ธรรมะสอนใจ ตอน ปล่อยวางเสียบ้าง
มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ได้รับแจกันลายครามอายุหลายร้อยปีและมีราคาแพงมากจากผู้ศรัทธา เวลาศิษย์วัดทำความสะอาดพระตำหนัก พระองค์จะคอยกวดขันให้ระมัดระวังแจกันใบนั้นเป็นพิเศษ จนวันหนึ่งก็ได้เรื่องขึ้นมาจริง ๆ ขณะที่ศิษย์ทำความสะอาดอยู่นั้นได้เผลอทำแจกันตกแตกเสียงดังสนั่น พระองค์ประทับอยู่ตรงนั้นพอดี แต่แทนที่จะโกรธหรือเสียใจกลับรับสั่งออกมาว่า “เออ หมดภาระไปเสียที”
มีคำที่พระพุทธเจ้าสอนบทหนึ่งว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” การสอนเช่นนั้น บางท่านเข้าใจไปว่า ทำให้ขาดความกระตือรือร้น ตัดขาดการเสพสุขในเรื่องต่าง ๆ และเลยไปถึงขั้นทำให้ขาดความรับผิดชอบในภารกิจหน้าที่ เป็นต้น คือมองเห็นว่าการปล่อยวางกับการปล่อยทิ้งเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงการไม่ยึดมั่นในที่นี้เป็นเรื่องที่เกิดเพราะรู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามีการเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย และแตกดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อต้องการสิ่งใดก็ทำแค่สร้างเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นให้ถูกต้องดีงามที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นความรับผิดชอบที่ตรงจุดมากกว่าวิธีอื่นด้วยซ้ำ ส่วนการใช้ความยึดมั่นถือมั่นเพื่อสร้างความรับผิดชอบนั้น แม้จะได้ผล แต่ก็เต็มไปด้วยความบีบคั้น โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้ตามที่หวังหรือเมื่อได้แล้วต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดทุกข์ ท่านจึงสอนว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ความหมายก็คือไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส แต่ให้กระทำด้วยกุศลฉันทะคือความรักดีใฝ่ดีเป็นที่ตั้ง ตามหลักที่ว่า “ตัณหาเป็นสิ่งที่ต้องละ ฉันทะเป็นสิ่งที่ต้องเจริญ”
ตามเรื่องข้างต้นแสดงว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น มิได้ยึดมั่นถือมั่นแจกันลายครามด้วยกิเลสตัณหา จะมีก็แต่ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลแจกันนั้นให้ดีที่สุดซึ่งเป็นกุศลฉันทะเท่านั้น ดังนั้น เมื่อแจกันราคาแพงมีอันเป็นไปจึงมิได้เสียดายหรือยึดติด แต่กลับทรงอุทานออกมาว่า “เออ หมดภาระไปเสียที” ... ธรรมะสอนใจ ตอน ปล่อยวางเสียบ้าง
ต้องการอ่านธรรมะสอนใจเพิ่มเติม แนะนำที่ ธรรมะสอนใจบล็อก