[Reviewed] บทวิจารณ์ ชูริเคนเซนไต นินนินเจอร์ : เมื่อสูตรสำเร็จถูกนำมาใช้อีกครั้ง
ชื่อเรื่อง : ชูริเคนเซนไต นินนินเจอร์ (手裏剣戦隊ニンニンジャー)
วันที่ฉาย : 22 กุมภาพันธ์ 2015 - 7 กุมภาพันธ์ 2016 ทางสถานีโทรทัศน์ TV-ASAHI
ทีมงานผู้เกี่ยวข้อง : เคนโตะ ชิโมะยามะ, โนบุฮิโระ โมริ (เขียนบท) / โชจิโร่ นาคาซาว่า, ฮิโรยูกิ คาโต้, คัทสึยะ วาตานะเบะ, โนโบรุ ทาเคะโมโต้, โอซามุ คาเนดะ (กำกับ)
นำแสดงโดย : ชุนสุเกะ นิชิคาวะ, กาคุ มัทสึโมโตะ, ไคโตะ นาคามูระ, ยูกะ ยาโนะ, ยามายะ คาสุมิ และ ฮิเดยะ ทาวาดะ
จำนวนตอน : 47 ตอน
======================================================
คลิกเพื่อชมเพลงเปิด
แม้นแฝงกาย แต่หาได้ซ่อนตัวไม่
忍びなれども忍ばない
เรื่องย่อ :
นานนับศตวรรษแล้วที่สงครามของโลกนินจาระหว่างจอมมาร "คิบะโอนิ เก็นเง็ทสึ" กับตระกูลนินจาผู้ปกป้องโลก "สำนักนินจา ตระกูลอิงาซากิ" ได้เปิดศึกใส่กัน ซึ่งชัยชนะได้ตกเป็นของตระกูลนินจาที่นำโดยลาสนินจา "โยชิทากะ อิงาซากิ" ได้ใช้พลังจากนินชูริเคนที่เรียกว่าดาวกระจายสิ้นสูญ หรือเอนด์ชูริเคนเข้าผนึกวิญญานของคิบะโอนิได้เป็นผลสำเร็จ ความสงบสุขเลยเริ่มต้นนับจากวันนั้นเป็นต้นมา
สามชั่วคนผ่านไป คิบะโอนิถูกปลดผนึกออกมาอีกครั้งด้วยฝีมือของลูกศิษย์นินจาในสำนักอิงาซากิอย่าง "อิซาโย่ย คิวเอม่อน" ที่แอบแฝงตัวเข้ามาเป็นเวลานานแล้ว และผู้ที่จะสามารถจัดการกับวิญญานของคิบะโอนิได้ ก็มีเพียงลูกหลานของตระกูลอิงาซากิเท่านั้น ลูกชายของลาสนินจาอย่าง "สึมุจิ อิงาซากิ" เลยทำการรวบรวมเหล่านินจาตระกูลอิงาซากิรุ่นล่าสุดให้มารวมตัวกันเพื่อกลายเป็นขบวนการนินจาดาวกระจาย นินนินเจอร์ ที่ประกอบไปด้วยนินจาหนุ่มไฟแรงผู้เป็นลูกชายของสึมุจิเอง "ทาคาฮารุ อิงาซากิ", ลูกสาวของสึมุจิอีกคน "ฟูกะ อิงาซากิ", นักเรียนเวทมนต์จากอังกฤษ "คาโตะ ยาคุโมะ", นักศึกษามหาวิทยาลัยอัจฉริยะ "โมโมะจิ คาสุมิ" และเด็กมัธยมปลาย"มัทสึโอะ นากิ" โดยทั้งห้าคนเป็นลูกหลานของโยชิทากะด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในภายหลังก็มี "คินจิ ทาคิงาวะ" นักล่าผีผู้ศรัทธาในตัวโยชิทากะอย่างแรงกล้าเข้ามาร่วมทีมด้วยอีกคน
หกนินจารุ่นใหม่จึงต้องรับหน้าที่ปกป้องโลกจากคิบะโอนิ รวมไปถึงศึกษาวิชานินจาใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องฝึกตนเพื่อที่จะกลายเป็นสุดยอดนินจา "ลาสนินจา" หรือผู้ครอบครองเอนด์ชูริเคนคนล่าสุดให้ได้
======================================================
เบื้องหลัง :
