พิษรัก! "หม่อมลูกปลา" เปิดชีวิตสูงสุดคืนสู่สามัญ ผู้เป็นเจ้าของตำนานรักระหว่างหญิงสาวเด็กกำพร้า กับ ชายสูงศักดิ์
หากย้อนเวลากลับไปเกือบ 20 ปี เชื่อว่าหลายคนคงจำชื่อนี้ได้ “หม่อมลูกปลา” หรือหม่อมชลาศัย ยุคล ณ อยุธยา เจ้าของตำนานรักระหว่างหญิงสาวสามัญชน ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า กับ ชายสูงศักดิ์ พิธีมงคลสมรสอย่างหรูหรากับ ม.จ.ฐิติพันธ์ ยุคล หรือ “ท่านกบ” ถูกจัดขึ้นเมื่อปี 2537 แต่เธอก็ยังต้องการชีวิตอิสระจากนอกวัง หนีเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และในห้วงเวลานั้นชีวิตคู่ก็ระหองระแหง จนเป็นที่มาของการเสียชีวิตของท่านกบในที่สุด หม่อมลูกปลาตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าท่านกบ ด้วยการผสมยาพิษในถ้วยกาแฟให้ดื่ม ขณะเดียวกัน เธอได้มีชีวิตครอบครัวใหม่กับนายอุเทศ ชุปวา มีบุตรชายด้วยกัน 2 คน แต่คดียังไม่จบ
ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 4 ปี 8 เดือน ก่อนจะได้พักโทษพิเศษ ได้รับอิสรภาพก่อนกำหนด เหลือจำคุกเพียง 2 ปี 7 เดือน ปัจจุบัน หม่อมลูกปลาเปลี่ยนชื่อเป็น น.ส.โชติกา ขวัญฐิติ พ้นโทษมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 กลับมาใช้ชีวิตตามอัตภาพกับนายทวีชัย น้อยประเสริฐ สามีคนปัจจุบัน พร้อมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตในช่วงอดีต ร่วมค้นหาคำตอบกับ “ข่าวดังข้ามเวลา” ตอน “พิษรักหม่อมลูกปลา” วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้ เวลา 20.30-21.30 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี MCOT HD ช่อง 30 เคเบิลทีวีช่อง 40.-สำนักข่าวไทย
ยังคงเป็นคดีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับคดีของ "หม่อมลูกปลา" หรือ "นางชลาศัย ยุคล" หญิงสาวกำพร้าสามัญชน ที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาวางยาพิษ หม่อมเจ้าฐิติพันธ์ ยุคล หรือ ท่านกบ แห่งวังอัศวิน เมื่อปี พ.ศ.2538 หรือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว และล่าสุดในวันที่ 17 สิงหาคม ทางศาลฎีกากลับคำพิพากษาอีกครั้งให้จำคุกหม่อมลูกปลา 7 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ 4 ปี 8 เดือน หลังจากที่เคยยกคำร้อง เพราะไม่มีหลักฐานและพยานเพียงพอ
ถึง แม้ทางศาลจะพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของคดีปริศนานี้ รวมไปถึงประวัติของหม่อมลูกปลาที่หญิงสามัญชนธรรมดา แต่ความรักก็ทำให้เธอกลายเป็นเทพธิดาเป็นชายาอยู่ในวังอัศวิน เริ่มต้นเรื่องราวชีวิตของเธอนั้น เดิมทีเธอมีชื่อแรกเกิดคือ ด.ญ.นิภาพร เป็นหญิงกำพร้าที่ถูกแม่ทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิต ในขณะนั้น หม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล น้องสาวของท่านกบ ต้องการที่จะรับเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงสักคน จึงได้ติดต่อไปยังโรงพยาบาล และก็พบกับ ด.ญ.นิภาพร ซึ่งอยู่ในวัย 2 เดือน จึงได้รับมาอุปการะในวังอัศวิน
