก่มาตอด หมูเอาสีข้างมาสีกับเสาเรือน เหล่านี้จะทำให้เสาเรือนสึกหรอ แมลงและปลวกสามารถชอนไชเข้าทำรังได้

เสาสำหรับปลูกเรือนมักใช้ไม้เต็ง รัง เพราะมีขนาดทำเสาเรือนได้เหมาะ เนื้อไม้แข็งแกร่งคงทนฝังอยู่ใต้ดินได้ไม่ผุ หากเป็นถิ่นที่หาไม้เต็งไม้รังได้ยากเช่นในภาคเหนือ จะใช้ไม้สักแทน ไม้บางชนิดไม่นิยมใช้ทำเสาเรือน อาทิ ไม้ซาก ไม้กะเบา ไม้พยอม คำว่า ซาก บก (แห้ง) เบา ยอม ถือว่าชื่อไม่เป็นมงคล ไม้ตะเคียนก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะมีน้ำมันมาก ถ้าใช้เป็นเสามักตกมัน ถือกันว่าเป็นอัปมงคล เสาเรือนจัดไว้เป็น ๕ ชนิด คือ เสาดั้ง เสาเอก เสาโท เสาตรี และเสาพล หรือ เสาสามัญ เสาเอกคือเสาต้นที่ดีงามกว่าเพื่อน  รองลงมาเป็นเสาโท เสาตรี  นอกนั้นถือเป็นเสาสามัญ ทุกเสาต้องมีขนาดและความสูงพอกันทุกเสา ก่อนจะเจาะสลักรูรอดเสา ให้ทำการวัดโฉลก คำโฉลกมี ชยกํ ปริคตํ นวทํ กล่าว คาถาจนกว่าจะถึงตรงที่หมายเอาไว้ ว่าจะตกโฉลกโชคชัยอย่างไร จึงจะได้สัดส่วนที่เป็นมงคล

• การขุดหลุม ก่อนปลูกเรือนโหรจะตรวจดูพื้นดินว่าเดือนใดนาคหันหัวและหลังไปทิศใด แล้วจึงขุดหลุมที่ตำแหน่งท้องนาค โดยคนขุดหลุมต้องหมุนหน้าเข้าหาท้องนาคเสมอ เมื่อจะขุดหลุมเสาแรกต้องทำเครื่องบัดพลีบูชาพญานาคเสียก่อน ใช้ไม้ราชพฤกษ์และไม้อินทนิลทำด้ามเสียม สำหรับผู้ขุดให้หาคนชื่ออินท พรหม ชัย แก้ว ทำหน้าที่ขุดหลุมให้ครบตามจำนวนที่ประมาณไว้

• ทำบัดพลี ก่อนเริ่มทำขวัญเสาและยกเสาสงหลุมต้องทำบัดพลี คือ ปลูกศาลเพียงตาไหว้พระภูมิเจ้าที่เพื่อขอที่ดินต่อผู้รักษาผืนดินก่อน เครื่องบัดพลีที่ใช้มี หมาก พลู มะพร้าวอ่อน ขนมต้มแดง ต้มขาว กล้วยน้ำว้า ไข่ต้ม หมู ฯลฯ ให้วางเครื่องบัดพลีบริเวณหลุมเสาของห้องนอน มีการเจิมหัวเสา ลงยันต์ตรีนิสิงเห มีต้นอ้อย หน่อกล้วยน้ำว้า ผูกติดกับติดกับเสาเอก

• ทำขวัญเสา เมื่อขุดหลุมเสาเสร็จ รุ่งขึ้นเป็นฤกษ์ทำขวัญเสาและยกเสาลงหลุม โดยเริ่มงานแต่เช้าตรู่ หลังทำบัดพลีแก่เจ้าที่เจ้าทางและสังเวยผีนางไม้ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสาเสร็จแล้ว จึงทำขวัญเสาซึ่งมี บายศรีเช่นเดียวกับพิธีทำขวัญอื่นๆ โดยกล่าวบทเชิญขวัญไปตลอด และจบลงที่กล่าวให้พรแก่ผู้เป็นเจ้าของเรือนพิธีทำขวัญอาจมีปี่พาทย์ประโคมและนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์บทชัยมงคล

• ยกเสาเรือน เสาแรกที่ต้องยกเป็นเสาเอก ให้ปักเสาเอกเป็นฤกษ์ทางทิศตะวันออก หรือทิศอื่น  ที่โหรกำหนดเป็นทิศฤกษ์ ห้ามปักในทิศตะวันตก ลำดับต่อไปปักเสาโทในทิศตรงข้ามกับเสาเอก แล้วปักเสาตรีเวียนไปทางขวา และปักเสาอื่นๆ ในทำนองเดียวกันจนครบจำนวน การปักเสาต้องให้ปลายเสาหันไปในทิศที่โหรตรวจดูให้เป็นมงคล

