สาเหตุและความจำเป็นที่ทำให้๑๑พี่น้องในนางสิบสองต้องกินเนื้อลูกตนเอง
◉ น่าสงสารเยาวมาลย์ทั้งสิบสอง เฝ้าแต่กรองเวทนาเพียงอาสัญ
อยู่ในอุโมงค์มาก็นานครัน แต่จาบัลย์กัลหายไม่วาย
ครวญอดอาหารการกินดิ้นประดัก มาตกคลักครวญคร่ำให้กำสรวล
นัยน์ตามืดฝืดเคืองเรื่องรัญจวน เสียนวลน่าอนาถประสาทครัน
ไม่มีใครที่จะได้อุปถัมภ์ ทารกรรมกายเกินจะปลักปล้ำ
จะหากินก็ไม่มีที่จะทำ มีแต่ร่ำซานซมอยู่งมงาย
นางลำเภาเยาวยอดขนิษฐ์น้อย กำสรดสร้อยเศร้าใจไม่รู้หาย
ตายังมีข้างเดียวเที่ยวถ่อกาย ขวนขวายแต่จะหาอาหารกิน
ตื่นแต่เช้าเข้าป่าหาลูกไม้ กล้วยกล้ายหักมุกทุกสิ่งสิ้น
มังคุดละมุดมะยมลูกพรมอิน มะเดื่อดินส้มโอตะโกนา
โฉมเฉลาเจ้าเก็บใส่กระจาด แล้วลีลาศเลียบเดินตามเนินผา
พอสายัณห์ตะวันลับก็กลับมา ถึงอุโมงค์ลงไปหาสิบเอ็ดนาง
แจกให้พี่ตามมีที่หาได้ พอทาไส้จานเจือที่ขัดขวาง
สิบเอ็ดคนทนเทวศก็ร้องคราง จนรูปร่างนั้นผิดศรีฉวีวรรณ
สงสารแต่เมศรานิจจาเจ้า ยิ่งโศกเศร้าโศกาแทบอาสัญ
จะคลอดโอรสยศยงที่ทรงครรภ์ พระกายนั้นเจียนทรุดแทบสุดแรง
พอลูกออกจากท้องก็ร้องแหว นางแม่ก็ปวดท้องร้องเสียงแข็ง
พระลูกคลอดทอดกายหงายให้ตะแคง ทั้งอู่แอ่งก็ไม่มีที่จะทำ
ครั้นลูกร้องเซ่อซ่ามาหาลูก เหยียบตะหมูกถูกปากถลากถลำ
ให้งันงกหกล้มลงทับล้ำ ลูกเจ้ากรรมทำลายตายทันที
ฝูงแม่น้ามาประชุมอยู่กลุ้มกลาด ด้วยสามารถความอยากลากเอาผี
มาฉีกเนื้อเถือหนังกุมารี มาเผาจี่คนละอันปันกันกิน
แจกให้นางลำเภาเก็บเอาไว้ กินไม่ได้ย่างแห้งแข็งดังหิน
ใครคลอดบุตรออกมาป้าน้ากิน คนละชิ้นคนละอันปันกันมา
แต่คลอดบุตรทีละคนทนไม่รอด แม่ตาบอดป่วยไข้ไม่รักษา
ลูกตายหมายกินต่างข้าวปลา พอเป็นยาแก้แสบท้องร้องอุทร
นางลำเภาได้แจกสิบเอ็ดครั้ง ประสมเนื้อเหลือยังสิบเอ็ดก้อน
เจ้าหาของท้องนาในป่าดอน เลี้ยงอุทรตามประสาคนตาเดียว ฯ
◉ ครั้นกำหนดทศมาสนาถลำเภา ยุพเยาว์ปวดครรภ์กระสันเสียว
เจ้าหลีกไปไกลเพื่อนไม่กลมเกลียว อดเหนียวทนเจ็บไม่จาบัลย์
พอได้ฤกษ์นางก็คลอดปิโยรส ไม่กำสรดเกลากล่อมถนอมขวัญ
สิบเอ็ดนางเชษฐาก็มาพลัน หมายจะปันเนื้อแย่งไปแบ่งเอา
นางหยิบเนื้อย่างแห้งที่แบ่งไว้ แล้วส่งให้ใช้เนื้อของพี่เขา
สิบเอ็ดนางรับเนื้อของลำเภา ต่างก็เอามากินด้วยยินดี
เออมันแห้งแข็งกังทั้งเหม็นตืด พวกตามืดแสนลำบากกินซากผี
ลูกอีเภาเนื้อเน่ากินไม่ดี ต้องประชีกระฉีกกินจนสิ้นไป ฯ
พวกนางอยู่ป่ามานาน อาหารการกินก็ขัดสนถึงจะมีผผลไม้ที่นางลำเภาเก็บมาก็ตามแต่ก็ต้องอย่าลืมว่าตอนนั้นพวกนางเองก็ตั้งครรภ์อยู่ อาหารที่ได้จึงไม่น่าจะเพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกในครรภ์ ซึ่งอาจผิดกับนางลำเภาซึ่งเป็นน้องเล็กที่มีความอดทนสูงกว่าเพราะด้วยความเป็นลูกคนสุดท้องจึงน่าจะได้รับสิ่งต่างๆช้ากว่าพี่ๆเสมอ และช่วงที่นางลำเภาเกิดนั้นก็น่าจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐีเริ่มขัดสนขนาดหนักแล้ว นางจึงน่าจะชินกับการอดมื้อกินมื้อได้ดีกว่าพี่ๆทั้ง๑๑คน(ถึงแม้จะมีช่วงเวลาที่ได้กินอิ่มบ้างอย่างตอนอยู่กับนางสนธมารรึอยู่ในวังก็ตาม)
เข้าประเด็น การกินเนื้อลูกๆของทั้ง๑๑นางนั้น เริ่มต้นจากการที่มี๑นางในนั้นเหยียบลูกตนเองตายด้วยความที่ตาบอด พี่น้องทั้งหลายจึงพากันลากศพเด็กไปกินเพื่อยังชีพ(ทั้งๆที่ก็มีผลไม้กิน?) หลังจากนั้นพวกนางก็แบ่งกันกินเนื้อลูกคนอื่นๆที่ทยอยคลอดกันออกมาทั้งสิ้น อาจด้วยเหตุที่ว่า ถึงลูกจะคลอดออกมาได้ก็อาจอดตายเพราะพวกนางไม่มีนมจะเลี้ยง รึอาจเป็นเพราะเด็กตายตั้งแต่ตอนคลอด ด้วยความหวังที่จะอยู่ต่อไปพวกนางจึงต้องกิน
แต่การกินเนื้อบุตรของตนนี้ผิดรึไม่? อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า นิทานพื้นบ้านและวรรณคดีไทยได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ในศาสนาพุทธ ฉะนั้นเมื่อจะนัยยะคำตอบในเรื่องนี้จึงต้องยกพระสูตรในศาสนาพุทธมาเทียบเคียงเนื้อหา ซึ่งก็เนื้อหาที่ได้พบมีรายละเอียดอยู่ใน ปุตตมังสสูตร ดังนี้
สองสามีภรรยาถูกฉาตกภัย(ภัยจากความอดอยากหรือความหิว) โรคภัย(ภัยจากโรคระบาด)และราชภัย(ภัยจากผู้ปกครองแว่นแคว้น?)เบียดเบียนพากันเดินไป สำคัญว่า เราจักเดินทางผ่านทางกันดาร(ทะเลทราย)ไปอยู่เป็นสุขในรัชสมัยที่ปราศจากอันตรายของพระราชาผู้ทรงธรรม
สองภรรยาสามีถือเอาเสบียงมีข้าวห่อ ข้าวสัตตุและขนมเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งจำนวนเล็กน้อย(เพราะไม่มีอะไรจะให้กิน) แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร ๑๐๐ โยชน์ เขาทั้งสองมีบุตรน้อย มีร่างกายผ่ายผอมน่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง ขณะทั้งสองคนกำลังเดินไปในทางกันดารเมื่อเขาเดินไปได้ ๕๐ โยชน์ เสบียงหมดลงแต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ ทั้ง ๒ กระสับกระส่ายเพราะความหิวกระหายพากันนั่งใต้ร่มเงาโปร่ง(ของต้นไม้)
ฝ่ายชายได้พูดกับภรรยาว่า
