ห้าปีแล้ว วิกฤตฟุกุชิมะยังไม่สิ้น
เขียน โดย Shaun Burnie
เมื่อห้าปีก่อน เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ล่องเลียบชายฝั่งฟุกุชิมะ เพื่อเก็บตัวอย่างการปนเปื้อนรังสี เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งพร้อมอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ แล่นผ่านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ได้รับความเสียหาย
สกอตแลนด์อยู่ห่างจากญี่ปุ่น 9,000 กิโลเมตร แต่ทั้งสองประเทศมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันตามแนวชายฝั่งทะเลของสกอตแลนด์ คุณสามารถพบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีที่มาจากอีกฟากหนึ่งของโลกในระดับที่มีนัยสำคัญในท้องแม่น้ำและในทะเลไอริช และนั่นคือ การปนเปื้อนกัมมันตรังสี ทั้งหมดมาจากญี่ปุ่น
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เซลลาฟิลด์ ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ ทำการแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่มีความเข้มข้นระดับสูงจากเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วมากกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งกากนิวเคลียร์จากบริษัทโตเกียวอิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ เทปโก้ เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ จะถูกส่งจากญี่ปุ่นมาที่โรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่เซลลาฟิลด์ ผลของการแปรรูปกากนิวเคลียร์ที่เซลลาฟิลด์คือ กากกัมมันตรังสีระดับต่ำมากกว่า 8 ล้านลิตร ถูกทิ้งลงในมหาสมุทร ทุกวัน รับรู้กันว่า โรงงานแปรรูปที่เซลลาฟิลด์แห่งนี้ เป็นสถานที่อันตรายที่สุดในยุโรป ด้วยระดับการปนเปื้อนบนพื้น ดิน และปากแม่น้ำหลายแห่งอยู่ในระดับที่สามารถให้คำจำกัดความได้ว่า เป็นเขตหายนะภัยนิวเคลียร์ ข้อเท็จจริงก็คือ ทะเลไอริชเป็นทะเลที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีมากที่สุดในโลก ไปแล้ว
โรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เชลลาฟิลด์
วันครบรอบห้าปีแห่งหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ใกล้เข้ามาทุกที และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรืออยู่ห่างออกไปไกลเพียงใด พลังงานนิวเคลียร์ล้วนส่งผลกระทบทั้งต่อระดับชุมชนและระดับโลก
ผมยังจำข่าวของวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้ดี ผมอยู่ที่บ้านในสกอตแลนด์ และไม่ได้รู้สึกเกี่ยวข้องใดๆกับคนญี่ปุ่น แต่การทำงานรณรงค์ยุติพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นกับกรีนพีซตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ในทันทีถึงอุบัติภัย สื่อมวลชนติดต่อขอสัมภาษณ์ในทันที ผมออกอากาศสดกับบีบีซี เวิร์ลด์นิวส์ ในช่วงกลางๆของการสัมภาษณ์ ผมพูดถึงภัยคุกคามที่ฟุกุชิมะ และข่าวการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวที่ 3 ก็แทรกเข้ามา
ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ตัวที่ 1 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554
กรีนพีซญี่ปุ่นส่งทีมงานไปที่ศูนย์อพยพฟุกุชิมะ เพื่อทำการทดสอบที่เป็นอิสระถึงระดับกัมมันตรังสี และ นักวิจัยนำเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ ที่ต้องใส่ชุดป้องกันรังสีตั้งแต่หัวจรดเท้า ออกเก็บตัวอย่างสาหร่ายที่ลอยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาทดสอบ ผลที่ได้ก็ตามที่เราคาดไว้ คือมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีระดับสูง เรายังพบการแพร่กระจายของรังสีในบริเวณกว้าง ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ที่จะกลับเข้าไปอยู่ในเขตฟุกุชิมะ
ทีมตรวจสอบกัมมันตรังสีของกรีนพีซ ลงพื้นที่ตรวจสอบสาหร่ายทะเลตามแนวชายฝั่งฟุกุชิมะ
