หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ลูกเป็นกะเทย พ่อแม่ต้องเปิดใจ

โพสท์โดย Rosesexy

ด้วยระบบสื่อสารที่เปิดกว้างแค่เพียง "คลิก" นิ้วเดียวก็แชร์กันไปทั่วโลก ทำให้สังคมทุกวันนี้ได้ยิน ได้เห็น ได้อ่าน และได้พบ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศที่สาม ในรูปแบบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในบ้านเรา เปิดทีวีช่องไหนก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้จนเป็นเหมือนเรื่องปกติ

แต่ท่ามกลางความปกติ ก็ยังมีบางมุมที่ถือว่าเรื่องแบบนี้ผิดปกติ ไม่เป็นธรรมชาติ??? จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในหลายครอบครัว
คงเป็นเรื่องลำบากใจไม่ใช่น้อยสำหรับหลายๆ ครอบครัวที่เชื่อว่ายังคงไม่อาจยอมรับลูกหลานที่มีความหลากหลายทางเพศได้ โดยพยายามที่จะหาหนทางในการเยียวยารักษาให้ลูกรักกลับมาเป็นเพศปกติดังเดิม ซึ่งแท้จริงแล้วการที่ลูกเป็นอย่างนี้ ในทางจิตเวชไม่ถือว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติ แต่เป็นความพึงพอใจทางเพศที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่นั่นเอง


“แนวปฏิบัติของครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นกะเทย” โดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างพื้นที่ในการพูดคุยระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งต้องการสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนถึงแนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นกะเทย


นางนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่ครอบครัวไม่เข้าใจและติดอยู่กับความเชื่อเรื่องเพศที่ถูกปลูกฝังมา การมีคู่มือแนวปฏิบัติของครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นกะเทยก็เป็นดังเครื่องมืออันหนึ่งในการเข้าใจลูก เพื่อให้ลูกเติบโตได้อย่างดีเต็มศักยภาพ มีความสามารถได้ตามมาตรฐานในสังคม เป็นแรงจูงใจในการอยากเรียนรู้ให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับลูกได้ สิ่งสำคัญก็คือการมีพื้นที่ที่เหมาะสม ให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มี 2 เพศ และหากเขาไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย แต่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นสิ่งที่เขาเลือกเองได้ ไม่ใช่พ่อแม่หรือหมอเป็นคนบอก แต่เป็นความรู้สึกของเขาที่บอกเองว่าเขาไม่ใช่เพศใด


พญ.จิราภรณ์ อรุนากูร กุมารแพทย์ ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า จากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งที่ยังคงยึดติดอยู่ในความคิดของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือความเชื่อว่าโลกนี้มีเพียงแค่เพศชายและหญิง หากเป็นเพศอื่นหลุดออกจากนี้ นั่นคือความผิดปกติ ซึ่งสาเหตุมาจากความไม่รู้ รวมถึงมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีอารมณ์รุนแรง จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเพศที่ 3 ทำการฆาตกรรมกัน แต่ในความเป็นจริงในเพศชายหญิงก็มีเรื่องดังกล่าวให้เห็นทุกวัน อีกทั้งสังคมไทยยังอยู่ในวงจรสร้างฐานความคิดที่ผิดๆ อย่างในละครหลายเรื่องสะท้อนว่าพ่อเลว พ่อแย่ พ่อเจ้าชู้ มักจะมีลูกเบี่ยงเบนทางเพศ


ดังนั้นพ่อแม่ก็ยังอยู่ในวงจรที่มีความคิด ความเชื่อผิดๆ ตลอดเวลา รับรู้ข่าวสารที่ไม่มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วย การมีแนวปฏิบัติจะช่วยทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจพื้นฐานของธรรมชาติที่ว่า คนทุกคนมีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีกระบวนการที่จะนำแนวปฏิบัตินี้ไปใช้ต่อ โดยตนอยากให้มีเครือข่ายผู้ปกครองที่จะช่วยขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจเรื่องเพศหลากหลาย เพื่อกระจายความเข้าใจนี้ออกไปสู่คนอื่นๆ ในสังคมต่อไป รวมถึงสื่อและโรงเรียน ซึ่งถือเป็นผู้ปลูกฝังที่มีอิทธิพลกับคนในวงกว้าง ควรสร้างพื้นฐานความเข้าใจเช่นกัน ถ้าทำได้ก็จะมีประโยชน์อย่างมากในการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง


จากงานวิจัยที่ตนได้ทำการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า บุคคลมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นถึงร้อยละ 11 และยังพบว่ามีกลุ่มที่ไม่สามารถจำกัดคำนิยามทางเพศได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นได้ทำการศึกษาครอบครัว ซึ่งพบว่า ร้อยละ 40 ยอมรับได้ และอีกร้อยละกว่า 50 ยอมรับไม่ได้ โดยในกลุ่มบุคคลที่ผู้ปกครองให้การยอมรับได้นั้น พบว่าเด็กมีความสุขในชีวิตมากกว่า ผลการเรียนดีกว่า มีโรคซึมเศร้าน้อยกว่า มีภาวะเสี่ยงต่างๆ อาทิ สารเสพติดน้อยกว่าในกลุ่มคนที่ครอบครัวยอมรับไม่ได้


“หลักการสำคัญในการเป็นพ่อแม่ที่ดี คือเราต้องไม่คาดหวังและคิดว่าลูกเป็นของของเรา เราต้องยอมรับเขาได้ไม่ว่าเขาจะเป็นกะเทย ทอม ดี้ หรืออะไรก็ตาม เปรียบพ่อแม่เหมือนคนปลูกต้นไม้ ในการมีเมล็ดพันธุ์มาปลูก เราเองก็มีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน แต่หน้าที่การเจริญเติบโตเป็นหน้าที่ของต้นไม้ มันอาจจะโตเป็นต้นไม้ที่ผิดจากเมล็ดที่เราตั้งใจจะเลี้ยงตั้งแต่แรก แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรจะมีความสุขกับการเห็นต้นไม้โตมาออกดอกออกผลอย่างที่ตัวเองคาดหวัง แต่พ่อแม่ควรจะมีความสุขกับการพรวนดินรดน้ำต้นไม้ แม้ต้นไม้จะเติบโตเป็นอะไรก็ควรเป็นเรื่องของต้นไม้ ทางออกที่ดีคือการเปิดใจของคนในครอบครัว และยอมรับในธรรมชาติที่ลูกเป็น เพราะการเป็นกะเทยไม่ใช่เรื่อง "ผิดธรรมชาติ"” กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว


ผศ.ดร.โธมัส กวาดามูส อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า สังคมไทยได้รับการยกย่องจากชาว LGBT ในหลายประเทศให้เป็น "สวรรค์ของคนรักเพศเดียวกัน” แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยยังไม่ใช่สวรรค์ที่แท้จริง โดยเฉพาะกับคนไทยด้วยกันเอง เพราะหากในครอบครัวไทยมีสมาชิกเป็นคนเพศหลากหลายก็จะยังเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ และเกิดการตีตราในสังคม ซึ่งเพศหลากหลายมักจะโดนมองในแง่ลบ เป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดโรคเอดส์ เป็นต้น การมีคู่มือแนวปฏิบัติจึงเป็นเรื่องดีในการเปิดพื้นที่ของกะเทยให้กว้างและมีความเข้าใจได้เพิ่มขึ้น โดยจุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือการเริ่มต้นจากครอบครัวนั่นเอง


