ไฟถนนเปิด - ปิดอย่างไร
ทุกค่ำคืนแสงไฟฟ้าตามถนนนับล้านๆ ดวงทั่วโลกจะเปิด - ปิด แสงไฟฟ้าเหล่านี้จำนวนไม่น้อยจะเปิด - ปิดโดยอาศัยแสงอาทิตย์
สวิตช์เปิด-ปิดแสงไฟฟ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบตั้งเวลา ซึ่งควบคุมดวงไฟตามถนนที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆกัน ในสมัยก่อนใช้สวิตช์ตั้งเวลาแบบไขลาน จึงต้องคอยไขลานและปรับเครื่องทุกสัปดาห์ ปัจจุบันนี้สวิตช์ตั้งเวลามักเป็นชนิดที่ควบคุมด้วยนาฬิกาไฟฟ้า แบบที่มีหน้าปัดหมุนรอบตัวเองและมีคานหรือก้านติดอยู่ที่หน้าปัดเพื่อเปิด-ปิดไฟฟ้าตามเวลาที่ตั้งไว้ สวิตช์ตั้งเวลาแบบนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับแบบที่นิยมใช้ตั้งเวลาเครื่องปรับอากาศ (แอร์) เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกจะแปรผันไปในแต่ละช่วงของปี ไฟถนนจึงต้องเปลี่ยนเวลาปิด-เปิดตามไปด้วย ดังนั้นหน้าปัดนาฬิกาจึงต้องสามารถปรับเวลาให้สอดคล้องกับฤดูกาลได้โดยอัตโนมัติ การปรับเวลาอาศัยกลไกที่อยู่ในตัวสวิตช์ตั้งเวลา ซึ่งจะปรับให้คานเปิด - ปิดไปเคลื่อนไปทุกเดือนตามการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์ เมื่อไม่นานมานี้ วิศวกรผู้ทำงานด้านไฟถนนได้พัฒนาเครื่องควบคุม แบบโฟโตอิเล็กทริก ขึ้นมาเรียกย่อว่า “เพคู” เพื่อใช้ควบคุมสวิตช์ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับดวงไฟตามถนน โฟโตเซลล์ที่อยู่ในเครื่องควบคุม
แบบนี้มีสารประกอบทางเคมีที่ไวแสง เช่น แคดเมียมซัลไฟด์ หรือซิลิคอน ในตอนเช้าตรู่แสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบโฟโตเซลล์ จะทำให้อิเล็กตรอนในสารประกอบนั้นไหลจากอะตอมหนึ่งไปยังอีกอะตอมหนึ่ง และนำกระแสไฟไปยังสวิตช์ซึ่งจะปิดแสงไฟ ครั้นเวลามืดลงอิเล็กตรอนในสารประกอบนั้นหยุดไหล กระแสไฟที่วิ่งอยู่ก็จะหยุด ทำให้สวิตช์เปิดและไฟถนนก็สว่างขึ้น กระแสไฟในโฟโตเซลล์จะไหลหรือหยุดเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ.