รักครั้งแรก...เกลียดครั้งแรก เหตุใดจึงลืมไม่ลง?
ทีมนักจิตวิทยาชาวแคนาดาและสหรัฐอเมริกา เผยความจริงยิ่งกว่าภาษิต ‘รักครั้งแรก เกิดได้เพียงหนเดียว’ แม้ความรู้สึกกับคนคนนั้นจะเปลี่ยนไปในเวลาต่อมาและกลายเป็น ‘พันธะ’ ผูกพันคนเหล่านั้นเข้าด้วยกัน แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายหลังนั้นผูกพันคนสองคนแค่เพียงบางเรื่องที่รับรู้เพิ่มเติมเท่านั้น ข้อมูลเก่าทั้งหมดก็ยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา
สมองของเราจดจำข้อมูลครั้งแรกเกี่ยวกับคนคนนั้นไปอีกนาน ตราบใดที่ไม่มีประสบการณ์หรือการได้รับข้อมูลใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม และหากได้รับข้อมูลที่แตกต่างออกไป สมองจะจดจำแค่เพียงข้อมูลส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่และแตกต่างจากเดิมเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่เหลือก็ยังคงเป็นข้อมูลเดิม ดังนั้นการสร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกันย่อมดีกว่า เพราะกว่าจะรู้ข่าวใหม่ว่าคนคนนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ต้องใช้เวลานาน...
Bertram Gawronski ผู้นำทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัย The University of Western Ontario กล่าวว่า ลองจินตนาการดูว่า หากคุณรู้สึกไม่ค่อยดีกับเด็กฝึกงานใหม่ แต่สองอาทิตย์ให้หลังในงานปาร์ตีคุณกลับรู้สึกว่าผู้ชายคนนั้นช่างดีเหลือเกิน แม้ความรู้สึกครั้งแรกจะเป็นการเข้าใจผิด แต่สมองของคุณกลับยังเก็บข้อมูลเก่า ๆ เกี่ยวกับผู้ชายคนนั้นไว้ และข้อดีของเค้าที่คุณจำได้ก็คือ สิ่งดี ๆ ที่เกี่ยวกับงานปาร์ตีเท่านั้น นอกนั้นเค้าก็ยังแย่เหมือนเดิม
Gawronski และคณะทำการทดลองเพื่อทดสอบว่าเราสามารถจดจำความประทับใจครั้งแรกได้ยาวนานแค่ไหน โดยให้ผู้เข้าร่วมทดสอบได้รับข้อมูลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเกี่ยวกับคนคนหนึ่งที่อาสาสมัครได้เห็นหน้าในจอคอมพิวเตอร์ จากนั้นบอกข้อมูลเกี่ยวกับคนคนนั้นใหม่ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลในครั้งแรก จากนั้นทีมทดลองต้องการพิสูจน์ต่อว่ารายละเอียดที่เพิ่มเข้ามาใหม่มีผลต่อความรู้สึกของผู้เข้าทดสอบอย่างไร ทีมวิจัยจึงทำการเปลี่ยนสีพื้นหลังหน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะที่อาสาสมัครได้รับข้อมูลชุดหลัง
จากนั้นทีมวิจัยลองถามผู้เข้าทดสอบว่ารู้สึกอย่างไรกับคนที่เห็นหน้าในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผลการทดสอบพบว่าแม้จะมีการเปลี่ยนสีหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้คนคนนั้นดูดีขึ้น แต่อาสาสมัครกลับไม่รู้สึกแตกต่างจากเดิมเลยหากยังคงได้รับข้อมูลเดิม ซึ่งหมายความว่าข้อมูลใหม่ต้องแตกต่างจากข้อมูลเก่าเท่านั้น การเปลี่ยนสีหน้าจอจึงจะมีผล ไม่อย่างนั้นอาสาสมัครก็จะรู้สึกแบบเดิมโดยยึดข้อมูลเก่าเป็นหลัก
แม้การทดลองนี้จะสนับสนุนข้อค้นพบที่ว่า ความประทับใจครั้งแรก ยากที่จะลืม Gawronski เองยังเชื่อว่า ความประทับใจครั้งแรกเปลี่ยนแปลงได้ โดยข้อมูลใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ประสบการณ์ใหม่มีผลปรับเปลี่ยนประสบการณ์เดิม และลดความสำคัญของข้อมูลเดิมลง อย่างไรก็ตามตราบใดที่ความประทับใจครั้งแรกเกี่ยวกับคนคนหนึ่งยังไม่ถูกลบเลือนด้วยข้อมูลอื่น ความประทับใจแบบนั้นก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เช่นเดิม สรุปว่า ความรู้สึกครั้งแรกที่เกิดขึ้นมีอิทธิพลมาก แต่จะลดความสำคัญลงหากเราได้รับประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
Gawronski กล่าวว่า ผลการศึกษาสามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้มีอาการเจ็บป่วยทางจิต เช่น หากใครเป็นโรคกลัวแมงมุม นักจิตวิทยาอาจใช้ความรู้นี้ช่วยรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยการใส่ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ทำให้แมงมุมดูไม่น่ากลัวให้ผู้ป่วย ซึ่งน่าจะดีกว่าการนั่งรักษาอยู่ในห้อง
ที่มา: University of Western Ontario (2011, January 21). Why first impressions are so persistent. ScienceDaily.
อ้างอิง: www.sciencedaily.com/releases/2011/01/110118113445.htm