แน่นอนว่า "ความรัก" นั้นเป็นสิ่งสวยงาม หล่อเลี้ยงจิตใจใครหลายๆคน และจะยังคงหอมหวานทุกครั้งในยามที่นึกถึง แม้ตราบถึงวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเรื่องราวคงจบเพียงแค่นั้น ทิ้งไว้เพียงความทุกข์ระทมกับผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่กับการจากไปแบบไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้อีก จนยากจะหาสิ่งใดมาช่วยเยียวยาหัวใจได้ การทำหรือสรรสร้างบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นสิ่งทดแทน หรือไว้รำลึกถึงคนรัก ไว้รำลึกถึงวันเวลาเก่าๆที่แสนงดงามเหล่านั้น จึงมักเป็นสิ่งทีดีที่สุดที่สามารถจะทำได้
การสร้าง "อนุสรณ์สถาน" จึงเป็นที่นิยมในยุคสมัยก่อน เป็นการบอกต่อความรักที่ยิ่งใหญ่ ออกมาในรูปแบบของสถานที่แห่งความทรงจำ จนถูกขนานนามว่าเป็น "อนุสรณ์สถานแห่งความรัก" วันนี้ทีมงานบ้านคุ้มค่า จึงได้รวบรวมอนุสรณ์สถานแห่งความรักทั่วโลก ที่ยังคงแสดงถึงความรักอันงดงามและยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน ว่าอยู่ที่ใดกันบ้าง พร้อมประวัติความเป็นมาของแต่ละสถานที่ดังนี้
ห้องสมุดแห่งรักเนลสัน เฮส์ (NEILSON HAYS LIBRARY) - ประเทศไทย
อาคารห้องสมุดหลังนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของ นายแพทย์ ที.เฮวาร์ด ที่มีต่อนาง เจนนี่ เนลสัน เฮส์ ที่เดินทางติดตามสามีเข้ามาทำงานเป็นแพทย์ใหญ่ประจำการในกรมการแพทย์ทหารเรือไทย และอาศัยในกรุงเทพฯตั้งแต่ปี พ.ศ. 2412 ในขณะที่เธอมีชีวิตอยู่ ได้ก่อตั้งห้องสมุด "The Bangkok Ladies Library Association" สำหรับแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่านในหมู่ชาวต่างชาติ ร่วมกับภรรยาของหมอบรัดเลย์ และหมอสมิธ นางเจนนี่ เป็นกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับห้องสมุดนั้นอยู่ถึง 25 ปี จนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2464 เพื่อเป็นการรำลึกถึงความรักและความทุ่มเทให้กับงานห้องสมุด หมอที เฮวาร์ด จึงได้บริจาคที่ดินบนถนนสุรวงศ์เพื่อตั้งเป็นห้องสมุดเนลสัน เฮส์ จนกระทั่งทุกวันนี้
อาคารหลังนี้เป็นตึกชั้นเดียว เทคนิคของการสร้างฐานอาคารเป็นแบบเดียวกับที่ใช้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบโดย นายมาริโอ ตามานโย สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนที่เข้ามารับราชการในราชสำนักสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจุบันความสวยงามของห้องสมุดแห่งนี้ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพ
มหานครแห่งความรัก เวโรน่า (Verona) - ประเทศอิตาลี
ที่นี่เป็นต้นกำเกิดของตำนานรักอมตะ Romeo & Juliet ประพันธ์โดยวิลเลียม เชคสเปียร์ และยังมี Casa di Giulietta หรือบ้านของจูเลียต เป็นศูนย์กลางดึงดูดความสนใจของคู่รักจากทั่วโลก ให้เดินทางมาสัมผัสเสี้ยวหนึ่งของโศกนาฏกรรมรักกันที่นี่ด้วย และที่บ้านของจูเลียตนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อตามหาความเชื่อในรักแท้ของผู้หญิงต่างวัย 2 คน ในหนัง Letters to Juliet แม้จะเป็นเพียงนิยายและไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวความรักของคนทั้งสองก็ซาบซึ้งตรึงใจนักอ่านทั่วโลก และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังบ้านเลขที่ 27 ถนน Via Cappello ที่เรียกว่าเป็นบ้านของจูเลียต เพื่ออธิษฐานเกี่ยวกับความรัก และขึ้นไปยืนบนระเบียงหินอ่อนจุดเดียวกันกับที่จูเลียตเคยยืนโดยมีโรมิโอมาคอยเฝ้าขอความรัก
แท้จริงแล้ว บ้านเลขที่ 27 ถนน Via Cappello ที่เรียกว่าบ้านของจูเลียตแห่งนี้ เป็นเพียงโรงแรมเก่าแก่ที่ถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็นบ้านของตระกูล Capulet เพราะจูเลียตและตระกูลนี้ไม่เคยมีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ เป็นเพียงตัวละครในนิยายเก่าแก่เท่านั้น แต่ใครเลยจะคิดว่า ความเชื่อและจินตนาการของคนเรา จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้มากมาย