น้องนางเอ๋ย ระยะ ๕๐ โยชน์รอบๆ นี้ ไม่มีบ้านหรือนิคมเลย เพราะฉะนั้น บัดนี้ พี่ไม่สามารถจะทำงานมากมายทั้งหลายที่ผู้ชายจะพึงทำ มีการทำนาและเลี้ยงโค(กสิกรรมและโครักขธรรม)เป็นต้นได้ มาเถิดน้อง จงฆ่าพี่แล้วกินเนื้อเสียครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเอาเป็นเสบียงเดินข้ามทางกันดารไปพร้อมกับลูกเถิด
ฝ่ายภรรยากล่าวว่า
พี่ บัดนี้ น้องไม่สามารถจะทำงานมากมายทั้งหลายที่ผู้หญิงจะต้องทำมีการกรอด้าย เป็นต้นได้ มาเถิด พี่จงฆ่าฉันกินเนื้อครึ่งหนึ่ง ทำเสบียงครึ่งหนึ่ง แล้วจงข้ามทางกันดารไปพร้อมกับลูกเถิด
สามีกล่าวกะภรรยาอีกว่า
น้องเอ๋ย เพราะแม่บ้านตาย ความตายจะปรากฏแก่เราทั้ง ๒ พ่อลูก เพราะเด็กอ่อน เว้นแม่เสียแล้วก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเราทั้ง ๒ ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีลูกได้อีก อย่ากระนั้นเลย บัดนี้เราจะฆ่าลูกเอาเนื้อกิน จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้น เราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่
ลำดับนั้น แม่กล่าวกะลูกว่า
ลูกรัก เจ้าจงไปหาพ่อ (ลูกก็ไปหาพ่อ)
ครั้งนั้น พ่อของเด็กน้อยกล่าวว่า
เราได้รับความทุกข์มิใช่น้อยเพราะกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นก็เพื่อจะเลี้ยงดูลูกน้อย เราจึงไม่อาจฆ่าลูกได้ เธอนั่นแหละจงฆ่าลูกของเธอ แล้วกล่าวกะลูกน้อยว่า ลูกรัก เจ้าจงไปหาแม่(ลูกก็ไปหาแม่)
แม่ของเด็กน้อย กล่าวว่า
เมื่อเราอยากได้ลูก เราได้รับความทุกข์มิใช่น้อย ด้วยการบวงสรวงเทวดาด้วยโควัตรและกุกกุรวัตรเป็นต้นก่อน ไม่ต้องพูดถึงการบริหารครรภ์ ฉันไม่อาจฆ่าลูกได้ แล้วกล่าวกะลูกน้อยว่า ลูกรัก เจ้าจงไปหาพ่อเถิด
ลูกน้อยนั้นเมื่อเดินไปในระหว่างพ่อแม่นั่นแหละ ตายแล้วด้วยประการฉะนี้(เกี่ยงกันไปมาจนลูกเหนื่อยตายเอง???)
สองสามีภรรยาเห็นดังนั้น คร่ำครวญ ถือเอาเนื้อลูกเคี้ยวกิน เดินทางไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว
เขาทั้ง ๒ นั้นไม่ได้เอาเนื้อบุตรกินเป็นอาหารเพื่อเล่นเลย ไม่ใช่เพื่อเมามาย ไม่ใช่เพื่อประดับประดา ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพื่อต้องการข้ามให้พ้นทางกันดารอย่างเดียวเท่านั้นเอง เพราะ(ถือว่า)เป็นของปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการ คือ
๑.เพราะเป็นเนื้อของผู้ร่วมชาติ
๒.เพราะเป็นเนื้อของญาติ
๓.เพราะเป็นเนื้อของบุตร
๔.พราะเป็นเนื้อของบุตรที่รัก
๕.เพราะเป็นเนื้อของเด็กอ่อน
๖.เพราะเป็นเนื้อดิบ
๗.เพราะเป็นเนื้อที่ไม่ใช้กิน
๘.เพราะไม่ได้ใส่เกลือ(ไม่ได้ปรุงแต่ง?)
