หนังญี่ปุ่นบางเรื่องรุนแรง เพื่ออะไร?
หนังญี่ปุ่นบางเรื่องรุนแรง เพื่ออะไร?
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีชื่อเสียงในเรื่องภาพยนตร์ รวมถึงได้รับการยอมรับการันตีถึงคุณภาพ ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นนั้นมีมากมาย หลากประเภทและสไตล์ หนึ่งในนั้นก็คือ ภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจัดจ้าน สื่อถึงความรุนแรงของสังคม โดยผู้กำกับภาพยนตร์ที่โดดเด่นในสายนี้ที่ชาวไทยคุ้นเคยกันก็มีอยู่หลายคน อาทิ ทาเคชิ มิอิเกะ (ผู้กำกับ Ichi the Killer, Visitor Q), เท็ตสึยะ นากาชิมะ (Confession, The World of Kanako), ซิออน โซโนะ (Suicide Club, Himizu และกระแสล่าสุดในบ้านเรากับ TAG อวสานโมเอะ)
หากดูเพียงเเค่พล็อตเรื่องภายนอก หลายคนอาจจะทักท้วงด้วยคำถามมากมาย เห้ย ทำไมทำหนังรุนแรงแบบนี้หรือหนังแบบนี้มันจะจรรโลงสังคมได้อย่างไร แต่หากมองให้ถึงแก่นก็จะพบคำตอบว่า ภาพยนตร์และผู้กำกับเหล่านี้ต่างใช้หนังในแง่มุมที่เรียกว่า ‘หนามยอกให้เอาหนามบ่ม’ นั้นหมายถึง หากมีสิ่งที่รุนแรง ไม่ชอบเกิดขึ้นในสังคมจริงก็จงอย่าปิดบังแต่ให้ยืดอกยอมรับ และทำหน้าที่ของสื่อออกมาด้วยการตีแผ่และให้แง่คิดมุมมองแก่สังคม คำถามต่อมาจึงเป็น ผู้ชมจะมองเห็นประเด็นดังกล่าวกันหรือไม่
แอดมินของยกตัวอย่างให้เห็นภาพแจ่มชัดกับภาพยนตร์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตำนานและเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยอย่าง Battle Royale (ค.ศ.2000) ที่กล่าวถึงโลกอนาคต ที่ญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาล้มละลายทางเศรษฐกิจ สังคมเสื่อมโทรม จนเหล่าผู้มีอำนาจของประเทศและบรรดาอาจารย์ต้องจัดเกมโหด สุ่มนักเรียนไปปล่อยไว้ในเกาะร้างแล้วให้ฆ่ากันเอง ผู้ที่อยู่รอดเป็นคนสุดท้ายจะเป็นผู้ชนะและมีชีวิตรอดและมีโอกาสกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคม เมื่อฟังพล็อตแบบนี้เเล้วก็อาจจะรู้สึกรุนแรงจริงๆ แต่ถ้าหากดูไปถึงตอนจบ
แอดมินคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสร้างสรรค์บทสรุปออกมาได้อย่างลงตัวและถึงแก่นมากๆ นับเป็นฉากจบของภาพยนตร์ในดวงใจของแอดมินเลยทีเดียว (แอดมินหมายถึง ฉากที่ตัวเอกกลับไปเอา ‘มีดประจำตัว’ ในตอนท้าย)
เพราะมันอิ่มเอมไปด้วยความคิดและความรู้สึกว่า ไม่ว่าเราจะประสบกับเหตุการณ์โหดร้ายขนาดไหน จากผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจเหนือกว่าซึ่งใช้มันในการเผด็จการให้เราต้องจำนนจนต้องเจ็บปวด จากมิตรภาพที่พ่ายเเพ้เเก่สัญชาตญาณการการเอาชีวิตรอด จากคนที่ไม่หวังดีที่คอยจะเเทงทำร้ายเราให้เจ็บอยู่ร่ำไป เราก็จะยังดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่ว่าเหตุการณ์ที่เจอจะกระเเทกกระทั้นให้เห็นถึงมุมมองแห่งความโหดร้ายของคำว่า 'ชีวิต' ขนาดไหน
เราก็จะไม่นำมันมาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสังคมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จะไม่เเบบว่า "ชีวิต/คน/สังคมนี้มันช่างโหดร้ายเหลือเกิน เราจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้จิตใจหยาบกระด้าง มองโลก-คนอย่างเลวร้ายสุดขั้ว และจบลงโดยการใช้ชีวิตอย่างเห็นแก่ตัว" แต่เราก็จะยังจดจำ เรียนรู้ พัฒนา ทดลอง ค้นหาวิธีรับมือ เปิดมุมมองโลกทัศน์และรับรู้ในแบบที่มันเป็น เพื่อให้เราเติบโต และเข้มแข็งขึ้นเรื่อยไป
เพราะเมื่อเรามีตัวตนขึ้นมาอยู่บนโลกนี้เเล้ว ถึงเราจะไม่ไปทำร้ายใคร ก็ต้องมีคนมาทำร้ายเราอยู่ดีจะโดยเจตนา ไม่เจตนา หรือมีข้ออ้างส่วนตัวอะไรของผู้นั้นก็ตาม มันจึงเป็นสัจธรรมที่เราจึงต้องมีมีดประจำตัวซึ่งเสมือนเป็นเกาะป้องกัน-การพร้อมรับมือ ให้เรายังพอดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่คับแคบและเจ็บปวดไปด้วยแผลอันเหวอะหวะโดยเฉพาะจากบางเหตุการณ์ที่เราไม่สมควรจะเหวอะหวะ...
———
เขียนมาซะยืดยาว หวังว่าจะช่วยไขปริศนาให้แก่ผู้ที่สงสัยได้ไม่มากก็น้อย และเพื่อนๆ ละคะ มีภาพยนตร์ญี่ปุ่นในดวงใจที่ออกแนวรุนแรงกันบ้างหรือเปล่า มาร่วมแชร์ความรู้สึก ประสบการณ์ และความคิดเห็นกันได้นะคะ
https://www.facebook.com/WAttentionThailand/posts/586837248134298:0