รู้มั้ย!?เด็กทารกมองเห็นเป็นแบบไหน
เด็กเกิดใหม่สามารถมองเห็นการแสดงออกทางสีหน้าของพ่อแม่ได้เพียงแค่ระยะ 30 เซนติเมตรเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลการรับรู้ภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกของเด็กทารก
นักวิทยาศาสตร์ผสมผสานความรู้ทางเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และความรู้เกี่ยวกับการมองเห็นของเด็กทารก จนประสบความสำเร็จในการแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เด็กทารกเกินใหม่นั้นมองเห็นสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ผลการศึกษาครั้งนี้บอกเราว่า เด็กทารกอายุ 2-3 วันสามารถรับรู้หน้าตาและอาจจะรับรู้การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าได้หากว่าอยู่ในระยะ 30 เซนติเมตรจากสายตา ซึ่งอาจจะเป็นระยะที่แม่หรือนางพยาบาลมองหน้าเด็ก หากระยะไกลกว่านั้น ภาพที่เห็นจะเบลอมาจนมองไม่เห็นหน้าหรือการแสดงสีหน้าอะไรเลย
งานวิจัยครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยจากสถาบันจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออสโล นอร์เวย์ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอัปป์ซาลา และอีคลิป ออปติกส์ ในกรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน
นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่าเด็กทารกมองเห็นภาพอย่างไร คำตอบของคำถามนี้อาจจะช่วยตอบคำถามได้ว่าเด็กทารกสามารถเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ใหญ่ในช่วงวันแรกๆหรือสัปดาห์แรกๆของชีวิตได้หรือไม่ เพราะหลังจากนั้นสายตาจะเริ่มพัฒนาจนเห็นสิ่งแวดล้อม
"ก่อนหน้านี้ เมื่อนักวิจัยพยายามจะประมาณการณ์ว่าเด็กเกิดใหม่มองเห็นอย่างไร ก็มักจะใช้ภาพนิ่งในการศึกษา แต่โลกความจริงทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่ง แนวคิดของเราคือเราจะใช้ภาพที่เคลื่อนไหว" ศาสตราจารย์ สเวน แมกนัสเซน แห่งสถาบันจิตวิทยา กล่าว
ในช่วงแรกของชีวิตวิจัยของ ศ.แมกนัสเซน นั้น เริ่มศึกษาระบบการรับรู้ด้วยสายตาของมนุษย์ จนเมื่อ 15 ปีก่อน ศ.แมกนัสเซนได้คุยกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับปัญหาในการทดสอบว่าเด็กเกินใหม่นั้นสามารถรับรู้การแสดงออกทางสีหน้าได้หรือไม่ นักวิจัยเชื่อตรงกันว่าเด็กทารกน่าจะมองเห็นและเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าได้จริงๆ
"ย้อนกลับไปตอนนั้น เราไม่มีอุปกรณ์หรือเทคนิคใดๆเลยที่จะมาทดสอบแนวคิดของพวกเรา เราเริ่มทำการขุดค้น ดังนั้น ผลการศึกษาของเรามาจากความสงสัยเก่าๆที่ไม่มีใครเคยทดสอบมาก่อน"
คำถามคือ อะไรทำให้เด็กเข้าใจการแสดงทางสีหน้า ในการตอบคำถามนี้ นักวิจัยได้รวมเอาเทคนิคทางการจำลองการมองเห็นของเด็ก โดยได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการรับรู้แสงที่ตัดกันและความละเอียดเชิงพื้นที่จากงานวิจัยในทศวรรษที่ 1980 ในครั้งนั้น มีการทดลองทำให้เด็กหันไปมองภาพ
