กีฬาชนกว่าง...กีฬาประเพณีพื้นบ้านกับวิถีชีวิต
จากวิถีชีวิตพื้นบ้านเพื่อการพักผ่อน ของนักนิยมกว่าง เริ่มจากชักชวนเพื่อนบ้านหามุมสบายของตัวเองอย่างไม่จำกัดสถานที่ นำกว่างตัวเก่งของแต่ละคนมาอวดกัน ร่วมกับการชนกว่างเพื่อประลองของกว่าง ซึ่งมักหนีไม่พ้นกับการพนันขันต่อเล็กๆน้อยๆ ตามวิถีชีวิตของหมู่ชายชาวชนบท ถึงชาวเมืองในอดีต จนกลายเป็นบ่อนเล็กบ่อนน้อย ทั้งที่มีการขออนุญาตอย่างถูกกฎหมายของสังคมในแต่ละยุคสมัย
ในกรณีที่มีการพนันขันต่อกันสูงๆ กว่างชนแต่ละตัวได้รับการทนุถนอมเลี้ยงดูพร้อมกับการฝึกฝนอย่างเต็มความสามารถของเจ้าของแต่ละคน และมักจะมีกลเม็ดเด็ดพรายที่จะพิชิตฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ทำให้เจ้าของกว่างแต่ละคนต้องมีความระแวดระวังมากขึ้น ต้องคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างละเอียดทั้งขณะเปรียบกว่างและการขอตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้าม โดยเกรงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะทำร้ายกว่างของตน เช่น หักขาหรือเด็ดปลายตีน เป็นต้น
เด็กๆในเมืองอาจชอบเลี้ยงสัตว์อีเล็คทรอนิค แต่ตามโรงเรียนในชนบททางภาคเหนือคุณครูต้องห้ามนำกว่างมาโรงเรียน เพราะเด็กจะมัวแต่ท้าประลองกว่างกันจนไม่เป็นอันเรียน อย่างไรก็ดี การเล่นกว่างส่งผลให้เด็กมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ข้องแวะกับยาเสพติด และยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้มีความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติผ่านทางแมลง ปัจจุบันในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย น่าน เชียงใหม่ มีการจัดเทศการการชนกว่างประจำปี ซึ่งนอกจากมีการแข่งชนกว่างแล้ว ยังมีการประกวดกว่างสวยงาม รวมทั้งกว่างชนิดอื่น เช่น กว่าง 3 เขา กว่าง 5 เขา จึงเป็นแนวโน้มที่น่าเชื่อว่าจะส่งผลให้เด็กๆในของเรามีความสนใจในด้านแมลงมากขึ้น อนาคตเราอาจมีนักอนุกรมวิธานด้านแมลงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่มีนักอนุกรมวิธานด้านแมลงมากมายแม้จะมีแมลงน้อยกว่าเรา ทั้งชนิดและประมาณ ชาวญี่ปุ่นนั้นคลั่งไคล้ในการศึกษาด้านแมลง โดยเฉพาะการต่อสู้ของแมลง จนมีการนำมาสร้างเป็นเกมส์คอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าทางการตลาดอย่างมหาศาล
สองรวมเป็นหนึ่งกับกติกาที่ไม่เหมือนใคร
กีฬาชนกว่าง เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความสามารถของทั้ง “คน” และ “กว่าง” เมื่อเปรียบกว่างและตรวจดูกว่างเรียบร้อยแล้วก็จะตรวจดูคอนกว่างว่าเรียบร้อย มี กว่างแม่อีลุ้ม อยู่ประจำที่ครบถ้วนแล้ว แต่ละฝ่ายก็จะวางกว่างของตนลงบนคอน หันหน้าเข้าหากันห่างจากจุดศูนย์กลางประมาณ 1 คืบ ในขณะที่อีกมือหนึ่งก็จะหมุนปั่น ไม้ผั่น กับคอนให้เกิดเสียงดัง “กลิ่ง ๆ” (เสียงที่มุมของไม้ปั่นตีกับคอน) กว่างเมื่อได้ยินเสียงประกอบกับกลิ่นกว่างแม่อีลุ้ม ก็จะตรงไปที่กว่างตัวเมีย เมื่อพบกันเข้าก็จะเอาเขาสอดสลับเขากัน เรียกว่า"คาม" หรือเอาเขาประสานกันตางฝ่ายต่างหนีบกัน โดยไม่เพลี่ยงพล้ำ เมื่อกว่างตัวใด พยายามเบี่ยงตัวและชิงความได้เปรียบโดยสามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้เพียงฝ่ายเดียว ผู้แข่งขันจะใช้มือหมุนคอนเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับกว่างของตัวเองตัวนั้น ซึ่งการชนกว่างนี้ นับได้ว่าเป็นการแข่งขันร่วมกันระหว่างกว่างและผู้ควบคุมกว่าง ดังนั้นผู้บังคับกว่างชนต้องมีประสบการณ์และมีฝีมือ พบว่าผู้บังคับกว่างชนในบ่อน ส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของกว่าง แต่เป็นผู้ที่เจ้าของกว่างว่าจ้างมา
