สงครามวาทกรรม!
มีหลายคนเคยได้ยินคำว่าวาทกรรม และปัจจุบันเราก็กำลังอยู่ในสงครามวาทกรรมทางการเมือง ขออธิบายความหมายแบบง่ายๆ ดังนี้
0. วาทกรรมคืออะไร?
“วาทกรรม” (discourse) คือ ภาษา คำพูด สัญลักษณ์ ฯลฯ ที่สื่อความหมายบางอย่าง เพื่อกำหนด/สร้างความรู้ ความเข้าใจต่อผู้คนในสังคมหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การยึดกุมอำนาจของผู้ที่ได้ประโยชน์จากความรู้นั้น
เช่น "วาทกรรมระบอบทักษิณ" ที่หมายถึงระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมืองแบบพวกเครือญาติและเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมากอันมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น
1. องค์ประกอบของวาทกรรม
คือ “ภาษา อำนาจ ความรู้” (language knowledge power)
ซึ่งจะทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง ดำเนินต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อน และในทุกๆ สังคม จะมีวาทกรรมหลัก (ครอบงำ) วาทกรรมรอง (ต่อต้าน) และวาทกรรมก็ต้องต่อสู้กันผ่านภาษา การแย่งชิงความรู้ และการสถาปนาเจ้าอำนาจให้แก่ผู้สร้างวาทกรรมนั้นๆ
2. การทำงานของวาทกรรม
ผ่านการสื่อสารใดก็ได้ แต่ถ้าเป็นวาทกรรมทางการเมือง ก็มักเลือกใช้ 3 ช่องทางหลัก คือ
(1) ผ่านนักการเมือง นักวิชาการ นักโต้วาที นักปราศรับทางการเมือง เช่น วาทกรรม “ผมรวยแล้ว ไม่โกง”, “ผมพอแล้ว จากนี้จะทำเพื่อชาติ” , “คิดใหม่ทำใหม่” เป็นต้น
นักการเมืองใช้วาทกรรมเพื่อสื่อสารสร้างความน่าเชื่อถือ นิยมชมชอบทางการเมือง หรือใช้มันเพื่อหาเสียง โฆษณาชวนเชื่อ เช่น “คิดแก้ไข ไม่แก้แค้น” หรือ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” เช่นพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยใช้
(2) นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักสังคม นักกิจกรรม นักโฆษณาทางการเมือง ดารา ศิลปินนักร้อง หรือชนชั้นระดับยึดกุมความเห็นในสังคม หรือออกมาโต้ตอบ ถกเถียงแทนกัน
(3) สื่อมวลชน เช่น นักคุยข่าวเล่าข่าว คอลัมนิสต์ คนเขียนการ์ตูน กระทั่งใช้กองบรรณาธิการ หรือสื่อมวลชนทั้งองค์กร ทั้งช่องสถานีโทรทัศน์ก็ยังได้
ผ่านรายการข่าว รายงานข่าว รายการสนทนา ผ่านรูปแบบการโฆษณาชวนเชื่อ
3.การทำงานของวาทกรรม
การทำงานของวาทกรรม มี 3 ขั้นตอน คือ
(1) สร้างวาทกรรม ผ่านการออกแบบภาษา หรือใช้คำอธิบายทางวิชาการ การโต้เถียง การแปรเปลี่ยนซ่อนเร้นความหมายบางอย่าง การใช้วาทศิลป์ การใช้ลีลาภาษาเพื่อสร้างวาทกรรมนั้นๆ สู่สาธารณะ
(2) ยึดกุมความรู้ ในสังคมหนึ่ง มักมีความรู้เป็นตัวกำหนดค่านิ ยม ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้คน เช่น “โกงกินคือความเลว” ก็อาจแก้ไขใหม่เป็น “ใครๆ พรรคไหนมันก็โกง” หรือ “โกงก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ส่วนแบ่ง” หรือ “ไม่คิดแก้แค้น แต่คิดแก้ไข” หรือ “ไม่มีหรอกระบอบทักษิณ มีแต่สิ่งที่เรียกว่าคอร์รัปชั่น” รัฐบาลไหนๆ ก็คอร์รัปชั่นกันทั้งนั้น เป็นต้น
