โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์
ผลการศึกษาร่วมกันของ 3 มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้ผลสรุปว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหม่ และมนุษย์เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่จะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ
การศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ได้ประเมินบันทึกเกี่ยวกับซากฟอสซิล และพบว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังมีอัตราการสูญพันธุ์เร็วกว่าปกติ 114 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการตัดไม้ทำลายป่า
หนึ่งในทีมนักวิจัยบอกว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 หลังจากการสูญพันธุ์ครั้งล่าสุดเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งน่าจะเกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก ที่ได้ทำให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไป
นายเจอราร์โด เซบายอส หัวหน้าทีมวิจัย เตือนว่าหากเรายังปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้ดำเนินต่อไป สิ่งมีชีวิตบนโลกจะต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปีในการฟื้นตัว และมนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรก ๆ ที่จะสูญพันธุ์
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ระบุว่าแต่ละปีมีสัตว์อย่างน้อย 50 ชนิดตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ในจำนวนนั้น 41% เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ส่วนอีก 25% เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยตัวลีเมอร์เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด เพราะนอกจากพวกมันจะถูกล่าเป็นอาหารแล้ว ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันบนเกาะมาดากัสการ์กำลังถูกทำลายจากการลักลอบตัดไม้อีกด้วย
ผลการศึกษาครั้งนี้ตอกย้ำงานวิจัยของ สจ๊วร์ต พิมม์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์เมื่อปีก่อน ซึ่งระบุว่าอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบัน เร็วกว่าในอดีตถึง 1,000 เท่า อย่างไรก็ดีผู้เขียนรายงานฉบับล่าสุดชี้ว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ ที่จะหลีกเลี่ยงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ โดยจะต้องเร่งการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเต็มกำลังและสุดความสามารถ