10 วิธีไล่ฝน
เมื่อยามฝนฟ้าคะนอง พายุกรรโชก ไม่ลืมหูลืมตา เมตตาปรานีกันเลย ตั้งแต่ในอดีตมาก็ยังมีความเชื่อในเรื่องของเทวดาผู้ดูแลฟ้าฝนลมพายุ เราจึงได้รวบรวม 10 วิธีที่คนไทยเชื่อกันว่าไล่ฝนได้มาไว้ให้ลอง ให้อ่านกันดู
1. ปักตะไคร้
เป็นพิธีการไล่ฝนยอดฮิต เป็นความเชื่อของคนไทยหลายกลุ่มที่ว่า ถ้าให้สาวบริสุทธิ์ไปปักตะไคร้แล้ว จะทำให้ฝนไม่ตกได้ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ตรงข้ามกับแห่นางแมว
2. ปลูกจักไคร
วิธีห้ามฝน ห้ามลมที่นิยมกันมากคือการปลูก "จักไคร" (ตะไคร้) โดยจะไปขอให้แม่หม้ายผัวตายเป็นผู้ประกอบพิธี แม่หม้ายจะทำการปลูกตะไคร้จำนวนสามต้น แต่ละต้นปักส่วนปลายลง เอาส่วนโคนชี้ขึ้น การปลูกจะต้องปลูกที่โล่งแจ้ง และหากจะให้มีผลชะงัด ต้องเปลื้องเสื้อผ้าออกให้หมด ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ปฏิบัติการอยู่ ผู้ประกอบพิธีจะอาบน้ำไม่ได้
3. วัวธนู
เครื่องรางอย่างหนึ่งที่ได้จากการสานให้เป็นรูปวัวที่เรียกว่า "วัวธนู" เมื่อสานแล้วปลุกเสกคาถาตามพิธีก็สามารถห้ามลมฝนได้ หากโยนรูปวัวธนูนั้นลงในกองไฟ
4. ต๋ามเตียน
ต๋ามเตียน คือ "จุดเทียน" วิธีปฏิบัติคือ ลงยันต์ "ฟ้าฟีก" ในแผ่นกระดาษสา แล้วนำแผ่นยันต์ดังกล่าวม้วนกับไส้เทียน นำเทียนไปจุดกลางแจ้งขณะฝนใกล้จะตกหรือฝนเริ่มตก ทั้งนี้ผู้ประกอบพิธีต้องนั่งบริกรรมคาถา "โอม วะ วะ มหาเมฆะ วัง วะ" ตลอดระยะเวลาที่ไม่ต้องการให้ฝนตก
5. ให้แม่หม้ายออกปาก
ออกปาก คือ ลั่นวาจา การให้แม่หม้ายออกปากหรือลั่นวาจา มีสองวิธี กล่าวคือ วิธีแรก หากงานหนึ่งงานใดมีฝนตั้งเค้าและมีทีท่าจะตกลงมา ให้คนในงานกางร่มไปพบแม่หม้ายพร้อมกางร่มให้ แล้วขอให้แม่หม้ายกล่าวกับเทวดาฟ้าดินว่า "เออ ฝนเหย ถ้าฝนใคร่ตกเต๋มที จะตกบ่าเดี่ยวนี้ ก็ตกมาเต๊อะ ตกเจ้าแม่ตก ตกมานักๆ" จากนั้นให้กางร่มพาแม่หม้ายไปอยู่บริเวณงาน ฝนก็จะไม่ตก วิธีต่อมา คือ ให้แม่หม้ายนำตะกร้าตาห่าง ไปยืนกลางแจ้ง แล้วกล่าวดัง ๆ ว่า "เออ ฝนเหย ถ้าฝนใคร่ตกเต๋มที่ ก็ตกมาเต๊อะ ตกมาเต๋มก๋วยแก่นนี้เน้อ ตกนักๆ ถ้าตกบ่นัก ก็บ่ต้องตก" ลมฝนที่ตั้งเค้าอยู่ก็จะหายไป
6. แม่หม้ายตากผ้า
ในกรณีที่มีงานศพ ท้องฟ้าครึ้มฝน ท่านให้ไปขอให้แม่หม้ายมาทำพิธีตากผ้า โดยนำผ้าของผู้ตายไปตากบนหลังคา แล้วกล่าวว่า "เออ เทวบุตร เทวดา เจ้าฟ้า สายฝน บัดนี้ (เอ่ยชื่อผู้ตาย) ก็จะไปทางหน้าวัสองวันนี้แล้ว ผ้าก็ยังบ่แห้ง หาไรหามีผืนเดียวอี้ละ ขอเอ็นดูปั๋นแดดส่องลงมา หื้อผ้าแห้ง สักวันสองวันเต๊อะ" ทำอย่างนี้ฝนจะไม่ตกลงมา
7. ย่างแก๋นครก
เมื่อเห็นว่าท้องฟ้ามีเค้าว่าฝนตกจะตก ท่านให้ไปขโมยเอาแก๋นครก (ไม้ตีพริก(สาก)) ของแม่หม้ายผัวตายมาย่างเหนือกองถ่ายไฟที่ร้อนระอุ พลิกกลับไปกลับมาเหมือนจะทำให้สุก เชื่อกันว่าถ้าทำอย่างนี้ จะทำให้เทวดาร้อนใจ ไม่บันดาลให้ฝนตก
8. ตั้งหม้อหนึ้งไหข้าว
"ตั้งหม้อหนึ้งไหเข้า" เป็นพิธีง่าย ๆ วิธีการคือรีบกุลีกุจอผ่าฟืนใส่ในเตาไฟ ทำทีเป็นก่อไฟ แล้วยกอุปกรณ์การนึ่งข้าวเหนียวขึ้นตั้งบนเตาไฟ พร้อมปิดฝาไหให้เรียบร้อย แล้วนั่งเฝ้าทำทีเป็นผิงไฟบ้าง เติมฟืนและเป่าไฟเป็นระยะ ๆ บ้าง ทำอย่างนี้ เชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อกดดันอั้นมิให้เกิดลมฝน
9. ห้อยจ๊อน ฟ้อนป้าก
บางท้องที่มีการนำเอา ถ้วย ชาม กาละมัง และช้อนขึ้นแขวนส่วนบนของประตูเรือน เมื่อพายุคะนองสิ่งที่แขวนไว้จะถูกลมพัดกระทบกันเสียงดัง ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านมักถือ "ป้าก"(จวัก) ออกไปฟ้อนรำผสมโรงด้วย เพื่อให้เกิดอาเพศ ลมฝนจะได้สงบลงโดยเร็ว
10. เผาดินขอ
การเผาดินขอ เป็นการนำเอากระเบื้องดินเผาที่ใช้แล้วมาเผาไฟ โดยผู้ประกอบพิธีจะนำเอากระเบื้องมาลงยันต์จำนวนหลายแผ่น แล้ววางซ้อนทับกันบนเตาที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงติดไฟให้ลุกโชน และต้องเติมฟืนตลอดเวลา ในส่วนของผู้ประกอบพิธีนั้น จะต้องนั่งเฝ้าเตาไฟและเอามือทั้งสองอังไฟไว้ พร้อมกับบริกรรมคาถาว่า พุทธัง สะระณัง ฝนวะ ธัมมัง สะระณัง ฝนวะ สังฆัง สะระณัง ฝนวะ การบริกรรมคาถา จะบริกรรมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ และที่สำคัญห้ามผู้ประกอบพิธีอาบน้ำโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นฝนจะตกลงมาทันที.