เมื่อไหร่เมืองใหญ่ของไทยจะคิดได้แบบเกาหลี พัฒนาเมืองคุณภาพอิงธรรมชาติ
เกาหลีใต้ได้รื้อทางด่วนพลิกน้ำเน่าที่คลองชองเกซอน ให้เป็นแหล่งพักผ่อนกลางกรุงโซล
หลายท่านที่มีโอกาสเดินทางไปกรุงโซล เกาหลีใต้ คงเคยสัมผัสคลองชองเกซอนที่ไหลผ่านใจกลางเมืองหลวง กว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นนี้ คลองชองเกซอน (Cheonggyecheon)ได้ไหลผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ในช่วง ค.ศ. 1406-1412 กษัตริย์แทจง (King Taejong) ทรงริเริ่มปรับปรุงให้คลองชองเกซอนเป็นคลองระบายน้ำเมื่อยามที่บ้านเมืองประสบปัญหาอุทกภัย
แต่เมื่อคลองเกิดการตื้นเขิน กษัตริย์ยองโซ (King Yeongjo) จึงเกณฑ์ผู้คนมาขุดคลองขยายต่อเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างสะอาดและปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมต่างๆ วิถีชีวิตริมคลองที่งดงามเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสงครามที่ญี่ปุ่นเข้ายึดเกาหลี พื้นที่ริมคลองเริ่มมีผู้คนอาศัยหนาแน่นอีกทั้งระบบสาธารณสุขไม่ดีพอ คลองที่เคยใสสะอาดก็เริ่มเน่าเสียถึงขนาดที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อเป็นคลองทาเกซอน (Takgycheon) อันหมายถึง สายน้ำที่เน่าเหม็น จากเดิมที่คลองชองเกซอนเคยมีความหมายว่าสายน้ำที่ใสสะอาด
แทนที่จะปรับปรุงสภาพน้ำให้ดีขึ้น รัฐบาลในสมัยนั้นตัดสินใจกลบคลองปิดทับเป็นทางด่วนยกระดับ จากวิถีริมคลองสู่วิถีชีวิตที่แออัด เต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษทั้งทางอากาศและเสียง
ในปี ค.ศ. 2001 เมื่อลีมุงบัค ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีของกรุงโซล หนึ่งในโครงการสำคัญคือการพลิกฟื้นคลองชองเกซองแห่งนี้ให้คืนกลับเป็นคลองประวัติศาสตร์ที่มากคุณค่าอีกครั้ง การพัฒนาพื้นที่ริมคลองชองเกซองเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2005 ด้วยเงินลงทุนประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่สามารถนำประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เคียงคู่สายน้ำชองเกซองให้คืนกลับมา กลายเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงโซลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลดมลพิษทางอากาศได้มากถึง 33%
มีการสร้างน้ำพุตลอดแนว พร้อมเขื่อนชะลอน้ำเพื่อลดความเร็วน้ำ ภาพวาดขบวนเสด็จของกษัตริย์จงโจไปยังสุสานของพระบิดาบนกระเบื้องจำนวน 5,120 แผ่น มีลานสำหรับจัดกิจกรรมพร้อมประติมากรรมที่สวยงาม เส้นทางเดินเท้าตลอดแนวและสะพานข้ามคลองกว่า 22 แห่ง ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวคลองชองเกซอน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 750,000 ล้านบาท เปลี่ยนสัญลักษณ์กรุงโซลเมืองแห่งป่าคอนกรีตสู่การวางผังเมืองที่ขับเคลื่อนกรุงโซลให้เป็นพื้นที่สีเขียว
แม้ว่าในช่วงการก่อสร้างจะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรเป็นอย่างมาก แต่หลังจากเสร็จสิ้นประชาชนต่างชื่นชมกับประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
เห็นแบบนี้แล้วทำให้ผมอดนึกถึงกรุงเทพมหานครไปไม่ได้ เมืองที่เคยถูกขนานนามว่า ‘เวนิสตะวันออก’ แต่ทุกวันนี้คูคลองหลายเส้นต่างถูกกลบฝังทิ้งเปลี่ยนไปเป็นถนนเส้นใหม่ตามรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป หลงเหลือไว้เพียงแค่คลองบางเส้นที่ยังเป็นเส้นทางสัญจรของคนเมือง เช่น คลองแสนแสบ คลองบางกอกน้อย เราได้แต่หวังว่าชีวิตริมคลองริมสายน้ำอันทรงคุณค่าของกรุงเทพฯ จะกลับมาชีวิตชีวาแบบมีคุณภาพอีกครั้ง
ทุกครั้งที่เราความเปลี่ยนแปลงของต่างประเทศ เรามักจะเปรียบเทียบกับเมืองไทย เราอยากเห็นเรื่องดีๆ เกิดขึ้นบ้าง และหลายๆ ครั้งที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองบินไปดูงานต่างประเทศ เราก็หวังว่า จะเห็นอะไรบ้างจากการดูงานของท่าน
ถ้าเมืองใหญ่ของไทยจะนำความคิดปรับปรุงภูมิทัศน์นี้ไปใช้บาง ทิมมี่คิดว่า ท่านจะได้รับคำสรรเสริญมาก
อ้างอิง : cgcmeng museum, preservenet, wikipedia/คลองช็องกเยช็อน, eastasiawatch, Thousandwonders/Cheonggyecheon, wwf.panda/Cheonggyecheon, nexttriptourism/cheonggyecheon, youtube, cleanthames, skyscrapercity, uddc
Read more: http://www.creativemove.com/creative/cheonggyecheon/#ixzz3dDteXBUF
http://www.creativemove.com/creative/cheonggyecheon