กว่างตัวที่สอดเขาได้ดีกว่าและแรงมากกว่า ก็จะหนีบและดันคู่ชนไปข้างหน้า ขีดเครื่องหมายปลายคอน นับเป็น 1 คาม (1 ยก) ผู้บังคับกว่างจะปั่นไม้ผั่นและสอดไม้ผั่นดังให้หงายท้อง เพื่อให้กว่างคลายการหนีบ แล้วนำมาชนกันใหม่ที่กลางคอน การชนกว่างจะสามารถสร้างความครึกครื้นและตระโกนเชียรกันอย่างสนุกสนานได้มากหากมีการ "แคะ" กันโดยตัวใดตัวหนึ่งสามารถใช้ปลายเขางัดคู่ต่อสู้จนตัวลอย บางตัวสามารถหนีบคู่ต่อสู้ด้วยเขาทำให้คู่ต่อสู้เจ็บปวดได้ อาจทำให้ตัวที่ถูกหนีบถอดใจหันหลังหนีล่าถอยไปไม่ยอมประสานเขา เรียกว่า "อด" ก็จะถือว่าแพ้ แต่ถ้าเจ้าของกว่างไม่แน่ใจว่ากว่างจะแพ้จริง เจ้าของก็สามารถจะจับกว่างมาพ่นน้ำหรือจับแกว่ง หรือให้กินน้ำอ้อย และให้กว่างนั้นดมตัวเมีย เพื่อสร้างความคึกคะนอง หลังจากนั้นเอาตัวที่คาดว่าชนะมาไล่ อีก 3 ครั้ง ถ้ากว่างตัวนั้นถอยหนีครบ 3 ครั้งจึงจะถือว่าแพ้จริงๆ กติกาการแข่งขัน จะกำหนด 8 คาม หรือ 12 คาม หรือ 15 คาม แล้วแต่จะตกลงกัน อย่างไรก็ตาม หากไม่มีทีท่าว่ากว่างตัวจะเป็นผู้ชนะ เจ้าของกว่างทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงให้เสมอกันก่อนที่จะครบกำหนดตามคามที่ตกลงกันไว้ก็ได้ เพื่อไม่ให้ กว่างของตนเองบอบช้ำ นับว่าเป็นกติกาที่ไม่เหมือนกติกาการแข่งขันใดๆ อย่างไรก็ตามกว่างตัวที่แพ้ก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะในการแข่งชนครั้งต่อไปก็ได้ จึงพบว่า มีกว่าจำนวนไม่น้อยเลยที่ถูกเลี้ยงไว้จนหมดหรือเกือบอายุขัยของมัน
ในการชนกว่างแต่ละครั้งมักจะมีการวางเดิมพันกันเพื่อความสนุกสนานตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ถ้าชนกว่างในบ่อนนั้นคู่ต่อสู้จะต้องไปวางเงินที่เจ้าหน้าที่ของบ่อนเพื่อความแน่นอน เจ้าของบ่อนจะเก็บค่าบ่อน จะเรียกว่าค่าคอนเปรียบได้กับค่าน้ำในไก่ชน อัตราร้อยละสิบ ค่าเดิมพันอาจสูงถึงหลักหมื่นบาท หรือมากกว่านั้นก็ได้
ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน ธรรมชาติ และ การคงอยู่ของกว่าง
ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว “การชนกว่าง” เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน เข้ากับความเป็นธรรมชาติของกว่าง การต่อสู้แย่งชิงตัวเมียของสัตว์เป็นหนึ่งในวิธีการที่ธรรมชาติเลือกใช้ “ตัวผู้ที่เก่งและ แข็งแรงที่สุด” จะเป็นผู้ที่มีโอกาสสืบต่อพันธุ์มากกว่าตัวผู้ที่อ่อนแอ ทั้งนี้เพื่อการดำรงคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ กรณีการชนกันของกว่างตัวผู้ก็เช่นกัน กีฬาชนกว่างแทบไม่เคยพบว่ามันชนกันถึงบาดเจ็บและตาย ไม่เหมือนการชนไก่ หรือชนวัว เนื่องจากการแพ้ชนะของกว่าง คือตัวที่สู้ไม่ได้จะถอยหนีไปเอง “มันรู้จักแพ้”
ความนิยมชมชอบในกิจกรรมการชนกว่าง ไม่ว่าจะเพื่อการพักผ่อน กีฬา หรือประเพณีพื้นบ้าน ได้ฝังรากลึกในสังคมและวิถีชีวิตของประชาชนทางภาคเหนือไปแล้ว นักวิชาการหลายท่านจึงเริ่มหวั่นเกรงว่า “ความหลากหลายด้านพันธุกรรมของกว่างในธรรมชาติ” ที่เป็นหลักประกันให้มันสามารถคงอยู่และสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติจะลดลง เนื่องจากในขณะนี้ เรายังไม่เพาะเลี้ยงกว่างได้ กว่างที่นำมาเลี้ยงยังคงต้องหาจับจากธรรมชาติ จากการสอบถามผู้ค้ากว่างในตลาดหนึ่งในหลายแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าที่ตลาดนั้นมีร้านค้าอยู่ 6 ร้าน ขายกว่างกันปีละมากกว่า 8 พันตัว หรือมากกว่า 5 หมื่นตัวในตลาดทั่วภาคเหนือ หากความนิยมในการเลี้ยงกว่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น พร้อมๆกับป่าธรรมชาติลดลง อีกทั้งการใช้ยาฆ่าแมลงในภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น กว่างชน “นักสู้แห่งล้านนา” ก็มีโอกาสเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกัน การชนกว่างอาจจะเต็มไปด้วยสีสัน โหด และสะใจได้มากยิ่งขึ้น แต่มันจะเป็นเพียง “เกมส์ในคอมพิวเตอร์” เท่านั้น นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพียงหวังว่า เมื่อกว่างใกล้จะหมดอายุแล้ว เจ้าของกว่างจะยอมปลดปล่อยกว่าง โดยเฉพาะตัวที่มีลักษณะดี แข็งแรง ซึ่งมักจะเป็นกว่างตัวตัวโปรด กลับคืนสู่ธรรมชาติในที่ที่เหมาะสม ให้มันมีโอกาสผสมพันธุ์และแพร่ขยายดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ที่ดีต่อไป