ชาชัก
"ชาชัก"
"Teh Tarik" หรือ "เตฮ์ ตาเระ" ซึ่งหมายถึง "ชาชัก" ตามแบบฉบับการชงชาที่พบในคาบสมุทรมลายู ไม่ปรากฏว่าประเทศใดเป็นต้นแบบในการชง "ชาชัก" แต่พบว่ามีร้านชาชักอยู่ทั่วไปทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และภาคใต้ไทย ส่วนกรรมวิธีในการชงชาชักนั้นเป็นการใช้ส่วนผสมระหว่างชาสำเร็จรูปกับนมข้น และนมสด หรือนมแพะ ชงกับน้ำร้อนเดือด
วิธีการชง : การชักขึ้น- ชักลง ที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ยิ่งชักสูงยิ่งดี ซึ่งจะทำให้ส่วนผสมต่างๆเข้ากันได้ดี ชาที่ได้จะมีรสชาดกลมกล่อม สำหรับชาจะใช้ชาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความเข้มข้น มีกลิ่นหอม มีสีธรรมชาติ ซึ่งมีคุณลักษณะเฉพาะแตกต่างจากชาจากที่อื่น
ตำนาน "ชาชัก" เล่าขานกันว่า เกิดจากชายหนุ่มอิสลามชาวไทยที่เกิดอยู่ใกล้ตะเข็บชายแดน เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของร้านน้ำชา อยากมีงานทำ จึงเดินทางข้ามไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย ที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง ณ ที่นั้นเขาได้พบกับลูกสาวแสนสวยของเจ้าของร้านก็เกิดความรัก แต่ก็ถูกกีดกันโดยพ่อแม่ของสาวเจ้า พร้อมทั้งคำสบประมาทแถมท้ายว่า "รอให้ชักชาได้ไม่ขาดสาย และฟาดโรตีให้เหมือนผีเสื้อบิน เหมือนที่พ่อของหญิงคนรักทำได้เสียก่อนแล้วค่อยมาสู่ขอลูกสาว"
ด้วยแรงรักและความมุมานะ ที่อยากจะลบคำสบประสาท ทำให้เขาเพียรพยายามฝึกฝน การชักชาและฟาดโรตีด้วยความเพียรพยายามจนกระทั่งในที่สุด ความพยายามของเขาก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ จึงกลายเป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่มีฝีมือในการชักชาได้สวยงามและไม่ขาดสาย ฟาดโรตีได้แผ่กว้างและบินว่อน เสมือนท่วงทำนองขยับปีก ของผีเสื้อที่สวยงาม
ในที่สุดเขาก็สามารถชนะใจพ่อแม่ของสาวคนรักและได้ครองคู่อยู่กับเธออย่างมีความสุข และชายหนุ่มได้สัญญากับสาวคนรักในคืนนั้นว่า "พี่จะรักเธอให้เหมือนกับสายน้ำชา ซึ่งจะไม่มีวันขาดสาย" นี่คือที่มาของเครื่องดื่มชักกะเย่อ ตำนาน "สายใยแห่งความรัก"