ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ “เหมายัน” กลางคืนยาวที่สุด ยืนยันสุริยะปฏิทินพันปี “ปราสาทภูเพ็ก”
วันที่ 21 – 22 ธันวาคม ของทุกปี สุริยะปฏิทินปราสาทภูเพ็กชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ยามเช้า ที่มุมกวาดจากทิศเหนือ 115 องศา (Azimuth 115) ถ้าปราสาทหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ตามโครงการ ดวงอาทิตย์จะส่องแสงเข้าช่องหน้าต่างบานที่อยู่ทิศใต้สุด
เหมายันคืออะไร คำตอบ “เหมายัน” (ออกเสียง เห-มา-ยัน) เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในซีกโลกด้านเหนือ โลกเอียงหนีจากแสงอาทิตย์มากที่สุดในรอบปีทำให้เกิดฤดูหนาว ภาษาไทยโบราณเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งต่ำมากทางทิศใต้ เป็นเหตุให้ “กลางวันสั้นที่สุด” และแน่นอนในทางกลับกัน “กลางคืนยาวที่สุด” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Winter solstice
(ถ้าว่ากันตามหลักดาราศาสตร์ ดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับผิวโลกที่เส้นรุ้ง 23.5 องศาใต้ ที่นั่นจึงเป็น “วันยาวที่สุด” ประเทศออสเตเรีย นิวซีแลนด์ และประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้ จึงอยู่ในช่วงฤดูร้อน)
ถ้าขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็กตอนเช้าตรู่วันที่ 21 -22 ธันวาคม จะเห็นอะไร คำตอบ ทุกท่านจะได้สัมผัสกับดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับตำแหน่ง “ทิศใต้สุด” ของสุริยะปฏิทิน และหากปราสาทหลังนี้สร้างเสร็จตามโครงการของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรอังกอร์ หรือที่เราๆท่านๆรู้จักกันในนาม “อาณาจักรขอม” หรือเขมรโบราณ ดวงอาทิตย์ยามเช้าจะส่องแสงตรงเข้าสู่หน้าต่างบานทิศใต้สุดของปราสาท
ถ้าจะถามว่าชาวขอมที่สร้างปราสาทภูเพ็กรู้จักปรากฏการณ์ “เหมายัน” หรือไม่
คำตอบ รู้จักดีครับ ดังตัวอย่างที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 พวกเขารู้จักปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อย่างดี ทั้ง “วิษุวัต ครีษมายัน และเหมายัน” หากท่านที่สนใจมีโอกาศไปชมปราสาทนครวัด ตรงกับวันที่ 21 – 22 ธันวาคม ลองไปเดินดูระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ในตอนพระอาทิตย์กำลังจะตก จะเห็นแสงอาทิตย์ส่องเข้ามายังภาพสลักเหตุการณ์ตอนที่ “บีสม่า” นักรบมือหนึ่งในสงคราม “มหาภารตะ” ยอมตายตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ว่า ขอตายเมื่อถึงปรากฏการณ์ “เหมายัน” โดยนอนตายบนห่าธนูของพระอรชุน
ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร เป็นโบราณสถานสมัยขอมเรืองอำนาจแห่งเดียวที่อยู่บนยอดภูเขาสูง ประมาณ 520 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปราสาทขอมอื่นๆ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทตาเมือนธม ล้วนมีความสูงแค่ 300 เมตร ทั้งนี้ไม่นับปราสาทพระวิหารซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตกัมพูชา มีความสูงประมาณ 600 เมตร