นักโทษทั้งหลายคงจะดีใจหากได้เข้าเรือนจำแห่งนี้
เมื่อพูดถึงเรือนจำ แน่นอนใครๆ ก็ต้องนึกถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ แออัด ส่วนใหญ่มักมองว่าการติดเรือนจำเป็นการทำโทษ แต่เรือนจำ Halden ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Halden ประเทศนอร์เวย์ กลับเป็นที่ๆ มีไว้เพื่อช่วยบำบัดให้คนที่มีจิตใจทรามผิดมนุษย์ เช่นนักโทษคดีฆ่า ข่มขืน หรือ คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้กลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเพื่อให้มั่นใจว่านักโทษเหล่านี้เมื่อออกจากเรือนจำแล้วจะไม่กลับเข้าไปในเรือนจำอีก
ประเทศนอร์เวย์ยกเลิกโทษประหารสำหรับพลเรือนไปตั้งแต่ปี 1902 ต่อมาก็ยกเลิกโทษจำคุกตลอดชีวิตในปี 1981 และปัจจุบันโทษจำเรือนจำสูงสุดอยู่ที่ 21 ปีเท่านั้น วัตถุประสงค์และแนวทางดำเนินการของระบบเรือนจำแห่งนี้เน้นที่การฟื้นฟูสภาพจิตนักโทษผ่านการศึกษา การฝึกทำงาน และการบำบัด เพื่อช่วยให้นักโทษกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างสงบสุข นอกจากนี้ยังช่วยนักโทษหาที่อยู่ หางาน และหารายได้ที่มั่นคงให้ได้ก่อนที่พวกเขาจะถูกปล่อยตัว
เรือนจำ Halden เป็นเรือนจำแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นหลังการปรับเปลี่ยนนี้ เพราะฉะนั้นการออกแบบเรือนจำทั้งหมดจะคำนึงถึงจุดมุ่งหมายในการช่วยให้นักโทษออกไปมีชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไร้ปัญหา ระบบต่างๆ ทิวทัศน์ทั้งภายในและภายนอกตัวเรือนจำถูกออกแบบเพื่อลดความกดดันทางจิตใจ ความขัดแย้ง และความขุ่นเคืองระหว่างนักโทษและบุคลากร
เล่ามาอย่างนี้ คงอยากเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ย ว่าเรือนจำที่แปลกแหวกแนวนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร…ไปดูกันเลยดีกว่า
อาคารนี้คือ ยูนิต C จะเห็นได้ว่าตามหน้าต่างไม่มีลูกกรง เพราะราชทัณฑ์ต้องการให้นักโทษเห็นธรรมชาติที่สวยงามได้อย่างเต็มที่
นี่คือ Jack ก่อนเข้ามาอยู่ในเรือนจำเขาเคยเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหาร และตอนนี้เขาก็ใช้ครัวนี้เป็นที่ฝึกฝนฝีมือ เขาบอกว่า “ผมรู้สึกดีเวลาอยู่ที่นี่… รู้สึกว่ามันทำให้ผมเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น”
ทิวทัศน์รอบๆ เรือนจำสวยมาก Jan Stromnes รองหัวหน้าเรือนจำอธิบายว่า สถาปนิกที่ออกแบบเรือนจำแนะนำว่าให้เก็บความเป็นธรรมชาติโดยรอบไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยให้นักโทษได้อยู่ในสภาพที่เหมือนโลกภายนอก ซึ่งเป็นแก่นหลักของระบบราชทัณฑ์ของนอร์เวย์
เรือนจำนี้ยังลงทุนมากกับเรื่องศิลปะ และสถาปัตยกรรม โดยลงทุนถึงหนึ่งล้านดอลล่าห์กับงานศิลปะและการออกแบบแสงไฟเพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
ความสนุกในเรือนจำนี้ไม่ได้จำกัดอยู่สำหรับนักโทษเท่านั้น เพราะผู้คุมได้ขี่สกู๊ตเตอร์ในบริเวณเรือนจำเพื่อความคล่องตัว!
ผู้คุมคนหนึ่งเล่าว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับนักโทษไม่ต่างอะไรกับมิตรสหาย เมื่อปีที่แล้วมีนักโทษคนหนึ่งที่ร้องไห้เมื่อเขาถูกปล่อยตัวด้วย”
ถึงแม้ว่าระบบนี้จะยังใหม่มากจนยังไม่มีการทำสถิติออกมาให้เห็นพัฒนาการอย่างชัดเจน แต่เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายต่อเนื่องในนอร์เวย์ปีพ.ศ. 2554 (Breivik's attack) เหล่านักโทษจากเรือนจำ Halden แห่งนี้พร้อมใจกันสละเงินเบี้ยเลี้ยงรายวันที่ได้จากทางการเป็นเงิน 53 kroner (ประมาณ 310 บาท) ต่อคน/วัน เพื่อร่วมกันซื้อดอกไม้เป็นกำลังใจให้เหยื่อของเหตุการณ์น่าสลดใจครั้งนั้น...
และเชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันนี้ หลายๆ ประเทศก็เริ่มหันมาพัฒนาคุณภาพชีวิตนักโทษของตัวเองมากขึ้น เช่น สเปน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เยอร์มัน และ สวีเดน