วาทกรรมหนึ่งๆ จะเข้าไปต่อสู้ ต่อรองกับวาทกรรมหลักที่อยู่ใน สังคมนั้นๆ (dominant discourse) เช่นสังคมไทยยึดถือความดี “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หรือ “รักในหลวง รักสถาบัน” เหล่านี้เป็นวาทกรรมหลักที่สังคมยึดถือ การจะล้มล้างวาทกรรมหลักได้ ก็ต้องสร้างความเชื่อขึ้นมาใหม่ สร้างวาทกรรมใหม่ เช่น “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” หรือ “รักที่สุดคือในหลวง ห่วงที่สุดคือ คนที่รักในหลวงจนเสียสติ” หรือ วาทกรรมอื่นๆ ที่ฝ่ายล้มเจ้าใช้อยู่ในปัจจุบัน
เมื่อวาทกรรมรอง ต่อสู้กับวาทกรรมหลัก มันจะทำให้คนที่เชื่อวาทกรรมนั้นๆ ยึดกุมเป็นความรู้ใหม่ ที่ต่อต้าน ปะทะรังสรรค์ และนำไปสู่ความเชื่อที่ขัดแย้งกัน
(3) ยึดกุมอำนาจ เมื่อวาทกรรมหนึ่ง กลายมาเป็นความรู้ หรือเป็นชุดคำอธิบายที่สังคมรับรู้กัน มันจะกลายเป็นความเชื่อหลักในสังคม จากนั้น เจ้าของวาทกรรม ก็จะใช้ความรู้นั้น เป็นฐานอำนาจสำหรับตนเอง เพราะวาทกรรมจะสร้างความหมายใหม่ ขึ้นมา เช่น “จน เครียด คิดถึงทักษิณ” ก็หมายถึงว่า ถ้าทักษิณกลับมา ก็จะไม่จน ไม่เครียดอีกต่อไป หรือ เพราะฉะนั้น รักทักษิณดีกว่า หรือ วาทกรรมที่ประชาธิปัตย์เคยใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งก็แพ้มาตลอดทุกที
“คนสร้างวาทกรรม” ก็คือคนที่ได้ประโยชน์จากความหมายของวาทกรรมนั้น
เมื่อวาทกรรมทำให้เขาคนนั้นได้อำนาจ เขาก็มีสิทธิที่จะพูดสร้างภาษา สร้างวาทกรรมใหม่ๆ ขึ้นได้ต่อไป
4. วาทกรรมเลว วาทกรรมดี
วาทกรรมเป็นคำกลางๆ ไม่ได้มีความหมายดี แย่อะไรในตัวเอง
แม้แต่คำว่าวาทกรรมหลัก รอง ก็ไม่ได้บอกว่าวาทกรรมใดดีหรือเลว?
แต่ผมขออนุญาตนิยามเอาเองว่า “วาทกรรมเลว“ หมายถึง วาทกรรมที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งอ้างอิงที่ไม่เป็นจริง คือ สร้างมาจากเรื่องโกหก มดเท็จ เพื่อปกปิดซ่อนเร้นข้อเท็จจริง ความจริงบางอย่าง
วาทกรรมเลวใช้กำหนดความรู้บางอย่างที่เจ้าของวาทกรรมจะได้รับผลประโยชน์อันชั่วร้ายนั้น นี่อาจเรียกว่าเป็นวาทกรรมชั่วร้ายได้
“ส่วนวาทกรรมดี“ ตรงกันข้าม คือ สร้างมาจากความจริง ข้อเท็จจริง และผู้สร้างวาทกรรมก็เพื่อกำหนดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันนำไปสู่ผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ของประชาชน มิใช่อำนาจของตนเอง
วาทกรรมเลว มักเป็นวาทกรรมหลอกลวง ไม่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง และเจ้าของผู้สร้างวาทกรรมนั้น จะใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น เช่น นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล้า บุหรี่ หรือสินค้าที่หลอกลวงผู้บริโภค กระทั่งนักการเมืองหรือทรราช ก็จะใช้วาทกรรมเลวไม่ต่างอะไรกัน
