ปล่อยให้หมาปากเหม็น ระวัง !! ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบ
ปัญหาช่องปากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไป เชื่อว่าน้องหมาของเพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ ก็อาจกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่เหมือนกัน แต่ที่สำคัญก็คือ นอกจากจะส่งผลโดยตรงกับช่องปากน้องหมาแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต ปอด หลอดเลือด และหัวใจ โดยเฉพาะในส่วนของลิ้นหัวใจ
ซึ่งสาเหตุก็มาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในคราบจุลินทรีย์ (bacterial plaque) ที่มักเกาะอยู่ตามบริเวณผิวฟันหรือซอกฟันของน้องหมานั้นเอง เจ้าเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถแพร่กระจายจากช่องปากผ่านทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ อย่าง โรคลิ้นหัวใจอักเสบในสุนัข (Valvular endocarditis) ที่ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักในวันนี้ไงครับ
สุนัขมีปัญหาในช่องปากจะเสี่ยงป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบมากขึ้น
แม้โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial endocarditis) จะพบได้ไม่บ่อยนักในสุนัข แต่พบว่าเมื่อสุนัขมีปัญหาโรคในช่องปากแล้ว สุนัขจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบมากขึ้น เช่นเดียวกับการศึกษาในคนก็พบว่า โรคในช่องปากมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบเช่นกัน
ตามปกติแล้วสภาพพื้นผิวของหลอดเลือดและหัวใจ จะมีความทนทานต่อการยึดเกาะของเชื้อแบคทีเรียพอสมควร แต่เมื่อเกิดความเสียหายหรือโครงสร้างบางอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อเกิดความเสื่อมของลิ้นหัวใจแล้ว ทำให้พื้นผิวของลิ้นหัวใจเกิดความเปลี่ยนแปลงไป เชื้อแบคทีเรียจึงสามารถเข้ามายึดเกาะ เจริญเติบโต และเพิ่มจำนวน จนก่อให้เกิดปัญหาโรคลิ้นหัวใจอักเสบตามมาได้ ยิ่งในรายที่มีปัญหาโรคปริทันต์ (periodontal disease) มีคราบจุลินทรีย์ และมีปัญหาหินปูนร่วมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นแหล่งต้นตอทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถปนเปื้อนเข้าสู่กระแสเลือดได้อยู่ตลอดเวลา
สุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะแสดงอาการไม่จำเพาะ ส่วนมากจะมีอาการซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร มีไข้ ได้ยินเสียงหัวใจรั่ว (murmur heart sound) ในตำแหน่งที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ รวมถึงอาจมีเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงขึ้นได้ ส่วนใหญ่มักจะทราบหลังจากสุนัขป่วยได้เสียชีวิตไปแล้ว จากการผ่าพิสูจน์ซาก ร่วมกับการตรวจทางจุลพยาธิวิทยาของลิ้นหัวใจ และการเพาะเชื้อจากหัวใจจากห้องปฏิบัติการ ยิ่งในรายที่มีปัญหาในช่องปากด้วยแล้ว มักจะพบว่าเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อในช่องปากของน้องหมานั่นเอง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการปล่อยปะละเลย ไม่สนใจดูแลสุขภาพช่องปากให้กับน้องหมา ใช่เพียงจะก่อให้เกิดปัญหาช่องปากเท่านั้น ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบได้ด้วย ซึ่งเมื่อเป็นแล้วการพยากรณ์ก็จะไม่ดีนัก น้องหมาส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยครับ
การแปรงฟันช่วยป้องกันโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากปัญหาช่องปากได้
เพื่อเป็นการป้องกันโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จะสามารถช่วยลดปริมาณการสะสมของแบคทีเรียในช่องปากลงมาได้ วิธีง่าย ๆ ที่เจ้าของทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ การแปรงฟันให้น้องหมาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับการล้างปากด้วยน้ำยาล้างปากสำหรับสัตว์ ที่มีส่วนผสมของ 0.12% chlorhexidine วันละ 2 ครั้ง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษาวิธีการแปรงฟันเพิ่มเติมได้ใน รู้ไหม? น้องหมาก็ต้องแปรงฟันเหมือนกันนะ
นอกจากการแปรงฟันและล้างปากแล้ว การพาน้องหมาเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันอย่างละเอียดทุก ๆ 6-12 เดือน เพื่อตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่ม ยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้โรคในช่องปากพัฒนารุนแรงจนถึงขั้นยากเกินการรักษาได้ เจ้าของเองก็สามารถตรวจสุขภาพช่องปากน้องหมาเบื้องต้นด้วยตนเองได้เช่นกัน โดยหากพบว่าน้องหมามีอาการฟันโยก ฟันแตก ฟันเปลี่ยนสี มีหินปูนเกาะ มีกลิ่นปาก น้ำลายไหลมาก เหงือกบวมอักเสบ มีก้อนเนื้อในช่องปาก ไม่กินอาหาร หรือกินอาหารลำบาก ฯลฯ เราสามารถพาไปพบคุณหมอได้เลยทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งคุณหมออาจแนะนำให้ทำการขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันให้น้องหมาหากจำเป็นครับ
ถึงตรงนี้เพื่อน ๆ ก็คงจะเห็นแล้วนะครับว่า ปัญหาในช่องปากของน้องหมาไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่เราจะสามารถมองข้ามได้ เพราะเมื่อใดที่เกิดปัญหาขึ้นมา นอกจากจะส่งผลโดยตรงกับช่องปากน้องหมาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อจากช่องปากเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปส่งผลให้เกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบหรือโรคอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย ดังนั้นใครที่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ขอให้เริ่มดูแลสุขภาพช่องปากให้กับน้องหมาเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยนะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet