เทคนิค 'การกู้สิ่งของใต้น้ำ' โดยพระชาวจีน หลักการที่ใช้กันสืบมาจนปัจจุบัน
เทคนิค ‘การกู้สิ่งของใต้น้ำ’ โดยพระชาวจีน หลักการที่ใช้กันสืบมาจนปัจจุบัน
ในศตวรรษที่ 11 ด้วยแรงดลใจจากพระรูปหนึ่งชื่อ “หวางปิ่ง” ชาวจีนได้บุกเบิกเทคนิคการกู้สิ่งของหนักขึ้นจากก้นแม่น้ำหรือทะเล
ระหว่างปี 1064-1067 สะพานทุ่นที่มีชื่อเสียงในท่าเรือผู่จิน ใกล้เมืองผูโจว ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำเหลืองอันยิ่งใหญ่ถูกน้ำท่วมหลากทำลาย สะพานนี้สร้างมาก่อนหน้านั้น 350 ปี เป็นสะพานหลักที่ใช้ข้ามแม่น้ำนี้ ประกอบไปด้วยเรือทุ่นยึดติดกันด้วยโซ่เหล็กบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ ปลายโซ่ยึดเข้ากับวัวเหล็กหล่อขนาดยักษ์แปดตัวซึ่งอยู่บนชายฝั่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ
ตอนเกิดน้ำท่วมซัดสะพานพัง วัวเหล็กหล่อเหล่านี้ก็ถูกดึงลงแม่น้ำและจมอยู่ใต้น้ำลึก เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงขอความช่วยเหลือเพื่อที่จะคิดหาวิธีเอาวัวเหล่านั้นขึ้นมา และท้ายที่สุดหวางปิ่งก็ตอบรับคำร้องขอนี้
พระรูปนั้นสั่งให้คนงานขนดินลงเรือขนาดใหญ่ให้เต็มและให้นักประดาน้ำนำสายเคเบิลไปผูกกับวัวเหล็กหล่อที่อยู่ก้นแม่น้ำ แล้วก็ค่อยๆ ขนดินบนเรือออก ทำให้เรือลอยตัวสูงขึ้นทีละน้อย เนื่องจากแรงลอยตัวของเรือเกิดเป็นแรงยกวัวเหล็กหล่อขึ้นมาจากก้นแม่น้ำ จากนั้นก็เพียงแค่แล่นเรือเข้าฝั่งลากไปยังบริเวณน้ำตื้น ก็สามารถกู้วัวเหล็กหล่อเหล่านั้นขึ้นมาได้โดยง่าย
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำเทคนิคแรงลอยตัวมาใช้กู้สิ่งของใต้น้ำ เทคนิคนี้ยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อครั้งที่เรือเดินสมุทรขนาดยักษ์ชื่อ อันเดรียอาโดเรีย จมในมหาสมุทรแอตแลนติกช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งครั้งนั้นการกู้เรือใช้วิธีการผูกซากเรือที่จมอยู่ลึกราว 225 ฟุต เข้ากับเรือขนแร่หลายลำที่บรรทุกน้ำไว้เต็ม จากนั้นก็สูบน้ำออก ซึ่งกระบวนการนี้สามารถทำซ้ำๆ กันได้หลายครั้งเท่าที่ต้องการ หากสูบน้ำออกหมดแล้ว แต่ซากเรือยังลอยขึ้นมาไม่สูงเท่าที่ต้องการ ก็ใช้เรือขนแร่อีกชุดที่บรรทุกน้ำไว้เต็มผูกติดกับซากเรือและสูบน้ำออกซากเรือก็จะลอยสูงขึ้นอีก หากยังสูงไม่พอก็วนกลับไปใช้เรือชุดแรก ทำแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะได้ระดับที่ต้องการ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่หวางปิ่งวางไว้เมื่อ 900 ปีที่แล้ว