"ชิฮิโระ อิโนะอุเอะ" โปรดิวเซอร์ของทีวีอาซาฮีได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวเอาไว้ว่า นี่คือซุปเปอร์เซนไตที่เน้นความสนุกสนานในธีมของวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยมี "นินจา" เป็นสื่อกลาง ทั้งองค์ประกอบทางด้านเนื้อหา ดนตรีประกอบ รวมไปถึงกิมมิคต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินเรื่องก็จะนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างชัดเจน และประเด็นที่สองที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ก็คือการสร้างตัวละครที่ "เข้าถึงทุกคน" โดยมีทั้งนักแสดงที่เป็นคนรุ่นปู่ รุ่นพ่อ ไปจนถึงรุ่นหลานมาร่วมแสดง
======================================================
ภาพรวม :
"ชูริเคนเซนไต นินนินเจอร์" คือขบวนการซุปเปอร์เซนไตที่ดึงเอาธีมหลัก ๆ ของซุปเปอร์เซนไตซีรี่ส์เรื่องก่อนหน้ามาใช้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธีมหลักอย่างนินจา (คาคุเรนเจอร์/เฮอริเคนเจอร์), ธีมพี่น้อง-ครอบครัว (ไฟว์แมน, มาจิเรนเจอร์), ธีมสนุกสนานเฮฮา (คาร์เรนเจอร์) อีกทั้งแมชชีนของนินจาทั้งห้าเองก็สื่อถึงความเป็นมิกซ์คัลเจอร์แบบสุด ๆ (หุ่นนินจา - จิตวิญญานญี่ปุ่น / หุ่นหมา - ความน่ารัก / รถไฟ+รถบรรทุก - ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีญี่ปุ่น / หุ่นมังกร - สัตว์ในตำนานของตะวันตก และหุ่นคาวบอย - อเมริกา) ซึ่งถ้าเราแค่อ่านเฉย ๆ คงนึกภาพไม่ออกเลยว่าการจับเอาทุกอย่างมารวมกันโดยไม่มีจุดต่างกันนับว่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับผู้สร้างพอสมควร
ถึงโจทย์จะยากแบบนั้น ทีมงานก็ยังออกแบบสิ่งที่ต้องดึงเอาเอกลักษณ์ของซีรี่ส์ต่าง ๆ มารวมกันได้อย่างลงตัวสมกับที่ตั้งคอนเซ็ปท์เอาไว้ว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของซีรี่ส์นินจาที่ไม่ได้แฝงกายอยู่แค่ในเงามืดอีกต่อไป จากจุดนี้ผู้ชมเองก็ตั้งความหวังเอาไว้สูงพอสมควรครับว่าการกลับมาของซุปเปอร์เซนไตที่ใช้นินจาเป็นตัวดำเนินเรื่องจะต้องสนุกไม่แพ้สองเรื่องก่อนหน้าอย่างแน่นอน แต่ทว่า
======================================================
บทวิจารณ์ :
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณดูหนังแปลงร่างห้าสี? การออกแบบ, นักแสดง, เนื้อหา รวมไปถึงสเปเชี่ยลเอฟเฟคที่อลังการ ทุกข้อที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในขบวนการเซนไตเรื่องนี้ครับ แต่สิ่งที่อ่อนแอที่สุด และเป็นจุดที่ใหญ่ที่สุดกลับเป็นส่วนของ "เนื้อหา" ที่ขาดทั้ง "ความต่อเนื่อง - แรงกระตุ้น - และความน่าติดตาม" ไปซะดื้อ ๆ
