เกร็ดความรู้ เพราะอะไร เราถึงสมควร แยกระบบ สืบสวน-สอบสวน ของตำรวจออกจากกัน
ไม่นานมานี้ข่าวการจับผิดตัวคดีข่มขืนหญิงชราที่จังหวัดนครปฐมดังไปทั่วเมืองไทยในขณะนี้ และสะท้านระบบยุติธรรมไทยเป็นอย่างมากเมื่อพบว่า ระบบสืบสวน-สอบสวนของเมืองไทยที่ได้แพะมาเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้สารภาพ
เหยื่ออธรรมของระบบดังกล่าวให้ข้อเท็จจริงว่า ขณะทำงานปกติมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบหลายคนเข้ามาควบคุมตัวพร้อมภาพถ่ายเปรียบเทียบ ก่อนจะกดดันบีบบังคับให้รับสารภาพด้วยวลีดั้งเดิมแต่โบราณ "ยอมรับสารภาพซะ โทษจะได้ไม่หนัก"
ถ้าหากไม่มีผลการตรวจ DNA ออกมายืนยันว่าเป็นคนละคนกัน ผู้บริสุทธ์รายนี้คงกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมและแพะในเรือนจำไปอีกคนอย่างแน่นอน
ปัญหาของวัฒนธรรมในการสืบสวน-สอบสวนของไทยที่ผ่านมา มักมีการสืบสวนจากผู้ต้องหาไปสู่หลักฐานมากกว่าจากหลักฐานนำไปสู่ผู้ต้องหา ซึ่งนำไปสู่การทรมานให้รับสารภาพและวิถีอำนาจนิยมของตำรวจในที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจว่าหากคุกไทยจะมีแพะและคนจนมากมายอยู่รวมกัน
ระบบการสืบสวน-สอบสวนของไทยมีปัญหามานานมากแล้ว เนื่องเพราะไม่ยอมปฏิรูประบบงานสืบสวน-สอบสวนแยกออกจากกันเหมือนนานาอารยะประเทศ กระบวนการยุติธรรมจึงถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดระหว่างคนจนกับคนรวยและผู้มีอำนาจ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจมากเพราะมีทั้งอำนาจสืบสวน-สอบสวนอยู่ในมือ
ระบบดังกล่าวจะว่าไปแล้วหากผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความผิดเสียเอง ในทางพฤตินัยแล้วผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อำนาจสั่งการให้ทำการสอบสวนโดยมิชอบก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกลั่นแกล้ง แจ้งข้อหา หรือสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเป็นสำนวนไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดเสนออัยการเพื่อสั่งงดสอบสวน หรือแม้กระทั่งบิดเบือนพยานหลักฐานช่วยผู้กระทำผิดทางอาญาให้สั่งไม่ฟ้องก็ได
เพราะปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรผูกขาดการสอบสวนทั้งหมด แต่เต็มไปด้วยสายบังคับบัญชาและชั้นยศเช่นเดียวกับกองทัพ แล้วพนักงานสอบสวนจะมีอิสระในการทำงานตามกฎหมายได้อย่างไร หากต้องรอผู้บังคับบัญชาให้ไฟเขียว-ไฟแดงอยู่ ขณะที่ทั่วโลกเขาถือว่างานตำรวจเป็นงานพลเรือน เจ้าหน้าที่จึงไม่จำเป็นต้องมีชั้นยศเหมือนกับกองทัพ และจำเป็นต้องแยกอำนาจการสืบสวน-สอบสวนออกจากกัน เพื่อป้องกันการช่วยเหลือทางคดีและบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมให้ถูกเลือกปฏิบัติ
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ตำรวจไทย ต้องแยกอำนาจ “สืบสวน” และ “สอบสวน” ออกจากกัน
ผมเคยไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การพัฒนาและปฏิรูประบบตำรวจไทยเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ขึ้น ท่ามกลางปัญหาความเหลื่อมล้ำและอาชญากรรมจำนวนมากในประเทศในขณะนี้ Chief Ralph Caldwell ผู้บัญชาการตำรวจของ Springfield เมืองหลวงของรัฐ ILLINOIS เขายืนยันหนักแน่นว่าตำรวจที่นี่ใช้นิติวิทยาศาสตร์ เก็บตัวอย่างไปพิสูจน์ และให้ความสำคัญมากกว่าปากคำพยาน โดยใช้หลักการ "จากหลักฐานไปสู่ผู้ต้องหา ตำรวจมีหน้าที่พิสูจน์ว่าเขาผิดจริง" แต่ในเมืองไทยกลับกลายเป็นว่า "จากผู้ต้องหาไปสู่หลักฐานและผู้ต้องหาจะต้องพิสูจน์ตนเอง"..
จะว่าไปแล้ว กระบวนการยุติธรรมของไทยได้รับความศรัทธาน้อยลงมานานมากแล้วจนไม่สามารถเป็นเสาหลักของประเทศได้ เมื่อประชาชนไม่เชื่อว่าด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมมีความสุจริตและมีประสิทธิภาพ เพราะปัญหาการสอบสวนคดีอาญาในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมามักถูกเลือกปฏิบัติจนได้รับความน่าเชื่อถือน้อยลง ยิ่งหากเมื่อเห็นว่ามีการปฏิบัติในการสอบสวนที่แตกต่างกันระหว่างผู้เสียหายและผู้ต้องหาที่เป็นคนยากจนกับคนร่ำรวยหรือมีอำนาจ
ผมนึกถึงบทเรียนกรณีคดีเชอรี่แอนและแพะในหลายคดีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอยด่างพร้อยของกระบวนยุติธรรมไทยอย่างชัดเจน
คดีการอุ้มหายนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกระเหรี่ยงจังหวัดเพชรบุรี คดีการอุ้มฆ่านายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน คดีฆ่า "ชิปปิ้งหมู" นายกรเทพ วิริยะ พยานปากเอกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีเลี่ยงภาษี และอีกหลายคดีที่ผ่านมานั้นยังไม่ได้รับคำตอบจากกระบวนการยุติธรรมไทยแต่อย่างใด เพราะระบบการสืบสวน-สอบสวนที่มีปัญหา และเจ้าพนักงานไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
หนักไปกว่านั้น ผมนึกถึงกรณีคดีน้องไล่ลากับข้าวเหนียวไก่ เมื่อเจ้าพนักงานสรุปการสอบสวนอย่างรวบรัดยัดข้อหาสุนัขที่ไม่มีทางต่อสู้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ และไม่มีโอกาสรับทราบข้อกล่าวหาจากตำรวจเพื่อให้ถ้อยคำต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมได้ ฮา..
คดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ อัญชัญบุตร ซึ่งมีเงื่อนงำมหาศาลและหลายคนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ แม้กระทั่งนายชูวิทย์ กมลวิศิษย์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพราะคนร้ายไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ และพบว่ามีพิรุธในคดีมากมายเมื่อนายตำรวจระดับผู้ใหญ่ 2 นายให้สัมภาษณ์ขัดแย้งกันเองจนผิดคิว ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าหากมีมืออาชีพที่เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำน่าจะมีการวางแผนกันมาเป็นอย่างดี เพราะสภาพศพถูกถอดเสื้อผ้าออกหมดเพื่อทำลายหลักฐานสำคัญโดยเฉพาะ DNA แต่เป็นการฆาตกรรมอำพรางที่ไม่เนียนเท่าไหร่จนผลการสอบสวนออกมาทะแม่งๆ แบบนั้น
ผู้เชี่ยวชาญยังให้ความเห็นอีกว่า หากจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสืบสวน-สอบสวนเกี่ยวข้อง กระบวนการทำแผนประกอบการรับสารภาพของผู้ต้องหาในจุดต่างๆ ก็คือกระบวนการทำลายหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไปในตัวนั่นเอง!
ถึงเวลาแล้วที่ระบบงานตำรวจไทยต้องแยกอำนาจสืบสวนและสอบสวนออกจากกัน อำนาจสืบสวนยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม แต่อำนาจสอบสวนไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกต่อไป
หัวใจการปฏิรูปตำรวจคือทำอย่างไรให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นอิสระ ปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุจริต โดยไม่ต้องเกรงกลัวตำรวจผู้ใหญ่ที่สั่งการหรือใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไป
คำตอบคือต้องโอนย้ายพนักงานสอบสวนออกมาเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องสังกัดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกต่อไป หรืออาจแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาแทนก็ได้เหมือนในอารยะประเทศ
เพื่อแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ และให้มีงบประมาณที่เหมาะสม ไม่ต้องขาดแคลนเหมือนในปัจจุบัน ที่ค่าใช้จ่ายและอุปกรณ์การทำงานต่างๆ แทบจะไม่มีให้พนักงานสอบสวนเบิก.