เกือบห้าปีหลังจากนั้น ผมอยู่บนเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ที่ญี่ปุ่นอีกครั้งพร้อมกับนายนาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ผู้ต่อต้านนิวเคลียร์ที่มีชื่อเสียง เรารู้สึกเป็นเกียรติและเป็นโอกาสพิเศษที่ได้ฟังอดีตนายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังถึงชั่วโมงและวันแรกๆของอุบัติภัยนิวเคลียร์ในเดือนมีนาคม 2554 และทางเราได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาครั้งนั้นด้วยงานวิจัยของกรีนพีซ ขณะที่เราล่องเรือในระยะ 2 กิโลเมตรใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ความรู้สึกอวลด้วยความคิดคำนึงและความเหนือจริง เมื่อมองจากดาดฟ้าเรือ เราจะเห็นถังเหล็กหลายใบบรรจุน้ำที่ปนเปื้อนหลายหมื่นตัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สี่ตัวมีอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นชั่วคราวครอบไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่บรรยากาศ และในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เองก็มีแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายแล้วอีกหลายร้อยตันบรรจุอยู่ โดยที่ยังไม่มีแผนการที่น่าเชื่อถือใดๆ ที่จะจัดการกับมัน
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ มองเห็นจากเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์มาที่นี่
เรือวิจัยของกรีนพีซญี่ปุ่น กำลังดำเนินการสำรวจการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีใต้ทะเลในรัศมี 20 กิโลเมตรโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ โดยมีเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ เป็นเรือปฏิบัติการรณรงค์ การที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่อยู่ใกล้บ้านผมในสกอตแลนด์นั้น กรีนพีซมุ่งที่จะทำความเข้าใจต่อไปในเรื่องผลกระทบและภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะจากอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ
สำหรับนายนาโอโตะ คัง ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นขณะเกิดหายนะภัยขึ้น การเดินทางสำรวจครั้งนี้ถือเป็นภารกิจส่วนตัวพอๆกับภารกิจทางการเมือง ในปี 2554 นายนาโอโตะ เคยพูดต่อสาธารณชนเรื่องการต่อต้านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เป็นกระบอกเสียงให้ชาวญี่ปุ่นหลายล้านคนที่ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต่างจากปัจจุบัน ที่รัฐบาลของนายอาเบะ ที่ “ทำหูทวนลม” พยายามอย่างเต็มที่จะรักษาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไว้ให้ได้ท่ามกลางวิกฤต แม้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะไม่เอา และแม้ว่าจะถูกรุมเร้าด้วยอุปสรรคทั้งทางเทคนิค การเงิน และกฎหมาย แต่มันเป็นความพยายามที่ผมเชื่อว่าจะนำไปสู่ความล้มเหลว
นายนาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์
แต่เรายังมีหวัง
ชุมชนหลายแห่งทั่วญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีนวัตกรรม อดีตนายกรัฐมนตรีรู้ดีว่า นิวเคลียร์จะต้องถูกฝังไปกับอดีต พลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นกำลังสดใส ปี 2558 มีการติดตั้งแผงเซลแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้ 13 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) ซึ่งเป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เชนไดทางตอนใต้ของญี่ปุ่นถึงสองเครื่อง จะผลิตได้ทั้งปี
การทำให้ญี่ปุ่นมีพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายที่สูงส่งอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ ยุติแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่และละทิ้งแผนการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่หมดอายุการใช้งาน พร้อมทั้งตัดทอนอุปสรรคเชิงโครงสร้างและการเงินที่เป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน
อนาคตที่ปลอดนิวเคลียร์มิใช่เพียงเป็นไปได้ แต่เป็นสิ่งสำคัญ พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับญี่ปุ่นและโลก
ฌอน เบอร์นี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซ เยอรมนี