"ความต่อเนื่อง"
นินนินเจอร์เปิดตัวด้วยพล็อตอมตะของหนังแปลงร่างเลย ที่ว่าถึงคนรุ่นก่อนแค่ผนึกเหล่าร้ายไว้ในอดีต พอวันนี้ผนึกเกิดเสื่อมขึ้นมาหรือมีลูกน้องมาปลดผนึกออก ก็ต้องให้ลูกหลานมาสู้เพื่อจัดการกับสิ่งที่คนรุ่นปู่ทิ้งเอาไว้ สิ่งที่นินนินเจอร์ได้ปูทางก็คือการสะสมเอานินชูริเคนที่ใช้ผนึกคิบะโอนิมาตอนละหนึ่งดวง แต่พอดำเนินเรื่องไปซักระยะ(ขายของหมดแล้ว) นินชูริเคนกลับหมดความหมายไปซะดื้อ ๆ
หรือแม้แต่การดำเนินเนื้อหาในบางตอนที่น่าจะสานต่ออะไรให้มันไปได้ไกลมากกว่า 1 ตอน ก็กลับตัดให้เหลือสั้น ๆ โดยไม่ทิ้งเชื้ออะไรเอาไว้ให้คิดต่อเลยแม้แต่น้อย (ก็อย่างว่า นี่หนังเด็กนี่นา อย่าไปคิดมากเลย)
"แรงกระตุ้น"
หากติดตามกันตั้งแต่ตอนที่ 1 จะพบว่าตัวละครต่าง ๆ ไม่ค่อยจะมีปูมหลังอะไรมากมายเท่าไหร่ เปิดหน้ามายังไงก็เป็นอย่างงั้นไปจนจบเรื่อง ยิ่งการตีกรอบว่าเป็นคนในสายเลือดเดียวกันก็ทำให้การฉีกบททำได้ยาก แม้แต่การเปิดตัวสตาร์นินเจอร์ หรือคินจิในช่วงต้นเรื่องที่เรียกได้ว่าค่อนข้างเร็ว (ราว ๆ ตอนที่ 6 - 7) เพื่อทำให้มีประเด็นเรื่องความแตกต่างเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่สำคัญมากมายเท่าไหร่นัก ถึงช่วงหลัง ๆ หมอนี่จะเป็นตัวละครที่มีความเชื่อมโยงกับคิวเอมอนอยู่ก็ตามที แต่ก็ถูกปูทางให้สั้นมาก ๆ จนขาดความน่าสนใจไป
"ความน่าติดตาม"
ช่วง 25 ตอนแรกเป็นอะไรที่เข้าท่าครับ มีการเปิดตัวคู่ปรับสำคัญของอะคานินเจอร์ให้พวกเราได้ลุ้นกันว่าจะปิดฉากกันยังไง หรือการที่คินจิถูกไล่ออกจากการเป็นศิษย์ ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดี อีกทั้งการดึงเอารุ่นพี่นินจา คาคุเรนเจอร์ - เฮอริเคนเจอร์ และจิไรยะ มาร่วมแจมก็ช่วยเพิ่มความน่าติดตามให้กับคนรุ่นก่อนหน้าได้สุด ๆ ยิ่งในตอนที่พวกรุ่นพี่มาก็ทำได้ดีงามสมกับเป็นการรวมรุ่นนินจาอีกครั้ง (ตอนที่ 34 ถ้าหากได้ชมก็จะพบว่าทั้งดนตรีประกอบ รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ถูกจัดมาเต็ม)
แต่ก็แค่ช่วงครึ่งเรื่องแรกเท่านั้นล่ะครับที่น่าสนใจ เพราะหลังจากทุกอย่างมาครบ ก็เหมือนเนื้อหาจะเริ่มอิ่มตัวและเป็นไปในแนว "ออกทะเล" ซะส่วนใหญ่ มีบางตอนที่สนุกจริง ๆ แต่บางตอนก็เหมือนจะมีส่ง ๆ ไปงั้น ไอ้การตามหาวิชาใหม่จากนินชูริเคนก็ไม่มีการขุดขึ้นมาพูดกันแล้ว ศัตรูระดับบอสเก่ง ๆ ก็ไม่มีออกมา ในขณะที่มาตรฐานอื่นก็ไม่ได้ตกลงไปนะครับ จะมีก็แต่ส่วนของเนื้อหาที่อ่อนเกินไปในครึ่งหลังนั่นล่ะ
======================================================
