มารู้จัก บัตรประจำตัวประชาชนSmart Card บัตรแบบใหม่ ของคนไทย ก้าวใหม่สู่สากล(?)
เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่มากนักที่เข้าใจลึกซึ้งว่า บัตรสมาร์ทการ์ด หรือ บัตรอัจฉริยะอเนกประสงค์ ที่คนไทยจะได้ใช้งานตั้งแต่สิ้นปี 2547 นี้เป็นต้นไป แท้จริงแล้วมีประโยชน์อย่างไร และจะปฏิวัติระบบราชการ และชีวิตคนไทยอย่างไรบ้าง
Smart Card เป็นบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ ที่พัฒนาระบบมาจากบัตรประจำตัวประชาชนแบบแถบแม่เหล็ก เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้เกิด E-government, E-business, E-commerce และที่สำคัญจะต้องมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบรักษาความปลอดภัยและป้องกันการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนอเนก ประสงค์ (Smart Card) รูปแบบใหม่ มีระบบความปลอดภัยและป้องกันการปลอมแปลง 7 ประการ คือ
คือ วัสดุที่ใช้ทำตัวบัตร ข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำบัตร การพิมพ์และการเคลือบบัตร การอ่านข้อมูล (Media) บนตัวบัตร การตรวจสอบและพิสูจน์บัตร การควบคุมการผลิต การเก็บรักษาและการเบิกจ่ายตัวบัตร และการกำหนดขั้นตอนในการออกบัตรที่โปร่งใส
รูปโฉมและรายละเอียดบนบัตรสมาร์ทการ์ด ด้านหน้าประกอบด้วยชื่อ นามสกุล ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ที่อยู่ของผู้ถือบัตร สถานที่ออกบัตร วันที่บัตรหมดอายุ รหัสบาร์โค้ด และเลขรหัสเฉพาะสำหรับระบบความปลอดภัย
ด้านหลังบัตร จะมีแถบแม่เหล็กรองรับการใช้งาน เป็นบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งภายใน 3 ปีหลังจากใช้งาน ระบบนี้จะหายไป เพื่อเพิ่มเติมเป็นพื้นที่รองรับรหัสใบขับขี่ รวมทั้งมีเลขรหัสเพื่อรองรับหมายเลขหนังสือเดินทาง (Passport) และหนังสือผ่านแดน (Border Pass)
ส่วนที่เป็นชิพบนบัตร จะบรรจุข้อมูลศาสนา หมู่โลหิต ลายพิมพ์นิ้วมือ และภาพถ่ายของเจ้าของบัตร รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานอื่นเฉพาะที่จำเป็น เช่น ข้อมูลประกันสังคม เลขบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี เป็นต้น
บัตร smart card หรือบัตรอเนกประสงค์ นอกจากจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ที่จะออกให้กับประชาชนภายในเวลาไม่เกิน 15 นาทีต่อราย และกระจายการบริการบัตรไปยังสำนักทะเบียนอำเภอ/กิ่งอำเภอ และท้องถิ่นหลักทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาค
บัตร Smart Card นอกจากการเป็นบัตรแสดงตนของคนไทยแล้ว บัตรดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นหน่วยความจำเก็บสำรองข้อมูลของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา อาชีพ ประวัติการย้ายที่อยู่ หรือข้อมูลบุคคลด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยการจัดเก็บนั้นประชาชนคนนั้น ๆ ที่อนุญาตให้ส่วนราชการจัดเก็บไว้เพื่อเป็นหน่วยข้อมูลที่สำคัญในการไปติดต่อใช้บริการจากรัฐหรือเอกชน โดยไม่จำเป็นจะต้องเตรียมหลักฐานที่ทางราชการออกให้ไปแสดงอีกต่อไป
ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประหยัดทั้งงบประมาณที่จะลงทุนในการสร้างฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่อาจซ้ำซ้อนกัน ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายของประชาชนในการไปติดต่อราชการ หรือการสำเนาหลักฐานและประหยัดเวลา ทั้งนี้เพราะระบบข้อมูลที่อยู่ในบัตร smart card ของแต่ละบุคคลยังจะได้รับการออกแบบระบบให้เชื่อมโยงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนตามที่เจ้าของบัตรอนุญาต
รูปแบบของบัตรยังจะสามารถที่จะพัฒนาใช้แทนหนังสือเดินทางในการเดินทางไปต่างประเทศและการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลข้ามประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นดัชนีกลางในการตรวจสอบและยืนยันรับรองบุคคลเมื่อไปทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดความมั่นคงและมั่นใจทั้งประชาชนและหน่วยงานที่ทำว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องของบุคคลนั้นจริง ไม่ผิดตัวอย่างที่เคยมีปัญหาบ้างแล้วในอดีต
Smart Card เบื้องต้นนั้น สามารถใช้งานได้หลายกิจกรรม ที่เป็นทั้งบริการภาครัฐและเอกชน อาทิ การพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลจากตัวบุคคล และอ่านรายการจากข้อมูลในบัตร (ในชิพ) ด้วยเครื่องอ่านบัตร ข้อมูลที่มีรายการในบัตรที่จะอ่านได้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัตรหรือเจ้าของข้อมูล พิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลด้วยลายพิมพ์นิ้วมือ ที่มีการเก็บประวัติไว้ตั้งแต่การทำบัตร หรือการใช้บริการด้านทะเบียนราษฎร ณ สำนักทะเบียน รายการข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือจะช่วยให้การยืนยันตัวบุคคลนั้น ผิดพลาดน้อยมาก เพราะลักษณะของลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลหนึ่งจะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ซ้ำกัน
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ บัตร Smart Card ยังสามารถนำไปใช้ในการเป็นรหัสเข้าไปตรวจสอบรายการข้อมูลบุคคลส่วนตัวของแต่ละคนได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือคัดรับรองสำเนารายการตนเองผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเครื่องบริการอเนกประสงค์ (ตู้ MPM) การนำไปแสดงตนหรือประกอบเครื่องบริการเลือกตั้ง ประกันสังคม ประกันสุขภาพ รวมทั้งการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ภายในสิ้นปี 2547 นี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card ประมาณ 12 ล้านใบ ซึ่งประชาชนจะสามารถรับบริการบัตรประจำตัวประชาชนแบบ อเนกประสงค์ได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ/กิ่งอำเภอ และสำนักทะเบียนท้องถิ่น ที่รับบริการบัตรได้ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบัตรดังกล่าวจำเป็นต้องผลิตและตรวจสอบด้านมาตรฐานของ chip และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรับผิดชอบเป็นผู้จัดหาตัวบัตรเปล่าส่งให้กระทรวงมหาดไทยนำมาจัดทำระบบควบคุมและแจกจ่ายให้สำนักทะเบียนต่างๆ อีกทอดหนึ่ง
ดังนั้นในทางปฏิบัติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะทยอยส่งมอบบัตรให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกบัตรให้ประชาชนเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ การออกบัตรดังกล่าวลำดับแรกจะออกให้สำหรับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนที่ลงทะเบียนตามนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตามลำดับ
สฤษดิ์ วิฑูรย์