7 เทคนิค ไปเมืองนอกอย่างไรไม่ให้อ้วน By เชฟตั้ม
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับคนไทยที่มีภารกิจต้องเดินทางไปทำงาน หรือมีแผนพักผ่อนประจำปีในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเมืองหนาวอย่างยุโรป อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา บางคนถึงกับโอดครวญว่าไปต่างประเทศไม่กี่สัปดาห์น้ำหนักตัวก็ขึ้นพรวดพราด ราวกับผิวหนังสามารถสังเคราะห์เอาความหนาวเย็นมาเก็บสะสมเป็นไขมันได้ !! ตอนอยู่เมืองไทยรับประทานเข้าไปเท่าไหร่น้ำหนักก็คงเดิม แต่พอมาเมืองนอกแค่สองสามสัปดาห์ เสื้อผ้าที่เอามาเหมือนจะหดเล็กลงตามสภาพอากาศหนาวทำไมกันนะ ??
หลายคนถึงกับคิดเข้าข้างตัวเองว่า สภาวะนี้น่าจะเสมือนสภาวะจำศีลของหมีขั้วโลก พอเข้าฤดูหนาวแล้วร่างกายจะเริ่มสะสมไขมัน !!!.... (มันใช่เหรอครับ)
จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า แท้ที่จริงแล้วการที่ร่างกายของคนเราต้องอยู่ในสภาวะอากาศหนาวเย็น จะส่งผลให้น้ำหนักของเรามีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยซ้ำ !! เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารเพิ่มเติมมากกว่าสภาวะที่อยู่ในประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทย เพื่อใช้ในการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศมีแนวโน้มน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
คำตอบก็คือ “อาหาร” นั่นเองครับ ในเมืองหนาวอาหารที่พ่อครัวปรุงขึ้นมาค่อนข้างถูกออกแบบให้มีพลังงานสูงกว่าของบ้านเรา เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องใช้พลังงานเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นนั่นเอง ดังนั้นถ้ากลัวไปเมืองนอกแล้วน้ำหนักขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องระมัดระวังก็คือ “อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ” สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนมี เทคนิคดี ๆ ไปเมืองนอกอย่างไรไม่ให้อ้วน 7 ข้อ มานำเสนอครับ
• เทคนิคที่ 1 เลือกรับประทานอาหารจากขั้นตอนการปรุง เลือกจากอาหารที่สด สะอาด ผ่านการแปรรูปน้อย และมีการปรุงโดยใช้น้ำมันน้อยด้วย อาหารที่ควรเลือกรับประทาน ได้แก่ เนื้อปลา อกไก่ไร้หนัง และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำที่ผ่านการปรุงด้วยการย่าง อบ ต้ม หรือตุ๋น เสิร์ฟพร้อมกับผักสลัดต่าง ๆ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ซาลามี่ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ประกอบไปด้วยครีม หรืออาหารที่มีรสชาติหวานจัด เพื่อช่วยลดพลังงานส่วนเกินที่ได้รับจากอาหาร
• เทคนิคที่ 2 จำกัดปริมาณแป้งที่รับประทาน อาหารฝรั่งบางเมนูมักจะประกอบด้วยแป้งปริมาณสูง เช่น พาสต้า สปาเกตตี หรือรีซอตโต (ข้าวตุ๋นกับครีมและเนย) แนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่ประกอบด้วยแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตสูง โดยอาหารที่แนะนำให้รับประทาน ใน 1 จานที่อยู่ตรงหน้าถ้าแบ่งได้เป็น 4 ส่วน ควรจะมีปริมาณแป้งเพียง 1 ส่วน ผักสีเขียว 2 ส่วน และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน การรับประทานให้คำนึงถึงปริมาณอาหารด้วยนะครับ เพราะอาหารตามร้านอาหารในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีปริมาณเสิร์ฟต่อจานค่อนข้างใหญ่กว่าบ้านเรา