สรุป :
ถ้าหากผมดูนินนินเจอร์โดยอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวเอาไว้ในบทวิจารณ์ข้างต้น (การออกแบบ, นักแสดง, เนื้อหา และสเปเชี่ยลเอฟเฟค) ถือว่าผู้สร้างทำได้ไม่เลวเลยในแง่ของความสร้างสรรค์และการใส่ใจในองค์ประกอบของการออกแบบซีรี่ส์ แต่จุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดก็คือการเอาธีมเก่ามาใช้มากเกินไปจนทำให้แฟนรุ่นเก่าที่ติดตามมานานเกิดอิ่มตัว รวมไปถึงเนื้อหาในช่วงหลังที่ขาดแรงจูงใจจนไม่อยากจะติดตามต่อแบบอาทิตย์ต่ออาทิตย์ ก็ทำให้แฟนซุปเปอร์เซนไตซีรี่ส์ที่ติดตามมานานเลิกดูไปเลยก็มี
แต่ถ้าในแง่มุมของการสื่อสารมายังผู้ชมที่เป็นเด็ก ผมขอยกนิ้วให้เลยครับว่าเป็นซีรี่ส์ที่ผูกเอาความหลากหลายของวัฒนธรรมเข้าด้วยกันแบบที่เราซึมซับมันโดยไม่รู้ตัว เพราะในเรื่องนั้นไม่ได้กล่าวถึงการเป็นลูกหลานนินจาเพียงอย่างเดียว แต่กล่าวถึงประเด็นของศิษย์ - อาจารย์ หรือ "ชูฮะริ" (守破離) เอาไว้อย่างแยบยล
ชูฮะริ (守破離) คืออะไร? :
ชูฮาริคือหลักของการเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสุดยอดในสายวิชาต่าง ๆ
ชู (守) - เชื่อฟัง : หลักเบื้องต้นของการเรียนรู้ระหว่างศิษย์และอาจารย์
ฮะ (破) - นอกกรอบ : เรียนรู้และสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ทะลุออกไปจากกรอบที่ถูกตีเอาไว้
ริ (離) - แยกจาก : แสวงหาเส้นทางของตน โดยอาศัยหลักจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสองข้อข้างต้น
ซึ่งในเรื่องนั้นนินจาทั้งหกได้สร้างแนวทางใหม่ของการเป็นนินจา รวมไปถึงวิชานินจาแปลก ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนออกมามากมาย และที่กล่าวไปก็เป็นสิ่งที่ถูกซ่อนเอาไว้ในซีรี่ส์นี้นั่นเองครับ
หากมีโอกาสได้ชม แนะนำว่าให้ดูรวดเดียวจบเลยจะดีกว่า เพราะเนื้อหาบางตอนก็ชวนหลับจริง ๆ มีหลายคนถามว่าถ้าหากเทียบกับเรื่องที่ผ่าน ๆ มาแล้วเรื่องนี้แย่แค่ไหน ผมมองว่ามันก็ไม่ได้แย่ไปกว่ากันเท่าไหร่นะ เพราะหลัง ๆ ขบวนการซุปเปอร์เซนไตก็ไม่ค่อยเน้นความดุเดือดในการดำเรื่องมาพักใหญ่ ๆ แล้วตั้งแต่ชินเคนเจอร์ หรือโกบัสเตอร์ กลับกันเรื่องนี้มีจุดเด่นในแง่ของการออกแบบที่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าทำออกมาได้ดี แม้ว่าจะเป็นการขุดเอามุกเก่ามาหากินก็ตามทีเถอะ
คะแนนความน่าติดตาม : 6 / 10
======================================================
เกร็ดเรื่องที่น่าสนใจ :
• เป็นธีมนินจาอีกครั้ง (รอบที่สาม) และเป็นการฉลองครบรอบ 40 ปีของการสร้างเซนไตซีรี่ส์อย่างเป็นทางการ