สถูปพระนางเรือล่ม - ประเทศไทย
สถูปพระนางเรือล่ม มีรูปทรงปิรามิด ถูกสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่น้ำตกพลิ้ว ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงโปรด หลังจากที่เคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วเมื่อปี พ.ศ. 2417 (สำหรับศาลพระนางเรือล่มจริงๆ นั้นตั้งอยู่ที่วัดกู้ จังหวัดนนทบุรี) โดยมีข้อความที่สลักไว้ ณ สถูปว่า
"ที่ระลึกถึงความรัก แห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอรรคมเหสี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่ เมื่อจุลศักราช 1236 โดยความยินดีชอบใจ อนุสาวรีย์นี้ สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราช ผู้เป็นพระสวามี อันมีความทุกข์ เพราะเธอเป็นอย่างยิ่ง ในจุลศักราช 1243"
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ มีพระราชธิดาพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ครั้งหนึ่งมีการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปประทับแรมยังพระราชวังบางปะอิน เมืองพระนครศรีอยุธยา เมื่อเรือที่ประทับแล่นตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ก็เกิดอุบัติเหตุถูกเรือลำอื่นแล่นแซง นายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ เมาเหล้าขาดสติในการบังคับเรือ จึงทำให้เรือล่มลงแต่ไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากเกรงกลัวกฎมณเฑียรบาลที่ว่าห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสีมิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่กำลังทรงพระครรภ์ พร้อมด้วยพระราชธิดาอายุเพียง 1 พรรษาเศษ จึงสิ้นพระชนม์เป็นเหตุให้ประชาชนเรียกพระองค์ว่า "พระนางเรือล่ม" ด้วยความรักและความอาลัยในตัวสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกสลดถึงที่สุด และได้ทรงสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์
สวนลอยฟ้าแห่งบาบิโลน (Hanging Gardens of Babylon) - ประเทศอิรัก
สร้างขึ้นเมื่อ 600 ปี ก่อนคริสตกาล โดยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ ที่ 2 แห่งกรุงบาบิโลเนีย สร้างให้แก่มเหสีของพระองค์ชื่อ พระนางเซมีรามีส ตามประวัติศาสตร์โบราณพระนางเซมีรามีส มีปัญหาการปรับตัวการใช้ชีวิตในทะเลทราย กษัตริย์เนบูคัดจึงออกแบบแปลนสวนบาบิโลนที่มีทั้งต้นไม้ ลำธาร อันเป็นสภาพแวดล้อมบ้านเกิดที่จากมา เพื่อให้พระนางคลายความคิดถึงบ้าน โดยสวนบาบิโลนกินพื้นที่ถึง 400 ตารางฟุต มีเฉลียงกันเป็นชั้นๆ ซึ่งทุกชั้นจะต้องประดับประดาด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนพุ่มชนิดต่างๆจากทั่วทุกมุมโลก มีระบบชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำไทกริสไปทำเป็นน้ำตกและนำไปเลี้ยงต้นไม้ตลอดปี
ปัจจุบันสวนนี้ได้พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหว สันนิษฐานกันว่ายังคงอยู่คู่เมืองจนถึงวศรรตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ปัจจุบันนี้ส่วนที่หลงเหลืออยู่ให้เราได้ชมก็คือบ่อน้ำและโค้งซุ้มประตูหนึ่งหรือสองอัน และนิยายคำร่ำลือสืบต่อๆ กันมา
สุสานแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส (The Mausoleum at Halicarnassus) - ประเทศตุรกี
สุสานแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส หรือที่เรียกขานกันว่า สุสานแห่งโมโซลูส ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ สุสานเก่าแก่ของพระเจ้ามุสโซลุส กษัตริย์แห่งเปอร์เซีย ที่เมืองฮาลคาร์นาซซัส ประเทศตุรกี (ปัจจุบันยังมีซากหลงเหลืออยู่) สร้างโดยพระมเหสีชื่อ อาเตมีสเซีย เพื่อรำลึกถึงพระสวามีของนาง สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหมด มีขนาดสูงถึง 140 ฟุต ในปัจจุบันนี้เหลือแต่ซากปรักหักพังบางส่วนบางส่วนเพราะเกิดแผ่นดินไหวใน ศตวรรษที่ 12 - 13 ขึ้นและชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของประเทศอังกฤษชื่อ บริทิช มิวเซียม