     
๑. หน้าจั่วรูปพระอาทิตย์ : นิยมใช้กับเรือนจั่วเรือนครัวไฟ เป็นลูกเล่นของช่างฝีมือโบราณ ช่องระบายอากาศเป็นรูปรัศมีมีพระอาทิตย์ เพื่อถ่ายเทควันไฟ เอกลักษณ์เฉพาะเรือนครัวนี้เกิดขึ้นเพื่อสนองความจำเป็นและลักษณะเฉพาะของการปลูกสร้างเพื่อระบายอากาศ ในขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งเรื่องของความประณีต
๒. หลังคา : กันแดดกันฝนให้กับตัวเรือน ใช้วัสดุได้หลายอย่าง เช่น กระเบื้อง จาก แฝก หญ้าคา ซึ่งหากใช้กระเบื้องจะดูดซับความร้อนไว้มากกว่าวัสดุธรรมชาติ หลังคามุงหญ้าหรือเป็นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า
๓. เสาเรือน : เมื่อเลือกเสาได้ หากยังไม่มีโอกาสปลูกเรือนในเร็ววัน ให้นำเสาไม้หรือไม้สำหรับทำเครื่องเรือนนั้นแช่หมกเลนไว้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้บนบก เสาจะแตกร้าวเป็น “ไรวา” คือแตกเป็นริ้วเป็นเสี้ยนหรือผุเกิดเป็นราเป็นเห็ด เสาที่จะเลือกมาทำเป็นเสาเรือนต้องเป็นเสาที่มีลักษณะดี เช่น โคนต้นและปลายใหญ่เสมอกัน
๔. ฝาโปร่งลม : เพื่อการระบายอากาศในเรือนครัว ฝาเรือนใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ เข้ากรอบไม้จริง เป็นฝาแปโปร่งลม พื้นก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ลมพัดจากใต้ถุนผ่านพื้นได้อย่างสะดวก


 
เรือนหมู่ เป็นการขยายเรือนนอน ทำได้ ๓ ลักษณะ
ปลูกเรือนเรียงตามยาวต่อจากเรือนนอนของพ่อแม่ หรือเรือนนอนที่อยู่ตรงข้ามกับเรือนพ่อแม่
จัดวางตัวเรือนแบบกลุ่ม มีชานเชื่อมกลางระหว่างเรือนแต่ละหลังไม่มีหลังคา
ปลูกเรือนขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้กัน แยกเป็นหลังๆ ไม่มีชานเชื่อม


              
              

             
              ๑. เรือนฝาปะกน เรือนไทยฝาปะกน คือเรือนไทยที่ฝาทำจากไม้สัก
                  มีไม้ลูกตั้งและลูกนอนและมีแผ่นไม้เข้าสันประกอบกันสนิท
                  ฝาปะกนถือเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคกลาง
              ๒. เสาล้มสอบ เรือนไทยมีรูปทรงล้มสอบทั้งด้านสกัดและด้านยาว
                  เพื่อความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากสามารถรับแรงลมได้ดีกว่าเสาแบบตั้งฉาก
                  น้ำหนักของฝาที่ใช้ตะปูยึดตรึงกับเสาที่ล้มสอบ ยังช่วยกดโครงสร้างให้ยึด
                  กันแน่นขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
              ๓. ศาลพระภูมิ ความเชื่อที่แนบแน่นกับชีวิตคนไทย นิยมตั้งศาลพระภูมิ
                  ไว้สักการบูชา เพื่อป้องกัน เพื่อขวัญและประเพณีเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข
                  และเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย
              ๔. ใต้ถุนสูง เรือนไทยยกพื้นใต้ถุนสูง ป้องกันน้ำท่วมหน้าน้ำหลาก
                  และยังใช้ประโยชน์ในการเก็บเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็น
                  ที่พักผ่อน หรือเป็นสถานที่สร้างงานหัตถกรรมในครัวเรือ�

 
เรือนหมู่คหบดี


เรือนหมู่คหบดี : เป็นเรือนขนาดใหญ่มีจำนวนหลายหลัง หากเป็นบ้านเศรษฐีคหบดี มักจะปลูกแบบหันหน้าชนกัน ๔ ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมวง มีชานอยู่ตรงกลาง เรียกว่าชานแล่น มีหอกลางเป็นหอโถง สำหรับเป็นที่ชุมนุมของครอบครัว หากเป็นเรือนขุนนาง หอกลางนี้จะสร้างให้มีขนาดใหญ่ใช้เป็นที่ว่าราชการ ตัวเรือนหอกลางจะยกพื้น บางทีมีชายคาปีกนกยื่นออกมาเพื่อให้เป็นพื้นที่กว้างขวางยิ่งขึ้น หมู่เรือนในเรือนคหบดีนี้มักจะประกอบด้วย เรือนประธาน เป็นเรือนนอนที่มีขนาดใหญ่มาก เรือนลูกที่มีขนาดย่อมลงมา เรือนขวางที่ใช้เป็นหอกลางหรือหอนั่ง เรือนครัว หอนก และชาน




