10 อันดับภาพถ่ายของจักรวาลที่สวยงามม๊ากมาก !!
มาดูกันว่า 10 อันภาพถ่ายที่สวยงามและน่าสนใจที่สุดในจักรวาลมีอะไรบ้าง… (ย้ำนะครับ…ว่าเป็นภาพถ่ายจริงจากยานอวกาศ ไม่ได้ทำการปรับแต่งแต้มสีให้เกินจริงแต่อย่างใด) แล้วคุณจะรู้ว่าความสวมงามที่อยู่นอกโลกนั้นแฝงไปด้วยความยิ่งใหญ่ ลึกลับ และน่ากลัวแค่ไหน… และยากเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราจะรู้ซึ้ง…เพราะมันกว้างใหญ่เกินจินตนาการจริงๆ
- อันดับ 10 : Supernova 1987a ถือว่าเป็นภาพที่ชัดเจนของการพิสูจน์ปรากฏการณ์ supernova ครับ เนื่องจาก supernova ครั้งนี้สามารถตรวจสอบและเทียบเคียงได้ว่า ความสว่างก่อนและหลังการเกิด Supernova เป็นเช่นไร Supernova 1987a นี้เกิดระเบิดขึ้นและตรวจจับได้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1987 ใน Large Magellanic Cloud เกิดจากการระเบิด Supernova ชนิดที่ 2 ของดาวฤกษ์ชื่อ Sanduleak -69° 202 ซึ่งเป็นดาวประเภท Blue supergiant ในวันนั้นทำให้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและแสงยังคงปรากฏนานถึง 4 เดือน
- อันดับ 9 : Ant Nebula เป็นเนบิวล่าประเภท Planetary nebula อยู่ห่างจากโลก 8,000 ปีแสง เกิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์มวลน้อยและมีการแพร่กระจายมวลที่เหลืออยู่ในช่วงชีวิตทั้งหมดออกไป Ane nebula นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงสภาพดาวฤกษ์เมื่อหมดอายุขัย ว่าจะกลายสภาพเป็นเช่นไร ดวงอาทิตย์ของเราเมื่อหมดอายุก็จะกลายสภาพเป็นเช่นนี้ครับ
- อันดับ 8 : Pillars of Creation หรือ เสาเอกแห่งการกำเนิดดวงดาว ภาพนี้ถือเป็นหนึ่งในภาพที่ดีที่สุดจากกล้องโทรทัศน์ Hubble เป็นภาพส่วนหนึ่งที่ตัดมาจาก Eagle Nebula อยู่ห่างจากโลกประมาณ 7,000 ปีแสง “เสา” ทั้งสามต้นนี้ คือกลุ่มก๊าซและโมเลกุลของไฮโดรเจน โดยมีฉากหลังเป็นโมเลกุลก๊าซที่แตกตัว จากดาวฤกษ์อันร้อนแรง 3 ดวง โดยเสาแต่ละต้นนี้จะมีความยาวได้ถึง 4 ปีแสง
- อันดับ 7 : Eta Carinae เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ในกลุ่มดาว Constellation Carina อยู่ห่างจากโลกประมาณ 7,500 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100 เท่า และมีความสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 4 ล้านเท่า !! ดาวดวงนี้มีความพิเศษอันน่ากลัว กล่าวคือมันมีความไม่เสถียรของดาวตลอดเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา โดยดาวดวงนี้จะเปลี่ยนความสว่างขึ้นๆ ลงๆ ตั้งแต่ปี 1730 ถึงปี 1827 และในที่สุดในปี 1994 กล้องโทรทัศน์อวกาศ Hubble ก็ได้แสดงให้เห็นภาพอันน่ากลัวนี้ คือดาวดวงนี้ได้ระเบิดปล่อยมวลก๊าซขนาดยักษ์ออกมาสองข้างตัวมัน แต่ตัวดาวก็ยังคงสภาพอยู่ได้ ไม่ระเบิดกลายเป็น Supernova ซึ่งในปัจจุบันนี้ดาวดวงนี้ก็ยังคงสภาพอยู่เช่นนี้
