ย้อนรำลึก "ระเบิดตุงกุสคา" หายนะใหญ่.. ที่มาของ "วันอุกกาบาตโลก" !!
นักดาราศาสตร์ประกาศ 30 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันอุกกาบาตโลก เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงภัยจากอุกกาบาตที่อาจหลุดวงโคจรเข้ามาโจมตีโลกได้ทุกเวลา
องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือนาซา รวมถึงนักวิทยาศาสตร์หลายคนในวงการดาราศาสตร์ ได้ประกาศให้วันที่ 30 มิ.ย.ของทุกปีเป็น "วันอุกกาบาตโลก" เพื่อต้องการให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงถึงความเสี่ยงต่อหายนะครั้งใหญ่หากเกิดเหตุอุกกาบาตชนโลกจริง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่เร่งด่วนและจำเป็นที่นานาชาติควรหันมาให้ความสนใจและร่วมมือกัน พัฒนาระบบเตือนภัยและตรวจจับอุกกาบาต ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากนาซาพบว่า กว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุใกล้โลกนั้น เป็นกลุ่มเศษอุกกาบาตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าเศษอุกกาบาตเหล่านี้จะพุ่งชนโลกได้
โดยในอดีตนั้น มนุษย์ได้เคยเผชิญกับเหตุอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนจนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 มีอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 20 เมตร ตกลงมาในเมืองเชเลียบินสค์ ประเทศรัสเซีย ซึ่งแม้ว่าอุกกาบาตลูกดังกล่าวจะเกิดการระเบิดก่อนตกถึงพื้น แต่แรงระเบิดนั้นก็ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก และมีผู้บาดเจ็บถึง 1,500 คน
สาเหตุที่เลือกเอาวันที่ 30 มิ.ย. เป็นวันอุกกาบาตโลกนั้น เนื่องจาก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ปี พ.ศ.2451 นั้นได้เกิดการระเบิดครั้งรุนแรงของอุกกาบาตในอากาศ บริเวณราบลุ่มแม่น้ำพอดกาเมนนายาตุงกุสคา ของรัสเซีย ที่มีความรุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่นถึง 1,000 เท่า ซึ่งการระเบิดในอากาศครั้งนี้ เกิดขึ้นที่ความสูงประมาณ 5-10 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน แรงสั่นสะเทือนจากระเบิดแผ่ออกเป็นวงกว้าง เทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ทำลายต้นไม้ในป่าประมาณ 80 ล้านต้น กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างถึงประมาณ 2,150 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแน่นอนกว่า ความเสียหายอันใหญ่หลวงเช่นนี้ คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2
แม้ว่า การระเบิดของอุกกาบาตในครั้งนี้ จะเป็นที่ร่ำลือกันว่าเป็นการปะทะของอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยสังเกตพบในช่วงประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่ก็มีการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันนี้ในแถบพื้นที่มหาสมุทรที่ห่างไกล ซึ่งพลาดจากการสังเกตพบในช่วง ค.ศ. 1960 และ ค.ศ. 1970 แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการคิดค้นระบบตรวจการณ์ทางดาวเทียม