ทัชมาฮาล (Taj Mahal) - ประเทศอินเดีย
ทัชมาฮาล ถูกยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ตั้งอยู่ในเมืองอัครา ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ประเทศอินเดีย ถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและ เครื่องประดับจากมิตรประเทศ โดยกษัตริย์อินเดียผู้มีรักมั่นคงต่อพระมเหสีของพระองค์ เจ้าชายขุร์รัม ชึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิชาห์ ชหาน กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โมเลกุล
ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าชาห์ ชหาน ได้พบกับหญิงสาวนามว่า อรชุมันท์ พานุ เพคุม บุตรสาวของรัฐมนตรีเมื่ออายุ 14 พรรษา และหลงรักนางตั้งแต่แรกเจอต่อมาในอีก 5 ปี พระองค์และอรชุมันท์ พานุ เพคุมก็ได้อภิเษกสมรสกันในปี ค.ศ. 1612 นับตั้งแต่นั้นมาทั้ง 2 ก็ไม่เคยอยู่ห่างกันอีกเลย ตลอดระยะที่อยู่ร่วมกันพระมเหสี หรือนามที่พระเจ้าชาห์ ชหาน ตั้งให้ว่า "มุมตัช มาฮาล" อันแปลว่าอัญมณีแห่งราชวัง เป็นภรรยาที่สุดแสนประเสริฐ ทั้งติดตามพระเจ้าชาห์ ชหานไปออกรบ ช่วยงานราชการ คอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจ อีกทั้งยังมีความเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ ทั้งหมดนั้นทำให้กษัตริย์ชาห์ ชหานทรงประทับใจและรักพระมเหสีอย่างที่สุด
หลังจากครองคู่กันมาเป็นเวลา 18 ปี มุมตัช มาฮาล ก็ได้ให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 แต่หลังจากให้กำเนิดพระธิดาพระนางตกเลือดมาก อยู่ได้เพียงไม่นานพระนางก็สิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของพระเจ้าชาห์ ชหาน ซึ่งการสิ้นพระชนม์นี้นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจแก่พระเจ้าชาห์ ชหานอย่างมากมายมหาศาล พระองค์จึงทรงสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์กับพระมเหสี โดยทรงเลือกทำเลที่ดีที่สุดบริเวณริมโค้งแม่น้ำยมุนาเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์แห่งรักนี้
พระองค์ก็ทรงทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการวางแผนเขียนแปลนก่อสร้างด้วยพระองค์เอง และก็ได้ทรงจ้างสถาปนิกและช่างชาวอาหรับที่มีฝีมือมากมายเพื่อระดมสติปัญญาและกำลังในการก่อสร้างอนุสรณ์แห่งนี้ให้สำเร็จ การสร้างครั้งนี้ใช้แรงงานผู้คนมากมายกว่า 20,000 คน ราชสมบัติส่วนใหญ่ที่มีได้สูญเสียไปกับการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์ กินเวลานานถึง 22 ปี อนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ก็เสร็จสมบูรณ์อย่างงดงาม และพระองค์ก็ทรงให้ชื่อว่า "ทัชมาฮาล" (Taj Mahal)
หลายปีต่อมาหลังจากสร้างอนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาลเสร็จสิ้น ได้เกิดศึกชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระโอรสของพระองค์เอง ในระหว่างนั้นเจ้าชายโอรังเซบ (Aurangzeb) พระโอรสของพระองค์ก็ได้จับพระเจ้าชาห์ ชหาน ไปกักขังอยู่ที่ป้อมเมืองอัคราซึ่งอยูฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับทัชมาฮาล ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์เสียสติ และขึ้นครองบัลลังก์แทน ในระหว่างที่ถูกกักขังพระองค์ทรงมองทัชมาฮาลและรำพันถึงพระมเหสีของพระองค์ตลอด 8 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1666 ในวันสุดท้ายก่อนสวรรคต พระเจ้าชาห์ ชหานใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาลจนสิ้นลมหายใจ หลังจากนั้นพระโอรสก็ได้นำพระศพของพระองค์มาฝั่งไว้เคียงข้างพระมเหสีที่พระองค์รักใคร่มิเคยลืมเลือนในอนุสรณ์สถานแห่งนี้