๑. หอนก สร้างขึ้นเพื่อใช้แขวนกรงนกเขา งานอดิเรกของคหบดี ที่มักจะเลี้ยงนก ปลากัด หรือเลี้ยงต้นไม้ไว้บนชานเรือนเป็นเครื่องเล่น โดยเฉพาะการเลี้ยงนกเขาเป็นงานอดิเรกที่นิยมในหมู่คหบดีทั้งหลาย ลักษณะหอนกเป็นเรือนโล่ง ไม่ตีฝา มีขนาด ๒ ช่วงเสา อยู่ด้านข้างกับหอนั่ง (เรือนขวาสุด)
๒. พาไล เรือนไทยที่มีด้านหน้าต่อเป็นชายคายื่นออกมา คือระเบียง ถ้าทำหลังคาคลุมระเบียงมีหน้าจั่วแต่ลดขนาดย่อมลงมา เรียกว่าเรือนพาไล ใช้เป็นที่รับแขกนั่งเล่น
๓. ชาน เป็นส่วนเชื่อมเรือนทุกหลัง มีขนาดกว้างมาก เปิดโล่งไม่มีหลังคา เป็นส่วนที่สัมผัสกับธรรมชาติได้มากที่สุด รับทั้งแสงแดดและลมในเวลาเดียวกัน พื้นชานยังสามารถใช้เป็นที่เลี้ยงบัว เลี้ยงไม่ดัด เลี้ยงบอน สำหรับงานอดิเรกเลี้ยงต้นไม้ หากน้ำท่วม พื้นที่นอกชานยังเป็นสถานที่ที่ปลูกทั้งสวนครัวและไม้ประดับ
๔. หอนั่งหรือหอกลาง  เป็นเรือนขวางกับเรือนนอนใช้เป็นหอนั่งหรือหอกลาง นิยมให้อยู่ด้านหน้าของบ้านใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อน รับแขกและรับประทานอาหาร ไม่จำกัดว่าจะต้องปลูกอยู่กลางชาน ลักษณะเรือนโปร่ง ๓ ช่วงเสา นอกจากนี้ยังเป็นที่สำหรับทำบุญเลี้ยงพระในเวลาที่บ้านมีงานได้ด้วย ถ้าเป็นกุฏิพระ หอนั่งนี้ก็เป็นหอฉัน หอสวดมนต์



เรือนแพ

เรือนแพ  คนไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
มักนิยมสร้างบ้านอยู่บนแพ ใช้ทั้งพักอาศัยและค้าขาย  
เรือนแพแยกได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนตัวเรือนและส่วนแพที่เป็นทุ่นลอยน้ำ
แพเป็นส่วนสำคัญที่รับน้ำหนักของเรือน ส่วนใหญ่จะใช้แพไม้ไผ่
ต่อมาวิวัฒนาการใช้เรือเหล็กหนุน ลักษณะและโครงสร้างของเรือนแพ
คล้ายกับเรือนไทย ฝามีหลายแบบ เป็นฝากระแชงอ่อนหรือฝาขัดแตะ
ซึ่งมีน้ำหนักเบาสามารถเปิดบานกระทุ้งได้





๑. เรือสำปั้น เรือข้าว หรือค้าขาย : แม่น้ำเป็นศูนย์กลางของสังคมอีกแห่งหนึ่ง ในอดีตเป็นเส้นทางคมนาคม สายน้ำคือชีวิตของคนไทย ในสมัยก่อนชาวไทยบางส่วนยังคงเกิดและอาศัยอยู่ในเรือ ซึ่งสัญจรขนส่งสินค้า ล่องไปตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ
๒. ฝาถัง : ใช้ไม้กระดานเป็นแผ่นหน้ากว้างตั้งขึ้นเป็นฝา แต่ทำเป็นลิ้นเข้าไม้สนิทเป็นแผ่นเดียวกัน พบได้ในเรือนแพส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้ขโมยที่อาจพายเรือเข้ามาเทียบแพงัดฝาได้ง่าย
๓. ลูกบวบไม้ไผ่ : เป็นไม้ไผ่ที่มัดรวมกันเป็นฟ่อนๆ ถ้าเป็นลูกบวบขนาดเล็ก ฟ่อนหนึ่งจะมี ๔๐-๕๐ ลำ หากเป็นลูกบวบขนาดใหญ่จะมีประมาณ ๖๐-๑๐๐ ลำ  ลูกบวบทำหน้าที่เป็นทุ่นให้แพลอยได้เหมือนเรือโป๊ะ แต่ราคาถูกกว่ามาก ในขณะเดียวกันก็มีอายุการใช้งานไม่ยาวนัก