๙.เพราะไม่ได้ปิ้งย่าง
สองสามีภรรยานั้นเคี้ยวกินเนื้อบุตรนั้น (ด้วยความคิด)ซึ่งปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ จึงมิได้เคี้ยวกิน ด้วยความยินดีติดใจ แต่ตั้งอยู่ในภาวะกลางๆ นั่นเอง คือ ในการบริโภคโดยไม่มีความพอใจและยินดี มีใจแตกทำลาย(เมื่อ)เคี้ยวกินแล้ว
เขาจะได้เอาเนื้อที่ติดกระดูกเอ็นและหนังออกแล้ว(เลือก)เคี้ยวกินแต่เนื้อที่ล่ำๆ คือเนื้อที่ดีๆ เท่านั้นก็หาไม่ เคี้ยวกินเฉพาะเนื้อที่อยู่ตรงหน้า
มิได้เคี้ยวกินตามที่ต้องการจนล้นคอหอย แต่เคี้ยวกินทีละน้อยๆ พอยังชีพให้เป็นไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
มิได้หวงหันและกันเคี้ยวกิน เคี้ยวกินด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ปราศจากมลทินคือความตระหนี่
มิได้เคี้ยวกินอย่างงมงายว่า พวกเราเคี้ยวกินเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเนื้อมฤคหรือเนื้อนกยูงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่เคี้ยวกินทั้งที่รู้ว่าเป็นเนื้อของลูกรัก
มิได้เคี้ยวกินโดยปรารถนาว่า ไฉนหนอ เราพึงเคี้ยวกินเนื้อลูกเห็นปานนี้อีก แต่เคี้ยวกินโดยไม่ปรารถนา
มิได้สั่งสมด้วยตั้งใจว่า เราเคี้ยวกินเพียงเท่านี้ในทางกันดาร เมื่อพ้นทางกันดารแล้ว จักเอาเนื้อที่เหลือไปปรุงด้วยรสเค็มรสเปรี้ยวเป็นต้นเคี้ยวกิน
เมื่อทั้งสองล่วงพ้นกันดารไปแล้วจึงคิดว่า
พวกชนในเมืองจะเห็น จึงฝังไว้ในดินหรือเอาไฟเผา(ตามพิธีศพ) มิได้ถือตัวหรือโอ้อวดว่า ใครอื่นจะได้เคี้ยวกินเนื้อบุตรเห็นปานนี้อย่างเรา แต่เคี้ยวกินโดยขจัดความถือตัวและโอ้อวดเสียได้ มิได้เคี้ยวกินอย่างดูหมิ่นว่า ประโยชน์อะไรด้วยเนื้อนี้ซึ่งไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว ยังไม่ได้ปิ้ง มีกลิ่นเหม็น แต่เคี้ยวกินโดยปราศจากความดูหมิ่น ไม่ดูหมิ่นกันและกันว่า ส่วนของท่าน ส่วนของเรา บุตรของท่าน บุตรของเรา แต่มีความพร้อมเพรียงบันเทิงเคี้ยวกิน
เมื่อเทียบดูจากข้อมูลแล้ว จะเห็นว่า การกินเนื้อบุตรของทั้ง๑๑นางในครั้งแรกนั้นมาจากความจำเป็นเช่นกัน(ในบางส่วน) ส่วนการกินในครั้งต่อๆมานั้นตามเนื้อหาในกลอนนั้นดูเหมือนว่า ตอนนั้นสติพวกนางจะเริ่มหลุดไปแล้วอาจด้วยความเครียดจากการที่ตาบอดรวมกับความอดอยาก(ที่เห็นว่าเก็บผลไม้ได้สารพัดน่ะอย่าลืมนะว่ามันเป็นเสบียงที่ตุนไว้ไม่ใช่หาได้ล้นกระจาดขนาดนั้นทุกวันทุกวี่)
(ข้อมูลแถมท้าย)อาหาร ๔ อย่าง
เพื่อความดำรงอยู่ ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้นคือ
๑. กวฬิงการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง มีภัยคือ ความใคร่(อยาก)
๒. ผัสสาหาร มีภัยคือ การข้องแวะ(ติด)
๓. มโนสัญเจตนาหาร มีภัยคือ การประมวลมา(สั่งสม)
๔. วิญญาณาหาร มีภัยคือ การตกลงจำเพาะ(การถือกำเนิด)
อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล เพื่อดำรงอยู่แห่งสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด