“ปวดหลัง” แก้ได้แค่เปลี่ยนพฤติกรรม
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันนี้โรคปวดหลังไม่ได้พบเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มพบในคนวัยทำงาน รวมไปถึงวัยรุ่นเพิ่มสูงมากขึ้น อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับใครที่ต้องเผชิญกับอาการปวดหลังอยู่เป็นประจำ วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. เรามีเคล็ดลับถนอมกระดูกสันหลังมาฝากกัน
เกี่ยวกับปัญหาอาการปวดหลังที่ว่านี้ ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากกระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและบริเวณข้อต่อของกระดูกสันหลัง เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นหมอนรองกระดูกจะเกิดการเสื่อม ปริมาณน้ำที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกจะลดปริมาณลง ทำให้ความยืดหยุ่นและการทำงานของหมอนรองกระดูกไม่ดี รวมถึงการเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง นอกจากนี้เรื่องของพฤติกรรมต่างๆ ทั้งในเรื่องของการนั่ง การนอน การทำงาน ก็มีผลโดยตรงกับอาการปวดหลัง
เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพและสรีระที่ดี รวมไปถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิริยาบถต่างๆ ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ได้บอกถึงสาเหตุ พร้อมแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลัง ดังนี้
1.นั่งไม่ถูกวิธี
เราควรนั่งให้ชิดขอบในของเก้าอี้โดยหลังไม่โก่งและให้หลังชิดพนักพิง ระดับความสูงของเก้าอี้นั่งให้เท้าแตะพื้น รองรับก้นและโคนขาได้ทั้งหมด ในกรณีที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานไม่ควรนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิงหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหดเกร็งอยู่ตลอดเวลาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง
ขณะเดียวกันไม่ควรนั่งกับพื้นทั้งในท่านั่งขัดสมาธิ คุกเข่า และพับเพียบ เพราะจะทำให้น้ำหนักส่วนใหญ่ไปลงที่กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว ทำให้กระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากและทำให้ปวดหลังเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้น ผศ.นพ.ธนินนิตย์ แนะนำว่า 1.ต้องนั่งหลังตรง เพื่อลดอาการตึงที่ช่วงหลัง วางเท้าให้ราบไปกับพื้นทั้งสองข้าง ถ้านั่งไขว่ห้างหรือวางขาไว้ข้างเดียวก็จะส่งผลในเรื่องความดันที่ส่งลงไปที่ขา ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
2.ปรับระดับหน้าจอให้อยู่ตรงหน้าพอดี ให้สายตามองตรงไปด้านหน้า ไม่เงย ไม่ก้ม จะช่วยลดอาการตึงหรือเมื่อยล้าบริเวณกล้ามเนื้อช่วงคอและไหล่ได้ และ 3.ช่วงแขนที่ใช้งานพิมพ์คีย์บอร์ดให้เก็บศอกใกล้ตัว เพื่อช่วยผ่อนคลายหัวไหล่และแขน ลดอาการตึงและเมื่อยล้าจากงานได้ ที่สำคัญควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายทุกๆ 30-45 นาที
2.ยกของผิดท่า
การยกของจากพื้นไม่ควรใช้วิธีก้มหลัง แต่ควรใช้วิธีย่อเข่าและหลังตรงแทน เพราะกล้ามเนื้อหลังจะเป็นส่วนออกแรง ทำให้เกิดอาการอักเสบได้ ดังนั้นควรย่อเข่าลงนั่ง ยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงการก้มตัวทำงาน เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังบริเวณส่วนเอวรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
3.น้ำหนักตัวเกิน
น้ำหนักตัวที่มากเกินไปทำให้มีอาการปวดหลังได้ เนื่องจากจะทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น มีผลทำให้เกิดการเสื่อมและการอักเสบเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราควรรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นและกระดูกสันหลังแข็งแรงมากขึ้น
4. นอนคว่ำสาเหตุอาการปวดหลัง
หลายๆ คนชอบนอนคว่ำ เวลานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ หรือเวลาอ่านหนังสือ หารู้ไม่ว่าการนอนคว่ำนั้น เป็นทำร้ายกระดูกสันหลังโดยที่เราไม่รู้ตัว เนื่องจากเวลาเรานอนคว่ำจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่น และอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังได้ สำหรับใครที่ชอบไปนวดแผนโบราณ ก็ไม่ควรนอนคว่ำแล้วให้นวดหลัง เพราะจะทำให้หลังแอ่นและมีอาการปวดเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ส่วนใครที่ชอบนอนเอียงตัวหรือนอนตะแคง ผศ.นพ.ธนินนิตย์ บอกว่า ท่าในการนอนที่ดีที่สุด คือการนอนหงาย ส่วนการนอนตะแคงนั้น จะส่งผลกระทบกับกระดูกโดยตรง เนื่องจากเป็นท่าที่ทำให้บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างลงไปถึงช่วงขาถูกกดทับ ดังนั้นควรหาหมอนข้างหรือหมอนใบเล็กๆ มาวางแทรกไว้ระหว่างขาทั้งสองข้าง เพื่อรับน้ำหนักและช่วยป้องกันการกดทับ
5.งดสูบบุหรี่
สารนิโคตินในบุหรี่มีผลทำให้หมอนรองกระดูกขาดออกซิเจน เกิดกระบวนการเสื่อมเร็วมากกว่าปกติและยุบตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหลังมากกว่าคนทั่วไป จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อลดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น
อาการปวดหลังสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคปวดหลังได้
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
%E2%80%9C%E0%B8%9B%E0%B8%A7%
E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E
0%B8%B1%E0%B8%87%E2%80%9D%20%
E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B
9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%
89%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88
%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0
%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8
%99%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%
E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B
8%A3%E0%B8%A1.html