การปลูกสร้างบ้านเรือน
ตามคติความเชื่อของภาคใต้
คนไทยรู้จักใช้ภูมิปัญญาสร้างบ้านเรือนให้ยืดหยุ่น สอดรับ และสู้ภัยธรรมชาติได้อย่างดี
ส่วนรูปแบบของที่พักอาศัยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิถีการดำเนินชีวิต อาชีพ และสภาพแวดล้อม

ดังนั้น บ้านเรือนจึงไม่เป็นแค่เพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่ยังเป็นที่ปลูกชีวิต ความคิด จิตใจ
หล่อหลอมความเป็นไทย ให้สืบทอดมั่นคงยืนยาวตราบนานเท่านาน...


เรือนหลังคาจั่ว : หลังคามุงด้วยกระเบื้องแผ่นสี่เหลี่ยม
เชิงชายและช่องลมใต้เพดานเป็นไม้ฉลุอย่างสวยงาม ในเรือนของผู้มีฐานะดี
ตัวเรือนใต้ถุนยกสูง มีระเบียงและนอกชานลดหลั่นกัน

เรือนเครื่องผูกหลังคาเป็นจั่วตรง พบมากในหมู่ชาวประมง ชาวนา
หลังคาใช้ใช้แฝก จาก ฟาก ตัวเรือนยกขึ้นพอคนลอดได้


เรือนที่พบเห็นทั่วไปในภาคใต้แบ่งออกเป็นเรือนเครื่องผูก เรือนเครื่องสับ และเรือนก่ออิฐฉาบปูน โดยเอกลักษณ์ของเรือนภาคใต้อยู่ที่หลังคาเรือนและเสาเรือนจะเป็นเสาไม้ตั้งบนฐานคอนกรีต เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเกิดพายุไต้ฝุ่น พายุฝน ลมแรงเสมอ จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง และด้วยเหตุที่จังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดที่ผลิตกระเบื้องในสมัยก่อน ฉะนั้น เรือนในภาคใต้ส่วนใหญ่จึงมักมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง แต่ก็พบเรือนหลังคาผูกที่ใช้วัสดุธรรมชาติมุงหลังคาด้วยแฝก จาก ฟาก เช่นกัน

หลังคาเรือนภาคใต้มี ๓ ลักษณะ คือ หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หลังคามนิลาหรือหลังคาบรานอร์ ที่พบมากจะเป็นบ้านที่มีหลังคาแบบมิลาหรือบรานอร์ และเพิ่มเติมลายไม้กลมฉลุไม้ที่ส่วนยอดซึ่งพบมากในชุมชนชาวไทยมุสลิม หลังคาทั้ง ๔ แบบมีอยู่ทั่วไป แต่สัดส่วนของหลังคาจะมีทรงสูงต่ำอย่างไรขึ้นอยู่กับช่างก่อสร้างและวัสดุมุงหลังคาในท้องถิ่นนั้น เช่นถ้าใช้กระเบื้องดินเผา หรือ กระเบื้องขนมเปียกปูน หรือ มุงแฝกจาก ความลาดชันของหลังคาจะไม่เท่ากัน

เรือนหลังคาจั่ว
ในชุมชนที่ประกอบอาชีพกสิกรรมและประมง จะปลูกสร้างเรือนหลังคาทรงจั่ว ไม่มีการตกแต่งหน้าจั่ว วัสดุมุงหลังคาส่วนใหญ่ใช้จาก แต่บางเรือนที่มีฐานะดีจะมุงกระเบื้องเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ความลาดชันของหลังคาขึ้นอยู่กับวัสดุมุงหลังคาในท้องถิ่นนั้นว่าจะใช้กระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องขนมเปียกปูนหรือมุงแฝก จาก เรือนเครื่องผูกหลังคาทรงจั่วปลูกสร้างง่ายด้วยตนเอง โยกย้ายได้ง่าย วัสดุหาง่าย เรือนในภาคใต้ไม่มีรั้วบ้าน ไม้ที่นิยมใช้ในการก่อสร้างเป็นหลัก คือ ไม้เคี่ยมไม้หลุมพอ ใช้เป็นเสา เป็นรอด ส่วนไม้หลาว ไม้ค้อ ไม้ชะโอน ใช้ทำโครงสร้างทั่วไป ส่วนเรือนเครื่องสับสำหรับผู้มีฐานะดี หลังคาจั่วเป็นรูปตรง ทรงไม่สูง ตกแต่งหน้าจั่ว ยอดจั่วมุงด้วยกระเบื้องแผ่นเหลี่ยม เชิงชายและช่องลมใต้เพดานแต่งด้วยไม้ฉลุสวยงาม ตัวเรือนใต้ถุนยกสูง มีระเบียงและนอกชานลดหลั่นกัน