"รูปภาพเป็นรูปที่เกิดจากการใช้เส้นลายขาวดำ เมื่อปรับความกว้างของแถบขาวดำและความถี่ บริเวณนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นสีขาวเหมือนกันหมดและเด็กก็จะไม่เพ่งไปที่ภาพ การศึกษาครั้งนั้นจึงทำให้เราได้ทราบข้อมูลว่า ระดับการตัดกันของแสงและความละเอียดเชิงพื้นที่ที่จะทำให้เด็กหันมาสนใจภาพนั้นควรจะเป็นเท่าไหร่" ศ.แมกนัสเซนอธิบาย
กล่าวคือ นักวิจัยได้ข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับการมองเห็นของเด็กแล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้คือ ภาพตามโลกความเป็นจริงนั้นจะปรากฏต่อเด็กอย่างไร เด็กทารกเกิดใหม่มองเห็นจะมองเห็นใบหน้าของผู้ใหญ่ที่กำลังก้มลงมองพวกเขาหรือไม่
ในชีวิตจริง วัตถุที่เคลื่อนไหวมักจะมองเห็นได้ง่ายกว่าภาพนิ่งที่เบลอ นักวิจัยสร้างวิดีโอของใบหน้าที่เปลี่ยนไปตามการแสดงออกทางอารมณ์ หลังจากนั้นก็กรองเอาข้อมูลที่เราอยู่อยู่แล้วออกไปไม่ให้เด็กมองเห็น แล้วให้อาสาสมัครผู้ใหญ่ดูวิดีโอ แนวคิดคือ หากผู้ใหญ่ไม่สามารถระบุการแสดงออกทางสีหน้าได้ เราก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่าเด็กเกิดใหม่ก็ไม่น่าจะรู้จักการแสดงออกทางสีหน้าของวิดีโอได้เช่นกัน
เมื่อดูวิดีโอที่ระยะ 30 เซนติเมตร ผู้ใหญ่ในการทดลองครั้งนี้สามารถระบุสีหน้าได้ตรงประมาณ 3 ใน 4 และเมื่อดูที่ระยะ 120 เซนติเมตร เริ่มแยกสีหน้าไม่ค่อยออก ซึ่งก็หมายความว่า ความสามารถในการแยกแยะสีหน้าจากภาพที่มองเห็นในเด็กก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน นั่นคือ ระยะที่มองเห็นการแสดงออกของสีหน้าได้ชัดน่าจะอยู่แค่ 30 เซนติเมตร
"สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ เราศึกษาแค่ว่าเด็กเกิดใหม่จะมองเห็นอย่างไร ไม่ได้สนใจว่าเด็กจะคิดอย่างไรต่อ" ศ.แมกนัสเซนเผย
ก่อนหน้านี้เคยมีการพยายามจำลองการมองเห็นของเด็ก ซึ่งมักจะใช้ภาพนิ่งหรือภาพเบลอ ศ.แมกนัสเซนยอมรับว่าค่อนข้างประหลาดใจที่ไม่มีใครก่อนหน้านี้ใช้ข้อมูลการมองเห็นของเด็กมาใช้ให้เกิดประโยชน์เลย ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการประมาณการณ์ข้อมูลภาพที่เด็กมองเห็นเป็นครั้งแรก
ศ.แมกเนสซัสและทีมวิจัยรู้สึกดีใจที่ตอบคำถามที่ต้องย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อนได้ ก้าวต่อไปคือการปรับปรุงผลให้ดีขึ้น
"งานวิจัยครั้งนี้ หลายๆสาขาได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง จุดยืนของเราคือ เราได้ค้นพบแล้ว หากนักวิจัยคนไหนต้องการจะสานต่อ ก็ขึ้นอยู่กับพวกเขา"
อ้างอิง: University of Oslo. (2015, June 29). How a newborn baby sees you. ScienceDaily. Retrieved July 5, 2015 from www.sciencedaily.com/releases/2015/06/150629080200.htm
งานวิจัย: O. von Hofsten, C. von Hofsten, U. Sulutvedt, B. Laeng, T. Brennen, S. Magnussen. Simulating newborn face perception. Journal of Vision, 2014; 14 (13): 16 DOI: 10.1167/14.13.16