เราล้วนอยู่ในโลกของวาทกรรมทั้งสิ้น, ขณะนี้ วาทกรรมจากฝ่ายเสื้อแดงที่ผ่านนักวิชาการก็คือ “เราหยุดแล้ว รัฐบาลยอมแล้ว ทำไมท่านไม่หยุดสร้างความเดือดร้อน”, “ไม่มีหรอกระบอบทักษิณ มีแต่ปัญหาคอร์รัปชั่นทั่วๆ ไป” หรือวาทกรรมเช่น “ม็อบคนดี”, “เสียงส่วนน้อย” หรือ “พวกม็อบรุนแรง ต่อต้านรัฐบาล”
เช่นเดียวกันวาทกรรมที่ฝ่ายม็อบใช้ต่ออีกฝ่าย ม็อบรับจ้าง ม็อบควายแดง ม็อบเติมเงิน ก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่ง (แต่คุณก็จะรู้เองว่าอันไหนคือวาทกรรมดี วาทกรรมเลว)
วาทกรรมทางการเมืองที่คนเสื้อแดงชอบใช้คือ “วาทกรรมไพร่-อำมาตย์” เพื่อใช้โจมตีระบอบสถาบัน ในความหมายว่าอาจเป็นระบอบที่เป็นปัญหาต่อสังคมไทย หรือ การแบ่งแยกชนชั้น หรือสร้างบ่อเกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย หรือที่คุณทักษิณอ้างว่า มือที่มองไม่เห็น หรือ อำมาตย์ ก็อาจหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
5. วาทกรรมฝ่ายไหนดี!
วาทกรรม โดยตัวมันเองรับใช้ทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้วาทกรรมนั้น จะสร้างวาทกรรมใดไปเพื่ออะไร เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม อย่ากังวลใจไป ไม่มีใครหนีหลุดรอดวาทกรรมไปได้
สิ่งที่คุณควรเป็นกังวลคือ คุณอยู่ข้างวาทกรรมฝ่ายใด คุณเข้าใจวาทกรรมนั้นหรือไม่?
บางครั้งวาทกรรมก็ทำร้ายเรา หรือบางครั้งเราก็ใช้วาทกรรมนั้นทำร้ายผู้อื่นได้พอๆ กัน
วาทกรรม ทำหน้าที่สร้างความหมาย เปลี่ยนความหมาย กำหนดนิยามความหมายขึ้นมาใหม่ ผ่านความเชื่อของผู้คนในสังคมนั้นๆ นำไปสู่การตัดสินใจของคนส่วนมาก ค่านิยมของผู้คน นำไปสู่การสร้างกรอบคิด วัฒนธรรม พฤติกรรมของคนในสังคมได้เหมือนกัน
วาทกรรมหลักโบราณที่ต่อสู้กันมา ตลอดคือ “ความดีเอาชนะความชั่ว“ แต่สมัยปัจจุบัน ความดีจะถูกตั้งคำถามว่า "อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ความดี ความชั่ว ขึ้นอยู่กับนิยามและมุมมองของใครของมันเท่านั้น หรือ ไม่มีความดี ความชั่วที่แท้จริง" เป็นต้น
วาทกรรมทางการเมืองนั้น ก็เช่นกัน ที่ซ่อนเอาผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองอยู่ในนั้น
สำหรับประเทศไทย การต่อสู้ปัจจุบัน ก็คือการต่อสู้ทางวาทกรรมเช่นกัน ระหว่างวาทกรรมความดี ความชั่ว วาทกรรมรักคุณทักษิณ วาทกรรมรักสถาบัน วาทกรรมซื่อสัตย์สุจริต หรือวาทกรรมเก่ง โกงได้ ไม่เป็นไร
เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงกำหนดความหมาย ความรู้ ความคิด ความเชื่อในสังคมไทย
ในสงครามความขัดแย้งนี้ วาทกรรมเป็นกลาง คงไม่ช่วยอะไร เพราะมันบอกว่าคุณไม่ได้รู้จักความหมายของแต่ละฝ่ายอย่างเข้าใจ หรือบางทีคุณก็อาจเข้าใจดีจนไม่อยากเลือกสักฝ่าย หรือมันอาจเป็นวาทกรรมแก้ต่างของคนที่ไร้เดียงสาทางการเมืองได้พอๆ กัน
สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกต่อสู้เพื่อรักษาวาทกรรมใดเอาไว้สำหรับสังคมไทย