เรือนหลังคาปั้นหยา
มีความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาเป็นพิเศษ หลังคาตรงหัวท้ายเป็นรูปลาดเอียงแบบตัดเหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้องแผ่นสี่เหลี่ยมตรงรอยตัดเหลี่ยมหลังคาครอบด้วยกันน้ำฝนรั่ว หลังคาแบบนี้มีโครงหลังคาแข็งแรงมากสามารถทนรับฝนและต้านแรงลม หรือพายุไต้ฝุ่นได้ดีมาก ส่วนใหญ่อยู่ทางจังหวัดสงขลา

เรือนหลังคามนิลา
หรือแบบบรานอร์เป็นการผสมผสานหลังคาจั่วผสมกับหลังคาปั้นหยา คือส่วนหน้าจั่วค่อนข้างเตี้ย จะเป็นจั่วส่วนบน ส่วนล่างของจั่วจะเป็นหลังคาลาดเอียงลงมารับกับหลังคาด้านยาวซึ่งลาดเอียงตลอด เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง เรือนแบบนี้ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปัตตานี

ลักษณะทั่วไปของเรือนไทยในภาคใต้
เรือนส่วนใหญ่จะวางเสาไว้บนตอม่อตีนเสา ซึ่งจะก่ออิฐฉาบปูน เมื่อต้องการจะทำการย้ายบ้านก็จะปลดกระเบื้องลงตีไม้ยึดโครงสร้างเสาเป็นรูปกากบาท แล้วใช้คนหามย้ายไปตั้งในที่ที่ต้องการ นำกระเบื้องขึ้นมุงใหม่ ก็สามารถเข้าอยู่ได้ทันที

เรือนไทยในภาคใต้ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ในการก่อสร้าง รูปทรงของเรือนเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงประมาณคนก้มตัวลอดผ่านได้ เสาทุกต้นไม่ฝังลงดิน แต่จะตั้งอยู่บนแผ่นปูนหรือแผ่นหินเรียบๆ ที่ฝังอยู่ในดินให้โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินไม่เกิน ๑ ฟุต เพื่อกันมิให้ปลวกกัดตีนเสาและกันเสาผุจากความชื้นของดิน ตีนเสาตอนล่างห่างจากพื้นดินประมาณ ๑-๒ ฟุตจะมีไม้ร้อยทะลุเสาทุกต้นตามความยาวของเรือนทั้ง ๓ แถว เพื่อทำหน้าที่ยึดให้โครงสร้างของเรือนแข็งแรงมากขึ้น

ตัวเรือนกั้นฝาด้วยแผ่นกระดานตีเกล็ดตามแนวนอน กั้นห้องสำหรับเป็นห้องนอน ๑ ห้อง อีกห้องหนึ่งปล่อยโล่ง ด้านหน้าบ้านมีระเบียงด้านข้าง เรือนเครื่องสับในภาคใต้จะทำช่องหน้าต่างแคบๆ ในบางแห่งไม่ทำเลยก็มี เพราะเกรงฝนสาด เนื่องจากฝนตกชุกและมีลมแรงจัด หลังคาทำทรงจั่วถากจันทันให้แอ่นแบบเดียวกับเรือนไทยภาคกลางแต่ทรวดทรงเตี้ยกว่าเล็กน้อย ติดแผ่นปั้นลมแบบหางปลา ไม่นิยมทำตัวเหงา

ในการปลูกเรือนของคนภาคใต้ เชื่อถือโชคลางเช่นกัน เช่น ห้ามปลูกเรือนบนจอมปลวก ห้ามปลูกบ้านคร่อมตอไม้ ห้ามสร้างบ้านบนทางสัญจร
การเลือกที่ดินที่เป็นมงคล ให้ดูสีพื้นดินที่เป็นสีอ่อน หรือดินสีแดง สีเหลือง กลิ่นหอมรสฝาด พื้นเทลาดจากทิศใต้ลงสู่ทิศเหนือจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเจริญด้วยลาภยศบริวาร  อีกประเภทคือ พื้นที่สูงทางทิศตะวันตก แล้วค่อยลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก ดินสะอาด หรือมีสีขาว สีเหลือง สีแดง ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขปราศจากโรคภัย ส่วนประเภทที่สามได้แก่พื้นภูมิบ้านที่มีลักษณะราบเรียบเสมอ ดินสะอาดและปราศจากกลิ่นรส เป็นทำเลที่ไม่ให้คุณและโทษ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้