- อันดับ 6 : Rosetta Nebula หรือ เนบิวล่ากุหลาบ อยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวยูนิคอร์น ห่างจากโลก 5,200 ปีแสง และมีความกว้างมากถึง 130 ปีแสง เนบิวล่านี้สว่างเรืองรองด้วยการกระตุ้นโมเลกุลก๊าซ จากกลุ่มดาวเกิดใหม่ใจกลางเนบิวล่า จึงก่อให้เกิดแสงสวยงามเช่นดังภาพที่เห็น
- อันดับ 5 : Sombrero Galaxy เป็นแกแลคซี่ชนิด unbarred spiral galaxy อยู่ในทิศทางกลุ่มดาวหญิงสาว ห่างจากโลก 28 ล้านปีแสง ลักษณะพิเศษของแกแลคซี่นี้คือจะมีแกนกลางที่สว่างใสวมาก และมีจานฝุ่นขนาดยักษ์แผ่หมุนรอบๆ ด้วยลักษณะนี้จึงเรียกชื่อว่า Sombrero หรือที่แปลว่าหมวกปีกกว้างแบบเม็กซิกัน ภาพนี้ถ่ายโดยกล้องโทรทัศน์ Hubble โดยใช้เวลาเก็บภาพนานถึง 10.2 ชั่วโมง
- อันดับ 4 : Andromeda Galaxy เป็น Major Galaxy ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด โดยห่างจากเรา 2.5 ล้านปีแสง เป็นแกแลคซี่ก้นหอยที่มีความสมมาตรและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
- อันดับ 3 : Cone Nebula เป็นเนบิวล่ามืดที่ประกอบไปด้วยโมเลกุลที่เย็นแล้วของไฮโดรเจน และมีฉากหลังเป็น Emission nebula NGC-2264 ซึ่งสว่างเรืองรองด้วยโมเลกุลก๊าซที่แตกตัว ด้วยความร้อนแรงของดาวฤกษ์ชื่อ S Monocerotis ซึ่งแผดแสงอันร้อนแรงอยู่ภายในเนบิวล่า NGC-2264
- อันดับ 2 : กลุ่มดาวฤกษ์เกิดใหม่ เป็นกลุ่มดาวสีน้ำเงินสดใส อยู่ในเมฆแมคเจลแลนด์น้อย, Small Magellanic Cloud กลุ่มดาวเหล่านี้เพิ่งก่อตัวขึ้นจากกลุ่มก๊าซร้อนจัดพร้อมๆ กันเป็นสิบๆ ดวง ด้วยอายุเพียง 2-3 ล้านปี เปล่งประกายสวยงามดั่งสวรรค์เลยทีเดียว และถือเป็นแกแลคซี่บริวารของทางช้างเผือก อยู่ห่างจากเราประมาณ 200,000 ปีแสง
- อันดับ 1 : Horse head Nebula in Alnitak region หรือ เนบิวล่าหัวม้าในอาณาจักรอันสวยงามแห่ง Alnitak เป็นภาพของเนบิวล่าหัวม้าซึ่งเป็นเนบิวล่ามืด (Dark Nebula) ตัดกับฉากหลังเรืองรองสีชมพูสวยงาม ของ Emission Nebula IC-434 โดยมีดาวฤกษ์ที่สว่างจ้าคือ Alnitak ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวสามดวงแห่งเข็มขัดนายพราน
ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในสีสันต่างๆ นี้เป็นภาพถ่ายจริงทั้งหมดและไม่มีการแต่งแต้มใดๆ ให้เกินจริง แต่สีสันที่แตกต่างกันนั้น (เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรูปอื่น) เป็นเพราะว่าถูกบันทึกด้วย Sensor สำหรับถ่ายภาพในย่านความถี่แสง (Light spectrum) ที่แตกต่างกัน เช่น UltraViolet , X-Ray , Visible light (แสงที่ตามนุษย์เห็น) และ InfraRed ซึ่งในกล้องโทรทัศน์อวกาศจะมี sensor พวกนี้อยู่ครบครัน ทำให้สามารถถ่ายภาพได้ในทุกย่านเพื่อนำมาให้นักดาราศาสตร์วิเคราะห์ว่าวัตถุอวกาศนั้นๆ มีการแพร่รังสีในย่านใดบ้าง
ที่มา : pantip by Vladivostok