ด้าน ก๊อตจิ-ทัชชกร บุญลัภยานันท์ พิธีกรรายการเทยเที่ยวไทย และคุณแม่ชิสากัญญ์ บุญลัภยานันท์ ได้เปิดเผยประสบการณ์ของตัวเองว่า โชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีความเข้าใจและยอมรับได้ ไม่เคยสร้างความกดดันให้แม้ว่าลูกเป็นกะเทย แต่คนข้างนอกและสังคมกลับสร้างความกดดันให้มากกว่า ซึ่งยังมีกะเทยอีกมากมายที่ได้รับความกดดันตั้งแต่ครอบครัวของตัวเอง จึงอยากแนะนำว่าคนที่เป็นพ่อแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นกะเทย ควรเปลี่ยนทัศนคติและหยุดมองว่ากะเทยเป็นเพศที่เลวร้าย หรือเป็นโรคที่ควรรักษา ควรเปิดใจให้กับลูก ทำให้เขามีความสุขเพื่อมีแรงต่อสู้กับสังคมภายนอกได้ เพราะการที่ลูกเป็นกะเทย หรือเพศใดก็ตาม นับเป็นทางเลือกของพ่อแม่ที่สามารถเลือกได้ในการที่จะยอมรับลูกได้


ทั้งนี้ แนวปฏิบัติครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นกะเทยได้เริ่มทำขึ้นเมื่อปี 2555 โดยการเก็บข้อมูลจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นกะเทยในพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และสงขลา และจัดทำออกมาเป็นตัวอย่างเพื่อเผยแพร่ชั่วคราว โดยมีเนื้อหา เช่น การทำความเข้าใจเรื่องเพศ คำถามที่สังคมสงสัยเกี่ยวกับกะเทย ข้อกังวลต่างๆ ของผู้ปกครองและลูก เป็นต้น ในอนาคตจะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่ต่อไป โดยจะเริ่มเผยแพร่ในกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจ ก่อนจะส่งต่อกระจายความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศไปยังกลุ่มคนอื่นๆ ต่อไป.


แนวปฏิบัติเพื่อการก้าวข้ามและเรียนรู้ไปกับลูกหลาน
-ไม่หลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือปฏิเสธความจริงที่ลูกหลานของเราเป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศ เพราะอาจส่งผลต่อเรื่องความเชื่อมั่นและพื้นที่พึ่งพึงทางใจ แต่หากยังไม่พร้อมที่จะยอมรับและสนับสนุน อาจใช้ความละมุนละม่อม อดทนในการขอเลื่อนการพูดคุยกับลูกหลานออกไปพร้อมให้เหตุผลประกอบ


-หาเวลาในการใคร่ครวญ ถาม-ตอบความรู้สึกของตนเองเป็นระยะว่าพร้อมหรือไม่ที่จะค้นหาคำตอบและก้าวข้ามไปพร้อมลูกหลาน รวมถึงการถามตนเองว่าการยอมรับนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้างกับลูกหลานและครอบครัวของเรา


-ไม่เปรียบเทียบลูกหลานของตนกับลูกหลานของคนอื่นๆ และส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง เพราะการเปรียบเทียบจะสร้างความกดดันให้ลูกหลาน และผลักให้เขาไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น


-ให้ความสำคัญกับความสนใจและความถนัดของลูกหลาน ชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ดี แต่ไม่ใช่เยินยอเกินจริง เพราะอาจส่งผลตรงข้าม


-เป็นผู้ฟังที่ดี เปิดสมองเพื่อรับฟังข้อมูลและเรื่องราว เปิดใจเพื่อรับรู้ความรู้สึก และให้คำแนะนำเมื่อลูกหลานต้องการ คำแนะนำอาจเป็นสิ่งที่เรารู้ เราเข้าใจ แต่ถ้าไม่พร้อมอาจบอกตามตรง เพื่อหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ภายนอกเพิ่มเติม เช่น การปรึกษากับองค์กรที่ทำงานกับกะเทย อาทิ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน Gender-V คลินิกของโรงพยาบาลรามาธิบดี


-มีการสื่อสารระหว่างกัน โดยเน้นการสื่อสารเชิงบวก คือมองประโยชน์มากกว่าโทษหรือผลเสียที่จะเกิดขึ้น


-ใช้คำถามปลายเปิด เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายได้พูด ได้เล่าเรื่องราว ในการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของลูกหลาน เช่น ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง พยายามเลี่ยงคำถามปลายปิด เพราะบางครั้งจะคล้ายการคาดคั้นหาคำตอบมากเกินไป จนทำให้อีกฝ่ายไม่อยากตอบ เช่น ทำไม เพราะอะไร ทำไมถึงคิดอย่างนี้ ทำไมถึงทำอย่างนั้น


-มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเรื่องเพศ ไม่ใช่เฉพาะกะเทย/คนข้ามเพศ แต่หมายถึงทุกคน รวมถึงผู้ชายและผู้หญิงด้วย ซึ่งไม่ใช่ปฏิบัติแตกต่างจนรู้สึกแปลก อาจใช้จินตนาการเข้าช่วยว่าเราอยากให้คนปฏิบัติแบบไหนกับเรา


-ให้โอกาสลูกหลานได้มีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลอยู่ห่างๆ ให้การช่วยเหลือเมื่อจำเป็น


-ให้บ้านเป็นสถานที่ในการพักผ่อน และเป็นที่พึ่งพึงทางใจสำหรับลูกหลาน


-ใช้คนกลางเป็นตัวกลางพูดคุย เพื่อลดการใช้อารมณ์และการกระทบกระทั่ง เช่น ญาติ พี่น้อง ผู้ใหญ่ที่ยอมรับในตัวตนกะเทย มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเปลี่ยนวิธีคิดที่เริ่มยอมรับกะเทย


-การพูดคุยอาจมีมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะการยอมรับและเข้าใจต้องอาศัยเวลา จึงไม่ควรรีบร้อนหาข้อสรุป ควรให้เวลา แต่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน คือการพูดคุยเพื่อการยอมรับซึ่งกันและกัน
สองคำถามยอดนิยม


"ลูกเป็นกะเทยรักษาอย่างไรให้หาย"
ความเป็นกะเทยของลูก คือความเป็นตัวตน คือวิถีชีวิต ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีการรักษา สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเป็นที่ยึดเหนี่ยวและที่พักพิงให้กับเขา เพียงการพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุขดิบ และใส่ใจกัน ก็เป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกเราแล้ว


ปัจจุบันมีคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gender Variation Clinic/ Gen V clinic) ของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ที่พร้อมให้บริการปรึกษาทุกปัญหาเกี่ยวกับเป็นกะเทยเพิ่มขึ้น อย่างมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ Gender-V คลินิกของโรงพยาบาลรามาธิบดี
"กะเทยเกิดจากบาปกรรมใช่ไหม"


เรื่องของความเชื่อบางเรื่องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ชัดเจนไม่ได้ แต่ความเป็นตัวตนของมนุษย์ทุกคนมาจากการเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตนเองแทนทั้งสิ้น อีกทั้งหลายศาสนามีแนวคิดในการให้อยู่กับปัจจุบันอย่างเป็นสุข ดังนั้นพยายามอย่านำความคิดเรื่องบาปกรรมที่เป็นอดีตที่จบไปแล้วมาทำให้เกิดความทุกข์ต่อตนเองหรือลูกดีกว่า

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Rosesexy's profile


โพสท์โดย: Rosesexy
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
20 VOTES (4/5 จาก 5 คน)
VOTED: เม่ยเหนียง, ดาวประดับทับจักรวาล, หล่อลงเบื้อย, Rosesexy
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 มาแน่! คนทั่วไปรับผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568ชาวต่างด้าวข้ามฝั่งมาคลอดฟรี คนไทยเสียงแตก งานนี้ใครได้ ใครเสีย
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เฮ! เงินไร่ละพันยังมาต่อเนื่อง! ชาวนารับเงินช่วยเหลือ ธ.ก.ส. กันอยู่หรือเปล่า? มาอัปเดตกันหน่อย!
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ถามตอบ พูดคุย
ทำไม มนุษย์เงินเดือน จึงมีความอดทนไม่เท่ากัน.. แบ่งปันพูดคุยเมื่อเหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องกลายพันธุ์... เป็น เสือ หมา ควาย ในคราวเดียวสีที่ชอบทายนิสัยปีใหม่ไปเที่ยวไหนกันบ้าง
ตั้งกระทู้ใหม่