ส่วนข้อห้าม ได้แก่ ห้ามปลูกบ้านตรงพื้นที่เฉอะแฉะ สกปรก ดินเลนสีดำ ดินมีหลากสี มีกลิ่นไม่บริสุทธิ์ห้ามปลูกบ้านเดือน ๔ ให้ปลูกบ้านเดือน ๑๐ การทำบันไดบ้านต้องหันไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกจำนวนบันไดต้องเป็นเลขคี่ ห้ามปลูกเรือนคร่อมคู คลองหรือแอ่งน้ำ เป็นต้น

การคัดเลือกเสาเรือน ภาคใต้ให้ความสำคัญกับเสาเรือนซึ่งเป็นโครงสร้างรากฐานสำคัญ เช่นเดียวกับภาคกลางและภาคเหนือ กล่าวคือ เสาเอก ต้องไม่มีตำหนิ มีตา ไม่ตกน้ำมัน นำมาตกแต่งด้วยผ้าแดง หรือด้ายดิบสามสี (แดง เหลือง ขาว) คาดติดไว้กึ่งกลางเสาพร้อมด้วยกล้ามะพร้าวและต้นอ้อย บางท้องถิ่นใช้รวงข้าว ขวดน้ำ กล้ามะพร้าว หน่อกล้วยผูกติดกับเสา

ข้อห้ามและคติอื่น ๆ การปลูกเรือนแต่ก่อนมีคติถือกันว่า ถ้าปลูกเรือน " ขวางตะวัน " คือ หันข้างเรือนไปทางทิศตะวันออกหรือตกไม่ดี คนอยู่จะไม่มีสุข มักเป็นเหตุให้เสียตา เพราะไปขวางหน้าตะวัน ถ้าจะปลูกเรือนให้ปลูก " ตามตะวัน" คือ หันข้างเรือนไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ จึงจะเป็นมงคล อยู่เย็นเป็นสุขสบายดี ถ้าเนื้อที่บ้านคับแคบ ปลูกเรือนให้หันข้างเรือนไปตามดวงตะวันไม่ได้ ก็ต้องหาทางปลูกให้เฉียงตะวัน คือ อย่าหันข้างเรือนตรงกับตะวันนักก็ใช้ได้เช่นกัน  คตินี้ถือปฏิบัติกันในภาคกลางและใต้ ส่วนภาคเหนือ จะวางเรือนขวางตะวันแตกต่างจากภาคอื่น ๆ

จำนวนบันไดของเรือนในทุกภาค ไม่นิยมทำเป็นเลขคู่ มักทำลูกขั้นบันไดเป็นเลขคี่ คือ ๑-๓-๕-๗-๙ เป็นต้น



๑. เรือนเครื่องผูกหลังคาจั่ว : หลังคาทั้งชายคากว้างกว่าเรือนไทยในภาคอื่นๆ เพราะภาคใต้ฝนชุก ลมพายุแรง โครงสร้างหลังคาต้องแข็งแรง
๒. หน้าจั่ว : บางบ้านตกแต่งหน้าจั่วเป็นรูปรัศมีพระอาทิตย์ โดยใช้ไม้กระดานตีซ้อนทับมองเห็นเป็นรัศมี
๓. ช่องระบายอากาศ : เพราะภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกจึงไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่างของเรือน แต่จะใช้ช่องระบายอากาศส่วนบนสุดใต้หลังคาตีไม้ห่างๆ หรือฉลุไม้ให้เป็นลวดลายต่างๆ แทน

การสร้างที่อยู่อาศัยของคนไทยในสมัยก่อน  
เป็นงานสำคัญที่เจ้าบ้านต้องคิดดัดแปลงให้บ้านให้มีความคงทน
สมดุลกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และต้านทานภัยธรรมชาติ

การปลูกเรือนต้องขอแรงจากเพื่อบ้านให้ช่วยสละแรง สละเวลา
ร่วมมือก่อร้างสร้างเรือนให้เสร็จภายในวันเดียว นี่คือภูมิปัญญา
และพลังสามัคคีของคนไทย ที่ไม่เคยเลือนหายไปตามกาลเวลา...