• เทคนิคที่ 3 หลีกเลี่ยงของทอดและอาหารฟาสต์ฟู้ด ในต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรปหรือประเทศเมืองหนาว ไม่ได้มีร้านอาหารตามสั่งให้เลือกรับประทานได้ง่ายและสะดวกแบบเมืองไทย บางครั้งจึงจำเป็นต้องใช้บริการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งก็ต้องแลกมากับปริมาณไขมันในอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด รวมทั้งแฮมเบอร์เกอร์ ชีสเบอร์เกอร์ต่าง ๆ อันที่จริงในร้านฟาสต์ฟู้ดสมัยใหม่มีเมนูที่ดีต่อสุขภาพหลายเมนู เราจึงสามารถเลือกรับประทานเมนูที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น แซนด์วิช ผักสลัด และผลไม้เมืองหนาวสด ๆ หลากสีที่มีให้รับประทานได้ตลอดทั้งปี และราคาย่อมเยา อย่าลืมนะครับว่าเมืองนอกไม่ได้มีแค่ชีส ปลาชุบแป้ง และมันฝรั่งทอด แต่ยังมีอาหารเพื่อสุขภาพให้คุณเลือกอีกตั้งมากมายสุดแต่ว่าเราจะเลือกรับประทานอะไร
• เทคนิคที่ 4 หลีกเลี่ยงของหวานและอาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารที่ควรละเว้นอย่างเช่น ช็อกโกแลตน้ำอัดลม หรือขนมหวานท้ายมื้ออาหาร ช็อกโกแลตเป็นขนมหวานที่ราคาไม่แพง และหารับประทานได้ไม่ยากในต่างประเทศ ทั้งยังมีรสชาติดีเนื่องจากผลิตจากนมเนยมีคุณภาพสูง จึงทำให้หลายคนเพลิดเพลินกับการทานช็อกโกแลต น้ำอัดลมในเมืองนอกราคาพอ ๆ กับน้ำเปล่า หลายท่านจึงรู้สึกว่าการต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำเปล่าดื่มไม่คุ้มค่าเท่ากับการดื่มน้ำอัดลม ขนมหวานท้ายมื้ออาหารถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าอดใจไม่ไหวลองสั่งมาแบ่งกับเพื่อนข้าง ๆ ก็เป็นความคิดที่ดี
• เทคนิคที่ 5 พกอาหารจากเมืองไทยไปรับประทานด้วย ถือเป็นโชคของคนไทยนะครับที่สามารถหาอาหารสดใหม่รับประทานได้จากร้านอาหารตามสั่งที่มีอยู่แทบทุกหัวมุมถนน แต่ในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว การหาอาหารดี ๆ รับประทานค่อนข้างยากสักนิด เราสามารถพกน้ำสลัด หรือน้ำยำสำเร็จรูปที่มีขายตามซูเปอร์มาร์เกตในไทยติดไปด้วย แล้วไปหาผักสลัดสด ๆ จากซูเปอร์มาเกตที่ต่างประเทศ ได้อาหารที่มีประโยชน์ รสชาติถูกปาก ราคาไม่แพง และดีต่อสุขภาพอีกด้วย
• เทคนิคที่ 6 พกธัญพืชอบแห้งกลุ่มกราโนล่า (Granola) รับประทานแทนขนมขบเคี้ยว ช่วยเพิ่มกากใยอาหารให้ระบบทางเดินอาหาร ได้เราสามารถหาซื้อกราโนล่าได้ที่ซูเปอร์มาร์เกตในต่างประเทศในราคาที่ไม่แพง
• เทคนิคที่ 7 เดินเยอะๆ เมืองนอกส่วนใหญ่จะอากาศดี การเดินชมเมืองในวันหยุดสุดสัปดาห์แทนการนั่งรถยนต์หรือรถเมล์จึงเป็นทางเลือกที่ดี ช่วยให้เราควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้นขณะดำรงชีวิตอยู่ในต่างประเทศ การเดิน 30 นาที สามารถเผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 120 แคลอรี
ทั้งนี้ก็ไม่เสมอไปที่ทุกคนจะน้ำหนักขึ้นเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะน้ำหนักลดลงด้วยซ้ำ เนื่องมาจากเกิดอาการ “อาหารไม่ถูกปาก” ช่วงที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศจึงรับประทานอาหารไม่ได้มากนัก หากคุณผู้อ่านอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มนี้ต้องระวังการรับประทานอาหารช่วง 7 วันอันตรายหลังจากที่กลับมาเมืองไทย คนกลุ่มนี้จะรับประทานมากขึ้นผิดปกติ เกิดจากภาวะโหยหาอาหารไทยรับประทานเข้าไปอย่างไม่บันยะบันยัง แทนที่จะกังวลว่าน้ำหนักจะขึ้นตอนอยู่ในต่างประเทศ กลับมาตายน้ำตื้นน้ำหนักขึ้นหลังจากกลับมา ดังนั้นหลังจากที่กลับมาเมืองไทยก็ควรตั้งสติให้มั่น ควบคุมปริมาณอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้น้ำหนักตัวยังอยู่ในระดับที่ตัวเราเองวางแผนเอาไว้