ร่วมลงชื่อต่อต้านเปอร์เซ็นต์นำจับจากใบสั่งจราจร
เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่คลิปตำรวจกระโดดขวางวินมอเตอร์ไซต์รับจ้างขณะตั้งด่านตรวจ จนพี่วินฯ เบรคกระทันหันรถล้ม แต่แล้วตำรวจจราจรที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 2 นาย กลับไม่ให้การช่วยเหลือและไม่สนใจอาการบาดเจ็บของเจ้าของรถ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล หลังเกิดเหตุ ผู้บังคับบัญชาของสถานีตำรวจเจ้าของเรื่อง ก็ออกมาให้ข่าวว่า เป็นเพราะพี่วินฯ หนีจากด่านแรกมา
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรที่กระทำการโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายพรบ.จราจร เป้าหมายของเจ้าหน้าที่ก็คือ เน้นใบสั่งเพียงอย่างเดียว เพื่อหวังเปอร์เซ็นต์รางวัลนำจับ [อัตราเงินรางวัลสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากใบสั่งหรือการตั้งด่านจับกุมนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามความข้อหาของผู้กระทำผิด โดยแบ่งเป็น จากการล็อคล้อ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก ซึ่งเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งที่มากที่สุดคือ “ร้อยละ 95” (ที่มา)]
ปกติแล้วหากตำรวจจะตั้งด่านอย่างถูกกฎหมายจริงจะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งอีกประเด็นสำคัญหนึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนด้วย เช่น การตั้งป้ายบอกชัดเจน มีป้ายแสดงข้อความ “หากเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับการ [พร้อมเบอร์โทรศัพท์]” ระบุนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ไม่ตั้งด่านซ้ำบนถนนเดียวกัน ฯลฯ แต่ที่เราไม่แน่ใจก็คือ ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ จะมีสักกี่ด่านที่ถูกกฎหมาย ตั้งเพื่อรักษาความปลอดภัย และจัดระเบียบผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างแท้จริงเพราะด่านเถื่อนที่ตั้งขึ้นเพียงเพราะเจ้าหน้าที่หวังรางวัลนำจับ ก็เหมือนการรังแกประชาชนหาเช้ากินค่ำ!
ในฐานะตัวแทนของ ‘ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม’ ได้มีการเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเรื่องการตั้งด่านจราจรในกรุงเทพมหานครทั้ง 88 สน. ที่สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ไม่ได้เน้นการตั้งด่านจราจรเพื่อปราบอาชญากรรม เช่น การตรวจอาวุธปืน หรือยาเสพติด แต่กลับเน้นเรื่องใบสั่ง ซึ่งนับตั้งแต่ยื่นเรื่องไป ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังเพิกเฉย กลับปล่อยให้มีการตั้งด่านที่ไม่เป็นกิจลักษณะตามกฎหมาย
ดังนั้น เราจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ใช้รถใช้ถนน ร่วมต่อต้าน "ยกเลิกเปอร์เซ็นต์นำจับใบสั่งจราจร" เพื่อให้ตำรวจจราจรให้บริการประชาชนโดยการตั้งด่าน เพื่อเน้นอาชญากรรมเป็นหลัก มิใช่ผลประโยชน์ของตนเอง เราขอให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองบังคับการตำรวจนครบาล หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาชี้แจงมาตรการหรือทางออกที่ดีที่สุดโดยเร็วที่สุด