  
เรือนหลังคามนิลา

เรือนหลังคามนิลา


เป็นบ้านที่ผสมผสานศิลปะของเรือนหลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาไว้ด้วยกัน เกิดเป็นอีกรูปแบบที่โดดเด่น หลังคามนิลาหรือหลังคาแบบบรานอร์นี้ หน้าจั่วส่วนบนค่อนข้างต่ำ ส่วนล่างของจั่วจะเป็นหลังคาลาดเอียงลงมา สัดส่วนของหลังคาจะเป็นทรงสูงหรือทรงเตี้ย ขึ้นอยู่กับช่างก่อสร้างในท้องถิ่นและวัสดุที่จะนำมาใช้มุงหลังคาเป็นรูปแบบเรือนพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้ หากเป็นเรือนไทยมุสลิม บนยอดจั่วจะเป็นรูปต่างๆ เช่นรูปรัศมีดวงอาทิตย์ รูปดอกไม้ ภาษาอาหรับ หรือลวดลายแกะสลักไม้ต่างๆ ปิดทับกับหน้าจั่วและมักทำเป็นเสาขนาดเล็กบนยอดจั่ว


๑. กรงนกเขา การเลี้ยงนกเขาชวาได้รับความนิยมสูง มีการประกวดแข่งขันกันมาก
    อาชีพเพาะพันธุ์นกเขาชวาจำหน่าย เป็นอาชีพหนึ่งของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ จึงมักพบเห็นภาพเรือนมนิลา
    แขวนกรงนกเขาไว้รอบบ้านเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือนไทยภาคใต้
๒. หน้าต่างและช่องแสง  หน้าต่างมีน้อย ช่องกรอบบนหน้าต่างมักมีช่องทำเป็นลวดลาย
    เพื่อเป็นที่รับแสงและระบายอากาศ
๓. เสายอดจั่ว  ภาษาพื้นเมืองชาวไทยมุสลิมเรียกว่า บูวะหิมูตง ตรงปลายมุมแหลมของยอดจั่ว
    จะทำเป็นเสาขนาดเล็กทำด้วยไม้กลึง ด้านข้างของเสาตกแต่งลวดลายฉลุไม้]


ลักษณะทั่วไปของเรือนไทย

เรือนไทยในทุกภาค ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้ หรือวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งเป็น ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของเรือนไทยโบราณ ที่ทำให้แตกต่างจากชนชาติอื่น  ตามชนบททั่วไปจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ปลูกขึ้น ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ดอก ที่ขาดไม่ได้ คือ ไม้ไผ่ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไผ่ตง ไผ่สีสุก ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง ไผ่ลำมะลอก

เรือนไทยโบราณ นิยมสร้าง "วิธีประกอบสำเร็จรูป" ทั้งในเรือนเครื่องสับและเรือนเครื่องผูก เพื่อความสะดวกในการรื้อถอนขนย้ายไปปลูกใหม่ได้โดยรวดเร็ว คือสามารถย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นได้ และสามารถสร้างเสร็จได้ในวันเดียว

ตามความนิยมจะปลูกเรือนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านข้างด้านหนึ่งมีระเบียง หลังคาทรงสูงลาดชัน ชายคายื่นยาว ชานกว้าง ยกพื้น ใต้ถุนสูงโปร่ง เนื่องจากอาชีพหลักเกษตรกรรม ทำให้ทำเลที่ตั้งเรือนอยู่ใกล้ริมน้ำลำคลอง รูปทรงของเรือนจึงต้องยกใต้ถุนสูงป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ประโยชน์ของใต้ถุนยังใช้สำหรับพักผ่อนหรือทำงานในตอนกลางวัน เช่น ทอผ้า ตำข้าว เป็นต้น รวมทั้งใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ พาหนะ ตลอดจนสิ่งของต่าง ๆ  

เรือนภาคเหนือ มีลักษณะแตกต่างจากภาคกลาง คือ ฝารอบนอกจะเอียงออกจากพื้นบานปลายใหญ่ ออกไปที่แปหัวเสา ซึ่งตรงข้ามกับ เรือนไทยภาคกลาง ที่มีฐานใหญ่ปลายสอบที่แปหัวเสา ส่วนที่ปั้นลมตรงสุดอกไก่ของเรือนภาคเหนือตกแต่งงดงามแต่เรือนไทยภาคกลางตกแต่งปลายปั้นลม ส่วนเรือนไทยภาคใต้วิธีการสร้างวางตอม่อบนพื้นดินไม่ขุดหลุม ทำให้เวลาย้ายสามารถยกไปได้ทั้งหลังเลย โดยเลื่อนตอม่อตามไปด้วย

บ้าน : หน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมไทย แต่กลับมีความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ความเป็นอยู่ของทุกชีวิตภายใต้ร่มเงาเรือนไทย เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ทิศทางที่มั่นคงยั่งยืน และด้วยรากฐานที่มั่นคงนี้เอง จะสนับสนุนให้สังคมไทยยืนหยัดและก้าวต่อไปสู่เส้นทางที่สว่างไสวในอนาคต