• คำว่า นินนิน นำมาจากคำพูดติดปากของ "นินจาฮัตโตริ"
• เรื่องเดียวในธีมนินจาที่มีนักรบสีชมพู และเรื่องเดียวทีมีนักรบนินจาหญิง(คุโนะอิจิ) 2 คน และนักรบหญิงเป็นสีขาวและชมพูเหมือนกันกับเชนจ์แมน
• สีแดง น้ำเงิน และเหลือง 3 สีหลักของแม่สีล้วนแล้วแต่เป็นนักรบชาย(จากที่สิ้นสุดที่กาโอเรนเจอร์) และสีเหลืองกลับมาเป็นนักรบชายอีกครั้งในรอบ 10 ปี
• เรื่องแรกที่ฝั่งเซนไทและฝั่งศัตรูใช้อุปกรณ์ร่วมกัน(นินชูริเคน)
• เรื่องแรกที่ตัวแมชชีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธีมเดียว(มีทั้ง นินจา ช้าง ยูเอฟโอ)
• ชื่อของนักรบกลับมาใช้แบบยุคแรกอีกครั้ง(ชื่อสีเป็นภาษาญี่ปุ่น)
• ครอบครัวอิกาซากินั้น ได้นำชื่อมาจาก นินจาอิกะ ที่มีอยู่จริงในญี่ปุ่น
• นามสกุลของสมาชิกคนที่เหลือบางคนมาจากอดีตนินจาที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น (คาโต้ และ โมโมจิ)
• ในฉากเรียนวิชานินจาทุกคนใช้โต๊ะญี่ปุ่นแล้วนั่งกับพื้น มีเพียงยาคุโมะที่นั่งโต๊ะแล็คเชอร์แบบสมัยใหม่
• อาจารย์สอนเวทย์มนตร์ของยาคุโมะ/อาโอนินเจอร์ คือ โอสุ สึบาสะ/มาจิเยลโล่(ซึ่งจะมีตอนครอสโอเวอร์กันในอนาคต)
• คิบะโอนิ แปลว่า เขี้ยวอสูร / โยไค แปลว่า ปีศาจ
• หน้ากากของขุนพลคิบะโอนิทั้ง 4 มาจากหน้ากากละครโนะของญี่ปุ่น สุนัขจิ้งจอก(อิซาโยอิคิวเอมอน)-นักรบ(กาบิไรโซ)-ตาแก่(สึโกโมริมาซาคาเกะ)-หญิงสาว(อาริอาเกะโนะคาตะ)
• หุ่นยนต์ตัวสุดท้ายของซีรีย์ประกอบร่าง 6 ส่วนเป็นครั้งแรก(เกคิอัตสึไดโอ) จากที่ผ่านมาจะประกอบแค่ 5 ส่วนแล้วนักรบคนที่ 6 มักถูกทิ้ง
• มีการครอสโอเวอร์กับนินจารุ่นพี่ทั้ง 2 ขบวนการ รวมถึงเป็นตอนฉลองครบรอบ 40 ปีเซนไทอย่างเป็นทางการด้วย(ชิโนบิที่ 7) และ ครอสโอเวอร์กับนินจาต่างสายอย่าง จิไรยะ(ชิโนบิที่ 34)
• คำเกริ่นนำในเพลงเปิดมีการเปลี่ยนแปลงด้วยถ้าหากตอนนั้นๆเป็นตอนครอสโอเวอร์
• ยามายะ คาสุมิ(โมโมนินเจอร์) เคยแสดงเป็น โคมากิ รุมิ จากหนังโรงมูฟวี่ไทเซนอัลติเมนทัม(พาร์ทโฟร์เซ๋) และ ฮิลด้า กอร์ดอน เฮอร์เรอร์หญิงในตำรวจอวกาศชาลีบันและไชเดอร์เน็กซ์เจเนอเรชั่นมาก่อน
• มาสึดะ เคนจิ ผู้ให้เสียง กาบิไรโซ เคยผ่านงานแสดง คาเมนไรเดอร์ฮิบิกิ(บท ซาอิซึฮาระ ซาโอมารุ/คาเมนไรเดอร์ซันกิ), จีโร่/การุรู จาก คาเมนไรเดอร์คิบะ, ชิจิมะ วาตารุ จาก กาโร่
• นักแสดงจากฝั่งพาวเวอร์เรนเจอร์มีมาเนียนเข้าฉากด้วยในตอนที่ 34 คือคุณ Yoshi Sudarso(บลูเรนเจอร์จากพาวเวอร์เรนเจอร์ไดโนชาร์ต)
• 22 กุมภาพันธ์ในวันที่ตอนแรกฉายนั้นได้ถูกตั้งให้เป็นวันนินจาแห่งชาติอย่างเป็นทางการด้วย