ประเพณีการโกนผมไฟ หรือพิธีทำขวัญเดือน เป็นความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาแต่โบราณค่ะ ในสมัยก่อน เชื่อกันว่าเส้นผมของเด็ก เส้นขน และเล็บมือ เล็บเท้า ที่ติดมาจากครรภ์มารดานั้น เป็นสิ่งที่ไม่สะอาด..
เมื่อเด็กมีอายุครบเดือน จะถือว่าเด็กสามารถเลี้ยงได้รอด ก็จะจัดประเพณีการโกนผมไฟ ทำขวัญเดือนขึ้น โกนผม โกนคิ้ว ตัดเล็บมือเล็บเท้า ของเด็กเพื่อชำระสิ่งสกปรกที่ติดตัวมานั้นให้หลุดออกไป พร้อมที่จะเป็น “ลูกคน” โดยมีความเชื่อว่าหากเด็กที่ได้รับการโกนผมไฟ จะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน แข็งแรง และฉลาด
การโกนผมไฟถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณ ก่อนที่จะจัดงานขึ้นจะต้องมีการกำหนดวัน ดูฤกษ์ยามที่เป็นมงคลให้ดี โดยจะมีพิธีสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เชิญผู้ใหญ่ในพิธี หลั่งน้ำมนต์ด้วยสังข์ที่ศีรษะเด็ก ระหว่างนั้น พระสงฆ์สวดชะยันโต ปี่พาทย์บรรเลงเพลงอวยชัย และมอบเด็กให้ผู้อื่นโกนผมไฟและตัดเล็บ ต่อไป
พอเสร็จพิธีโกนผมไฟแล้ว จะมีพิธีเอาเด็กลงอู่สู่เปล เส้นผมและเล็บส่วนหนึ่งคุณแม่จะเก็บใส่กล่องไว้ ส่วนที่เหลือจะใส่ในใบบัวแล้วนำไปลอยน้ำ เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย ความสกปรกชั่วร้ายให้ไปกับสายน้ำ จากนั้นจะนำดอกอัญชัญไปขยี้ แล้วนำมาทาที่หัว และวาดคิ้ว เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผมที่ขึ้นใหม่ดกดำขึ้น
ในปัจจุบัน พิธีโกนผมไฟ อาจพบเห็นได้น้อย บางครอบครัวก็ไม่ได้ยึดถืออะไร แต่ในบางครอบครัวก็ยังคงรักษาประเพณีนี้เอาไว้อยู่ แต่ก็จะรวบรัดให้กระชับขึ้น ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจตัดพิธีสงฆ์ออก เหลือเพียงแค่การโกนผม ตัดเล็บ และทาดอกอัญชัญเท่านั้นค่ะ