ช่วงชีวิตในวัยเด็กของ "ด.ญ.นิภาพร" นั้น ไม่ต่างอะไรไปจากคนรับใช้ในวัง ที่ต้องคอยปรนนิบัติ หม่อมสร้อยระย้า หม่อมแม่ของ ท่านกบ อีกทั้งยังต้องเป็นพี่เลี้ยงที่คอยดูแลถือกระเป๋า ถือหนังสือให้กับบุตรทั้ง 3 คนของท่านกบจนโต แต่ด้วยความที่ "ด.ญ.นิภาพร" เป็นเด็กที่ฉลาด และรู้ใจท่านกบไปเสียทุกอย่าง ท่านกบจึงเปลี่ยนจาก ด.ญ.นิภาพร รอดอ่อน ให้กลายเป็น หม่อมชลาศัย ขวัญฐิติ หรือ หม่อมลูกปลาซึ่งนามสกุล "ขวัญฐิติ" นั้น มาจากสองคำแรกของชื่อท่านกบ บวกกับคำว่า ขวัญ แปลความหมายได้ว่า เป็นที่รักของฐิติพันธ์
ส่วนความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นระหว่างหม่อมลูกปลา และท่านกบนั้น เริ่มต้นเมื่อหม่อมลูกปลาอายุ 12 ปี ซึ่งเธอได้ตกเป็นชายาลับ ๆ ของท่านกบ แต่หม่อมลูกปลาก็ยังคงเรียกท่านกบว่าพ่ออยู่ เพราะเธอไม่ได้รู้สึกว่ารักท่านกบเฉกเช่นชายหญิง แต่เธอกระทำเพื่อทดแทนบุญคุณเท่านั้น และอีกอย่างคือท่านกบก็มีชายาอยู่แล้วถึง 2 คนด้วยกัน
หลังจากที่ หม่อมลูกปลา ตกเป็นชายาลับ ๆ ของท่านกบ ก็ดูเหมือนว่า ชีวิตของหม่อมลูกปลาค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ได้ออกงานสังคม และตามรับใช้ท่านกบ อีกทั้งยังได้เรียนหนังสือด้วย จนกระทั่งหม่อมลูกปลาเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เธอก็เริ่มออกหนีเที่ยวบ้าง เพราะเธอได้เจอโลกใบใหม่ สังคมใหม่ที่น่าตื่นเต้นและสนุกกว่าอยู่กับคนสูงอายุ
และในช่วงปี พ.ศ.2537 ท่านกบก็ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ การประกาศความเป็นเจ้าของกับหม่อมลูกปลา ด้วยการจดทะเบียนสมรสในวันที่ 10 สิงหาคม และได้จัดงานเสกสมรสอย่างยิ่งใหญ่ สร้างความประหลาดใจให้กับสมาชิกวังอัศวิน และผู้คนทั้งเมืองเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุที่แต่งงานนั้น หม่อมลูกปลาได้กล่าวสั้น ๆ ว่า ท่านกบต้องการเอาชนะตนโดยไม่ให้ตนหนีเที่ยวอีก ส่วนตนก็เพื่อต้องการเอาชนะหม่อมคนอื่น ๆ ที่คอยว่าตน และการแต่งงานครั้งนี้ก็ไม่ได้มาจากความรักเลย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะแต่งงานเป็นชายาของท่านกบแล้ว แต่หม่อมลูกปลาก็ไม่หยุดหนีเที่ยว เพราะโลกกว้างที่เธอไม่เคยได้สัมผัสนั้น ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอมีความสุข และสนุกมากกว่าอยู่ในวัง ทั้ง ๆ ที่เธอรู้ว่า หากเธอหนีเที่ยวแล้วโดนจับได้เธอจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน
ต่อมาหม่อมลูกปลาก็ได้พบกับชายหนุ่มที่ชื่อว่า "อุเทศ ชุปวา" หนุ่มวัยเดียวกันที่ขายเกาลัดอยู่ในย่านสยามสแควร์ ซึงหม่อมลูกปลาและเขาก็คุยกันอย่างถูกคอ จนความสัมพันธ์ก็ค่อย ๆ ก่อเกิดขึ้น และทั้งคู่ก็นัดไปเที่ยวด้วยกันอีกหลายต่อหลายครั้ง
ด้วยความรักสุกงอมจนเต็มล้นหัวใจ หม่อมลูกปลา จึงรวบรวมความกล้าในการเล่าเรื่องราวของหนุ่มเกาลัดให้ ท่านกบ รับทราบในฐานะเพื่อนสนิท และท่านกบก็ได้อนุญาตให้หม่อมลูกปลาพา อุเทศ ชุปวา เข้าวังได้ แต่ไม่นานท่านกบก็รู้ความจริงว่า หม่อมลูกปลา กับหนุ่มขายเกาลัดคนนั้น มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว จึงไม่อนุญาตให้อุเทศเข้าวังอีก หลังจากนั้น หม่อมลูกปลาก็เริ่มหนีเที่ยวบ่อยขึ้น ๆ จนบ้างครั้งไม่ยอมกลับบ้าน แต่ท่านกบก็สามารถตามกลับมาได้ทุกครั้ง
และ แล้วตำนานรักในวังอัศวิน ก็ต้องจบลงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2538 เมื่อท่านกบได้ล้มป่วยกะทันหันทั้ง ๆ ที่เป็นคนสุขภาพดีมาก ซึ่งหม่อมลูกปลาเป็นคนที่พบท่านกบนอนป่วยเป็นคนแรกก่อน โดยเธอระบุว่า ในวันเกิดเหตุเธอพบท่านกบนอนแน่นิ่งกับพื้น มีน้ำมูกและปัสสาวะไหลเปรอะเปื้อนเต็มไปหมด เนื้อตัวเขียวและซีด จึงรีบเรียกรถพยาบาลมารับตัวไปรักษา ทั้งนี้ ท่านกบก็อยู่ในสภาพเจ้าชายนิทรา และหลังจากนั้นอีก 9 วัน ท่านกบสิ้นชีพิตักษัย ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนในวัง
ทันทีที่ท่านกบสิ้นชีพ หม่อมลูกปลาก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในทันที ว่าเป็นคนวางยาพิษท่านกบ เนื่องจากแพทย์รายงานว่า ในกระเพาะของท่านกบพบสารคาร์บอนเนตซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการสิ้นชีพิตักษัย หม่อมลูกปลาจึงต้องหนีออกไปพักที่บ้านของพระญาติท่านกบ ใน จ.เชียงใหม่ เพื่อหลบหนีการถูกกล่าวหาดังกล่าว แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ข้อ คือ หม่อมลูกปลาฆ่าท่านกบเพราะต้องการตีจาก และท่านกบน้อยใจหม่อมลูกปลาจึงฆ่าตัวตาย
แต่อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานและการสอบพยาน ทางตำรวจจึงได้ตัดประเด็นที่ท่านกบฆ่าตัวตายออกไป เหลือเพียงแต่ประเด็นโดนวางยา และในที่สุดในวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 หม่อมลูกปลาก็รับสารภาพ หลังจากที่เข้าเครื่องจับเท็จ และต้องตอบคำถามที่ว่า "ใครเป็นคนชงกาแฟ" โดยหม่อมลูกปลากล่าวว่า เธอเป็นคนวางยาท่านกบเอง โดยใช้ยาฆ่าเห็บผสมลงในกาแฟ แต่ก็ไม่ได้เจตนาหวังให้ท่านกบตาย ที่เธอทำไปนั้นเพียงเพื่อเธอต้องการให้ท่านกบสลบไป และเธอจะได้ออกหนีเที่ยวอีกครั้ง
คดีดังกล่าวถือว่าเป็นคดีที่โด่งดัง และเป็นคดีประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เนื่องจากผู้ต้องหาและผู้ตายเป็นราชสกุลดัง อีกทั้งยังเป็นคดีที่ซับซ้อน เพราะว่าหลังจากที่หม่อมลูกปลายอมรับว่าลงมือวางยาท่านกบ แต่พอมาขึ้นศาลอาญาเธอได้ให้การปฏิเสธ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ทางศาลอาญาได้ตัดสินคดีนี้ให้เป็นคดีแดง เพราะเชื่อว่าหม่อมลูกปลาลงมือกระทำการดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาให้เสียชีวิต จึงได้พิพากษาลงโทษหม่อมลูกปลาฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ตามกฎหมายอาญามาตราที่ 290 จำคุก 9 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพเหลือจำคุก 6 ปี
