กางโรดแม็พรีไซเคิล 'ขยะ' เมืองหลวง ชูแผน 'ทรัพยากร' เป็น 'พลังงาน'
โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรทุกรูปแบบถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง ก่อให้เกิดปัญหา “ขยะ”ตามมา ซึ่งแต่ละประเทศพยายามหากระบวนการจัดการขยะล้นเมือง ที่ขยายตัวจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไมได้
ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นแต่ละวันประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะในกรุงเทพฯ ประมาณ 9.9 พันตัน ในเขตเทศบาลเมืองและเมืองพัทยาประมาณ 16,620 ตัน และนอกเขตเทศบาลประมาณ 16,146 ตัน ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สารร้อยละ 64 รองลงมาเป็นขยะมูลฝอยที่สามารถนำไป “รีไซเคิล” ได้ร้อยละ 30 แต่พบว่ามีการนำขยะไปใช้รีไซเคิล เพียง 3.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะที่ต้องกำจัดเฉลี่ย 9.9 พันตันต่อวัน มีศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง คอยทำหน้าที่ ประกอบด้วย 1.ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 2.ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช และ3.ศูนย์กำจัดขยะสายไหม ซึ่งขยะส่วนใหญ่จะถูกนำไปฝังกลบร้อยละ 88 และอีกร้อยละ 12 จะนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แต่ยังมีขยะประเภทอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หากเข้าสู่กระบวนการ “คัดแยก”อย่างถูกต้อง โดยแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ได้ 3 กลุ่ม 1.ประเภทรีไซเคิล2.ประเภทหมักทำปุ๋ย และ3.ประเภทฝังกลบ
ในยุค “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร”เป็นผู้ว่าฯกทม. ได้กำหนดนโยบาย“มหานครสีเขียว” เพิ่มระบบจัดการขยะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่จัดเก็บ ขนถ่าย ถึงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นมหานครบริหารขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยกำหนด “เป้าหมาย”ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี ระหว่างปี 2556-2575 ตั้งเป้าลดปริมาณขยะร้อยละ 20 จากปริมาณขยะเฉลี่ย 9.9 พันตันต่อวัน และนำขยะไปบำบัดเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบให้ได้ร้อยละ 47 จากร้อยละ 88
เมื่อพลิกดูโรดแม็พกำจัดขยะพบว่า กทม.เตรียมวางระบบบำบัดขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ประกอบด้วย 1.โรงงานหมักปุ๋ยที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ขนาด 600 ตัน โดยมีแผนก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะแบบ MBT ขนาด 600 ตัน ซึ่งจะทำให้กทม.มีโรงงานกำจัดขยะอินทรีย์โดยเทคโนโลยีหมักทำปุ๋ย เป็น 2,400ตัน จาก 1,200 ตัน สามารถนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิงRDF และรีไซเคิล 2.ก่อสร้างโรงงานเตาเผาพลังงานความร้อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 300 ตัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม โดยนำขยะที่เผาได้เป็นเชื้อเพลิง เช่น พลาสติก เศษผ้า เศษหนัง ยาง และนำพลังงานความร้อนมาเข้าสู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558
ขณะเดียวกันได้ศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโรงงาน“เตาเผาพลังงานความร้อน” ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 2,000 ตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งเมื่อระบบบำบัดขยะดังกล่าวแล้วเสร็จ กทม.จะมีระบบรองรับการคัดแยกขยะไปใช้ประโยชน์มากกว่าเดิม แต่กระบวนการทั้งหมดจะมีความสำคัญที่ประสิทธิภาพการ “แยกทิ้ง แยกเก็บ แยกกำจัด”เพื่อนำขยะที่ได้ไปบำบัดและเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ กทม.ได้จ้างที่ปรึกษาและพัฒนาระบบการจัดการขยะเป็นการ จัดการทรัพยากร กำหนดกรอบแนวคิดจากการจัดการขยะเป็นการจัดการทรัพยากร โดยจะใช้การมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการทางสังคม เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการขยะให้เป็นเป็นมิตรกับสิ่ง แวดล้อม ภายใต้แนวคิด “ขยะเป็นทรัพยากร” ระหว่างปี 2558-2562 โดยให้สำนักงานเขตเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะ กำหนดให้ “สำนักงานเขตสวนหลวง” เป็นเขตนำร่องอาคารปลอดขยะ โดยมีกิจกรรมสำนักงานปลอดขยะ ทั้งอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดกลาง และอาคารขนาดเล็กให้กับสำนักงานเขตอื่นๆ ได้เดินตามแผนปฏิบัติ
จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม.
“จุมพล สำเภาพล” รองผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า แผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกในกรุงเทพฯ เพิ่มประสิทธิภาพจัดการปัญหาขยะเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดเก็บ ขนถ่าย จนถึงเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งการดำเนินงานของกทม.ที่ผ่านมาสอดคล้องกับแผนแม่บท การจัดการมูลฝอยและของเสียอันตราย ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม2557 ใน 4 มาตรการหลัก 1.การกำจัดมูลฝอยตกค้างสะสม หรือขยะเก่าในสถานที่กำจัด 2.การสร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสม หรือขยะใหม่ ที่เน้นการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง โดยกำจัดด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน 3.การวางมาตรการบริหารขยะมูลฝอยหรือของเสียอันตราย และ4.การสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน
ส่วนร่างแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของกทม.ปี 2558-2562 มีแนวคิดพื้นฐานให้ขยะเป็นทรัพยากร เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะให้เป็นทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดทำกรอบแนวทางการจัดการขยะโดยเน้นการลด คัดแยกที่แหล่งกำเนิด เก็บรวบรวมและกำจัดแยกประเภท โดยใช้ประโยชน์ในรูปของพลังงานและปุ๋ยอินทรีย์ ควบคุมปริมาณขยะและใช้ประโยชน์จากขยะอย่างคุ้มค่า และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเป้าหมายของแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของกทม.จะใช้ฐานข้อมูลปี 2556 เป็นตัวกำหนดด้วย
“ตามแผนกทม.จะตั้งเป้าลดปริมาณมูลฝอยจากบ้านเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 โดยตั้งเป้าในปี 2562 จะเพิ่มการจัดเก็บขยะมูลฝอยอันตรายจากบ้านเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และนำขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดด้วยเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นให้ได้ไม่ น้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่จัดเก็บได้ในปี 2556”รองผู้ว่าฯกทม. ระบุ
ทั้งหมดจึงเป็นแผนบริหารจัดการขยะของกทม.ก่อนถึงปี 2575 แต่โรดแม็พที่วางไว้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ชุมชน พลเมืองให้ตระหนักและเรียนรู้ถึงกระบวนการจัดการขยะให้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งของไร้ประโยชน์ที่เรียกว่าขยะ เปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อสังคม โดยเริ่มต้นง่ายๆ ในกระบวนการ “คัดแยก” ด้วย “มือ” ของเรานั่นเอง