มหัศจรรย์แห่งมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
มหัศจรรย์แห่งมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เลขทะเบียนที่ 249 มีประวัติและความเป็นมาคือ ในปีพุทธศักราช 2497 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัดอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประกอบกับในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เป็นจำนวนมาก สมควรสร้างมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามขึ้น เพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ของชาวไทยมุสลิม
จึงได้พิจารณาพื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 55 ตารางวา คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้างมัสยิด
กลางปัตตานีขึ้น โดย ฯพณฯ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 เวลา 10.00 น.
มัสยิดกลางแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามเป็นเวลา 9 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ(เริ่มต้นสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497) ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เดินทางมาประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมอบมัสยิดแห่งนี้ให้แก่ชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี เป็นตึกคอนกรีตสองชั้น ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยสองข้างสูงเด่นเป็นสง่า แต่ก่อนนั้นหอคอยทั้งสองข้างเป็นหอกลางสำหรับตีกลอง เป็นสัญลักษณ์เรียกให้คนมุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาใช้เป็นที่ติดลำโพงขยายเสียงแทนเสียงกลอง - บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่วางกั้นอยู่ ภายในมัสยิดนั้นเป็นห้องโถงกว้างใหญ่ มีไว้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ภายในห้องยังมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบ เป็นที่สำหรับ “คอฎีบ” ยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์
มัสยิดแห่งนี้นอกจากจะใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจเป็นส่วนใหญ่ คือ ประกอบพิธีละหมาดวันละ 5 เวลา ซึ่งเป็นกิจประจำวันแล้ว ยังใช้ในการละหมาดใหญ่ทุกวันศุกร์ โดยมีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี คนท้องที่อื่นทั้งในและต่างประเทศมาร่วมพิธี โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00 น.-15.30 น. ยกเว้นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์
นอกจากนี้มัญยิดยังถูกใช่เป็นฌรงเรียนสอนศาสนาในวันเสาร์อาทิตย์ จะมีการสอนอัลกุรอานแก่เด็กๆด้วย ทำให้มัญยิดแห่งนี้ผูกพันธ์กับชุมชนและเป็นส่วนหนึงในวิถีชีวิตของมุสลิมในจังหวัดปัตตานี