ต่อมาทางศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาคดีใหม่อีกครั้ง โดยหม่อมลูกปลาได้รับการช่วยเหลือจาก ทนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นอุทธรณ์จนศาลยกฟ้องคดีดังกล่าวในที่สุด เพราะว่าได้นำเรื่องมรดกของท่านกบมาเป็นประเด็น ชี้ให้เห็นว่า หากท่านกบสิ้นชีพจะมีใครบ้างที่ได้รับมรดกจากการตายในครั้งนี้ ซึ่งหม่อมลูกปลาได้รับมรดกเพียงเงิน 3 แสนบาท ที่ท่านกบสัญญาจะพาไปเที่ยวเชียงใหม่ด้วยกัน กับเงินจำนวน 4 หมื่นบาท แต่แล้วเงินดังกล่าวเธอก็ไม่ได้รับ แถมยังถูกขับไล่ออกจากวังเสียอีก
หลังจากที่ศาลยกฟ้องคดีดังกล่าว หม่อมลูกปลาก็ใช้ชีวิตเหมือนสามัญชนธรรมดา ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก นางชลาศัย ขวัญฐิติ มาเป็น นางคูณมาศ ขวัญฐิติ และมีลูกกับหนุ่มขายเกาลัดด้วยกัน 2 คน คือ ด.ช.อนุพันธุ์ ชุปวา หรือออกัส และ ด.ช.อัศวิน ขวัญฐิติ ซึ่งชีวิตที่เปรียบดั่งนางฟ้าตกสวรรค์ของเธอนั้นลำบากเป็นอย่างมาก ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทั่วไปเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกทั้ง 2 คน แต่เธอก็มีความสุขมาก เพราะเธอได้อยู่กับคนที่เธอรัก
แต่แล้วครอบครัวที่สงบสุขของเธอก็ต้องมาพังทลายอีกครั้ง เมื่อตำรวจได้แจ้งว่า สามีของเธอถูกจับในคดีเสพยาบ้า แถมยังแอบมีกิ๊กใหม่ จนเธอทนไม่ได้ขอหย่าขาดจากสามีในที่สุด นอกจากนี้ เธอก็ยังล้มป่วยด้วยโรคประจำตัว นั่นก็คือโรคภูมิแพ้ ซึ่งเธอมักมีอาการหอบ และปวดหัวบ่อยครั้ง แต่เธอก็ได้รับการดูแลจากคนในวังอัศวินบางคนที่ยังมี ความเมตตากับเธออยู่ โดยเฉพาะบุตรชายของท่านกบ ม.ร.ว.นิภานพดารา ยุคล และม.ร.ว.จุลรังษี ยุคล ที่ได้ซื้อทาวน์เฮ้าส์เล็ก ๆ ในหมู่บ้านราชพฤกษ์ รังสิตคลอง 3 ให้ โดยมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันเธอ ซึ่งท่านได้ระบุว่า ห้ามนำไปขาย ให้เพียงแค่อยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งเธอนั้นก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดร้านเสริมสวยเล็ก ๆ เพื่อเลี้ยงลูกทั้ง 2 ของแบบพอเพียง
ชีวิตของเธอดูเหมือนจะจบลงอย่างสวยงาม แต่เมื่อวานนี้ (17 สิงหาคม) ศาลอาญาชั้นฎีกา ได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โดยมีคำพิพากษให้จำคุก นางชลาศัย ขวัญฐิติ หรือ หม่อมลูกปลา เป็นเวลา 7 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 4 ปี 8 เดือน
ไม่รู้ว่าคำสั่งศาลในครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในคดีนี้หรือเปล่า เพราะคดีดังกล่าวเต็มไปด้วยปริศนามากมาย และอาจจะมีการพลิกคดีอีกครั้งก็เป็นได้