บางครั้งเจตนาดีของเรา ก็ทำคนอื่นเป็นทุกข์ แล้วเราจะบาปหรือไม่
วันหนึ่งมีโยมที่ศึกษาธรรมะสายหลวงพ่อจรัญมาพบกับท่านว่ายทวนน้ำและเล่าประวัติของหลวงพ่อจรัญให้ท่านฟัง
โยม : มีประวัติของหลวงพ่อจรัญอยู่ตอนนึงค่ะ ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนท่านเคยขว้างท่อนไม้ออกไปนอกกุฏิแล้วท่อนไม้นั้นไปโดนหน้าสุนัขโดยไม่เจตนา สุนัขมีแผลแตกเลือดอาบไปเลย
ว่ายทวนน้ำ : แล้วเป็นยังไงต่อล่ะ?
โยม : หลังจากนั้นมีอยู่ครั้งหนึ่งก่อนท่านจะขึ้นเทศน์ ท่านรู้ว่าวันนี้จะต้องใช้กรรมตัวนั้น แล้วท่านก็ขึ้นเทศน์ ระหว่างเทศน์มีลมพัดแรงมาก ปรากฏว่ามีท่อนไม้ลอยมาจากไหนไม่รู้มาถูกหัวท่านแตกเลยค่ะ
ว่ายทวนน้ำ : โอ้
โยม : หนูอยากทราบว่า หลวงพ่อจรัญท่านไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายสุนัขตัวนั้น แต่ทำไมท่านต้องรับกรรมคะ?
ว่ายทวนน้ำ : เจตนาเป็นเรื่องของระดับจิต แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของกรรม หลวงพ่อจรัญไม่มีเจตนาทำร้ายสุนัขก็จริง แต่ท่านมีการกระทำคือการขว้างไม้ แล้วผลลัพธ์ของการขว้างไม้นั้นทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ เมื่อมีการกระทำและผลลัพธ์ของการกระทำเกิดขึ้นจะมีผลของกรรมหรือวิบากกรรมตามมา
โยม : จำเป็นไหมคะว่าผู้ถูกกระทำนั้นจะต้องโกรธ ต้องแค้นผู้ทำ ถึงจะมีวิบากกรรมตามมา?
ว่ายทวนน้ำ : ไม่จำเป็น พระเทวทัตหาเรื่องพระพุทธเจ้าตลอด ลอบทำร้ายพระพุทธเจ้าตลอด พระพุทธองค์ไม่ถือโทษ ไม่เคยโกรธพระเทวทัต แต่พระเทวทัตต้องรับวิบากกรรมจากการกระทำของตัวเอง เวลารับกรรมเป็นเรื่องกรรมของใครของมัน ผู้ทำรับกรรมของผู้ทำ ส่วนถ้าผู้ถูกกระทำเกิดความโกรธขึ้น ผู้โกรธจะรับกรรมจากความโกรธของตัวเอง ความโกรธทำให้ระดับจิตเสียเพราะจิตผิดปกติ
โยม : แล้วถ้าหนูมีเจตนาดี เจตนาช่วยเหลือผู้อื่น แต่ผลลัพธ์จากการช่วยเหลือของหนูทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนล่ะคะ?
ว่ายทวนน้ำ : เข้าใจถาม โยมเคยได้ยินเรื่องที่พระอานนท์ไม่ยอมตักน้ำให้พระพุทธเจ้าดื่มไหม?
โยม : ไม่เคยค่ะ
ว่ายทวนน้ำ : เอาล่ะจะเล่าให้ฟัง ในช่วงปลายชีวิตของพระพุทธเจ้าตอนนั้นอยู่ระหว่างเดินทาง พระพุทธเจ้าหิวน้ำมากเลยบอกให้พระอานนท์ไปช่วยตักน้ำให้ดื่มหน่อย พระอานนท์ก็ไปตักแต่ปรากฏว่าน้ำที่จะไปตักนั้นขุ่นมาก พระอานนท์เลยกลับมาบอกว่าน้ำขุ่นมากเลยไม่ตักให้
พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ไปตักมาเถอะหิวจริง ๆ พระอานนท์ก็ไปอีกรอบปรากฏน้ำขุ่นเหมือนเดิม พระอานนท์เกรงว่าพระพุทธเจ้าจะป่วยถ้ากินน้ำแบบนี้ เลยเดินกลับมารายงานว่าไม่ตักให้นะ
พระพุทธเจ้าสั่งรอบที่สามบอกอานนท์ไปตักน้ำมาหิวไม่ไหวแล้ว พระอานนท์ก็ไป ปรากฏคราวนี้น้ำหายขุ่น อยู่ดี ๆ ก็หายขุ่นไปเอง พระอานนท์ก็เลยตักให้ พระพุทธเจ้าเลยได้ดื่มหลังจากต้องทนกระหายมาก
โยม : ค่ะ
ว่ายทวนน้ำ : พระพุทธเจ้าทราบว่านี่เป็นวิบากกรรมตัวหนึ่งของท่านในอดีต ในอดีตชาติท่านเคยเป็นคนเลี้ยงวัว ปรากฏว่าวัวตัวหนึ่งเกิดหิวน้ำมากกำลังจะกินน้ำ แล้วท่านเห็นว่าน้ำนี้สกปรกเลยไม่ยอมให้วัวกิน กลัววัวจะไม่สบาย วัวก็หิวจัดล้มพับไปเลย หลังจากนั้นวัวถึงได้กินน้ำ
สังเกตไหมว่าคนเลี้ยงวัวนั้นเจตนาดี เมตตาวัวไม่อยากให้กินน้ำสกปรก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการห้ามวัวทำให้วัวหิวมาก กลายเป็นเจตนาดีแต่ไปเพิ่มเวลาความหิวให้เขา นี่คือการเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่เจตนา เมื่อมีผลลัพธ์เกิดขึ้นจึงมีวิบากตามมา
วิบากที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่เป๊ะ ๆ แบบเดียวกับที่เคยทำในอดีต แต่ผู้นั้นจะได้รับสภาวะที่เกิดกับผู้อื่นกลับคืนมาในรูปแบบเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้านั้นวิบากมันจะหลอนจิตพระอานนท์ให้ไม่ยอมตักให้ตั้งแต่ทีแรก และเมื่อหมดแรงกรรมน้ำจะหายขุ่น จึงจะตักให้
ขอให้เอาเรื่องนี้มาเป็นอุทธาหรณ์ อย่าคิดว่าเจตนาดีจะไม่รับกรรม ขอให้ดูที่ผลลัพธ์ของการกระทำเป็นหลัก ให้ระมัดระวังในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นของการกระทำมากกว่านี้ ฮวงโปถึงบอกให้อยู่เฉย ๆ เพื่อปล่อยให้วิบากของแต่ละคนทำงานของมันเอง ส่วนเราให้ยกระดับด้วยการเฉยกับทุกสิ่ง เฉยกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น
ถ้าวัวจะต้องกินน้ำขุ่นนั่นเป็นวิบากของวัวที่ต้องไปเจอน้ำบ่อนั้น ถ้าคนเลี้ยงวัวเฉยเสียปล่อยให้วัวกินไปจะไม่มีการก่อกรรมใด ๆ ขึ้นกับเหตุการณ์นั้น แต่ทีนี้พอคนเลี้ยงวัวเอาตัวลงไปยุ่ง ไปเมตตา ไปหวังดี แต่ผลลัพธ์คือ...วัวหิวนานขึ้นจึงเป็นการสร้างกรรม
ถ้าอยู่เฉยก็ไม่สร้างกรรม (ทั้งบุญและบาป) ที่สร้างกรรมเพราะอยู่ไม่เฉย