เรือนหลังคาปั้นหยา เป็นเรือนหลังคาคลุมทั้ง ๔ ด้าน ไม่มีจั่ว
หลังคาแบบปั้นหยามีโครงหลังคาแข็งแรงมาก สามารถต้านแรงลม รับฝน
และรับพายุใต้ฝุ่นได้ดี ตรงหัวท้ายเป็นทรงลาดเอียง ตรงรอยตัดเหลี่ยมหลังคา
ครอบด้วยปูนกันน้ำฝนรั่ว ส่วนใหญ่จะพบเรือนหลังคาปั้นหยาทางจังหวัดสงขลา และปัตตานี
 
 

 

๑. ระเบียงนั่งเล่น บ้านเกือบทุกหลังจะมีระเบียงนั่งเล่น
    เป็นที่นั่งพักผ่อน พูดคุยของสมาชิกในครอบครัว

 


๒. ยุ้งข้าว มักสร้างยุ้งข้าวไว้อีกหลังต่างหาก เป็นเรือนชั้นเดียว
    หลังคาปั้นหยา หรือหลังคาจั่ว ไม่เจาะช่องหน้าต่าง ใต้ถุุนโปร่ง
    แต่ไม่สูงเท่าใต้ถุนเรือน

 


๓. หลังคามุงกระเบื้อง ในตัวเรือนเครื่องผูก อาจใช้วัสดุจากไม้ไผ่
    แต่หลังคาทรงปั้นหยา ยังคงมุงกระเบื้องที่มีแหล่งผลิตในปัตตานี
    เพื่อป้องกันพายุพัดไม่ให้หลังคาเปิดได้

 

 

ซ้ำขออภัยค่ะ

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
ขนมปังขิง's profile


โพสท์โดย: ขนมปังขิง
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
40 VOTES (4/5 จาก 10 คน)
VOTED: น้าเสธ, ซาอิ, ปุ้ม, มารคัส, mon, freeza
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
สิงโตคู่หนึ่งซั่มกัน อย่างไม่แคร์สายตาฝูงควาย ที่ยืนดูอยู่ภาพถ่ายสุดหลอน! แว๊บแรกไม่มีอะไร..แต่พอลองดูอีกที งานนี้ถึงกับผวาขับรถตกสะพาน ขณะใช้ Google Maps นำทาง เสียชีวิต 3 ราย (มีคลิป)ต้องเตเผยสาเหตุจริงๆ ที่ต้องเลิกแฟนสาวแอนนา ยอมรับสภาพคดีฉ้อโกง ศาลสั่งจำคุกกว่า 100 ปี พร้อมฝากคำขอโทษผู้เสียหายรวมเลขเด็ด! หวยแม่จำเนียร งวดวันที่ 1 ธันวาคม 2567ปิดตำนานไร่ชื่อดังที่วังน้ำเขียว ลานกางเต็นท์ยอดนิยมได้ประกาศหยุดดำเนินการแล้ว
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
แอนนา ยอมรับสภาพคดีฉ้อโกง ศาลสั่งจำคุกกว่า 100 ปี พร้อมฝากคำขอโทษผู้เสียหาย"ปู มัณฑนา" เดือด! แจ้งความนักเลงคีย์บอร์ดล็อตใหญ่ 100 เคส มี ผศ.ดร. ร่วมวงนักฟุตบอลชื่อดังจากบุรีรัมย์ได้โพสต์แนะนำ 3 ข้อที่คนญี่ปุ่นควรรู้ก่อนเดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการใช้บริการแท็กซี่ที่ควรระวังให้ดีเปิดอาชีพ แม่สามารถ เจ้าหน้าที่พบความเคลื่อนไหว ในบัญชี 100 ล้านบาทอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ขอหมายจับผู้นำพม่า ฐานขับไล่ชาวโรฮิงญา
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
รับเหมาตกแต่งภายใน เนรมิตสถานที่เดิมให้ดูใหม่ด้วยการออกแบบภายในที่ครบวงจร20 อันดับรหัสผ่านในไทย ปี 2024 ที่ถูกแฮกง่ายในเวลาไม่ถึง 1 วินาทีจักรยานเสียหายจากการขนส่งจำนวนมาก เลยออกแบบแพ็คเกจให้คล้ายกับสินค้าที่แตกหักง่ายซะเลย ปรากฏว่าได้ผลถึง 80% เลยทีเดียว5 เรื่องต้องรู้ก่อนล้างเครื่องซักผ้าเอง วิธีง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม
ตั้งกระทู้ใหม่